วิโรจน์ ลักขณาอดิศร : ก้าวไกลส่ง “เสาหลัก ส.ส.” ผู้ประกาศ “พร้อมชน” ชิงผู้ว่าฯ กทม.

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร บนเวที

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดตัวนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในนามของพรรค และประกาศ "พร้อมชน" 3 ปัญหาของคนเมืองหลวง

นายวิโรจน์พร้อมลาออกจากการเป็น ส.ส. ทันทีที่เสร็จสิ้นภารกิจของกรรมาธิการ (กมธ.) การศึกษา สภาผู้แทนราษฎร โดยไม่รอการประกาศพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ให้เลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม.

กิจกรรมเปิดตัวแคนดิเดตชิงพ่อเมือง กทม. ของพรรคสีส้มในวันนี้ (23 ม.ค.) เกิดขึ้น ณ ที่ทำการพรรคก้าวไกล อาคารอนาคตใหม่ ถ.รามคำแหง 42

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. ให้เหตุผลว่า นายวิโรจน์มี "ดีเอ็นเอก้าวไกล" และเชื่อได้สนิทใจว่าจะเอาผลประโยชน์ของคน กทม. เป็นที่ตั้ง

"วันนี้ผมตัดสินใจครั้งสำคัญ เอาเสาหลักของ ส.ส. ที่ทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับผมตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่มาถึงพรรคก้าวไกล ขอดึงเสาหลักต้นนี้มาปักลงตรงกลางกรุงเทพฯ เพื่อทำงานให้คนกรุงเทพฯ" หัวหน้าพรรค ก.ก. กล่าวและย้ำว่า การลงสนามครั้งนี้หวังชัยชนะการเลือกตั้ง ไม่ใช่แค่วัดกระแสคน กทม.

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล บนเวที

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ บอกว่า ใช้เวลา 1 ปีเต็มในการพูดคุยกับคนที่มีศักยภาพ มีชื่อเสียง เพื่อหาคนที่มาเป็นผู้ว่าราชการ กทม. ของพรรค แต่ไม่มีใครมี "ดีเอ็นเอก้าวไกล" เท่านายวิโรจน์

ก.ก. ถือเป็นพรรคการเมืองที่ 3 ที่ประกาศรายชื่อผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม. ต่อสาธารณะ แม้รัฐบาลยังไม่กำหนดแน่ชัดว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อไร

นายวิโรจน์ถือเป็นด็อกเตอร์รายที่ 4 และผู้มีภูมิหลังเป็นวิศวกรรายที่ 3 ที่เสนอตัวเป็นผู้ว่าฯ ของคนเมืองหลวง

"พร้อมชน" = ประสาน ตาม จี้

ก่อนเปิดตัวผู้สมัคร พรรคได้ปล่อยแคมเปญ "หมดเวลาซุกปัญหาไว้ใต้พรม ถึงเวลาเลือกผู้ว่าฯ ที่พร้อมชนเพื่อคนกรุงเทพฯ" ในช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา

ตามด้วยการปล่อยคลิปวิดีโอผ่านสื่อสังคมออนไลน์ในเครือข่าย ก.ก. ร่ายสารพันปัญหาของ กทม. ก่อนตั้งคำถามว่า 47 ปี ที่มีผู้ว่าฯ มาจากการเลือกตั้ง ทำไมคน กทม. ถึงถูกทอดทิ้ง

ป้ายหาเสียง

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคก้าวไกล

คำบรรยายภาพ, แคมเปญเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ของพรรคก้าวไกลปรากฏหน้ารถเข็นขายของเมื่อ 17 ม.ค. และยังมีอีกหลายพื้นที่

ในระหว่างการแสดงวิสัยทัศน์วันนี้ นายวิโรจน์ วัย 44 ปี ประกาศ 3 ปัญหาที่เขาขอ "ท้าชน" ประกอบด้วย "ส่วยกรุงเทพฯ-ระบบราชการรวมศูนย์ส่วนกลาง-กลุ่มทุนผูกขาด"

คำประกาศ "พร้อมชน" ของ ก.ก. เรียกทั้งเสียงตอบรับและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหมู่ผู้ติดตามข้อมูลข่าวสาร บางส่วนให้ความเห็นว่า ต้องการผู้ว่าฯ ที่เป็นนักบริหารมืออาชีพ เริ่มทำงานได้ทันที และมีความสามารถในการประสานความร่วมมือ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ส.ส.ฝ่ายค้าน ผู้ขันอาสาเป็นพ่อเมือง กทม. ก็ได้ยิน-ได้ฟังมาเช่นกัน จึงใช้เวทีนี้ชี้แจงจากมุมของเขา

"ส่วยประสานไม่ได้ ร่วมมือไม่ได้ ต้องชนและกำจัดอย่างเดียว" และ "คนกรุงเทพฯ ค่าครองชีพแพงอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่คนกรุงเทพฯ ต้องจ่ายค่าคุ้มครองชีพให้ใครอีก นี่คือเรื่องที่เราต้องชน"

เขาระบุว่า ชาว กทม. รู้ดีว่า "ส่วยกรุงเทพฯ" มีอยู่จริง เป็นปรสิตที่คอยเซาะกร่อนบ่อนทำลายกัดกินอนาคตของคน กทม. หากกำจัดส่วยออกไปได้ กทม. จะดีขึ้นในหลายมิติโดยอัตโนมัติ โดยพร้อมจับมือกับข้าราชการน้ำดีใน กทม. ที่มีกว่า 90% เพื่อขับเคลื่อน กทม. ไปสู่ทิศทางที่ดีขึ้น

นายวิโรจน์กล่าวว่า ในแต่ละปี กทม. มีงบประมาณราวแสนล้านบาท มีการประเมินกันว่าส่วยขั้นต่ำสุด 5,000 ล้านบาท สูงสุดไปถึง 15,000 ล้านบาท ถ้าจริงตามนี้แสดงว่า " ส่วยกรุงเทพฯ" มีมากถึง 15% ต่อปี

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร บนเวที

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำว่า "ชน" ตามการให้คำจำกัดความของนายวิโรจน์ หมายความว่า ต้องไปประสาน แต่เมื่อใดที่ประสานแล้วไม่มีความคืบหน้า ก็ต้องตาม ต้องจี้ ถ้าทำไม่ดี ก็ต้องตามให้กลับมาทำใหม่ เพราะทุกครั้งที่ผู้ว่าฯ ยอมคือการลอยแพคนกรุงเทพฯ

"ผมยืนยันว่าต่อให้นโยบายของกรุงเทพฯ จะดีเลิศประเสริฐศรีขนาดไหน ถ้าผู้ว่าฯ เกรงใจหน่วยงานนั้นหน่วยงานนี้ แต่ไม่เกรงใจคนกรุงเทพฯ ก็จะขับเคลื่อนนโยบายไม่ได้ ปัญหาคนกรุงเทพฯ ไม่มีทางถูกแก้ จะต้องแก้แบบปะผุ และเลี้ยงไข้ไปเรื่อย ๆ" แคนดิเดตผู้ว่าฯ กทม. คนล่าสุดกล่าว

"ถ้าผู้ว่าฯ ชื่อวิโรจน์"

นักการเมืองระดับชาติรายนี้ยังฉายภาพด้วยว่า กทม. จะเปลี่ยนไปอย่างไร "ถ้าผู้ว่าฯ ชื่อวิโรจน์" ซึ่งสรุปวาทะบางส่วนได้ ดังนี้

  • ปัญหาส่วย: "กรุงเทพฯ ต้องหยุดไถทันที และถ้าใครมีหลักฐานให้ส่งผม ผมจะลากคอพวกมันมาลงโทษให้ดู"
  • ปัญหาวัคซีนโควิด-19: "ต้องพร้อมชนกับ รมว.สาธารณสุข จะเรียกว่าพร้อมชนไม่ถูก เพราะผมชนมาแล้ว ไม่เห็นต้องกลัวอะไร ไม่ได้ชนส่วนตัว แต่เพื่อปกป้องชีวิตประชาชน"
  • ปัญหาน้ำท่วม: "ต้องพร้อมคุยทุกหน่วยงานเพื่อทะลุข้อจำกัด พอกันทีกับกระสอบทรายรายปี"
  • ปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง: "จะเปิดเผยสัญญาทันที ซึ่งสัญญาฉบับนี้มีความเชื่อมโยงกับคำสั่ง คสช. ที่ 3/2562 ถ้าไม่เปิด ก็ไม่มีทางรู้ว่าไปประเคนอะไรให้นายทุน ไม่อย่างนั้นก็ปัญหาแก้ไม่ได้ และพอเปิดสัญญาแล้ว ผู้ว่าฯ ต้องกล้าเป็นหัวหอกในการเปิดตั๋วร่วม"
  • ปัญหาที่พักอาศัยราคาแพง: "กลไกผังเมืองทั้งหมดจะถูกใช้ เพื่อพัฒนาที่อยู่อาศัยในราคาที่คนกรุงเทพฯ จ่ายไหว ควบคู่กับการพัฒนาเมือง"
  • "กรุงเทพฯ ไม่มีความจำเป็นต้องติดอันดับโลกเพื่อคนอื่น แต่ต้องเป็นเมืองที่คนที่มีชีวิตอยู่ที่นี่ คนที่มีลมหายใจที่นี่ อยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ต้องเป็นเมืองที่มีสวัสดิการขั้นพื้นฐานที่ดีที่คนกรุงเทพฯ ทุกคนฝากผีฝากไข้พึ่งพิง"

นายวิโรจน์และนายพิธาพร้อมใจกันยืนยันว่า แคมเปญที่ออกมาไม่ใช่ Negative Campaigning หรือการหาเสียงโดยมุ่งเสนอภาพด้านลบ แต่เป็น Realistic Campaigning หรือรณรงค์โดยเสนอภาพตามความเป็นจริง เพราะมองว่าการแก้ปัญหาต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง

"ถ้าคนกรุงเทพฯ ต้องการคนที่พร้อมชนแบบเก็บทุกรายละเอียด ชนทุกปัญหา ผมก็พร้อมอาสาเป็นคนคนนั้น ช่วยกันสะบัดพรม กรุงเทพฯ ได้เวลาเก็บกวาดแล้วครับ" ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม. ในนามพรรคก้าวไกลกล่าว

สมาชิกพรรคก้าวไกลหลายคนชูมือบนเวที

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, เพื่อน ส.ส. พรรคก้าวไกลร่วมให้กำลังใจนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ที่เตรียมผันตัวไปเป็นว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการ กทม.

ตลอดเวลาเกือบ 3 ปีของการทำหน้าที่ฝ่ายค้านในสภา นายวิโรจน์อาศัยทักษะเก่าเมื่อครั้งเป็นนักโต้วาทีประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย มาใช้ในสภา ทำให้การอภิปรายนัดสำคัญ ๆ ของนักการเมืองฝีปากกล้ารายนี้ มีผู้ติดตามและพูดถึงอย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์

ส.ส. สมัยแรกเริ่มสร้างชื่อจากการร่วมอภิปรายไม่วางใจรัฐบาลเมื่อ ก.พ. 2563 โดยสวมบทบาท "เจ้าหนูโคนัน" เปิดโปงขบวนการปฏิบัติการด้านข่าวสาร (ไอโอ) ของรัฐบาล ตามด้วยการเปิดวิวาทะกับ รมว.สาธารณสุข เรื่องการจัดหาวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ในศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจอีก 2 ครั้ง ในปี 2564

ลงสนามในนามก้าวไกล หวังทำงานแบบ "ไร้รอยต่อ"

ก่อนหน้านี้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นทุกระดับ ทั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาล ก.ก. ไม่ได้ส่งผู้สมัครในนามพรรค แต่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของ "คณะก้าวหน้า" ภายใต้การนำของนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ในการเฟ้นผู้สมัครและรณรงค์หาเสียง

แต่สำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอย่าง กทม. นายพิธาบอกว่า เป็นท้องถิ่นที่น่าสนใจและอยากปล้ำกับมันสักตั้ง เพราะไม่มีการเลือกตั้งนานแล้ว อีกทั้งพรรคต้องการให้การทำงานเพื่อคน กทม. เป็นไปอย่างไร้รอยต่อของ "สามประสาน" ได้แก่ ผู้ว่าฯ คอยขับเคลื่อนโยบาย, สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ทำงานในพื้นที่ และ ส.ส. ทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติ

นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก อบจ. และ ส.อบจ. ในการเลือกตั้งปี 2563

ที่มาของภาพ, กองโฆษก คณะก้าวหน้า

คำบรรยายภาพ, นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า ปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัครนายก อบจ. และ ส.อบจ. ในการเลือกตั้งปี 2563

เชื่อ วิโรจน์ ช่วยเสริม เพชร ในศึกเลือกซ่อม กทม.

สำหรับ กทม. เป็นพื้นที่ที่พรรค ก.ก. มี ส.ส.แบบแบ่งเขต จำนวน 9 คน โดยสืบทอดมาจากพรรคอนาคตใหม่เดิม และยังส่งนายกรุณพล เทียนสุวรรณ หรือ "เพชร" ลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.กทม. เขต 9 (จตุจักร-หลักสี่) ในการเลือกตั้งซ่อม 30 ม.ค. เพื่อชิงเก้าอี้ตัวที่ 10

การเปิดหน้า-เปิดตัวของแคนดิเดตชิงเก้าอี้ผู้ว่าราชการ กทม. ในสัปดาห์สุดท้ายก่อนชี้ชะตาศึกเลือกตั้งซ่อม หัวหน้าพรรค ก.ก. ประเมินว่าจะมีส่วนเสริมกัน และในสัปดาห์หน้าก็จะได้เห็นทั้งผู้สมัคร ส.ส. และแคนดิเดตผู้ว่าราชการ กทม. เดินคู่กัน และต่อสู้เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงในแต่ละพื้นที่

เพชร

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, เพชร-กรุณพล เทียนสุวรรณ ปราศรัยตอนหนึ่งเมื่อ 22 ม.ค. 2565 ว่า “ดาราคนนี้พร้อมเข้าไปด่า พล.อ ประยุทธ์ในสภา ถึงเวลาแล้วที่เราจะไม่ประนีประนอม ไม่พูดจาดี ๆ กับคนที่ไม่มีเหตุผล”

ในระหว่างเปิดเวทีปราศรัยใหญ่ครั้งแรกที่ลานกีฬาชุมชนเสนานิคม 2 เมื่อ 22 ม.ค. นายกรุณพล ผู้สมัคร ส.ส.กทม. โดยใช้คำสำคัญใกล้เคียงกันกับนายวิโรจน์ อาทิ "ไม่ประนีประนอม" "ต้องการความเปลี่ยนแปลง" "พุ่งชนต้นตอปัญหา"

แกนนำ ก.ก. กล่าวกับบีบีซีไทยว่า พรรคต้องการใช้การเลือกตั้งทั้ง 2 สนามทดสอบแคมเปญทางการเมือง เพื่อนำผลการเลือกตั้งมาทบทวนและปรับกลยุทธ์สู้ศึกเลือกตั้งใหญ่ในอีก 1 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ในส่วนของแคมเปญผู้ว่าราชการ กทม. พรรคต้องการฉีกไปจากแคนดิเดตรายอื่น ๆ ไม่ไปเดินตามจุดแข็ง-จุดขายของคู่แข่งขันหลัก เพื่อสร้างการรับรู้ใหม่และเสนอทางเลือกใหม่ให้คน กทม.

เส้น

ทางเลือกของคนกรุง

หากไม่มีอะไรผิดพลาด การเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. ควรจะเกิดขึ้นในช่วงกลางปีนี้ตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ลั่นวาจาเอาไว้ โดยถือเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีที่คนเมืองหลวงจะมีสิทธิเลือกผู้ว่าฯ นับจากการเลือกตั้งครั้งสุดท้ายเมื่อ 3 มี.ค. 2556

ถึงขณะนี้มีผู้เสนอตัวอย่างเป็นทางการแล้วอย่างน้อย 5 คน จาก 3 พรรคการเมือง และอีก 2 คนลงในนามอิสระ

  • รศ.ดร. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ อดีต รมว.คมนาคม เปิดตัวเมื่อ 30 พ.ย. 2562 ในนามอิสระ
  • น.ส. รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กทม. เปิดตัวเมื่อ 13 ธ.ค. 2562 ในนามอิสระ
  • ดร. ประยูร ครองยศ อดีตรองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. เปิดตัวเมื่อ 9 ธ.ค. 2564 ในนามพรรคไทยศรีวิไลย์ หลังก่อนหน้านั้นเมื่อ 21 ส.ค. 2564 เคยประกาศลงสมัครในนามอิสระมาก่อน
  • ศ.ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ หรือ "ดร.เอ้" อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เปิดตัวเมื่อ 18 ธ.ค. 2564 ในนามพรรคประชาธิปัตย์
  • ดร. วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคก้าวไกล เปิดตัวเมื่อ 23 ม.ค. 2565 ในนามพรรคก้าวไกล

นอกจากนี้มีนักการเมือง/พรรคการเมืองอื่น ๆ ที่แสดงความสนใจจะลงชิงเก้าอี้ด้วย แต่ยังไม่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ อาทิ พล.ต.อ. อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการ กทม. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. ตั้งแต่ปี 2559, นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการ กทม. รวมถึงพรรคไทยสร้างไทย และพรรคกล้า ที่แกนนำพรรคระบุไว้แล้วว่าพร้อมส่งผู้สมัครลงเลือกตั้ง