พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์: ลำดับเหตุการณ์คดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ที่ทำให้อดีตหัวหน้าพนักงานสอบสวนต้องลี้ภัยไปออสเตรเลีย

โรฮิงญา

ที่มาของภาพ, AFP/Getty images

คำบรรยายภาพ, ชาวโรฮิงญาบนเรือขนผู้อพยพที่ลอยลำอยู่ในทะเลอันดามันนอกฝั่งไทยเมื่อปี 2558

สารคดีเรื่อง Thailand's Fearless Cop ของรายการ 101 East สำนักข่าวอัลจาซีรา ซึ่งสัมภาษณ์พิเศษ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา และเผยแพร่ทางช่องยูทิวบ์ของอัลจาซีราเมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา ทำให้ประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์และชะตากรรมของ พล.ต.ต. ปวีณ กลับมาอยู่ในความสนใจของสังคมอีกครั้ง

ในการสัมภาษณ์กับอัลจาซีราครั้งนี้ พล.ต.ต.ปวีณ ได้เปิดเผยชื่อบุคคลที่เขากล่าวหาว่ามีส่วนในการช่วยเหลือผู้ต้องหาและปกปิดหลักฐานเกี่ยวกับการกระทำความผิดของกลุ่มผู้ต้องหาในคดีค้ามนุษย์โรฮิงยาที่เกิดขึ้นเมื่อปี 2558 ซึ่งมีทั้งอดีตนายตำรวจ นายทหาร ทั้งที่เคยมีตำแหน่งและยังคงมีตำแหน่งในรัฐบาลประยุทธ์

บีบีซีไทยลำดับเหตุการณ์คดีค้ามนุษย์โรฮิงญา อีกหนึ่งมหากาพย์ที่มีชื่อของนักการเมือง ข้าราชการ นายทหาร นายตำรวจพัวพันจำนวนมาก

  • พบศพ

ปี 2558 ทางการไทยขุดค้นพบร่างชาวโรฮิงญาจำนวนหลายสิบศพบนเทือกเขาแก้ว จ.สงขลา ซึ่งถูกใช้เป็นค่ายสำหรับพักและกักขังชาวโรฮิงญาจากเมียนมาและบังกลาเทศ ก่อนส่งผ่านไปยังมาเลเซีย นับว่าเป็นคดีใหญ่ในช่วงยุคที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) นำโดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา บริหารประเทศในขณะนั้น

การขุดค้นหาศพของชาวโรฮิงญา

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, (แฟ้มภาพ) การขุดค้นหาศพของชาวโรฮิงญา
  • สอบสวน

การพบศพชาวโรฮิงญานำมาสู่การสอบสวนขยายผลไปสู่ขบวนการค้ามนุษย์ พบการเชื่อมโยงบุคคลทั้งข้าราชการระดับสูง นักการเมืองท้องถิ่น และนายหน้าจากเมียนมา โดยบุคคลสำคัญที่ถูกกล่าวถึงคือ พล.ท. มนัส คงแป้น อดีตผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก และนายปัจจุบัน อังโชติพันธุ์ หรือ "โกโต้ง" อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สตูล

ตำรวจส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการ พนักงานอัยการคดีค้ามนุษย์เป็นโจทก์ฟ้องข้าราชการและพลเรือนเป็นจำเลยที่ 1-103 ในความผิด 16 ข้อหา ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ฯ พ.ศ. 2551 และ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติฯ พ.ศ. 2546

นอกจากนี้อัยการคดีพิเศษยังได้เป็นโจทก์ฟ้อง พล.ท. มนัส นายปัจจุบันและจำเลยอื่น ๆ อีกรวม 54 คน ในความผิดฐานฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 อีกคดีหนึ่งด้วย

คำบรรยายวิดีโอ, คดีค้ามนุษย์ประวัติศาสตร์
  • โอนคดี

10 ต.ค. 2558 ได้มีการโอนคดีจากศาลนาทวี มาพิจารณาคดีที่แผนกคดีค้ามนุษย์ของศาลอาญา เนื่องจากเป็นคดีร้ายแรง และมีอัตราโทษสูงถึงการประหารชีวิต จึงทำให้การพิจารณาคดีนี้จำเลยทั้งหมดไม่ได้รับการประกันตัว โดยศาลทำการไต่สวนพยานรวม 116 นัดต่อเนื่อง ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2559 เดือนละ 8 วัน โดยไม่มีการเลื่อนคดี หรือยกเลิกนัด

  • หัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนขอลี้ภัยในออสเตรเลีย

เดือน ธ.ค. 2558 พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และอดีตหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีค้ามนุษย์โรฮิงญา ขอออกจากการทำคดีและขอลี้ภัยในออสเตรเลีย ต่อมาเขาได้ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยถึงปัญหาที่ต้องเผชิญในการสอบสวนคดีค้ามนุษย์ ระบุถูกข่มขู่ให้ลาออก ขณะที่การมีคำสั่งย้ายให้ไปประจำที่ศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เป็นห่วงเรื่องความปลอดภัยของตน พล.ต.ต. ปวีณยังชี้ว่าด้วยว่าปัญหาการค้ามนุษย์ในไทยจะยังคงเหมือนเดิม หากผู้บังคับบัญชาและผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ไม่จริงใจในการแก้ไข

  • ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีค้ามนุษย์

19 พ.ค. 2560 ศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์พิพากษาให้ พล.ท. มนัส และนายปัจจุบัน มีความผิดในคดีค้ามนุษย์ชาวมุสลิมโรฮิงญา

คดีนี้ถือเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่ได้รับความสนใจจากสาธารณชนและสื่อมวลชนทั้งไทยและต่างชาติ โดยศาลตัดสินให้มีความผิด 62 ราย จากจำเลยทั้งหมด 103 ราย ในฐานความผิดต่างกัน อาทิ เป็นสมาชิกองค์กรอาชญากรรมต่างชาติ, สมคบและร่วมกันค้ามนุษย์, นำพาคนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักร, รับและให้ที่พักคนต่างด้าว, ความผิดต่อเสรีภาพ, เรียกค่าไถ่ และทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย โดยให้ลงโทษจำคุกตั้งแต่ 4 ปี ถึง 94 ปี

พล.ท. มนัสถูกตัดสินจำคุก 27 ปี ฐานมีส่วนในองค์กรอาชญกรรมข้ามชาติและความผิดฐานค้ามนุษย์ 3 คดี และยังพบอีกว่าการมีรับโอนเงินจากเครือข่ายค้ามนุษย์ราว 13 ล้านบาท

เรื่องราวดังกล่าวสั่นสะเทือนไปทั้งกองทัพ จน พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกมาโวยสื่อเมื่อถูกถามเกี่ยวกับผู้ทรงคุณวุฒิในกองทัพพัวพันกับคดีนี้ บอกว่าทหารคนเดียวไม่ได้ทำให้กองทัพเจ๊ง

ข้าม YouTube โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์

  • ศาลชั้นต้นพิพากษาคดีฟอกเงิน

14 พ.ค. 2562 ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ได้อ่านคำพิพากษาคดีร่วมกันฟอกเงินค้ามนุษย์โรฮิงญา หมายเลขดำ ฟย.16/2559 ที่ พนักงานอัยการ คดีพิเศษ 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายชลชาสน์ ไชยมณี จำเลยที่ 1 กับพวก รวม 54 คน โดย พล.ท.มนัสเป็นจำเลยที่ 46 ในความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐาน ฟอกเงิน และร่วมกันฟอกเงิน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 โดยศาลมีคำสั่งจำคุก พล.ท.มนัส รวม 2 ข้อหาเป็นระยะเวลา 40 ปี แต่ให้จำคุกได้ไม่เกิน 20 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 90 (20) ส่วนจำเลยสำคัญอีกคนคือนายปัจจุบัน ศาลพิพากษาจำคุกรวม 10 ปี

  • ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีค้ามนุษย์

31 ต.ค. 2562 ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ในคดีที่ พล.ท.มนัสเป็นจำเลยในข้อหาค้ามนุษย์ และมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ โดยศาลได้พิพากษาเพิ่มโทษจำคุก พล.ท.มนัสจาก 27 ปี เป็น 82 ปี โดยให้ได้รับโทษจริง 50 ปี

เมื่อรวมกับโทษจำคุกฐานร่วมกันฟอกเงินอีก 20 ปี ที่อัยการแยกฟ้องคดีไว้ โทษจำคุก พล.ท. มนัส รวม 70 ปี

  • พล.ท. มนัสเสียชีวิตในคุก

3 มิ.ย. 2564 กรมราชทัณฑ์เผยแพร่เอกสารข่าวยืนยันการเสียชีวิตของ พล.ท. มนัส อายุ 65 ปี ระหว่างถูกควบคุมตัวอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม กรุงเทพฯ ช่วงค่ำวันที่ 2 มิ.ย. 2564

กรมราชทัณฑ์ระบุว่า พล.ท. มนัสเข้ารับการรักษาตัวที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2564 เนื่องจากมีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง ไขมันในโลหิตสูง และหัวใจเต้นช้ากว่าปกติ เมื่อวานนี้ขณะเดินออกกำลังกาย เขามีอาการวูบหมดสติไม่รู้สึกตัว นอนนิ่ง ไม่หายใจ คลำชีพจรไม่ได้ ผู้เห็นเหตุการณ์จึงได้แจ้งผู้คุมและเจ้าหน้าที่ จากนั้นพยาบาลแรกรับจึงได้ทำการกู้ชีพ กดนวดหัวใจ (CPR) และใส่ท่อช่วยหายใจ ผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นลบ

แพทย์ได้ทำการรักษาเพื่อช่วยชีวิตอย่างเต็มความสามารถ แต่ พล.ท. มนัสไม่มีการตอบสนองไม่มีคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และเสียชีวิตในเวลา 19.40 น. แพทย์วินิจฉัยพบว่าเสียชีวิตจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน

  • พรรคก้าวไกลอภิปรายเรื่องขบวนการค้ามนุษย์

18 ก.พ. 2565 นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล หยิบประเด็นเรื่องขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา ซึ่งมี พล.ต.ต. ปวีณ เป็นอดีตหัวหน้าชุดทำคดี มาอภิปรายระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบไม่ลงมติ ทำให้ประเด็นเรื่องการค้ามนุษย์และชะตากรรมของ พล.ต.ต. ปวีณ กลับมาอยู่ในความสนใจของประชาชนอีกครั้งหนึ่ง

หลังการอภิปรายของนายรังสิมันต์ พล.ต.ต.ปวีณปรากฏตัวผ่านระบบวิดีโอออนไลน์ ยืนยันว่าสิ่งที่ ส.ส. พรรคก้าวไกลพูด "คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง" และ "รู้สึกได้รับความเป็นธรรมกลับมาครึ่งหนึ่ง"

"วันนี้เป็นวันที่มีความสุขมากที่สุดวันหนึ่ง มันเป็นเรื่องเฉพาะตัวที่ติดค้างคาอยู่ในใจ ที่สร้างความทุกข์ระทมขมขื่น ทั้งเครียด ทั้งกลัว สะท้อนจิตใจ นับตั้งแต่หลบหนีออกนอกประเทศไทย จนถึงวันนี้ นานถึง 6 ปี 6 เดือน 3 วัน จากการที่ผมปฏิบัติหน้าที่แล้วถูกกลั่นแกล้ง ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และรัฐบาล รวมถึงผู้มีอำนาจ" พล.ต.ต.ปวีณกล่าว

รังสิมันต์ โรม อภิปรายในสภา

ที่มาของภาพ, รัฐสภา

คำบรรยายภาพ, พล.ต.ต. ปวีณ กล่าวยืนยันว่า สิ่งที่ ส.ส. พรรคก้าวไกลพูด "คือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริง" และ "รู้สึกได้รับความเป็นธรรมกลับมาครึ่งหนึ่ง"

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาตอบโต้การอภิปรายของนายรังสิมันต์ว่ารัฐบาลได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์การค้ามนุษย์ก็ดีขึ้นเรื่อย ๆ สิ่งใดที่ผ่านมาแล้วในอดีต ก็เป็นเรื่องของอดีต

ส่วนกรณี พล.ต.ต. ปวีณลี้ภัยไปออสเตรเลียและระบุว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม นายกฯ ย้อนถามสื่อว่า เขามีคดีอะไรและถ้าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็ให้ร้องเรียนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

"เขามีคดีอะไรหรือ... ก็ไปร้องทุกข์มา ผมไม่ได้เขาออกไปไม่ใช่หรือ เขาออกไปเองไม่ใช่หรือ ใครจะไปทำอะไรเขาได้ บ้านเมืองมีขื่อมีแป มีกฎหมายอยู่" พล.อ. ประยุทธ์กล่าว

คำพูดนายกฯ
  • อัลจาซีราเผยแพร่สารคดี "Thailand's Fearless Cop"

สำนักข่าวอัลจาซีราเสนอสารคดี "Thailand's Fearless Cop" (ตำรวจไทยผู้ไร้ความกลัว ) ความยาว 46.25 นาที บน YouTube ช่อง Al Jazeera English เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการสัมภาษณ์ พล.ต.ต. ปวีณ พงศ์สิรินทร์ ที่ขณะนี้กำลังลี้ภัยอยู่ในประเทศออสเตรเลีย ในประเด็นการค้ามนุษย์โรฮิงญาที่เชื่อมโยงกับบรรดาตำรวจและทหารผู้มีอำนาจในไทยพล.ต.ต. ปวีณ เปิดเผยชื่อนายตำรวจและทหารระดับสูง 3 คน ที่เขากล่าวหาว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ รวมถึงเข้ามาแทรกแซงการสืบสวนและรูปสำนวน จนทำให้เขาเกรงกลัวว่าจะมีภัยภึงแก่ชีวิตจนต้องขอลี้ภัยไปต่างประเทศ