กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง โหวตใช้ "บัตรคนละเบอร์" เลือก ส.ส. เขต-บัญชีรายชื่อ

บัตรเลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. (พ.ร.ป. เลือกตั้ง) ลงมติให้ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อจากพรรคเดียวกันใช้หมายเลขต่างกันในบัตรเลือกตั้ง ขณะที่พรรคเพื่อไทยซึ่งต้องการให้ใช้หมายเลขเดียวกันทั่วประเทศเพื่อให้ประชาชนจดจำได้ง่าย ยืนยันว่าจะสู้ในประเด็นนี้ต่อไปในสภา

เรื่องหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. ในบัตรเลือกตั้งเป็นประเด็นที่มีการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นในชั้น กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง โดยพรรคการเมืองมีความเห็นที่แตกต่างกันเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งนำโดยพรรคฝ่ายค้าน รวมทั้งเพื่อไทยและก้าวไกลที่ต้องการให้ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อจากพรรคเดียวกันใช้หมายเลขเดียวกันทุกเขตเลือกตั้งทั่วประเทศ หรือ "บัตรเบอร์เดียว" ขณะที่อีกฝ่ายหนึ่ง นำโดยพลังประชารัฐและพรรคขนาดกลางและเล็ก ต้องการให้ใช้คนละหมายเลขหรือ "บัตรคนละเบอร์"

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน กมธ. กล่าวภายหลังการประชุม กมธ. วันนี้ (30 มี.ค.) ว่า ที่ประชุมได้พิจารณาและลงมติในประเด็นหมายเลขของผู้สมัครในบัตรเลือกตั้งว่าจะให้ ส.ส.แบบแบ่งเขตกับ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อจากพรรคเดียวกันใช้เบอร์เดียวกันหรือไม่ในบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

เสียงส่วนใหญ่ในที่ประชุม ซึ่งมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 47 คน มีมติให้หมายเลขของผู้สมัคร ส.ส. ในบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเป็นคนละเบอร์ ด้วยคะแนน 32 ต่อ 14 เสียง และงดออกเสียง 1 เสียงคือนายสาธิต เนื่องจากเป็นประธาน กมธ.

อย่างไรก็ตาม กมธ. จากพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลและบางพรรคที่สนับสนุนให้ผู้สมัคร ส.ส. เขตและบัญชีรายชื่อใช้เบอร์เดียวกัน ได้ขอสงวนความเห็นไว้อภิปรายในสภาเมื่อ ร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้งกลับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 2

นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ยืนยันว่าการที่เสนอให้ผู้สมัคร ส.ส. เขตและบัญชีรายชื่อใช้หมายเลขเดียวกันในบัตรเลือกตั้ง 2 ใบก็เพื่อความสะดวกและไม่สร้างความสับสนให้ผู้ใช้สิทธิ์

เขาเห็นว่า การใช้บัตรคนละเบอร์จะทำให้ผู้สมัคร ส.ส. ไม่หาเสียงให้พรรคการเมืองต้นสังกัดเพราะกลัวว่าประชาชนจะสับสนระหว่างเบอร์บัญชีรายชื่อของพรรค กับเบอร์ของตัวผู้สมัคร ส.ส. เขต อีกทั้งยังอาจทำให้บัตรเสียได้ง่ายอีกด้วย

หัวหน้าพรรคเพื่อไทยคาดว่าเหตุที่กรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ปฏิเสธการใช้บัตรเบอร์เดียว เพราะกลัวพรรคเพื่อไทยจะชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย (แลนด์สไลด์)

ป้ายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ผู้สนับสนุนให้ผู้สมัคร ส.ส.เขตและบัญชีรายชื่อจากพรรคเดียวกันใช้เบอร์เดียวกันในบัตรลงคะแนนเลือกตั้งหรือ "บัตรเบอร์เดียว" เชื่อว่าจะช่วยให้ประชาชนไม่สับสน การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ

ที่มาของบัตรเบอร์เดียว-บัตรคนละเบอร์

การเลือกตั้งสภาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่จะเกิดขึ้นครั้งหน้า จะกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ใบหนึ่งสำหรับเลือก ส.ส. แบบแบ่งเขตเลือกตั้งและอีกใบหนึ่งสำหรับเลือก ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2564 ที่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่.. ) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91) ในวาระที่ 3

ระบบเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นตามร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

  • ให้สภาผู้แทนราษฎรประกอบด้วยสมาชิก 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 คน (เดิม 350 คน) และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน (เดิม 150 คน)
  • ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เลือก ส.ส. 2 ประเภท (เดิม ใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ตัดสินใจเลือก ส.ส., พรรค และนายกฯ ในบัญชีที่พรรคนำเสนอ)
  • การคำนวณสัดส่วน ส.ส.บัญชีรายชื่อของแต่ละพรรค ให้นำคะแนนที่แต่ละพรรคได้รับการเลือกตั้งมารวมกันทั้งประเทศ แล้วคำนวณเพื่อแบ่งจำนวนผู้ที่จะได้รับเลือกของแต่ละพรรค (เดิม เข้าสูตรคำนวณหา ส.ส. พึงมีได้)

หลังจากได้ข้อยุติในการใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบเลือก ส.ส. 2 ประเภทแล้ว ต่อมา ร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง หรือ พ.ร.ป. เลือกตั้ง ซึ่งมีทั้งหมด 4 ร่าง เสนอโดยคณะรัฐมนตรี (ครม.) พรรคพลังประชารัฐ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ก็ได้เข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมรัฐสภาและได้รับความเห็นชอบในวาระแรกทั้ง 4 ร่าง

พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปใช้สิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 24 มี.ค. 2562

ร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้งของพรรคเพื่อไทยและก้าวไกลมีสาระสำคัญข้อหนึ่งตรงกัน คือ ระบุว่าให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อจากพรรคเดียวกันเป็นหมายเลขเดียวกันทุกเขตเลือกตั้ง โดยให้เหตุผลว่าเป็นวิธีที่พรรคการเมืองนิยมและประชาชนชื่นชอบเพราะไม่สร้างความสับสนให้ประชาชนในการเลือกตั้ง ทำให้ผู้ลงคะแนนจดจำเบอร์พรรคและเบอร์ผู้สมัครที่ตัวเองชื่นชอบได้ง่าย

ขณะที่ ร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้งของ ครม. และพลังประชารัฐที่ยังคงให้ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อให้หมายเลขที่ต่างกัน

ความเห็นต่างเรื่องหมายเลขผู้สมัคร ส.ส. นี่ตกมาถึง กมธ. ที่ตั้งขึ้นมาพิจารณาร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้ง ที่มีนายสาธิตเป็นประธาน

บีบีซีไทยรวบรวมความเห็นของฝ่ายที่สนับสนุนให้ผู้สมัคร ส.ส. เขตและบัญชีรายชื่อใช้เบอร์เดียวกันทั่วประเทศ หรือ "บัตรเบอร์เดียว" และฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย ที่มีการให้ความเห็นผ่านสื่อในช่วงที่ผ่านมา ดังนี้

#ทีมบัตรเบอร์เดียว

  • อำนวยความสะดวกให้กับประชาชน เพราะหาก ส.ส. แบบแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อจากพรรคเดียวกัน ใช้เบอร์เดียวกันก็จะทำให้จำง่าย ทำให้การเลือกตั้งมีประสิทธิภาพ
  • พรรคการเมืองหาเสียงได้ง่าย
  • คณะกรรมการการเลือกตั้งทำงานง่าย และทำให้บัตรเสียน้อยลง เพราะถ้าใช้บัตรเลือกตั้งคนละเบอร์ ทำให้ กกต. ต้องพิมพ์บัตรเลือกตั้งถึง 401 แบบ
  • สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2564 ที่กลับมาใช้ระบบเลือกตั้งแบบบัตร 2 ใบ เลือก ส.ส. เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เพื่อเลือกคนที่รักและพรรคที่ชอบ

ผู้ที่สนับสนุนแนวทางนี้ ได้แก่ พรรคเพื่อไทย พรรคก้าวไกล และพรรคประชาธิปัตย์ รวมทั้งนายสาธิต ประธาน กมธ. พิจารณาร่าง พ.ร.ป. เลือกตั้งด้วย โดยนายสาธิตให้สัมภาษณ์ก่อนเป็นประธานการประชุมในวันนี้ว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องการให้หมายเลขผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตและแบบบัญชีรายชื่อ เป็นหมายเลขเดียวกันเพื่อให้พรรคการเมืองเกิดความเข้มแข็ง และมีบัตรเสียให้น้อยที่สุด และคิดว่าบัตรเลือกตั้ง 2 ใบเบอร์เดียวกัน จะทำให้ประชาชนสะดวกในการใช้สิทธิ์มากกว่าบัตรคนละเบอร์ ไม่สร้างความสับสนให้ทั้งผู้เลือกและผู้หาเสียง และจากประสบการณ์ที่ผ่านมาถ้าเบอร์พรรคไม่ตรงกับเบอร์ผู้สมัคร ส.ส. เขต ผู้สมัครก็มักจะไม่หาเสียงให้พรรคด้วย

หีบบัตรเลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Getty Images

#ทีมบัตรคนละเบอร์

  • การให้ผู้สมัคร ส.ส. เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อใช้หมายเลขเดียวกันจะทำให้พรรคการเมืองใหญ่ได้เปรียบ
  • ส.ส. เขตได้รับความสำคัญน้อยลง เพราะประชาชนจะสนใจแต่แคนดิเดตนายกและ ส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรค จึงมีแนวโน้มจะกาบัตร 2 ใบด้วยหมายเลขเดียวกัน หรือเรียกว่าเป็นการลงคะแนนแบบรวมศูนย์
  • พรรคขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือพรรคที่ไม่มีฐาน ส.ส.เขต จะมีโอกาสมากขึ้น
  • เพิ่มความสำคัญให้กับ ส.ส. แบบแบ่งเขต
  • ไม่เสี่ยงต่อการขัดรัฐธรรมนูญ เนื่องจากหากผู้สมัคร ส.ส. ทั้ง 2 ประเภทใช้หมายเลขเดียวกัน อาจะมีความยุ่งยากทางเทคนิคเพราะรัฐธรรมนูญ มาตรา 90 ระบุว่า "พรรคการเมืองใดส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งแล้ว ให้มีสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อได้" ซึ่งมีการตีความว่าพรรคการเมืองจะต้องส่งผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขตก่อน ถึงจะส่งผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อได้

ผู้ที่สนับสนุนแนวทางนี้ ได้แก่ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคขนาดกลาง-เล็ก เช่น นพ. ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่