เก็บเบอร์รี่ : ศาลฎีกาฟินแลนด์จำคุกนายจ้าง 1 ปี 10 เดือน ฐานค้ามนุษย์แรงงานไทย 26 คน

Getty Images

ที่มาของภาพ, Getty Images

เจ้าของบริษัทเบอร์รี่ในฟินแลนด์ถูกศาลตัดสินลงโทษในข้อหาค้ามนุษย์ต่อแรงงานเก็บเบอร์รี่และเห็ดจากประเทศไทย จำนวน 26 คน โดยเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2559 นับเป็นคดีค้ามนุษย์ที่มีโจทก์ร่วมฟ้องมากที่สุดในฟินแลนด์เมื่อเริ่มฟ้องคดี

เว็บข่าวเฮลซิงกิไทมส์ รายงานเมื่อ28 ม.ค. ที่ผ่านมาว่า ศาลฎีกาของฟินแลนด์ พิพากษาลงโทษจำคุกเจ้าของธุรกิจรายนี้เป็นเวลา 1 ปี 10 เดือน เมื่อ 26 ม.ค. เป็นการเพิ่มโทษขึ้นจากศาลชั้นอุทธรณ์ที่ลงโทษ 1 ปี 4 เดือน

ศาลยังลงโทษฐานความผิดฉ้อโกงอย่างร้ายแรงและละเมิดกฎหมายขยะมูลฝอย พร้อมสั่งให้ชดใช้แก่เหยื่อเป็นเงิน 2 แสนยูโร (7.4 ล้านบาท)

ศาลมีความเห็นต่างกันในเบื้องต้นว่า การกระทำความผิดนี้ ควรนับความผิดค้ามนุษย์เป็นหนึ่งกระทงหรือหลายกระทง อย่างไรก็ตาม ศาลอ่านคำพิพากษาว่า จากหลักการการตีความของกฎหมาย การละเมิดสิทธิที่กระทำต่อปัจเจกบุคคล ต่อชีวิต สุขภาพ อิสรภาพ สิทธิการกำหนดตัวเองเรื่องเพศ หรือการได้รับเกียรติ ความผิดจึงแยกเป็นการกระทำต่อเหยื่อ 26 คน ต่างกรรมต่างวาระกัน

สำหรับแรงงานกลุ่มนี้ เป็นแรงงานตามฤดูกาลที่ทำงานเก็บผลเบอรรี่ป่าและเห็ดให้กับบริษัทเป็นเวลาประมาณ 3 เดือนในปี 2559

เฮลซิงกิไทมส์ ระบุว่า แรงงานมีสภาพความเป็นอยู่ที่ศาลระบุว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ พวกเขาต้องใช้แรงงานเพื่อชดใช้ค่าใช้จ่ายการเดินทางให้กับนายจ้าง ก่อนที่จะได้รับเงินเดือนค่าจ้างจากการทำงานจริง

"การกระทำนี้ส่งผลให้เหยื่อแทบไม่ใช้เงินเพื่อตอบสนองความต้องการขั้นพื้นฐานได้ระหว่างที่อยู่ในฟินแลนด์ คนเก็บเบอร์รี่ต้องทำงานติดต่อกันหลายวันโดยไม่มีโอกาสได้มีวันหยุด" ศาลระบุ

ศาลระบุด้วยว่า ค่าจ้างที่แรงงานเหล่านี้ได้รับ ไม่เป็นไปตามในสัญญาที่ตกลงไว้กับเจ้าของธุรกิจและตัวแทนหางาน นอกจากนี้พวกเขายังถูกยึดหนังสือเดินทางและตั๋วเครื่องบินไว้กับพนักงานของบริษัท

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ เฮลซิงกิ รายงานความเคลื่อนไหวในคดีเมื่อวันที่ 28 ม.ค. เช่นกัน โดยระบุว่า เมื่อปี 2559 ผู้ประกอบการฟินแลนด์รายหนึ่งได้จ้างแรงงานคนไทยมาเก็บเบอร์รี่ในที่ดินของตนที่ตั้งอยู่ภาคกลางของฟินแลนด์ โดยมีแรงงานไทยรวมทั้งสิ้น 200 คน แต่มีข้อขัดแย้งเกิดขึ้นระหว่างผู้ประกอบการชาวฟินแลนด์และแรงงานไทยจำนวน 26 คน เนื่องจากผู้ประกอบการฟินแลนด์ให้ข้อมูลเท็จและเอาเปรียบจากการที่แรงงานไม่มีสถานะทางกฎหมายและต้องพึ่งพาตนเอง แรงงานทั้ง 26 คน จึงได้นำเรื่องยื่นสู่ศาลชั้นต้นเมือง Vaasa

เมื่อปี 2561 ศาลชั้นต้นเมือง Vaasa ได้พิจารณาตัดสินคดีดังกล่าวในความผิดฐานค้ามนุษย์เป็นจำนวน 26 กระทง โดยให้จำคุก 26 ปี 8 เดือน แต่รอการลงโทษและห้ามผู้ประกอบการประกอบธุรกิจและจ่ายค่าสินไหมทดแทนเหยื่อค้ามนุษย์เป็นจำนวนมากกว่า 200,000 ยูโร

เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศของไทยรายหนึ่งกล่าวกับบีบีซีไทยว่า คดีนี้นับเป็น คดีค้ามนุษย์ที่มีโจทก์มากที่สุดในฟินแลนด์เมื่อเริ่มฟ้องคดีในขณะนั้น และเป็นเหยื่อชาวไทยที่เดิมถูกเอารัดเอาเปรียบแต่ไม่มีหลักฐานในการฟ้องร้อง

ต่อมา เมื่อปี 2562 ศาลอุทธรณ์เมือง Vaasa พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนค่าสินไหมทดแทนและห้ามประกอบธุรกิจ แต่คำพิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นในส่วนโทษจำคุก เนื่องจากเห็นว่า ผู้ประกอบการฟินแลนด์กระทำความผิดฐานค้ามนษย์เพียงกรรมเดียว แต่มีเหยื่อรวมเป็นจำนวน 26 ราย

สภาพความเป็นอยู่คนงาน

ปพิชญา บุญงอก ผู้สื่อข่าวอิสระที่ถ่ายทำสารคดีวิดีโอสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานไทยเหล่านี้เมื่อปี 2560-2561 กล่าวกับบีบีซีไทยว่า สภาพความเป็นของคนงานเหล่านี้ "ไร้มนุษยธรรม" ไม่ถูกสุขลักษณะ เรือนนอนดัดแปลงมาจากรถคันใหญ่ แล้วนำเตียงสองชั้นมาใส่ไว้แทน ให้นอนรวมหญิงชาย ตั้งอยู่ใกล้ป่าที่เก็บเบอรี่ โดยไม่มีเครื่องทำความร้อน ส่วนห้องน้ำก็ดัดแปลงท้ายรถบัสเป็นห้องอาบน้ำและห้องน้ำ หรือนำตู้คอนเทนเนอร์มาดัดแปลงเป็นห้องน้ำ

ปพิชญา โพสต์ทางบัญชีเฟซบุ๊กของเธอด้วยว่า แต่ละปี คนไทยมาเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์ ต้องหาเงินมาเป็นค่าใช้จ่ายไม่น้อยกว่า 4,500 ยูโร หรือราว 166,000 บาท ได้แก่ ค่าตั๋วเครื่องบิน, ที่พัก, ค่านายหน้า, ค่าเดินทางในฟินแลนด์ ฯลฯ เพื่อจะได้ไปเก็บผลไม้ป่า แต่ละวัน มีค่าใช้จ่ายเป็น ค่าที่พักอาศัย ค่าเครื่องมือเก็บเบอร์รี่ ค่าอาหาร ค่าผ้าห่ม ค่าน้ำมันรถ อยู่ราว ๆ 20 - 25 ยูโรต่อวันต่อคน แรงงานต้องเก็บให้ได้อย่างต่ำ วันละ 60-70 กิโลต่อวัน เพื่อจะได้มีเงินกลับไทย

เธออ้างคำให้สัมภาษณ์ของแรงงานเหล่านี้ว่า น้ำดื่มต้องนำจากห้องน้ำมา ส่วนเวลาซักผ้า ต้องรอให้คนอาบน้ำเสร็จก่อนถึงจะซักได้ และอาหารที่จัดให้ก็ไม่เพียงพอ

ปพิชญา บุญงอก

ที่มาของภาพ, ปพิชญา บุญงอก

คำบรรยายภาพ, สภาพเรือนนอนของคนงานที่ทำจากรถบัสเก่า รื้อเบาะออก มาทำเป็นเตียง 2 ชั้น
ปพิชญา บุญงอก

ที่มาของภาพ, ปพิชญา บุญงอก

คำบรรยายภาพ, ตู้คอนเทนเนอร์ที่ดัดแปลงเป็นเรือนนอน

เมื่อปีที่แล้ว กระทรวงแรงงาน เปิดเผยตัวเลขแรงงานไทยที่เดินทางไปเก็บผลไม้ป่าฤดูกาล 2564 ประมาณ 8,200 คน โดยแบ่งเป็นคนงานเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน จำนวน 5,200 คน และฟินแลนด์ จำนวน 3,000 คน เป็นจำนวนที่มากกว่าปีที่ผ่านมาในช่วงเวลาเดียวกัน (ฤดูกาลเก็บผลไม้ป่า 2563) ที่มีแรงงานไทยได้รับอนุญาตเดินทางไปเก็บผลไม้ป่าทั้งสิ้น 5,254 คน แบ่งเป็นคนงานเก็บผลไม้ป่าในสวีเดน จำนวน 3,040 คน และฟินแลนด์ จำนวน 2,214 คน

ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานระบุด้วยว่า ในช่วงเดือน ก.ค.-ก.ย. ของทุกปี จะมีคนงานไทยเดินทางไปทำงานเก็บผลไม้ป่าในฟินแลนด์และสวีเดน ระยะสั้น ๆ ไม่เกิน 90 วัน