ปมแต่งตั้งอดีตนายกฯ กำลังสั่นคลอนตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนควีนอย่างไร

โดย ทิฟฟานี เทิร์นบูล

บีบีซีนิวส์ นครซิดนีย์

พล.อ. เดวิด เฮอร์ลีย์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งเครือรัฐออสเตรเลียเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2019

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, พล.อ. เดวิด เฮอร์ลีย์ สาบานตนเข้ารับตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งเครือรัฐออสเตรเลียเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2019

ตลอดระยะเวลาสองสัปดาห์ที่ผ่านมา สังคมออสเตรเลียกำลังพูดถึงการเปิดโปงเรื่องราวความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับอดีตนายกรัฐมนตรีสก็อตต์ มอร์ริสัน ที่แอบแต่งตั้งตัวเองเป็นรัฐมนตรีร่วมในหลายกระทรวง

หลายฝ่าย รวมทั้งคณะทำงานของเขาต่างพากันตำหนิ พร้อมกับเรียกพฤติกรรมดังกล่าวว่าเขากำลัง "รวบอำนาจ" ราวกับว่าเป็นนายกรัฐมนตรีเสียเอง

ทว่า เรื่องราวอื้อฉาวนี้ยังดึงเอาผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลียเข้าสู่ความขัดแย้งทางการเมือง และกลายเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์ครั้งใหญ่ต่อบทบาทของผู้แทนพระองค์สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในรอบ 50 ปีอีกด้วย

มีคำถามใดบ้างที่ พล.อ. เดวิด เฮอร์ลีย์ ผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลียต้องตอบ หรือเขาได้ทำให้เกิดความเสียหายไปแล้ว

"งานเอกสาร"

ในทางปฏิบัติ ผู้สำเร็จราชการแห่งเครือรัฐออสเตรเลียดำรงอยู่ในฐานะประมุขของรัฐนับตั้งแต่การสถาปนาเครือรัฐออสเตรเลียเมื่อปี 1901 เดิมทีรายนามของผู้ที่จะได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ต้องได้รับการพิจารณาจากราชวงศ์อังกฤษ แต่ในปัจจุบันรัฐบาลออสเตรเลียจะเป็นผู้ถวายคำแนะนำแด่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

ภารกิจส่วนใหญ่จะเกี่ยวข้องกับพิธีการ และเกือบทั้งหมดก็ต้องปฏิบัติภารกิจตามคำแนะนำของรัฐบาล แต่ตามธรรมเนียมปฏิบัติยังเปิดโอกาสให้ผู้สำเร็จราชการฯ สามารถ "ให้กำลังใจ" และ "กล่าวคำตักเตือน" นักการเมืองได้

หน้าที่สำคัญของผู้สำเร็จราชการฯ ยังรวมถึงการลงนามรับรองกฎหมายต่าง ๆ การประกาศการเลือกตั้ง และเป็นผู้ทำพิธีสาบานตนให้แก่คณะรัฐมนตรี

พล.อ. เฮอร์ลีย์ เริ่มเข้าสู่วังวนแห่งความขัดแย้งนับตั้งแต่นายมอร์ริสันร้องขอให้เขาสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีพร้อมกับควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขในเดือน มี.ค. 2020 ในกรณีที่รัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งอยู่ในขณะนั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เนื่องจากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ซึ่งในครั้งนั้นผู้สำเร็จราชการฯ ก็ลงนามตามที่เขาร้องขอ

พล.อ. เฮอร์ลีย์ก็ได้ลงนามให้นายมอร์ริสันควบตำแหน่งรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, พล.อ. เฮอร์ลีย์ก็ได้ลงนามให้นายมอร์ริสันควบตำแหน่งรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง

ถัดมาอีก 14 เดือน พล.อ. เฮอร์ลีย์ก็ได้ลงนามให้นายมอร์ริสันควบตำแหน่งรัฐมนตรีอีกหลายกระทรวง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงการคลัง กระทรวงธนารักษ์ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงทรัพยากร เป็นต้น นั่นจึงหมายความว่าผู้สำเร็จราชการฯ ได้ให้อำนาจเพิ่มเติมแก่นายมอร์ริสันในการบริหารจัดการหน่วยงานต่าง ๆ ตามตำแหน่งที่ได้รับ

แอนน์ ทูมีย์ ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายรัฐธรรมนูญบอกกับบีบีซีว่า ผู้สำเร็จราชการฯ ไม่มีอำนาจในการปัดตกหรือปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว นี่เป็นขั้นตอนของงานเอกสาร และจะไม่มีการหารือกับระหว่างนายกรัฐมนตรีและผู้สำเร็จราชการฯ

อย่างไรก็ตาม การแต่งตั้งนายมอร์ริสันไม่ได้ประกาศให้สาธารณะทราบ หรือแม้แต่การแจ้งให้รัฐสภารับทราบ หรือสื่อสารกับรัฐมนตรีในกระทรวงที่เกี่ยวข้อง

แม้ว่ารองอธิบดีกรมอัยการของออสเตรเลียจะพบว่า การกระทำดังกล่าวของอดีตนายกรัฐมนตรีจะถือว่าไม่ขัดต่อกฎหมาย ซึ่งในสัปดาห์ที่ผ่านมาเขายืนยันว่าผู้สำเร็จราชการฯ ทำถูกต้องแล้วก็ตาม แต่สิ่งที่เกิดขึ้นได้บ่อนทำลายรัฐบาลในแง่ความรับผิดชอบอย่างรุนแรง

เรียกร้องให้สืบสวน

กลุ่มที่วิพากษ์วิจารณ์เรื่องนี้ระบุว่า เมื่อ พล.อ. เฮอร์ลีย์ จำต้องลงนามตามคำร้องขอของอดีตนายกรัฐมนตรี ก็ควรที่จะปรึกษาหรือนายมอร์ริสัน และต้องเผยแพร่เรื่องนี้ด้วย

แต่ตัวแทนของผู้สำเร็จราชการฯ อ้างการแต่งตั้งในลักษณะดังกล่าวว่าเป็นการมอบสิทธิในการบริหารกระทรวงอื่นว่า ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ และเป็นสิ่งที่รัฐบาลจะต้องตัดสินใจเองว่าจะประกาศหรือไม่ ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่มีการประกาศ

โฆษกผู้สำเร็จราชการฯ กล่าวย้ำว่า เมื่อ พล.อ. เฮอร์ลีย์เห็นว่าการประกาศแต่งตั้งไม่เคยมีมาก่อน จึงไม่ต้องประกาศ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เจนนี ฮ็อคกิง ระบุว่า เป็นเรื่องที่น่าขัน ที่ พล.อ. เฮอร์ลีย์ไม่ทราบว่า เหล่ารัฐมนตรีต่าง ๆ ปิดเรื่องนี้เป็นความลับ

"เป็นเรื่องแปลกประหลาดที่การแต่งตั้งรัฐมนตรีที่ซ้ำซ้อนเกิดขึ้นมาแล้วเป็นเวลากว่าหนึ่งปี นับจากการแต่งตั้งครั้งแรก แล้วผู้สำเร็จราชการฯ เพิ่งมาทราบว่าพวกเขาไม่ได้ประกาศให้สาธารณชนรับรู้" เธอระบุ "ฉันไม่เห็นด้วยที่ ผู้สำเร็จราชการฯ ซึ่งมีภารกิจหลายอย่างที่ ไม่ทราบเรื่องนี้"

ศาสตราจารย์เกียรติคุณฮ็อคกิงกล่าวอีกว่า กรณีนี้ถือเป็นเรื่องอื้อฉาวที่สั่นคลอนบทบาทผู้สำเร็จราชการฯ ครั้งใหญ่ นับตั้งแต่ เซอร์ จอห์น เคอร์ อดีตผู้สำเร็จราชการได้สั่งปลดนายกรัฐมนตรีกอฟ วิธแลม เมื่อปี 1975 ซึ่งเป็นต้นตอของวิกฤตทางรัฐธรรมนูญครั้งใหญ่ของออสเตรเลีย

เมื่อปี 1975 เกิดวิกฤตทางการเมืองเมื่อนายกรัฐมนตรีกอฟ วิธแลมที่มาจากการเลือกตั้งถูกปลดโดยผู้สำเร็จราชการฯ

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เมื่อปี 1975 เกิดวิกฤตทางการเมืองเมื่อนายกรัฐมนตรีกอฟ วิธแลมที่มาจากการเลือกตั้งถูกปลดโดยผู้สำเร็จราชการฯ

นักวิชาการด้านประวิติศาสตร์รายนี้ได้รับการยกย่องในเรื่องการต่อสู้เพื่อความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินในออสเตรเลียมาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมา เธอต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อที่จะให้รัฐบาลยอมเปิดเผยจดหมายประวัติศาสตร์ที่เป็นการหารือระหว่างเซอร์ คอร์กับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ถึงการปลดอดีตนายกรัฐมนตรีวิธแลม เพื่อให้เธอสามารถเข้าถึงเป็นผลสำเร็จ

จากเรื่องดังกล่าว เธอก็ต้องการเห็นความโปร่งใสเช่นเดียวกัน ซึ่งสาธารณชนในออสเตรเลียก็เรียกร้องเรื่องนี้

แม้ว่ารัฐบาลจะประกาศตั้งคณะกรรมการไต่สวนนายมอร์ริสันไปแล้ว แต่นักวิชาการรายนี้ต้องการให้ตรวจสอบผู้สำเร็จราชการฯ และสำนักงานของเขาด้วย

"หากการไต่สวนเพียงเพื่อรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นแล้วแก้ไข อาจจะไม่เพียงพอ เพราะอาจจะทำให้เกิดปัญหาตามมา หากไม่พิจารณาถึงส่วนสำคัญอื่น ๆ ในสมการนี้ด้วย"

นอกจากนี้อดีตนายกรัฐมนตรีมัลคอล์ม เทิร์นบูล ยังส่งเสียงสนับสนุนการไต่สวนเรื่องนี้ด้วย โดยที่เขาบอกกับสถานีโทรทัศน์เอบีซีของออสเตรเลียว่า มีอะไรบางอย่างผิดปกติในทำเนียบรัฐบาล

เสียงจากฝ่ายปกป้องผู้สำเร็จราชการฯ

ศาสตราจารย์ทูมีย์ระบุว่า การวิพากษวิจารณ์ พล.อ. เฮอร์ลีย์ ถือว่าไม่เป็นธรรมนัก และไม่มีสิ่งใดบ่งบอกถึงการสมคบคิดในเรื่องการปิดเป็นความลับ

"ฉันไม่คิดว่าจะดูสมเหตุสมผลใด ๆ ที่ใครจะมาคาดหวังให้เขาเดาใจนายกรัฐมนตรีว่าจะเก็บเรื่องนี้เป็นความลับจากรัฐมนตรีคนอื่น และไม่มีใครคิดจริง ๆ ว่าเรื่องนี้จะเป็นไปได้จนกระทั้งสองสัปดาห์ก่อนนี่แหละ"

เธอกล่าวอีกว่า ถึงแม้ว่าผู้สำเร็จราชการฯ จะกระทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนอย่างการประกาศว่า เขาแต่งตั้ง หรือ ปฏิเสธการร้องขอของนายมอร์ริสัน เขาเองก็ต้องถูกวิพากษ์วิจารณ์อยู่ดี

แอนโทนี อัลบาเนซี นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันก็เป็นอีกเสียงหนึ่งที่ออกมาปกป้อง พล.อ. เฮอร์ลีย์ โดยอ้างว่าเขาทำตามหน้าที่

บทบาทหน้าที่เหมาะสมกับวัตถุประสงค์หรือไม่

ศาสตราจารย์เกียรติคุณฮ็อคกิงชี้ให้เห็นว่า นี่คือช่วงเวลาที่เหมาะสมที่จะกลับมาพิจารณาบทบาทหน้าที่ของผู้สำเร็จราชการฯ ในภาพกว้างมากขึ้น และมีความเป็นไปได้มีการกราบบังคมทูลถวายรายงานสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เกี่ยวกับความเป็นรัฐมนตรีในหลายกระทรวงของนายมอร์ริสัน ในขณะที่รัฐสภาและประชาชนชาวออสเตรเลียไม่ทราบ

"เรื่องนี้ได้ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า หน้าที่ดังกล่าวเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้ตั้งไว้เมื่อหลายสิบปีครั้งประกาศเอกราชหรือไม่ หรือยังมีมรดกยุคอาณานิคมที่ยังคงอยู่ดีมีสุข" เธออธิบาย

ออสเตรเลียมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการฯ เป็นประมุขของรัฐนับตั้งแต่การสถาปนาเครือรัฐออสเตรเลียขึ้นในปี 1901

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ออสเตรเลียมีการแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการฯ เป็นประมุขของรัฐนับตั้งแต่การสถาปนาเครือรัฐออสเตรเลียขึ้นในปี 1901

ประเด็นที่กำลังเกิดขึ้นกำลังปลุกกระแสการทำประชามติว่าด้วยสาธารณรัฐออสเตรเลียครั้งใหม่

นายแซนดี ไบอาร์ จากกลุ่มเคลื่อนไหวสนับสนุนสาธารณรัฐออสเตรเลีย (Australian Republic Movement) กล่าวว่า ถึงเวลาที่ออสเตรเลียจะมีประมุขแห่งรัฐที่ผ่านการเลือกโดยประชาชนชาวออสเตรเลีย และรับผิดชอบต่อพวกเขาที่จะปกป้องและส่งเสริมรัฐธรรมนูญออสเตรเลีย

อย่างไรก็ตาม ศาสตราจารย์ทูมีย์กลับมองว่าคนที่มีแนวความคิดสนับสนุนการเป็นสาธารณรัฐกำลัง "ฉกฉวยโอกาส" ในขณะที่พวกเขามีแผนที่จะเปลี่ยนแปลงประเทศ และยังยืนยันว่า ตำแหน่งประมุขของรัฐจะต้องเป็นไปตามคำแนะนำนายกรัฐมนตรี

"มันจะไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงหรือความแตกต่างใด ๆ" เธอกล่าวย้ำ