เลือกตั้ง 2566 : กกต. รายงานผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ ก.ก. เหลือ 151 ส.ส. ส่วน ปชป. ได้เพิ่มเป็น 25 ส่งจุรินทร์ผ่านคุณสมบัติเป็นนายกฯ

ก้าวไกล ได้ ส.ส. รวม 151 ที่นั่ง ยังนำมาเป็นอันดับ 1

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ก้าวไกล ได้ ส.ส. รวม 151 ที่นั่ง ยังนำมาเป็นอันดับ 1

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานผลนับคะแนนเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 400 เขต พบว่า พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้ ส.ส.แบบแบ่งเขต ลดลง 1 เขต เหลือ 112 เขต เท่ากับพรรคเพื่อไทย (พท.) แต่เมื่อรวมยอด ส.ส. ทั้ง 2 ระบบ พรรค ก.ก. ยังเป็นพรรคอันดับ 1 ด้วยยอดผู้แทนฯ 151 ที่นั่ง

จำนวนว่าที่ ส.ส. ที่หายไป 1 ที่นั่ง มาจาก ส.ส.ปราจีนบุรี เขตเลือกตั้งที่ 3 ที่ผู้สมัครจากพรรค ก.ก. พ่ายแพ้ให้แก่พรรคภูมิใจไทย (ภท.) กว่า 3,000 คะแนน

วันนี้ (25 พ.ค. ) กกต. เปิดเผยผลการนับคะแนนอย่างเป็นทางการ พบว่า ก.ก. มีที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) เท่าเดิม คือ 39 ที่นั่ง มากกว่าพรรค พท. ซึ่งมี ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ 29 ที่นั่ง

ปชป. ได้ปาร์ตี้ลิสต์เพิ่ม - พปชร. เสีย 1 ที่นั่ง

ขณะที่บางพรรคมียอด ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็น พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่เหลือ ส.ส.บัญชีรายชื่อเพียงคนเดียว นั่นคือ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค และผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 1 จากข้อมูลการรายงานผลคะแนนอย่างไม่เป็นทางการของสำนักงาน กกต. รอบก่อนเมื่อ 19 พ.ค. ที่ พปชร. ได้ 2 ที่นั่ง ทำให้นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรค ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ลำดับที่ 2 หมดสิทธิเข้าสภา

เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่ได้คะแนนมหาชนเพิ่มมา 26,046 คะแนน ส่งผลให้ได้ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพิ่มมาอีก 1 ที่นั่ง ทำให้นายบัญญัติ บรรทัดฐาน รองประธานกรรมการสภาที่ปรึกษาพรรค ผู้สมัคร ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ อันดับ 3 ได้เข้าสภาเป็นคนสุดท้าย

แต่ที่สำคัญคือ เมื่อรวมที่นั่งในสภาทั้งหมดของพรรค ปชป. จำนวน 25 ที่นั่ง ทำให้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รักษาการหัวหน้าพรรค ปชป. ผู้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีคนเดียวของพรรคสีฟ้า กลับมามีคุณสมบัติเป็นนายกฯ ได้ตามรัฐธรรมนูญ 2560

บุคคลที่จะได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกฯ คนที่ 30 ให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาพิจารณา ต้องมีคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 159 คือ ต้องมาจากพรรคการเมืองที่มี ส.ส. ไม่น้อยกว่า 5% ของสมาชิกเท่าที่มีอยู่ของสภา หรือมี ส.ส. มากกว่า 25 คนขึ้นไป

เป็นผลให้แคนดิเดตนายกฯ ในบัญชีของพรรคต่าง ๆ ที่ยังมีสิทธิได้รับการเสนอชื่อ มีทั้งหมด 9 คน จาก 6 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) 1 คน, พรรคเพื่อไทย (พท.) 3 คน, พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 1 คน, พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) 1 คน, พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) 1 คน และพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) 1 คน

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, จุรินทร์ กลับมามีคุณสมบัติได้รับเสนอชื่อเป็นนายกฯ อีกครั้ง

ผลเลือกตั้งอย่างเป็นทางการ 400 เขต

วันที่ 25 พ.ค. สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) รายงานผลการเลือกตั้ง 2566 อย่างเป็นทางการ ผ่านระบบ ECT Report จำนวน 400 เขต

จำนวนผู้ออกมาใช้สิทธิ อยู่ที่ 39,514,973 คน คิดเป็น 75.71% ของผู้มีสิทธิลงคะแนนในการเลือกตั้ง 2566 ทั้งหมด 52,195,920 คน

ผลปรากฏว่ามี 18 พรรคการเมืองได้เข้าสภา โดยมีอยู่ 10 พรรคที่มี ส.ส. ทั้ง 2 ระบบ มี 1 พรรคที่มีเฉพาะ ส.ส.แบบแบ่งเขต และมี 7 พรรคที่มีเฉพาะ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ

ตัวเลขจำนวน ส.ส. ที่แต่ละพรรคได้รับเอา มีดังนี้

.

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

  • พรรคก้าวไกล (ก.ก.) มี ส.ส.เขต 112 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 39 คน (จากคะแนนมหาชน 14,438,851 เสียง) ได้ ส.ส. รวม 151 คน
  • พรรคเพื่อไทย (พท.) มี ส.ส.เขต 112 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 29 คน (จากคะแนนมหาชน 10,962,522 เสียง) ได้ ส.ส. รวม 141 คน
  • พรรคภูมิใจไทย (ภท.) มี ส.ส.เขต 68 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน (จากคะแนนมหาชน 1,138,202 เสียง) ได้ ส.ส. รวม 71 คน
  • พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) มี ส.ส.เขต 39 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน (คน (จากคะแนนมหาชน 537,625 เสียง) ได้ ส.ส. รวม 40 คน
  • พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) มี ส.ส.เขต 23 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 13 คน (จากคะแนนมหาชน 4,666,408 เสียง) ได้ ส.ส. รวม 36 คน
  • พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) มี ส.ส.เขต 22 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 3 คน (จากคะแนนมหาชน 925,349 เสียง) ได้ ส.ส. รวม 24 คน
  • พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) มี ส.ส.เขต 9 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน (จากคะแนนมหาชน 192,497 เสียง) รวมมี ส.ส. 10 คน
  • พรรคประชาชาติ (ปช.) มี ส.ส.เขต 7 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 คน (จากคะแนนมหาชน 602,645 เสียง) รวมมี ส.ส. 9 คน
  • พรรคไทยสร้างไทย (ทสท.) มี ส.ส.เขต 5 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน (จากคะแนนมหาชน 340,178 เสียง) รวมมี ส.ส. 6 คน
  • พรรคเพื่อไทรวมพลัง มี ส.ส.เขต 2 คน ไม่มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ
  • พรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) มี ส.ส.เขต 1 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน (จากคะแนนมหาชน 212,676 เสียง) รวมมี ส.ส. 2 คน
  • พรรคเสรีรวมไทย (สร.) มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน (จากคะแนนมหาชน 351,376 เสียง)
  • พรรคประชาธิปไตยใหม่ มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน (จากคะแนนมหาชน 273,428 เสียง)
  • พรรคใหม่ มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน (จากคะแนนมหาชน 249,731 เสียง)
  • พรรคท้องที่ไทย มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน (จากคะแนนมหาชน 201,411 เสียง)
  • พรรคเป็นธรรม มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน (จากคะแนนมหาชน 184,817 เสียง)
  • พรรคพลังสังคมใหม่ มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน (จากคะแนนมหาชน 177,379 เสียง)
  • พรรคครูไทยเพื่อประชาชน มี ส.ส.บัญชีรายชื่อ 1 คน คน (จากคะแนนมหาชน 175,182 เสียง)

สถิติน่าสนใจอื่น ๆ จากการประกาศผลนับคะแนนอย่างเป็นทางการของ กกต. มีดังนี้

  • การเลือกตั้ง ส.ส. แบ่งแบ่งเขต มีบัตรเสียมากเกือบ 1.5 ล้านใบ และมีบัตรที่ไม่เลือกผู้ใดกว่า 866,000 ใบ
  • การเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ มีบัตรเสียกว่า 1.5 ล้านใบ และมีบัตรที่ไม่เลือกผู้ใดราว 480,000 ใบ