ประธานสภา: ข่าวลับ-ลือ-ลวง ท่ามกลางศึกชิงเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ระหว่างก้าวไกล-เพื่อไทย

สภา

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

พรรคก้าวไกล (ก.ก.) กับพรรคเพื่อไทย (พท.) เตรียมยุติ “ศึกใน” ภายในสัปดาห์หน้า หลังสมาชิก 2 พรรคออกมาเปิดฉากช่วงชิงเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งที่ทีมเจรจาจัดตั้งรัฐบาล “ตกลงกันแล้ว” ว่าจะให้พรรคอันดับ 1 ครอบครองเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ

ในวันเลือกประธานสภาและรองประธานสภา ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้น 4 ก.ค. นี้ พล.ต.ท.วิโรจน์ เปาอินทร์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท. สมาชิกผู้มีอาวุโสสูงสุดด้วยวัย 89 ปี จะทำหน้าที่ประธานชั่วคราวของที่ประชุม เพื่อดำเนินเลือกประธานตัวจริง ตามข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562

บีบีซีไทยสรุป 4 ขั้นตอนการเลือกประธานสภา โดยเทียบเคียงข้อกฎหมาย กับความเคลื่อนไหวของคนการเมืองค่ายต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดข่าวลือ-ข่าวลวง-ข่าวปล่อยอย่างต่อเนื่องตลอดสัปดาห์ ท่ามกลางปัญหาการแย่งชิงเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติระหว่างพรรค ก.ก. และพรรค พท. ที่ยังหาข้อยุติไม่ได้

ขั้นตอนที่ 1 สมาชิกเสนอชื่อประธานสภา (1 คนเสนอได้ 1 ชื่อ) และต้องมีผู้รับรองไม่น้อยกว่า 20 คน

เดิมทางข่าวมาจากพรรคอันดับ 1 และพรรคอันดับ 2 ที่อยู่ใน “ขั้วเดียวกัน” โดยมีการปล่อยชื่อตัวเต็งชิงเก้าอี้ประธานสภาหลายชื่อ

  • ก้าวไกล: มี 3 แคนดิเดตหลัก ซึ่งทุกคนล้วนเป็นผู้แทนฯ สมัยที่ 2 ได้แก่ ณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค วัย 46 ปี, ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.กทม. วัย 59 ปี และ ปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก วัย 42 ปี โดยทั้งหมดยังสงวนความเห็นหลังมีชื่อติดโผ
  • เพื่อไทย: มี 2 แคนดิเดตหลัก แต่ชื่อแรก-ชื่อเดียวที่ยืนพื้นมาตั้งแต่ช่วงเจรจาตั้งรัฐบาล 8 พรรคคือ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน 6 สมัย และหัวหน้าพรรค วัย 62 ปี โดยมีทั้งแกนนำ และ ส.ส. ของพรรคออกมาประกาศสนับสนุนผ่านสื่อ ด้วยเหตุผล “มีประสบการณ์ในสภา แม่นข้อบังคับ และเป็นหัวหน้าพรรค” ส่วนอีกชื่อที่ถูกโยนออกมาคู่กันคือ สุชาติ ตันเจริญ อดีตรองประธานสภา 2 สมัย ผู้เป็น ส.ส. มาแล้ว 9 สมัย วัย 65 ปี
แคนดิเดต กก

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคก้าวไกล

คำบรรยายภาพ, แคนดิเดตประธานสภา 3 คนของพรรคก้าวไกล ได้แก่ ธีรัจชัย พันธุมาศ, ณัฐวุฒิ บัวประทุม และ ปดิพัทธ์ สันติธาดา (จากซ้ายไปขวา)

แต่พลันที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ทิ้งวรรคทองเมื่อ 21 มิ.ย. ว่า “ทุกพรรคมีโอกาสเสนอชื่อประธานสภาหมด และไม่จำเป็นต้องเป็นพรรคที่มีเสียงข้างมาก เช่น ยุคท่านชวน หลีกภัย (ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์) เป็นประธานสภา พรรคพลังประชารัฐก็เป็นคนเสนอ..." ชื่อของ สุชาติ ตันเจริญ ก็มีน้ำหนักแรง-แซงขึ้นมาทันควัน ถึงขนาดเกิดเสียงลือเสียงเล่าอ้างว่า พปชร. จะเป็นคนส่งชื่อสุชาติเข้าประกวดด้วยซ้ำ

เกี่ยวกับเรื่องนี้ ร.อ.ธรรมนัสบอกว่า “ทราบจากข่าวพร้อมกับสื่อมวลชน”

ปรากฏการณ์โยนหินถามทางของแกนนำ พปชร. ได้รับการรับลูกทั้งจากคนในเพื่อไทย และแกนนำขั้วตรงข้าม

สุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ประกาศสนับสนุน “คนชื่อเดียวกัน-พื้นที่ติดกัน” ในนามส่วนตัว โดยยกเหตุผลเรื่อง “คุณวุฒิ วัยวุฒิ และประสบการณ์ที่มีสูง เป็นผู้แทนฯ มาหลาย 10 ปี และเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของสภาและของบ้านเมือง”

คำถามที่เกิดขึ้นคือ หาก ส.ส. จากพรรคขั้วรัฐบาลเดิมเสนอชื่อ สุชาติ ตันเจริญ ชิงเก้าอี้ประธานสภาจริง เจ้าตัวจะทำอย่างไร และ ส.ส.เพื่อไทย จะลงคะแนนเลือกใคร

ธรรมนัส

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคพลังประชารัฐ

คำบรรยายภาพ, งานสัมมนาพรรคเพื่อไทยเมื่อ 21 มิ.ย. มี ส.ส. แสดงความเห็นกว้างขวางปมประธานสภา หลังจาก ภูมิธรรม เวชชยชัย กล่าวยอมรับว่า การให้ข่าวของเขาและเลขาธิการพรรคอาจทำให้สมาชิกพรรคเกิดความไม่สบายใจ หรือความไม่พอใจ เรื่องการยึดหลักการเรื่องพรรคอันดับหนึ่ง

ขั้นตอนที่สอง ให้ผู้ถูกเสนอชื่อกล่าวแสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม นั่นหมายความว่า ไม่สามารถเสนอชื่อลับหลัง โดยเจ้าตัวไม่ยินยอมได้

นพ.ชลน่านชิงออกตัวล่วงหน้าว่า “หากมีการเสนอชื่อผมโดยที่ผมไม่รู้ และมติพรรคเราชัดเจนว่าเราจะต้องสนับสนุนตามหลักการที่เราแถลงไว้ หากมีคนใดคนหนึ่งลุกขึ้นมาเสนอชื่อผมแข่งประธานสภา ผมก็จะลุกขึ้นบอกว่าผมขอถอนตัว”

หัวหน้าพรรค พท. ยอมรับว่า ไม่สามารถห้ามพรรคอื่นในการเสนอชื่อได้ แต่การบริหารจัดการของ พท. ต้องเป็นไปตามความเห็นของพรรค

ด้านสุชาติเคยให้ความเห็นว่า การลงมติเลือกผู้ทำหน้าที่ประธานสภา ไม่ใช่เรื่องของพรรคการเมืองใด แต่เป็นการลงมติร่วมกันของ ส.ส. ทั้งสภา ทั้งรัฐบาลและฝ่ายค้าน ส่วนตัวไม่ได้ยึดติดกับตำแหน่ง และไม่อยากให้เรื่องนี้เป็นอุปสรรคที่อาจทำให้การจัดตั้งรัฐบาลล่าช้า

“ส่วนตัวผมก็มีคนเชียร์ว่าจะถูกเสนอชื่อเป็นประธานสภา แต่ก็ขึ้นอยู่กับพรรคที่จะเสนอชื่อใคร และก็ต้องขึ้นอยู่กับที่ประชุมสภาด้วยว่าจะลงมติเลือกหรือไม่” สุชาติกล่าวเมื่อ 28 พ.ค.

สุชาติ

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

คำบรรยายภาพ, สุชาติ ตันเจริญ เมื่อครั้งทำหน้าที่รองประธานสภาชุดที่ 25 ปรึกษาหารือกับ ชวน หลีกภัย ประธานสภาชุดที่ 25

ขั้นตอนที่สาม ถ้ามีการเสนอชื่อเพียงคนเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก ถ้ามีการเสนอชื่อหลายคน ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ

ในการลงมติเลือกประธานสภา ส.ส. ต้องรับบัตรลงคะแนนซึ่งเป็นกระดาษเปล่าจากเจ้าหน้าที่ >> เข้าคูหา >> เขียนชื่อบุคคลที่ถูกเสนอชื่อชิงเก้าอี้ประธานสภาลงไป >> ใส่ซองปิดผนึก >> เจ้าหน้าที่ขานชื่อสมาชิกทีละคน เพื่อให้นำซองไปหย่อนลงหีบลงคะแนน >> เมื่อสมาชิกหย่อนซองออกเสียงครบแล้ว ที่ประชุมจะตั้งกรรมการตรวจนับคะแนน เพื่อตรวจนับคะแนนและประกาศผล

การลงมติลับ ทำให้ “ยากแก่การควบคุมทิศทาง” และ “ไม่มีทางรู้ว่าใครเลือกใคร” ไม่เหมือนกับการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีที่ต้องกระทำโดยเปิดเผย ด้วยการขานชื่อ ส.ส. และ ส.ว. ตามลำดับอักษร แล้วให้สมาชิกออกเสียงโดยการกล่าวชื่อบุคคลที่เห็นชอบ

ขั้นตอนที่สี่ ประธานชั่วคราวประกาศผลการลงคะแนน โดยผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดจะได้เป็นประธานสภา

จากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนการเลือกรองประธานสภา คนที่ 1 และ 2 ตามลำดับ ด้วยวิธีการเดียวกัน

ท่าทีของเพื่อไทย

ก่อนหน้านี้ ภูมิธรรม เวชชยชัย รองหัวหน้าพรรค พท. ในฐานะตัวแทนเจรจาร่วมจัดตั้งรัฐบาลกับพรรค ก.ก. เปิดเผย “สูตรจัดรัฐบาล” โดยเสนอให้ 2 พรรคใหญ่ที่มี ส.ส. ห่างกันเพียง 10 เสียง ได้ตำแหน่งรัฐมนตรีพรรคละ 14 คน โดยพรรค ก.ก. ในฐานะพรรคอันดับ 1 ควรได้ประมุขฝ่ายบริหาร และพรรค พท. ควรได้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ

ต่อมา 18 มิ.ย. ภูมิธรรมเปิดเผยจุดยืนและข้อสรุปของพรรค พท. ต่อกรณีประธานสภา สาระสำคัญคือ “เห็นชอบในหลักการว่าพรรคอันดับ 1 จะทำหน้าที่ประธานสภา” แต่เนื่องจากพรรคอันดับ 1 และ 2 มีจำนวนใกล้เคียงกันมาก “ดังนั้นตำแหน่งรองประธานสภาทั้ง 2 คน จึงควรเป็นคนของพรรคลำดับ 2” ทำให้สื่อหลายสำนักต่างพาดหัวข่าวในทำนองว่า “ภูมิธรรมหนุนพรรคอันดับ 1 นั่งประธานสภา” “เพื่อไทยถอยแล้ว ยกประธานสภาให้ก้าวไกล” และ “ยุติศึกใน ก้าวไกล-เพื่อไทย ปิดดีลประธานสภา” ก่อนที่นักเจรจาร่วมรัฐบาลจะถูกเพื่อนร่วมพรรควิจารณ์อย่างหนัก

พท.

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคเพื่อไทย

คำบรรยายภาพ, งานสัมมนาพรรคเพื่อไทยเมื่อ 21 มิ.ย. มี ส.ส. แสดงความเห็นกว้างขวางปมประธานสภา หลังจาก ภูมิธรรม เวชชยชัย กล่าวยอมรับว่า การให้ข่าวของเขาและเลขาธิการพรรคอาจทำให้สมาชิกพรรคเกิดความไม่สบายใจ หรือความไม่พอใจ เรื่องการยึดหลักการเรื่องพรรคอันดับหนึ่ง

ในวงสัมมนา 141 ส.ส. เพื่อไทยช่วงกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา อดิศร เพียงเกษ ส.ส.บัญชีรายชื่อ นำทีมแสดงความเห็นคัดค้านการยกตำแหน่งประธานสภาให้พรรค ก.ก. และยืนกรานว่าประธานสภาต้องเป็นของเพื่อไทย โดยมีเพื่อน ส.ส. ราว 10 คนอภิปรายสนับสนุน โดยอ้างว่า พรรคอันดับ 1 จะ “กินรวบ” ทั้งประมุขฝ่ายบริหารและประมุขฝ่ายนิติบัญญัติไม่ได้ เพราะ 2 พรรคมีคะแนนเสียงใกล้เคียงกันมาก

“ถ้าเขาได้นายกฯ เราได้ประธานสภาจะสง่างาม และจะได้ถ่วงดุลการทำงานด้วยกัน” และ “ไม่อยากเห็นพระบวชใหม่มาเป็นเจ้าอาวาส เรามีบุคลากรเยอะ อย่าไปยอมให้เขาง่าย” อดิศรกล่าวในวงสัมมนาพรรคเมื่อ 21 มิ.ย.

อดิศรกล่าวกับบีบีซีไทยเพิ่มเติมว่า ไม่ได้ดูถูกพรรษาการเมืองของพระบวชใหม่ เพราะ ส.ส. ทุกคนล้วนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน “แต่พระบวชใหม่ 7 วันยังนุ่งจีวรไม่ได้เลย” และการให้เหตุผลว่าพรรคอันดับ 1 ต้องเป็นประธานสภา ก็ไม่ถูกต้องเสมอไป เพราะครั้งที่ผ่านมา พรรค ปชป. ก็ไม่ใช่พรรคอันดับ 1 ก็ยังได้เป็นประธานสภา

“ไหนบอก 14 บวก 1 เขาเอานายกฯ ไป เราเอาประธานสภา ทำไมตอนนี้เกิดจะมาเอาเพิ่มเป็น 14 บวก 2” อดิศรตั้งคำถาม

แล้วถ้ามติพรรค พท. ออกมาว่าให้ยกเก้าอี้ประธานสภาให้พรรค ก.ก. ส่วนตัวจะลงมติอย่างไร อดิศรตอบว่า จะออกมติ มันก็ต้องมีเหตุผลประกอบ “ถ้าเหตุผลของพรรคฟังไม่ขึ้น ผมพร้อมงดออกเสียง” พร้อมระบุว่า ส.ส. 141 คนของเพื่อไทย “เกือบ 100% เห็นด้วยว่าประธานสภาต้องเป็นของเพื่อไทย”

ความพยายามสกัด-ขัดขวางการครองเก้าอี้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติของพรรค ก.ก. โดยคนการเมืองต่างค่าย-ขั้วเดียวกัน ได้รับการอธิบายโดย สุธรรม แสงประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พท. และอดีตรองประธานสภา โดยกล่าวกับบีบีซีไทยว่า เมื่อเสร็จศึกสงคราม ก็ต้องมีกระบวนการภายในให้คนที่เพิ่งผ่านสมรภูมิมาได้ระบายออกมาบ้าง แต่เชื่อว่าจะมีการพูดคุยและกระบวนการภายในพรรค พท. ที่ทำให้เรื่องนี้จบลงได้ ไม่ปล่อยให้เกิด “ฟรีโหวต” อย่างแน่นอน

ส่วนคำอุปมาอุปไมยเรื่อง “พระบวชใหม่จะเป็นเจ้าอาวาส” ของเพื่อนร่วมพรรค สุธรรมมองว่า จะ ส.ส. ใหม่ หรือ ส.ส. เก่า ก็เป็นคนที่ประชาชนเลือกมาแล้ว ขึ้นอยู่กับการทำหน้าที่ ซึ่งมีกลไกช่วยสนับสนุนอยู่แล้ว และประธานสภาไม่สามารถทำอะไรได้ตามอำเภอใจ

“บารมีมันอยู่ที่ตำแหน่ง ถ้าเขามาตามกฎเกณฑ์ถูกต้อง พอได้เป็น (ประธานสภา) บารมีมันจะมีเอง” สุธรรมกล่าว

ถึงขณะนี้ พท. ยังไม่มีมติพรรคชัดเจนว่าจะ “สู้” หรือ “ถอย” ในศึกชิงบัลลังก์ประธานสภา โดยนัดประชุมคณะกรรมการบริหาร และ ส.ส. ของพรรค 27 มิ.ย. นี้ ก่อนนำผลที่ได้ไปแจ้ง-หารือกับพรรค ก.ก. วันรุ่งขึ้น (28 มิ.ย.)

นพ.ชลน่านยืนยันว่า จะหาข้อสรุปให้ได้ก่อน 3 ก.ค. และไม่ว่ามติพรรคออกมาอย่างไร เชื่อว่า ส.ส. จะมีวินัย และการเสนอชื่อ สุชาติ ตันเจริญ ชิงประธานสภาคงไม่เกิดขึ้น ถ้าพูดคุยภายในพรรคให้จบกระบวนการทั้งหมด

หากความเชื่อของหัวหน้าพรรค พท. เป็นจริง-จัดการให้เป็นไปตามที่ตกลงไว้เรื่องการ “ให้เกียรติพรรคอันดับ 1” ก็จะทำให้ 8 พรรคการเมืองที่ประกาศเจตนารมณ์จัดตั้งรัฐบาล 312 เสียง จะลงมติแบบ “ไม่แตกแถว” เลือก ส.ส.ก้าวไกล เป็นผู้นำฝ่ายนิติบัญญัติคนต่อไป และคนของ พท. ต้องถอนตัว/สละสิทธิ์ หากได้รับการเสนอชื่อแข่ง

ทิม หมอ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว กับ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประกบมือเป็นรูปหัวใจ ในระหว่างแถลงข่าวภายหลังประชุมหัวหน้า 8 พรรคการเมือง เมื่อ 30 พ.ค. เพื่อสยบข่าวลือ “ดีลลับข้ามขั้ว” เพราะมีแต่ “ดีลรัก”

“เอกสิทธิ์” และ “ฟรีโหวต”

การต่อสู้ช่วงชิงเก้าอี้ประธานสภาของ 2 พรรค เกิดขึ้นเพราะพรรคอันดับ 1 และ 2 จับมือตั้งรัฐบาลร่วมกัน ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย อีกทั้งยังมีความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับแคนดิเดตนายกฯ ว่าพรรค ก.ก. รวบรวมเสียงสนับสนุนในหมู่ ส.ว. 250 คน ให้โหวต พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. เป็นนายกฯ คนที่ 30 ได้มากน้อยแค่ไหนแล้ว ทั้งนี้ตำแหน่งประธานสภาถือว่ามีบทบาทสำคัญในการควบคุมกลเกม-กลไกในระหว่างการประชุมร่วมสองสภาเพื่อลงมติเลือกนายกฯ

8 พรรคที่ประกาศเจตนารมณ์จัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน มีเสียงในสภาล่างรวมกัน 312 เสียง ประกอบด้วย พรรค ก.ก. (151 ที่นั่ง), พรรค พท. (141 ที่นั่ง), พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง), พรรคไทยสร้างไทย (6 ที่นั่ง), พรรคเพื่อไทรวมพลัง (2 ที่นั่ง), พรรคเสรีรวมไทย (1 ที่นั่ง), พรรคเป็นธรรม (1 ที่นั่ง) และพรรคพลังสังคมใหม่ (1 ที่นั่ง) ขณะที่อีกขั้วหนึ่งมีเสียงรวมกัน 188 เสียง

การเลือกประธานสภาด้วยการลงมติลับ ทำให้พันธมิตรการเมืองจากพรรคอื่น ๆ แสดงความกังวลใจต่อการใช้ “เอกสิทธิ์” และปล่อย “ฟรีโหวต”

  • หากพรรค พท. ไม่อาจหาข้อสรุปได้ อาจต้องปล่อย “ฟรีโหวต” หรือเปิดโอกาสให้ ส.ส. ลงมติอย่างอิสระเสรี ซึ่งแกนนำพรรค พท. หลายคนประเมินว่าแนวทางนี้คงไม่เกิดขึ้น แม้ ส.ส. หลายคนจะเรียกร้องขอฟรีโหวตก็ตาม
  • หากพรรค พท. มีมติให้ยกเก้าอี้ประธานสภาให้พรรค ก.ก. อาจมี ส.ส. บางส่วนขอใช้ “เอกสิทธิ์” ลงคะแนนต่างจากมติพรรค ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 114 และมาตรา 124 โดยนักการเมืองทุกค่ายต่างยอมรับว่าเป็นสิทธิของสมาชิกที่จะใช้เอกสิทธิ์
สภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, กกต. รับรอง ส.ส. ครบ 500 คน โดยคาดว่าการประชุมเพื่อโหวตเลือกประธานสภาจะเกิดขึ้น 4 ก.ค.

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคประชาชาติ (ปช.) ให้ความเห็นว่า 2 พรรคต้องตกลงกันก่อน “ถ้าไม่ทำตามก็เป็นเอกสิทธิ์ ทำอะไรไม่ได้ ไม่ผิดกฎหมาย” ส่วนที่มีข้อสังเกตว่าหากมีปัญหา จะปล่อยให้ ส.ส. ฟรีโหวตนั้น “ผมมองว่าปกติไม่เป็นแบบนั้น เพราะจะทำให้เกิดปัญหาตามมา”

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) เรียกร้องให้ “พรรคที่ 1 และ 2 ไปคุยกันให้จบ ตกลงกันให้ได้ ถ้าโหวตแข่งกัน ฝ่ายประชาธิปไตยจบแน่นอน ถ้าไม่จบ จบเห่แน่”

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย (สร.) อยากให้ 2 พรรคยึดมั่นตามเป้าหมาย และคิดว่า 2 พรรคตกลงกันได้แล้ว “วันนี้พูดแบบนี้ พรุ่งนี้พูดอีกอย่าง มันไม่ดี เราต้องรักษาคำพูด ไม่อย่างนั้นการจะไปสู่เป้าหมาย มันลำบาก จะทำให้เผด็จการฟื้นคืนชีพกลับมาอีก”