โควิด-19: สธ. ชง ศบค. ยกเลิกมาตรการเข้าเมืองแบบ เทสต์แอนด์โก หลังยอดผู้ต้องสงสัยติดโอมิครอนเพิ่มเป็น 63 ราย

Immigration

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่าในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามียอดผู้ต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนรวม 63 ราย ในจำนวนนี้ยืนยันแล้ว 20 ราย โดยขณะนี้พบว่า 1 ใน 4 ของผู้ติดโควิด-19 เป็นผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอน

กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และกรมควบคุมโรคแถลงข่าวร่วมกันวันนี้ (20 ธ.ค.) ว่าจากข้อมูล ณ วันที่ 19 ธ.ค. พบว่ากลุ่มผู้ต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนทุกรายเชื่อมโยงกับการเดินทางกลับมาจากต่างประเทศ หนึ่งในนั้นคือหญิงไทยที่แม้จะไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศแต่ติดโอมิครอนจากสามีที่เป็นนักบินชาวโคลอมเบียที่เดินทางกลับจากไนจีเรีย

"ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้ (ต้องสงสัย) ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนรายใหม่สูงถึง 52 ราย บวกกับของเก่าก็เป็น 63 ราย...ช่วงหลังจะเพิ่มขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว" นพ. ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว พร้อมกับอธิบายว่าการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนสอดคล้องกับสถานการณ์ของโลก

หากพิจารณาในสัดส่วนสายพันธุ์ที่เฝ้าระวังในประเทศระหว่างวันที่ 11-19 ธ.ค. พบว่า ภาพรวมทั้งประเทศจากการเก็บตัวอย่างเชื้อมาตรวจสอบสายพันธุ์จำนวน 1,595 ราย สายพันธุ์ที่ยังครองส่วนแบ่งสูงสุดยังเป็นสายพันธุ์เดลตาที่ 96.61% ส่วนสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มเป็น 3.26% ซึ่งเพิ่มจากสัปดาห์ที่แล้วไม่ถึง 1%

"คนที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่ผล RT-PCR เป็นบวก แล้วส่งมาตรวจสายพันธุ์ พบว่า 1 ใน 4 เป็นโอมิครอน" อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กล่าว

นับตั้งแต่มีการค้นพบไวรัสโคโรนาสายพันธุ์โอมิครอนครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พ.ย. ที่ประเทศบอตสวานา และต่อมาองค์การอนามัยโลกได้จัดอันดับให้เป็นสายพันธุ์ที่ต้องกังวล และมีชื่อเรียกว่า โอมิครอนในช่วงปลายเดือน พ.ย. ถึงเมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.) มี 89 ประเทศที่รายงานการพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลการศึกษาในต่างประเทศ นพ. ศุภกิจกล่าว่า อัตราการนอนโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต ยังมีข้อมูลจำกัด จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่า ความรุนแรงของโรคมีมากหรือน้อยกว่าสายพันธุ์อื่น

graphic

ที่มาของภาพ, กระทรวงสาธารณสุข

นพ. ศุภกิจกล่าวถึงการคัดกรองผู้เดินทางเข้าประเทศว่า ข้อกำหนดเรื่องการตรวจ RT-PCR ก่อนมาถึงไทยภายใน 72 ชั่วโมง และตรวจ RT-PCR เพียงครั้งเดียว เมื่อมาถึงเมืองไทย ยังทำให้ผู้ป่วย "หลุด" ไปได้ เนื่องจากเชื้อโรคยังอยู่ในระยะฟักตัว ดังนั้นจึงอาจต้องพิจารณาปรับมาตรการเทตส์แอนด์โก ส่วนการตรวจจับสายพันธุ์ ยังสามารถทำได้ตามปกติ ทั้งแบบเบื้องต้นและแบบยืนยัน

เส้นเทา

เดินทางเข้าไทยได้กี่ระบบ?

นับตั้งแต่เปิดประเทศวันที่ 1 พ.ย. 2564 ให้ 63 ประเทศเข้าในราชอาณาจักรไทยโดยไม่ต้องกักตัว ทำให้ประเทศไทยมีระบบการเข้าประเทศทั้งคนสัญชาติไทยและต่างชาติเพิ่มเป็นทั้งหมด 3 ระบบ ได้แก่ เทสต์ แอนด์ โก (Test & Go) สำหรับ 63 ประเทศ เข้าไทยไม่ต้องกักตัว ระบบแซนด์บ็อกซ์ และระบบกักตัวในสถานที่กักตัวทางเลือก (ควอรันทีน) ตั้งแต่ 7-14 วัน

ข้อมูลจากกรมการกงสุล กระทรวงต่างประเทศ ณ วันที่ 15 พ.ย. ระบุการเดินทางเข้าไทยของทั้ง 3 แต่ละระบบมีการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และเงื่อนไขการรับวัคซีนที่แตกต่างกัน โดยทั้ง 3 ระบบ ผู้เดินทางต้องลงทะเบียนผ่าน THAILAND PASS

1. เทสต์ แอนด์ โก (Test & Go) 63 ประเทศ เข้าไทยได้ ไม่ต้องกักตัว

สำหรับบุคคลสัญชาติไทย ที่จะเดินทางเข้าไทย ต้องอยู่ในประเทศต้นทางต่อเนื่องอย่างน้อย 21 วัน ส่วนที่คนที่เดินทางจากไทยไป สามารถกลับเข้าไทยได้โดยไม่ต้องครบ 21 วัน และต้องได้วัคซีนครบตามเกณฑ์ อย่างน้อย 14 วันก่อนเดินทาง

นอกจากนี้ บุคคลสัญชาติไทยไม่ต้องซื้อประกันภัย และต้องมีหลักฐานชำระเงินค่าโรงแรม SHA+/ AQ 1 คืน และมีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นลบ ไม่เกิน 72 ชม. ก่อนเดินทาง

ส่วนบุคคลที่ไม่ใช่สัญชาติไทย ใช้เงื่อนไขเดียวกัน แต่วัคซีนที่รับต้องเป็นวัคซีนที่ทางการไทยรับรอง และต้องซื้อประกันภัยครอบคลุมวงเงินอย่างน้อย 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ ส่วนหลักฐานจองโรงแรม SHA+/ AQ ต้องรวมถึงหลักฐานชำระเงินที่ครอบคลุมการตรวจโควิด RT-PCR

หลังจากนั้น ลงทะเบียนเข้าไทยผ่านระบบ THAILAND PASS เมื่อเดินทางถึงไทย เข้าพักโรงแรม 1 คืนโดยตรวจ RT-PCR ในคืนแรกที่เดินทางถึงไทย รอผลตรวจยืนยัน หากผลเป็นลบ สามารถเดินทางท่องเที่ยวโดยไม่ต้องกักตัว

2. ระบบแซนด์บ็อกซ์

การเดินทางเข้าไทยผ่านโครงการแซนด์บ็อกซ์ หรือ การเดินทางเข้าพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว รับผู้เดินทางจากทุกประเทศ/พื้นที่

มีเงื่อนไขต้องรับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ที่กระทรวงสาธารณสุขหรือองค์การอนามัยโลกรับรอง สำหรับบุคคลสัญชาติไทยไม่ต้องซื้อประกันภัย และต้องมีหลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรม SHABA Certificate 7 คืน หลักฐานชำระเงินที่ครอบคลุมการตรวจโควิด RT-PCR และมีผลตรวจเชื้อโควิด-19 เป็นลบ ไม่เกิน 72 ชม. ก่อนเดินทาง

เมื่อเดินทางถึงพื้นที่แซนด์บ็อกซ์

- ผ่านด่านควบคุมโรคและด่านตรวจคนเข้าเมือง ให้เข้ารับการตรวจหาเชื้อที่สนามบินหรือโรงแรมที่กำหนด

- รอผลตรวจ ณ ห้องพัก หากมีผลเป็นลบ ผู้เดินทางสามารถท่องเที่ยวในพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว

- ระหว่างอยู่ในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ ไม่สามารถเดินทางข้ามพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ต่าง ๆ ได้ ต้องอยู่ในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์เฉพาะในจังหวัดที่โรงแรมตั้งอยู่

หลังจากพักในพื้นที่แซนด์บ็อกซ์ครบ 7 วัน และมีผลตรวจหาเชื้อโควิดครั้งที่ 2 ด้วยการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK จะได้รับ Release Form สำหรับเดินทางไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทยต่อไป

เงื่อนไขของทางการไทย ยังระบุด้วยว่า ผู้เดินทางต้องเดินทางเข้าไทยผ่านท่าอากาศยานนานาชาติที่กำหนด ได้แก่ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ภูเก็ต เชียงใหม่ อู่ตะเภา สมุย และบุรีรัมย์ (สนามบินบุรีรัมย์สำหรับเที่ยวบินเช่าเหมาลำเท่านั้น)

3. กักตัวในสถานกักตัวทางเลือก (Alternative Quarantine)

รับผู้เดินทางจากทุกประเทศ/พื้นที่ โดยไม่จำเป็นต้องรับวัคซีนครบโดส บุคคลสัญชาติไทยไม่ต้องซื้อประกันและไม่ต้องมีผลตรวจโควิด-19 ก่อนเดินทาง แต่หากเป็นต่างชาติต้องซื้อประกัน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ และต้องมีผลตรวจโควิดเป็นลบด้วยวิธี RT-PCR ภายใน 72 ชม. ก่อนเดินทาง นอกจากนี้ต้องมีหลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรมที่ใช้กักตัว (Alternative Quarantine)

สำหรับประเทศที่พบเชื้อไวรัสโอมิครอน/ประเทศเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด 8 ประเทศ ได้แก่ นามิเบีย ซิมบับเว บอตสวานา เลโซโท เอสวาตินี โมซัมบิก แอฟริกาใต้ และมาลาวี ผู้ได้รับอนุญาตแล้ว สั่งกักตัว 14 วัน ตั้งแต่ 28 พ.ย. นอกจากนี้ไม่อนุญาตให้เข้าไทย ตั้งแต่ 1 ธ.ค. และไม่อนุญาตให้ลงทะเบียนเข้าไทย ตั้งแต่ 27 พ.ย.

ข้อมูลการเดินทางเข้าไทย

ข้อมูลผู้ที่เดินทางเข้าไทยทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1-19 ธ.ค. รวมแล้วจำนวน 160,445 คน จำแนกดังนี้

  • Test&Go 138,181 คน
  • Sandbox 18,449 คน
  • Quarantine 7 วัน 794 คน
  • Quarantine 10 วัน 2,635 คน
  • Quarantine 14 วัน 386 คน
เส้นเทา

เตรียมเสนอ ศบค. ชะลอการเข้าประเทศแบบเทสต์แอนด์โก

นพ. จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่าระหว่างเดือน พ.ย. และ ธ.ค. ตรวจพบว่าผู้ที่เดินทางเข้าประเทศในรูปแบบ "เทสต์แอนด์โก" ภายใต้มาตรการเปิดประเทศเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า รวมทั้งตรวจพบสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดังนั้น สธ. จึงได้จัดทำข้อเสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด 19 หรือ ศปก. ศบค. ให้พิจารณาชะลอการเดินทางเข้าประเทศในรูปแบบดังกล่าว สำหรับผู้เดินทางจากทุกประเทศ และพิจารณากลับมาใช้มาตรการกักตัวตามสถานที่ต่าง ๆ หรือ มาตรการแซนด์บ็อกซ์ ในระยะเวลา 7-10 วันแทน

"เราคงไม่อยากให้การจัดเทศกาลต่าง ๆ ของเราในช่วงนี้ หรือกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นในประเทศมีการติดเชื้อหรือการระบาดเพิ่มเติมมากขึ้น เพื่อทำให้คนไทยมีความสุขได้ในช่วงการเฉลิมฉลองปีใหม่ และไม่มีการระบาดมากนัก คงจะต้องมีการพิจารณาในส่วนนี้" นพ. จักรรัฐกล่าว

นพ. ศุภกิจ กล่าวเสริมว่า จากข้อมูลหลังฐานเชิงประจักษ์ แพทย์อาวุโสหลายท่านเห็นด้วยว่าน่าจะพิจารณาทบทวน เพราะการเดินทางเข้ามาแบบเทสต์แอนด์โกมีการตรวจหาเชื้อ 72 ชั่วโมงก่อนเดินทางมาเพียงครั้งเดียว มีโอกาสที่จะหลุดออกไปได้ และมีตัวอย่างให้เห็นแล้ว อย่างไรก็ตาม ศบค. จะเป็นผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย

สนามบินสุวรรณภูมิ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ผู้ติดเชื้อโอไมครอนรายแรกที่พบในไทย เป็นผู้ที่เดินทางเข้าประเทศในระบบ Test & Go ซึ่งเป็นการผ่อนคลายมาตรการการเข้าไทยหลังเปิดประเทศเมื่อ 1 พ.ย. 2564

อธิบดีกรมการแพทย์ย้ำว่าในสถานการณ์การระบาดของไวรัสกลายพันธุ์ในขณะนี้ ประชาชนจำเป็นจะต้องให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด และฉีดวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์

นพ. จักรรัฐแนะนำคนไทยที่มีแผนจะต้องเดินทางไปต่างประเทศในช่วงเทศกาลปีใหม่ ขอให้ชะลอการเดินทางออกไปก่อน เพราะในหลายประเทศทั้งในยุโรป ตะวันออกกลาง และสหรัฐอเมริกายังมีการระบาดค่อนข้างมาก โดยเฉพาะสายพันธุ์โอมิครอน

"หากมีความจำเป็นจริง ๆ ที่จะต้องเดินทาง จะต้องมีการดูแลตัวเองขณะเดินทาง ขณะที่พำนักในต่างประเทศต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) เพื่อจะได้ไม่นำเชื้อกลับมาแพร่ให้กับครอบครัวหรือกลับมาในประเทศไทย" นพ. จักรรัฐกล่าว

หญิงไทยไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ แต่ติดเชื้อโอมิครอนจากสามี

ในการแถลงข่าวสถานการณ์การระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนวันนี้ นพ.จักรรัฐได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ป่วยโควิดรายหนึ่งซึ่งนับเป็นคนไทยคนแรกที่ติดเชื้อโอมิครอนแม้ไม่มีประวัติเดินทางไปต่างประเทศ แต่จากการสอบสวนโรคพบว่าติดเชื้อจากสามีที่เดินทางกลับจากประเทศไนจีเรีย

ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยาเปิดเผยว่า ผู้ติดเชื้อรายนี้เป็นหญิงอายุ 49 ปี เป็นภรรยาของนักบินชาวโคลอมเบียวัย 62 ปี เดินทางเข้าประเทศไทยจากไนจีเรียเมื่อวันที่ 26 พ.ย. ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่รัฐบาลจะประกาศห้ามผู้เดินทางจาก 8 ประเทศในแอฟริกาตอนใต้เข้าประเทศ

กรณีนี้ ภรรยาได้รับวัคซีนของแอสตร้าเซนเนก้าแล้ว 2 เข็ม ส่วนสามีได้รับวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มและวัคซีนของไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 มีไทม์ไลน์ดังนี้

  • 26-27 พ.ย. เดินทางกลับจากไนจีเรีย ผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ เข้ากักตัวในระบบแซนด์บ็อกซ์ สามารถเดินทางออกนอกโรงแรมได้โดยมีการติดตามตัว
  • 29 พ.ย. ขี่มอเตอร์ไซค์ไปตรวจตาที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง แวะรับประทานอาหารที่ห้างสรรพสินค้า และกลับโรงแรมที่พัก
  • 1 ธ.ค. ขี่มอเตอร์ไซต์ไปฉีดวันซีนไฟเซอร์เข็ม 3 ที่โรงพยาบาลเอกชน เริ่มมีไข้ ผลตรวจ ATK ผลเป็นลบ
  • 2 ธ.ค. ตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้ง แต่ผลเป็นลบ ผลตรวจปอดไม่พบความผิดปกติ
  • 3 ธ.ค. ออกจากการกักตัว แวะร้านสะดวกซื้อ กลับบ้าน มีไข้
  • 6 ธ.ค. อยู่บ้านกับภรรยา มีไข้ต่อเนื่อง ผลตรวจ ATK ยังคงเป็นลบ
  • 7 ธ.ค อาการไม่ดีขึ้น ภรรยาพานั่งแท็กซี่ไปโรงพยาบาล ผลตรวจหาเชื้อออกมาเป็นบวก จึงเข้ารักษาตัว ส่วนภรรยากลับมากักตัวที่บ้าน
  • 10 ธ.ค ภรรยาเข้ารับการตรวจเชื้อผลเป็นบวกเช่นกัน เมื่อผลการตรวจของสามียืนยันว่าเป็นสายพันธุ์โอมิครอน แพทย์จึงส่งตัวอย่างของภรรยาตรวจหาสายพันธุ์และพบว่าเป็นโอมิครอน

การสอบสวนโรคพบว่ามีผู้สัมผัสใกล้ชิดสามีภรรยาคู่นี้ 1 คน คือ คนขับแท็กซี่ ซึ่งล่าสุดผลการตรวจหาเชื้อยังเป็นลบ และมีผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำอีก 89 ราย ติดตามอาการครบ 14 วันแล้ว ไม่พบผู้ติดเชื้อ

กราฟิกอธิบายโอไมครอน

ไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 ทะลุ 100 ล้านโดสแล้ว

นอกจากรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับการระบาดของโอมิครอนแล้ว วันนี้ (20 ธ.ค.) สธ. ยังได้ประกาศความสำเร็จในการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ได้ครบ 100 ล้านโดสภายในเดือน ธ.ค. 2564 ตามเป้าหมาย

นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. ระบุว่ายอดการฉีดวัคซีนสะสมทั่วประเทศ ณ วันที่ 19 ธ.ค. อยู่ที่ 100,054,961 โดส ครอบคลุมประชากร 72 ล้านคน แบ่งเป็น

-เข็มที่ 1: 50,573,308 คน (70.21%)

-เข็มที่ 2: 44,393,213 คน (61.63%)

-เข็มที่ 3: 5,020,704 คน (6.97%)

-เข็มที่ 4: 66,722 คน (0.09%)

ไทยเริ่มฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ประชาชนตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2564 โดยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สธ. เป็นคนไทยคนแรกที่เข้ารับการฉีดวัคซีนยี่ห้อซิโนแวค

ต่อมารัฐบาลประกาศเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ถึง 100 ล้านโดสภายในเดือน ธ.ค. ก่อนที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ จะขยับเป้าหมายให้เร็วขึ้นเป็นภายในสิ้นเดือน พ.ย. แต่สุดท้ายก็ทำไม่สำเร็จ จึงกลับมายึดเส้นตายที่สิ้นเดือน ธ.ค. ตามเดิม และเป็นที่มาของการประกาศความสำเร็จ "บรรลุเป้าหมาย 100 ล้านโดส" ในวันนี้

นพ.เกียรติภูมิกล่าว่า หลังจากนี้เจ้าหน้าที่จะเดินหน้าให้บริการฉีดวัคซีนเชิงรุกสำหรับชุมชนชาวเขา กลุ่มผู้ป่วยติดบ้านติดเตียง รวมถึงเปิดโอกาสให้กลุ่มแรงงานต่างด้าวทั้งที่ได้รับอนุญาตแล้วและยังไม่ได้รับอนุญาตเข้ารับการฉีดวัคซีนให้มากที่สุด