ม.112 : ศาลตัดสินจำคุก 6 ปี อดีต "คนเสื้อแดง" จากการโพสต์ข้อความ "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ"

ชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมัน

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, "กล้ามาก กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" กลายเป็นวลียอดนิยมในการชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร"

ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกอดีตการ์ด "คนเสื้อแดง" เป็นเวลา 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและผิด พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ จากการโพสต์ข้อความ ""#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ" ซึ่งเป็นพระราชดำรัสที่ในหลวงรัชกาลที่ 10 ตรัสกับชายคนหนึ่งเมื่อเดือน ต.ค. 2563

นายสมบัติ ทองย้อย อดีตการ์ดกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ถูกนายศรายุทธ สังวาลย์ทอง ร้องทุกข์กล่าวโทษ หลังจากที่เขาโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กช่วงปลายปี 2563 โดยนายศราวุธกล่าวหานายสมบัติว่าโพสต์ข้อความที่เป็นการล้อเลียนพระมหากษัตริย์ บิดเบือนข้อเท็จจริงและเป็นการใส่ร้ายใส่ความต่อพระมหากษัตริย์ ทําให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิดต่อพระมหากษัตริย์ ทั้งหมด 3 ข้อความ หนึ่งในนั้นคือข้อความที่โพสต์เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 ว่า "#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ"

คดีนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งรับฟ้องเมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2564 และมีคำพิพากษาวันนี้ (28 เม.ย.) ว่านายสมบัติมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ว่าด้วยการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และผิดมาตรา 14 ของ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ให้จำคุก 6 ปี โดยไม่รอลงอาญา

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่นายสมบัติรายงานว่า ศาลให้เหตุผลว่า แม้ข้อความ "#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจ" โดยเนื้อแท้เป็นการกล่าวชื่นชม ไม่ได้หมิ่นประมาท แต่จำเลยโพสต์ข้อความดังกล่าวประกอบข่าวฝ่ายความมั่นคงเข้าพบ นศ. ที่ไม่เข้ารับปริญญา ซึ่งในสังคมไทยการรับปริญญาถือว่าเป็นเกียรติและศิริมงคล จึงถือเป็นการล้อเลียนเสียดสี ขัดต่อมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ เข้าลักษณะดูหมิ่น หมิ่นประมาทองค์พระมหากษัตริย์

ส่วนอีก 2 ข้อความที่มีเนื้อหาที่เข้าใจได้ว่ากล่าวถึงการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมพสกนิกรของในหลวงรัชกาลที่ 10 ศาลเห็นว่าคำโต้แย้งของจำเลยฟังไม่ขึ้น

หลังรับทราบคำพิพากษา ทนายได้ยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นอุทธรณ์ โดยวางหลักทรัพย์เป็นเงิน 300,000 บาท แต่ศาลแจ้งว่าจะให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณา นายสมบัติจึงต้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำระหว่างรอศาลอุทธรณ์มีคำสั่ง

ในหลวงและพระราชินี

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ในหลวงและพระราชินีเสด็จพระดำเนินเยี่ยมพสกนิกรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ เมื่อวันที่ 23 ต.ค. 2563

สมบัติ ทองย้อย คือใคร

นายสมบัติ ทองย้อย อายุ 53 ปี ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยเมื่อเมื่อเดือน เม.ย. 2564 ว่าเขาเป็นอดีตการ์ด นปช. หรือกลุ่มคนเสื้อแดงช่วงปี 2553

เมื่อเยาวชนจัดชุมนุมเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยและการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ในปี 2563 เขาได้เข้าร่วมชุมนุมหลายครั้ง โดยมักจะเป็นอาสาสมัครดูแลความปลอดภัยของผู้ชุมนุมด้วย แต่ไม่เคยขึ้นเวทีหรือปราศรัยใด ๆ ทั้งสิ้น

วันที่ 14 ธ.ค. 2563 นายสมบัติ ซึ่งปัจจุบันประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัวในกรุงเทพฯ ได้รับหมายเรียกจาก สน.ทุ่งมหาเมฆ ให้เดินทางมารับทราบข้อหา "หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และข้อหาฝ่าฝืนพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 กรณีโพสต์ข้อความ 3 ข้อความในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับพระราชดำรัสและการเสด็จเยี่ยมประชาชนของกษัตริย์รัชกาลที่ 10

นายสมบัติ ทองย้อย

ที่มาของภาพ, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

คำบรรยายภาพ, นายสมบัติ ทองย้อย เป็นอดีตการ์ดของกลุ่ม นปช.

นายสมบัติบอกกับบีบีซีไทยว่า เขาไม่คิดว่าจะถูกดำเนินคดีมาตรา 112 เพราะเป็นเพียงผู้ร่วมชุมนุมคนหนึ่ง จึงรู้สึกตกใจเล็กน้อยเมื่อได้รับหมายเรียก แต่ก็เผื่อใจไว้บ้างเนื่องจากเคยถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จากการร่วมชุมนุมกับกลุ่มเยาวชนปลดแอกและกลุ่มราษฎรช่วงเดือน ก.ค.- ต.ค. 2563 มาแล้ว

"ผมเชื่อมั่นว่าผมไม่ได้ทำอะไรผิด ข้อความที่ถูกกล่าวหานั้นก็เป็นข้อความที่คนใช้กันอย่างแพร่หลาย แม้แต่พนักงานสอบสวนยังบอกผมในทำนองเดียวกันนี้ แต่เขาอ้างว่าเหตุที่ต้องแจ้งข้อกล่าวหาเป็นเพราะหากไม่ดำเนินคดีจะมีความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่" นายสมบัติเชื่อว่าคดีของเขาน่าจะเป็นการ "เชือดไก่ให้ลิงดู"

หลังจากอัยการมีคำสั่งฟ้องเขาต่อศาลอาญา นายสมบัติให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยอีกครั้งว่า เขาพร้อมที่จะต่อสู้คดีและขอบคุณศูนย์ทนายฯ ที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย รวมทั้งดำเนินการเรื่องเงินประกันตัวซึ่งมาจาก "กองทุนราษฎรประสงค์" ที่ระดมเงินบริจาคสำหรับยื่นประกันผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง

"เงินมากขนาดนี้ ผมและครอบครัวคงไม่รู้ว่าจะหามาจากไหน" เขากล่าว

นายสมบัติคาดว่าคดีของเขาอาจเป็นบรรทัดฐานของการดำเนินคดีกับผู้ที่อ้างพระราชดำรัส "กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ" และเป็นเรื่องที่ต้องติดตามดูว่าประชาชนจำนวนมากที่เผยแพร่ข้อความนี้จะถูกดำเนินคดีทั้งหมดหรือไม่ ทั้งฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยและฝ่ายปกป้องสถาบันฯ

"กล้ามาก กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ"

วันที่ 23 ต.ค. 2563 ภายหลังเสร็จสิ้นพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทาน เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระดำเนินเยี่ยมพสกนิกรที่มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จฯ บริเวณหน้ากองทัพภาคที่ 1 ถ.ราชดำเนินนอก

ระหว่างนั้น พระราชินีทอดพระเนตรเห็นชายคนหนึ่งในหมู่พสกนิกรสวมเสื้อสีเหลืองที่มาเฝ้ารับเสด็จฯ และทรงมีพระราชปฏิสันถารกับชายคนดังกล่าว ทราบภายหลังชื่อนายฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ซึ่งเป็นผู้ที่ยืนชูพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวง ร.9 ไว้เหนือหัวระหว่างการชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร" ที่ย่านปิ่นเกล้าเมื่อวันที่ 21 ต.ค. 2563

คำบรรยายวิดีโอ, หัวอกคนรักเจ้า “ผมไปเรียกร้องในสิทธิของผม แต่กลับโดนคุกคาม”

ต่อมานายฐิติวัฒน์ได้เผยแพร่คลิปเหตุการณ์ที่พระราชินีและในหลวงมีพระราชปฏิสันถารกับเขา โดยตั้งค่าเป็นสาธารณะบนเฟซบุ๊ก พร้อมคำบรรยายว่า "ผมจะเป็นลมครับ พระองค์ท่านจำผมได้"

ในคลิปดังกล่าว พระราชินีตรัสว่า "คนนี้ไปยืนถือป้าย คนนี้ไปยืนชูป้ายท่ามกลางผู้ประท้วง ขอบคุณมาก ๆ เราจำได้ ขอบคุณมาก ๆ เป็นกำลังใจให้ ขอบคุณมาก ๆ"

จากนั้นพระเจ้าอยู่หัวทรงชี้พระดัชนีไปที่เขาแล้วทรงถามว่า "ใช่ไหม คนนี้" เมื่อพระราชินีตรัสตอบว่าเขาเป็นคนที่ถือพระบรมฉายาลักษณ์ ร.9 ต่อหน้ากลุ่มผู้ชุมนุม พระเจ้าอยู่หัวจึงตรัสกับนายฐิติวัฒน์ว่า "กล้ามาก กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ"

จากนั้นทั้งสองพระองค์ทรงมีพระราชปฏิสันถารกับนายฐิติวัฒน์อีกเล็กน้อย ก่อนที่พระเจ้าอยู่หัวจะตรัสอีกครั้งว่า "กล้ามาก ขอบใจมาก"

หลังจากคลิปวิดีโอถูกเผยแพร่ออกไปอย่างกว้างขวาง มีผู้ใช้โซเชียลมีเดียจำนวนมากนำพระราชดำรัสของพระองค์มาเผยแพร่ซ้ำในบริบทต่าง ๆ กันและในหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นข้อความในภาพหรือแฮชแท็ก อีกทั้งยังกลายเป็นวลีที่นำมาใช้ในการชุมนุมของกลุ่มราษฎร เช่น ในการปราศรัยบนเวที เขียนบนป้ายผ้าขนาดใหญ่ หรือเขียนบนอุปกรณ์ที่นำมาประกอบการชุมนุม

นอกจากนี้ประชาชนกลุ่มที่เทิดทูนสถาบันพระมหากษัตริย์ก็มีการอ้างถึงพระราชดำรัสนี้ด้วย เช่น นายฐิติวัฒน์ยังได้สักวลีดังกล่าวลงบนท่อนแขนขวาของเขาด้วย

ศาลอุทธรณ์ ไม่ให้ประกันตัว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยคำสั่งศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวนายสมบัติ เมื่อเวลา 11.00 น. วันนี้ (30 เม.ย.) โดยเอกสารของศาลระบุคำสั่งว่า พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว ข้อหามีอัตราโทษสูง ลักษณะการกระทำความผิดของจำเลยนำมาซึ่งความเสื่อมเสียสู่สถาบันพระมหากษัตริย์ กระทบกระเทือนจิตใจของประชาชน ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก หากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะไปก่อเหตุอันตรายประการอื่นหรืออาจจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์