พลาสติกท่วมโลกา หลัง 65 ปี ของการผลิตพลาสติก

ภาพขยะบนชายหาด

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, มีงานวิจัยของนักวิจัยชาวสหรัฐฯ ระบุว่า ปริมาณขยะพลาสติกที่เล็ดลอดออกสู่มหาสมุทรว่า มีถึง 8 ล้านตันต่อปี

หลังจากการใช้ความพยายามในการคำนวณปริมาณพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นทั่วโลกในช่วงประมาณ 65 ปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ พบว่ามีน้ำหนักรวมกันถึง 8.3 พันล้านตัน

ปริมาณดังกล่าวเทียบได้เท่ากับน้ำหนักของตึกเอ็มไพร์ สเตทในมหานครนิวยอร์กของสหรัฐฯ รวมกันถึง 25,000 อาคาร หรือหากเทียบกับน้ำหนักช้างแล้ว ใกล้เคียงกับน้ำหนักรวมกัน 1 พันล้านตัวเลยทีเดียว

ปัญหาสำคัญของการใช้วัสดุที่เป็นพลาสติก เช่นจำพวกบรรจุภัณฑ์ คือ คนเรามักใช้แล้วทิ้งเป็นขยะเลย จึงทำให้ขณะนี้มีพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นมากกว่าร้อยละ 70 กลายเป็นขยะปนเปื้อนตามแหล่งน้ำทิ้ง กองขยะตามที่ต่างๆ รวมไปจนถึงการเป็นขยะลอยเกลื่อนและจมอยู่ในมหาสมุทร

ดร.โรแลนด์ เกเยอร์ กล่าวกับบีบีซี ว่า "โลกของเรากำลังก้าวเข้าสู่การตกอยู่ในภาวะดาวเคราะห์แห่งพลาสติก หากเราไม่ต้องการอาศัยอยู่ในโลกแบบนั้น เราอาจต้องมาคิดกันใหม่ เพื่อหาวิธีใช้แบบใหม่ โดยเฉพาะวัสดุจำพวกพลาสติก"

ผลการศึกษาเชิงวิชาการ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยนักนิเวศน์วิทยาอุตสาหกรรม จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่ซานตา บาบารา ซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการไซแอนซ์ แอดวานซ์ ระบุว่า นี่เป็นการคำนวณปริมาณขยะพลาสติก เป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งถูกผลิต เป็นการประเมินอย่างแท้จริงครั้งแรก ที่ระบุจำนวนพลาสติกซึ่งถูกผลิตขึ้นทั่วโลก รวมถึงการนำไปใช้ในทุกรูปแบบ และปลายทางที่วัสดุถูกทิ้งเป็นขยะ

แผนภาพเปรียบเทียบพลาสติกน้ำหนัก 8,300 ล้านตัน

สรุปตัวเลข:

  • มีพลาสติกถูกผลิตขึ้นใหม่ 8,300 ล้านตัน
  • ครึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ ถูกผลิตขึ้นในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา
  • ประมาณร้อยละ 30 ของพลาสติกที่ถูกผลิตขึ้น ยังถูกใช้อยู่จนทุกวันนี้
  • จากจำนวนพลาสติกที่กลายเป็นขยะ มีประมาณร้อยละ 9 ที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่
  • ประมาณร้อยละ 12 ถูกทำลายด้วยการเผาทิ้ง แต่ร้อยละ 79 ถูกทิ้งอยู่ตามกองขยะ
  • วัสดุที่มีอายุการใช้งานสั้นที่สุดคือบรรจุภัณฑ์ โดยปกติแล้วจะต่ำกว่า 1 ปี
  • ผลิตภัณฑ์จากพลาสติกที่ถูกใช้งานนานที่สุด พบได้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างและเครื่องจักร
  • แนวโน้มปัจจุบัน ชี้ว่าภายในปี 2050 โลกจะมีขยะพลาสติกเพิ่มเป็น 12,000 ล้านตัน
  • อัตรากการนำกลับมาใช้ซ้ำ (รีไซเคิล) เมื่อปี 2014: ยุโรป (ร้อยละ 30) จีน (ร้อยละ 25) สหรัฐฯ (ร้อยละ 9)

พลาสติกถือเป็นวัสดุที่น่าทึ่ง เพราะสามารถนำไปใช้งานได้หลายหลายและมีความคงทน จนทำให้มีปริมาณการผลิตและการนำไปใช้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ตามหลังเพียง เหล็ก ปูนซีเมนต์ และอิฐ

นับตั้งแต่จุดเริ่มต้นของภาคอุตสาหกรรมการผลิตในช่วงปี 1950 จนถึงขณะนี้ เราสามารถพบโพลีเมอร์ได้รอบตัว ทั้งในรูปแบบของบรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ไปจนถึงชิ้นส่วนเครื่องบินและวัสดุทนไฟ แต่คุณสมบัติที่น่าทึ่งของพลาสติก กำลังกลายเป็นปัญหาที่หนักหนาขึ้นด้วย เนื่องจากพลาสติกที่มีใช้กันอยู่ทั่วไปไม่ใช่แบบที่ย่อยสลายได้ และหนทางเดียวที่จะทำลายทิ้งได้ คือการเผาทำลาย หรือกระบวนการย่อยสลายที่เรียกว่าไพโรไลซิส แต่ปัญหาอยู่ที่การเผาทำลายซึ่งจะก่อให้เกิดมลภาวะและผลกระทบต่อสุขภาพ

เศษขยะที่เก็บได้ชายหาด

ที่มาของภาพ, MALIN JACOB

ดร.เกเยอร์ และทีมวิจัยระบุว่า ในขณะนี้ ขยะพลาสติกที่สะสมอยู่ทั่วโลก มีปริมาณมากพอที่จะครอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศอาร์เจนตินาได้ ซึ่งทางทีมวิจัยหวังว่า ผลการวิเคราะห์ล่าสุดนี้ จะช่วยส่งเสริมให้เกิดแรงผลักดันให้มีความพยายามร่วมกันคิดหาหนทางรับมือกับปัญหาพลาสติก "สูตรการแก้ปัญหาของเราก็คือ คุณจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้หากไม่มีการประเมิน" ดร.เกเยอร์ กล่าว "ดังนั้น แนวคิดของเราคือ การเปิดเผยตัวเลข โดยไม่บอกว่าโลกควรจะต้องทำอะไร แต่เพื่อให้เป็นจุดเริ่มต้นของการหารือที่แท้จริงที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม"

ปัจจุบัน อัตราการรีไซเคิลกำลังเพิ่มขึ้น และนวัตกรรมทางเคมี ได้มีส่วนทำให้เกิดทางเลือกในการใช้วัสดุที่ย่อยสลายได้ แต่การผลิตพลาสติกใหม่ก็มีต้นทุนถูกลงมาก จนทำให้ยากที่จะเลิกการผลิตพลาสติกใหม่อย่างสิ้นเชิง

ทีมวิจัยเดียวกันนี้ ซึ่งรวมถึงดร.เจนนา แจมเบก จากมหาวิทยาลัยจอร์เจีย และสมาคมเพื่อการศึกษากฎหมายทางทะเล คารา ลาเวนเดอร์ แห่งวูดส์ โฮล ได้ตีพิมพ์รายงานการสัมมนาเมื่อปี 2015 ระบุปริมาณขยะพลาสติกที่เล็ดลอดออกสู่มหาสมุทรว่า มีถึง 8 ล้านตันต่อปี

นกคาบกระป๋องพลาสติก

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, มีความกังวลว่า ขยะกำลังปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร จากการที่ปลาและสัตว์ทะเลนานาชนิดกลืนชิ้นส่วนโพลีเมอร์ขนาดเล็กเข้าไป

ทิศทางการไหลเวียนของขยะ เป็นประเด็นหนึ่งที่ก่อให้เกิดความกังวลเมื่อไม่นานนี้ เนื่องจากมีหลักฐานชัดเจน ที่ใช้ให้เห็นว่าขยะกำลังปนเปื้อนเข้าสู่ห่วงโซ่อาหาร จากการที่ปลาและสัตว์ทะเลนานาชนิดกลืนชิ้นส่วนโพลีเมอร์ขนาดเล็กเข้าไป

ดร.เอริค ฟอน เซบิลย์ นักจากมหาวิทยาลัยยูเทรคท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ หนึ่งในนักสมุทรศาสตร์ ที่เฝ้าติดตามการเคลื่อนที่ของขยะพลาสติกในทะเล กล่าวถึงรายงานฉบับล่าสุดว่า "เรากำลังเผชิญกับคลื่นสึนามิขยะพลาสติก และเราต้องรับมือกับมัน" โดย "อุตสาหกรรมการกำจัดขยะทั่วโลกจำเป็นต้องร่วมมือกัน หาวิธีป้องกันไม่ให้พลาสติกที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุดนี้ ล็อดลอดออกสู่สภาพแวดล้อม"

ดร.ทอมป์สัน กล่าวว่า การออกแบบที่ดีขึ้น คือหนทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มอัตราการรีไซเคิลได้

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ดร.ทอมป์สัน กล่าวว่า การออกแบบที่ดีขึ้น คือหนทางหนึ่งที่จะช่วยเพิ่มอัตราการรีไซเคิลได้

ด้านศ.ริชาร์ด ทอมป์สัน ผู้เชี่ยวชาญด้านชีววิทยาทางทะเล จากมหาวิทยาลัยพลิมัท กล่าวว่า "หากผลิตภัณฑ์จากพลาสติกถูกออกแบบมาให้มีคุณสมบัติเพื่อรีไซเคิลได้ด้วย ก็จะสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง บางคนบอกว่าขวดน้ำสามารถรีไซเคิลได้ 20 ครั้ง ซึ่งเท่ากับจะช่วยลดขยะได้มาก แต่ในขณะนี้ การออกแบบที่ไม่ดีพอคือข้อจำกัด"

สำหรับประเด็นนี้ ดร.เกเยอร์ กล่าวว่า "หัวใจสำคัญของการรีไซเคิล ก็คือการนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ตลอดไปให้ได้ แต่ในผลการศึกษาของเรา พบว่ามีเพียงร้อยละ 90 ของวัสดุเหล่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิล ซึ่งผมคิดว่าคำนวนออกมาแล้ว คือมี 600 ล้านตัน ที่ถูกนำไปรีไซเคิลเพียงครั้งเดียว"