มาตรา 112 : ย้อนดูคดีล้มล้างการปกครองฯ ปกป้องความมั่นคงรัฐ หรือเครื่องมือสกัดพรรคก้าวไกล

THAI NEWS PIX

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, ส.ส. พรรคก้าวไกล เข้ารายงานตัวที่รัฐสภา เมื่อ 27 มิ.ย.

เส้นทางการจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และการขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ต้องเจอกับอีกอุปสรรคจาก "นักร้อง" รายใหม่ ภายหลังนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร อดีตทนายความของอดีตพระพุทธะอิสระ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การหาเสียงเลือกตั้งด้วยนโยบายเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เป็นการใช้สิทธิและเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

คำร้องที่ถูกยื่นตามบทบัญญัติมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่ง กับการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในเดือน พ.ย. 2564 ว่า เป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองฯ

เมื่อวันที่ 26 มิ.ย. ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารข่าวผลการประชุมคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ โดยมีมติให้สอบถามอัยการสูงสุด (อสส.) ว่า มีคำสั่งรับหรือไม่รับดำเนินการตามที่นายธีรยุทธยื่นคำรอง และให้แจ้งผลต่อศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ อสส. ได้รับหนังสือ

เอกสารของศาลรัฐธรรมนูญ ระบุชื่อผู้ถูกร้อง ได้แก่ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรคก้าวไกล เป็นผู้ถูกร้องที่ 2

นายธีรยุทธ ซึ่งเป็นผู้ร้องอ้างในคำร้องว่า ได้ยื่นคำร้องลงฉบับวันที่ 30 พ.ค. 2566 เพื่อขอให้อัยการสูงสุดร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งการให้เลิกการกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองแล้ว แต่อัยการสูงสุดมิได้ดำเนินการภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคสาม ที่ระบุว่า "ในกรณีที่อัยการสูงสุดมีคำสั่งไม่รับดำเนินการตามที่ร้องขอ หรือไม่ดำเนินการภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับคำร้องขอ ผู้ร้องขอจะยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญก็ได้"

จึงเป็นเหตุให้นายธีรยุทธ ต้องยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงดังกล่าว

คำร้องพิธา และก้าวไกล

คำร้องระบุว่า นายธีรยุทธ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า การกระทำของนายพิธา และพรรคก้าวไกลที่เสนอร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา ฉบับที่.... พ.ศ. .... เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่งหรือไม่

สำหรับ มาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญ ระบุว่า "บุคคลจะใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมิได้" โดยนายธีรยุทธ ได้ยื่นคำร้องตามสิทธิในมาตรานี้ ที่ระบุว่า "ผู้ใดทราบว่ามีการกระทำตามวรรคหนึ่ง ย่อมมีสิทธิร้องต่ออัยการสูงสุดเพื่อร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวได้"

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวในวันนี้ (27 มิ.ย.) ถึงกรณีนี้โดยยืนยันว่า "แก้ไขก็คือแก้ไข ไม่ใช่ยกเลิก" และจากการพูดคุยทำความเข้าใจกับสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) บางส่วนก็มีความเข้าใจมากขึ้นว่าการรักษาระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เหมาะกับประเทศไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน

แคนดิเดตนายกฯ พรรคก้าวไกล ระบุด้วยว่า "น่ากังวลใจ" และอันตราย หากเรื่องนี้กลายเป็นเงื่อนไขที่ทำให้ไปไม่ถึงตำแหน่งนายกฯ

"เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ เพราะเหมือนกับว่าเป็นการเอาเสียงการเลือกตั้งของพี่น้องประชาชน มาปะทะกับสถาบันฯ โดยตรง เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และเป็นสิ่งที่อันตราย เพราะฉะนั้น อย่าเอาเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้างอีกเลย" นายพิธากล่าว พร้อมยืนยันว่าได้รับเสียงสนับสนุนเพียงพอจาก ส.ว.

THAI NEWS PIX

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

ย้อนดูคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ กรณีชุมนุม 10 สิงหาฯ 63

ย้อนกลับไปในเดือน พ.ย. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย กรณีการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 ซึ่งมีนายอานนท์ นำภา นายภาณุพงศ์ จาดนอก และ น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล เป็นผู้ปราศรัย ว่าเป็นการกระทำที่เป็นการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่

คำวินิจฉัยระบุว่า การใช้สิทธิเสรีภาพของผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน ไม่เป็นไปตามหลักประชาธิปไตย เป็นการอ้างสิทธิเสรีภาพเพียงอย่างเดียว โดยไม่คำนึงหลักเสมอภาค และภราดรภาพ

ตุลาการระบุด้วยว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 3 คน มีการตั้งเป็นกลุ่มเครือข่าย และยังมีส่วนในการจุดประกายให้เกิดความรุนแรงในบ้านเมือง ทำให้เกิดความแตกแยกในบ้างเมือง เป็นการทำลายหลักภราดรภาพ นำไปสู่การทำลายระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญยังมีคำวินิจฉัยถึงข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์บางข้อ เช่น การเสนอยกเลิกมาตรา 6 ที่ระบุว่า ผู้ใดจะกล่าวหาหรือฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ ให้เป็น "การกระทำที่มีเจตนาทำลายล้างสถาบันพระมหากษัตริย์โดยชัดแจ้ง" และการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 ซึ่งปรากฏในคำวินิจฉัยหลายช่วงตอน ทั้งเฉพาะเจาะจงและกล่าวถึงโดยรวม ดังนี้

THAI NEWS PIX

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล โปรยกระดาษที่มีเนื้อหา 10 ข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ บนเวที 10 ส.ค. หลังอ่านข้อความจนจบ
  • ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ

ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า ข้อเสนอ 10 ข้อในเวทีการชุมนุมของแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 กระทบต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์

"การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1, 2 และ 3 เป็นการแสดงความคิดเห็นที่ไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรค 1"

  • พระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ และการยกเลิกกฎหมาย 112

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในประเด็นนี้ ตามที่มีการเผยแพร่ในคำวินิจฉัยฉบับเต็ม ชี้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญในประเด็นพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ และการยกเลิกกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งคำวินิจฉัยกล่าวโดยรวมว่า "การแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมาย" จะส่งผลกระทบต่อ "สถานะ" ของสถาบันฯ และนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองในที่สุด

"การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเรียกร้องเพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วยพระราชสถานะของพระมหากษัตริย์ที่ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและอยู่เหนือความรับผิดชอบทางการเมืองตามหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญที่ว่า พระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ และให้มีการยกเลิกกฎหมายที่ห้ามผู้ใดล่วงละเมิด หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งการแก้ไขรัฐธรรมนูญและกฎหมายดังกล่าวจะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะอันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน"

คำวินัจฉัยระบุต่อด้วยว่า "เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควรโดยมีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด..."

เปิดนโยบาย 112 ก้าวไกล ที่แจ้งต่อ กกต.

ในเดือน เม.ย. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้เปิดเผยนโยบายหาเสียงของ 70 พรรคการเมือง ที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อต่อสาธารณะ ตามมาตรา 57 ของ พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง 2560 โดยปรากฏข้อมูลของพรรคก้าวไกลว่า มีนโยบายแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา (ป.อ.) มาตรา 112 เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ

ส่วนข้อเสนอการแก้ไขมาตรา 112 ที่อยู่บนเว็บไซต์ของพรรคก้าวไกล มีรายละเอียด ได้แก่

  • ลดโทษของกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ให้มีความสอดคล้องกับหลักสากล โดยให้เหลือเพียง จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (กรณีดูหมิ่นพระมหากษัตริย์) และจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (กรณีดูหมิ่นพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์)
  • ย้ายกฎหมายหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ออกจากหมวดความมั่นคงให้เป็นความผิดที่ยอมความได้ โดยกำหนดให้สำนักพระราชวังเป็นผู้มีสิทธิแจ้งความหรือร้องทุกข์กล่าวโทษเพียงผู้เดียว
  • บัญญัติให้ชัดเจนในกฎหมาย เพื่อคุ้มครองกรณีการวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตหรือการพูดความจริงที่เป็นประโยชน์ต่อสาธาณะ ซึ่งเป็นมาตรฐานเดียวกันกับเหตุยกเว้นความผิดและเหตุยกเว้นโทษสำหรับการหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา
 THAI NEWS PIX

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

ความเห็น ส.ว.

นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเกี่ยวกับการแก้ไขกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยแนบตัวร่าง พ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่....) พ.ศ. .... ที่พรรคก้าวไกล เคยยื่นต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อปี 2562 แต่ไม่ได้รับการบรรจุ ว่า "ไม่ใช่การแก้ไขกฎหมายทั่วไปมาตราหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่จะกระทบทั้งระบอบและระบบ”

นายคำนูณ แสดงความเห็นว่า เฉพาะเรื่องหลักคือการคุ้มครององค์พระมหากษัตริย์ มียกเลิก 1 มาตรา เพิ่มเติม 4 มาตรา โดยมาตราที่ยกเลิกได้แก่ ยกเลิกมาตรา 112 แต่มีการเพิ่มมาตรา 135/5 - 135/9

ส.ว. รายนี้ ระบุว่า "สรุปโดยภาพรวมได้ว่าเป็นการลดระดับการคุ้มครองสถานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ขององค์พระมหากษัตริย์ลงมาเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 90 ปีนับตั้งแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2475”

เขาระบุว่า เป็นการลดระดับ “จากการคุ้มครองเด็ดขาด เป็นการคุ้มครองอย่างมีเงื่อนไข มีทั้งบทยกเว้นความผิด บทยกเว้นโทษ และบทจำกัดผู้ร้องทุกข์ ซึ่งอาจขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 6 อันเป็นบทหลักมาตราแรกของหมวดพระมหากษัตริย์”

ร่างแก้ไขมาตรา 112 ของก้าวไกล เขียนไว้อย่างไร

ร่างกฎหมายของก้าวไกล ที่ยื่นเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เมื่อปี 2562 ได้กำหนดลักษณะความผิดขึ้นใหม่ใน “ลักษณะ 1/2 ความผิดเกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" จากเดิมที่มาตรา 112 ถูกบัญญัติอยู่ในลักษณะ 1 ที่ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร หมวด 1 ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

ในร่างฉบับนี้ แม้ว่ามีการระบุให้ยกเลิกมาตรา 112 แต่ฐานความผิดเกี่ยวกับการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ยังคงอยู่ แต่ไปปรากฏในลักษณะความผิดที่เพิ่มขึ้น โดยมีการเขียนขึ้นใหม่แยกออกเป็น 2 มาตรา ได้แก่ มาตรา 135/5 และมาตรา 135/6 ซึ่งแยกฐานความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ออกจากความผิดต่อพระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

มาตรา 135/5 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 135/6 ผู้ใดหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ