โทษประหารชีวิตในไทย ยังจำเป็นอยู่หรือไม่

แอมเนสตี้

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, นักกิจกรรมแอมเนสตี้ประเทศไทย แสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต หน้าเรือนจำบางขวางวันนี้ (19)

การประหารชีวิตนักโทษครั้งแรกในรอบ 9 ปีของไทย นำมาสู่การวิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องยังคงสมควรมีโทษประหารในประเทศไทยหรือไม่

ในขณะที่ฝ่ายส่งเสริมสิทธิมนุษยชนเห็นว่าประเทศไทยควรจะยกเลิกโทษประหารไปได้แล้ว เพราะการประหารเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของความเป็นมนุษย์อย่างรุนแรง ส่วนประชาชนทั่วไปก็มีทั้งสนับสนุนโทษประหารและคัดค้าน

กรมราชทัณฑ์แถลงว่าการประหาร นายธีรศักดิ์ (ขอสงวนนามสกุลเพื่อไม่ให้กระทบกับครอบครัว) อายุ 26 ปีมีขึ้นเมื่อวานนี้ เขาเป็นนักโทษคดีฆ่าชิงทรัพย์ โดยแทงผู้ตายทั้งหมด 24 แผลเมื่อปี 2555 และศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ให้ลงโทษด้วยการฉีดสารพิษให้ตาย ซึ่งนายธีรศักดิ์นับเป็นนักโทษรายล่าสุดที่ถูกลงโทษประหารนับตั้งแต่ปี 2552

แอมเนสตี้ฯ เปิดเผยว่า ตัวเลขของกระทรวงยุติธรรมระบุว่า จนถึงสิ้นปี 2560 มีนักโทษประหารอยู่จำนวน 510 คน โดยเป็นผู้หญิง 94 คน ในจำนวนนี้ 193 คนเป็นนักโทษเด็ดขาดที่ผ่านกระบวนการอุทธรณ์คดีหมดสิ้นแล้ว ทั้งนี้ แอมเนสตี้ฯ เชื่อว่ากว่าครึ่งหนึ่งของนักโทษเหล่านี้ต้องโทษประหารชีวิตในคดียาเสพติด

ไทยควรยกเลิกการประหาร

"การนำเอาโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ใหม่สวนทางกับคำมั่นสัญญาของประเทศไทยทั้งในระดับประเทศและนานาประเทศ ระหว่างการทบทวนสถานการณ์ภาพรวมด้านสิทธิมนุษยชนโดยสมาชิกสหประชาชาติ ตามกลไก Universal Periodic Review เมื่อปี 2559 ประเทศไทยได้ให้คำมั่นว่าจะดำเนินมาตรการต่าง ๆ เพื่อยกเลิกโทษประหารชีวิต" ซินเทีย เวลิโก้ ผู้แทนของสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว "คำมั่นดังกล่าวได้รับการกล่าวย้ำอีกในแผนปฏิบัติการด้านสิทธิมนุษยชนแห่งชาติฉบับที่สาม"

คำบรรยายวิดีโอ, ประหารชีวิตในไทย ยังจำเป็นอยู่หรือไม่?

ทางองค์กรสิทธิมนุษยชนต่างก็ออกมาแสดงการคัดค้านอย่างรุนแรง มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุในคำแถลงการณ์ว่า "มูลนิธิผสานวัฒนธรรมขอแสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจของรัฐบาลไทยในการยุติการพักการประหารชีวิตในทางปฏิบัติครั้งนี้ หลังจากได้มีการประหารชีวิตด้วยการฉีดยาสารพิษครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ.2552" และยังได้ชี้ด้วยว่าการประหารครั้งนี้ทำให้ "ประเทศไทยพลาดโอกาสได้รับการประกาศว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ"

"การเดินทางไปสหราชอาณาจักรและสาธารณรัฐฝรั่งเศสในระหว่างวันที่ 20-25 มิ.ย.นี้ ของนายกรัฐมนตรีของไทยนั้น อาจต้องไปตอบคำถามถึงการตัดสินใจประหารชีวิตผู้ต้องโทษอายุ 26 ปีนี้และอาจเป็นเงื่อนไขให้การร่วมมือในกิจการต่าง ๆ ถูกกดดันจากทั้งตัวแทนรัฐบาลและภาคประชาสังคมของทั้งสองประเทศ" นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุ

แม้ปัจจุบันกฎหมายไทยมีฐานความผิดที่มีบทลงโทษประหารชีวิต จำนวน 55 ฐานความผิด อาทิ การฆ่าผู้อื่น การข่มขืนกระทำชำเราจนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย รวมถึงคดีเกี่ยวกับยาเสพติด แต่ที่ผ่านมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลให้มีการแก้ไขกฎหมายที่มีบทลงโทษประหารชีวิตไว้สถานเดียว เป็นโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิต

แอมเนสตี้

ที่มาของภาพ, Reuters

แอมเนสตี้ระบุว่า 106 ประเทศทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารสำหรับความผิดทุกประเภท และ 142 ประเทศหรือมากกว่า 2 ใน 3 ของประเทศทั่วโลกที่ได้ยกเลิกโทษประหารชีวิตทั้งในทางกฎหมายหรือในทางปฏิบัติ

ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี อธิบายว่าคดีที่เกิดขึ้นเป็นคดีที่ศาลชั้นต้น อุทธรณ์ และศาลชั้นฎีกา เห็นตรงกันว่า เป็นคดีที่อุกฉกรรจ์ พร้อมย้ำว่าโทษประหารไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

กฎหมายไม่ได้เปลี่ยน แต่เปลี่ยนที่การปฏิบัติ

ดร.น้ำแท้ มีบุญสล้าง อัยการจังหวัดสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิฯ จังหวัดกาญจนบุรี หนึ่งในคณะผู้วิจัยแนวทางความเป็นไปได้ของการเปลี่ยนแปลงโทษประหารชีวิตในสังคมไทยตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล ของกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ เมื่อปี 2557 กล่าวกับบีบีซีไทยว่า"ในทางกฎหมายไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาไม่มีคดีที่ศาลพิพากษาให้ประหารชีวิต จนกระทั่งเจอคดีที่ต้องใช้โทษสูงสุด ไม่เกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล แต่เป็นดุลพินิจของศาล"

เขายังได้กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาที่ไม่มีการลงโทษประหารชีวิต เพราะในการพิจารณาคดีต่าง ๆ ศาลมีการใช้ดุลพินิจพิจารณาเหตุลดโทษ

เมื่อปี 2557 ประเทศไทยงดออกเสียงในข้อตกลงเพื่อพักใช้โทษประหารชีวิตเป็นการชั่วคราวในที่ประชุมสมัชชาใหญ่ สหประชาชาติ ซึ่งเป็นการงดออกเสียงครั้งที่สามติดต่อกัน

หลักการลงโทษด้านอาชญวิทยา

ผศ. พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ พูตระกูล ประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม วิทยาลัยรัฐกิจ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวกับบีบีซีไทยว่าการลงโทษในทางอาชญวิทยามีความคิดที่ต่างกัน 2 แบบ คือ การลงโทษเพื่อแก้แค้น อันเป็นการเยียวยาความรู้สึกของผู้เสียหายว่าได้รับความยุติธรรม ด้วยเหตุผลที่ว่า "เพราะคนที่ฆ่าเขาก็น่าจะต้องถูกฆ่าด้วย"

ในขณะที่อีกเหตุผลหนึ่ง ก็คือ การลงโทษเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู และ เยียวยา ซึ่งมีแนวคิดเบื้องหลังว่าคนประกอบอาชญากรรม มักเป็นคนยากจน ไร้การศึกษา ซึ่งไม่มีทางออกในชีวิต ซึ่งก็มีข้อมูลมากมายที่สนับสนุนแนวคิดเช่นนี้ และก็เป็นแนวคิดที่ใช้กันเรื่องการลงโทษที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน

เชือก
คำบรรยายภาพ, ในอาเซียน มีกัมพูชาและฟิลิปปินส์ ยกเลิกโทษประหารชีวิตสำหรับความผิดทางอาญาทุกประเภท ส่วนบรูไน ลาว เมียนมา ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางปฏิบัติ หมายถึงยังคงไว้ซึ่งโทษประหารชีวิต แต่ได้ระงับการประหารชีวิตจริงเป็นระยะเวลา 10 ปีติดต่อกัน

ผศ. พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ ยังชี้ว่ามีข้อมูลในเชิงสถิติจากการศึกษามากมายว่าโทษประหารไม่ได้ทำให้อัตราการกระทำผิดในสังคมลดลง อีกทั้งหลายฝ่ายเห็นว่าการประหารชีวิตเป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐาน คือ สิทธิความเป็นมนุษย์อย่างร้ายแรง

"ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลทางวิชาการสนับสนุนว่าการป้องกันอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพนั้นดีกว่า การลงโทษเพื่อแก้ไข ฟื้นฟู เยียวยา เพราะตอนนี้กรมราชทัณฑ์ก็ต้องดูแลนักโทษมากกว่าสามแสนคน คุกไทยนั้นแออัดอย่างมาก" นักวิชาการด้านอาชญวิทยา กล่าวกับบีบีซีไทย

เขาเสนอให้ประเทศไทยควรจะหันมาเอาใจใส่กับการป้องกันอาชญากรรมให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะให้ชุมชนเข้ามามีส่วนในการรักษาความสงบปลอดภัยให้ประชาชนด้วย ประเทศไทยไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญเรื่องป้องกันมากนัก

"เห็นได้ชัดอย่างเช่นงบของตำรวจ 80% -90% จะเป็นงบรายจ่ายประจำ ซึ่งก็คือเงินเดือน แต่ส่วนงบเรื่องพัฒนาบุคลากร หรือเทคโนโลยีที่จะช่วยให้สามารถป้องกันอาชญากรรมได้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมีไม่ถึง 2%" เขากล่าว

แนะเลิกโทษประหารในบางฐานความผิด

ดร.น้ำแท้ มีความเห็นสอดคล้องกับผศ. พ.ต.ท. ดร. กฤษณพงค์ที่ว่า บทลงโทษไม่ใช่ปัจจัยเดียวที่ทำผู้กระทำผิด เลือกไม่ก่ออาชญากรรม

"พวกฆ่าคนตาย คิดว่าจะหนีได้ งานวิจัยที่เราค้นพบ พบว่าคนที่จะกระทำผิด หากเขาคิดว่าถูกจับแน่นอน เขาจะไม่ทำ คนเราถ้ารู้ว่าไม่มีโอกาสรอดจะไม่ได้กระทำความผิด วิธีการลงโทษที่ดีที่สุด ทำอย่างไรให้คนที่กระทำความผิด ไม่รอดพ้นเงื้อมมือทางกฎหมายได้ ดีกว่าไปพูดเรื่องประหารชีวิต"

เขายังยกกรณีของประเทศยุโรปที่สามารถยกเลิกโทษประหารได้ เนื่องจากมีปัจจัยด้านสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ และจำนวนอาชญากรรม เข้ามาเกี่ยวข้อง "ที่ต่างประเทศยกเลิก เพราะเชื่อกันว่า โทษประหารไม่ได้มีผลในการลดอาชญากรรม ถ้ามีความผิดพลาดในกระบวนการยุติธรรม โทษประหารไม่สามารถแก้ไขให้ชีวิตคืนมาได้ และมองว่าการประหารชีวิตทำลายสิทธิในการมีชีวิตอยู่"

สำหรับบริบทในประเทศไทย ดร.น้ำแท้ ให้ความเห็นว่าการปรับยกเลิกโทษประหารยังต้องพิจารณาให้เหมาะกับสภาพสังคมไทย ผลวิจัย ได้ข้อสรุปว่า ประเทศไทยควรลดกับความผิดบางฐานเพื่อให้เป็นไปตามหลักสากล อย่างเช่น ความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ การวางเพลิงในสถานที่สำคัญ ควรเลิกโทษประหาร

"ถ้ายกเลิกไปเลยน่าจะเป็นปัจจัยที่เราสามารถคุมอาชญากรรมจนเรียบร้อย ถึงจุดนั้นเราก็ยกเลิกได้ ถ้าบังคับใช้กฎหมายได้ดี เจ้าหน้าที่ไม่ทุจริตคอร์รัปชั่น คดีไม่ถูกบิดเบือน" ดร.น้ำแท้กล่าว

คุกบางขวาง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การประหารชีวิตนักโทษในคดีฆ่าชิงทรัพย์ในวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา เป็นนักโทษที่ถูกประหารรายล่าสุดนับตั้งแต่การประหารครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2552

ความเห็นสังคมต่อโทษประหารชีวิต

ทางสื่อสังคมออนไลน์ มีผู้แสดงความคิดเห็นหลากหลาย ทั้งคัดค้านและเห็นด้วย

ผู้ใช้เฟซบุ๊กที่ใช้ชื่อว่า Chaddanai Choksuwanlap แสดงความคิดเห็นในโพสต์รณรงค์ของแอมเนสตี้ ว่า "ถ้าศาลตัดสินว่าโทษคือ ประหารชีวิต นั่นคือ เขาก็สมควรโดนประหารชีวิตจริงๆ ตามสิ่งที่เขาทำไว้ ผมไม่รู้ว่าประเทศอื่นกี่ประเทศ เขาจะยกเลิกโทษประหารชีวิตไปยังไง แต่มันคงไม่เหมาะกับประเทศไทยเราแน่ๆ คิดถึงจิตใจครอบครัวของเหยื่อให้มาก ๆ ด้วย"

ขณะที่บัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ชื่อว่า @mini_universal บอกว่า "อยากให้แบ่งเวลาและงบประมาณหันมาดูแลระบบเยียวยาและรักษาทัศนะคติผู้ต้องหาในคุกด้วย เพราะการประหารไม่ใช่ทางออกของอาชญกรรมร้ายแรง การติดคุกควรเป็นสิ่งที่มีประสิทธิภาพมากกว่าเป็นแค่สถานที่ แล้วเราจะได้ไม่ต้องมานั่งถกเถียงกันว่า ควรประหารหรือไม่"

ข้าม Twitter โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด Twitter โพสต์

"บ้านเรา จะไม่มีบทลงโทษทางกฎหมายสูงสุดที่ #ประหารชีวิต ก็ได้นะ แต่ต้องไม่มีเหตุบรรเทาโทษ หรือได้รับการให้อภัยโทษใดๆ คนที่ทำอันตรายแก่ผู้อื่นถึงชีวิต ถ้าจะต้องติดคุก ก็สมควรติดไปชั่วชีวิตนั่นแหละ" บัญชีผู้ใช้ทวิตเตอร์ @darkendefend

นอกจากนี้เมื่อบีบีซีไทยสุ่มสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในแถบราชประสงค์ ส่วนใหญ่ก็เห็นว่าควรมีโทษประหารชีวิต หญิงสาวคนหนึ่งซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ กล่าวว่าโทษประหาร "ยังสมควรมีในไทยอยู่ แต่ถ้าประหาร ก็มีเกณฑ์เฉพาะกรณีและควรมีความเด็ดขาด อย่างข่มขืนแล้วฆ่า ไม่ควรผ่านกระบวนการที่เนิ่นนานขนาดนั้น" และการลงโทษ "ก็เหมือนการเชือดไก่ให้ลิงดู ถึงจะดูโบราณ หนูว่ามันได้ผลนะ"