รัสเซีย ยูเครน : นักวิชาการสื่อกังขาบทบาท ททบ.5 หลังสั่งห้ามการรายงานข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน

photo

ที่มาของภาพ, Watchiranont Thongtep/BBC Thai

  • Author, วัชชิรานนท์ ทองเทพ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

นักวิชาการด้านสื่อมวลชนมองกรณีสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 หรือ ททบ.5 เซ็นเซอร์การรายงานข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน หลังผู้บริหารเข้าพบทูตรัสเซีย สะท้อนแนวคิดราชการไทยมีทิศทางนำเสนอข่าวสารใกล้ชิดมิตรเผด็จการมากขึ้น พร้อมตั้งคำถามว่ายังคงทำหน้าที่เป็นสื่อสาธารณะหรือไม่

ขณะที่กลุ่มท็อปนิวส์ประกาศว่าเตรียมยุติความร่วมมือ ททบ.5 ในวันที่ 31 มี.ค. หลังถูกตัดสัญญาณขณะรายงานข่าวสงครามในยูเครน โดยอ้างว่าสถานีโทรทัศน์มีนโยบายห้ามนำเสนอข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ทว่า ล่าสุดวันนี้ (1 เม.ย.) นายสันติสุข มะโรงศรี หนึ่งในผู้ดำเนินรายการจากกลุ่มท็อปนิวส์โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก โดยส่วนหนึ่งระบุว่า "ทีมผู้ประกาศท็อปนิวส์" ยังทำรายการต่อ ออกอากาศช่อง 5 เหมือนเดิม ไม่มีการห้ามทำข่าวรัสเซีย-ยูเครน

ก่อนหน้านี้ ในรายการ "TOP บ่ายสาม" น.ส. อัญชะลี ไพรีรัก หนึ่งในผู้ดำเนินรายการข่าวจากกลุ่มท้อปนิวส์ว่า สัญญาความร่วมมือกับ ททบ.5 จะสิ้นสุดลงในสิ้นเดือน มี.ค. หลังจากลงนามความร่วมมือในการรายงานข่าวระหว่าง ททบ.5 และบริษัท กาแล็กซี่ มัลติมีเดีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งมีกลุ่มผู้ผลิตจากท็อปนิวส์ ของนายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม อดีตแกนนำกลุ่ม คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) ตั้งแต่เดือน ก.ย. ปีที่แล้ว

"เอาล่ะค่ะ เราจะเจอกันอีกไม่กี่วันเท่านั้นนะคะ" น.ส. อัญชะลี ไพรีรัก หนึ่งในผู้ดำเนินรายการข่าว "เที่ยง ททบ.5" กล่าวทักทายผู้ชมเมื่อวันที่ 29 มี.ค. หนึ่งวันหลังจากที่รายการนี้ถูกตัดสัญญาณอย่างกะทันหัน ในเวลา 12.51 น. เมื่อ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา

รายการข่าว "เที่ยง ททบ.5" คือ หนึ่งในรายการที่กลุ่มท้อปนิวส์ร่วมผลิตและความร่วมมือจะสิ้นสุดลงในวันนี้ (31 มี.ค.)

ที่มาของภาพ, YouTube/TV5HD ONLINE

คำบรรยายภาพ, รายการข่าว "เที่ยง ททบ.5" คือ หนึ่งในรายการที่กลุ่มท้อปนิวส์ร่วมผลิตและความร่วมมือจะสิ้นสุดลงในวันนี้ (31 มี.ค.)

ผู้ดำเนินรายการหญิงแห่งท็อปนิวส์อธิบายเรื่องนี้เมื่อวันที่ 29 มี.ค. ว่า ทางช่อง 5 มีนโยบายห้ามนำเสนอข่าวสงครามรัสเซีย-ยูเครนมาตั้งแต่ช่วงเที่ยงวันศุกร์ ที่ 25 มี.ค. แต่ทีมงานเห็นว่าสมควรนำเสนอข่าวตามหน้าที่ เพราะมีความเคลื่อนไหวสำคัญเกี่ยวกับการเจรจาระหว่างยูเครนและรัสเซีย จึงทำให้ถูกตัดสัญญาณออกเป็นช่วง ๆ

"เราไม่ใช่คู่ขัดแย้งกับใคร ทำตามหน้าที่ที่เราต้องทำ ทำหน้าที่เล่าข่าวตรงไปตรงมา" เธออธิบาย

อย่างไรก็ตาม วันที่ 30 มี.ค. พล.อ. รังษี ปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องการสั่งห้ามการเสนอข่าวรัสเซีย-ยูเครน โดยกล่าวเพียงสั้น ๆ ว่า สื่อต้องไปหาข้อมูลเอง เขาพูดอะไรไม่ได้ พูดไปก็ไม่ดีกับใครทั้งสิ้น

ต่อมาในวันที่ 31 มี.ค. ศูนย์ประชาสัมพันธ์กองทัพบก ออกแถลงการณ์ "ขออภัยประชาชน" ที่ได้เกิดความไม่เรียบร้อยในกระบวนการจัดการข้อมูลข่าวสารของสถานี และการขัดข้องทางด้านเทคนิคในการออกอากาศรายการข่าว เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา พร้อมยืนยันว่า จะเป็นสื่อเพื่อความมั่นคงของรัฐและความปลอดภัยสาธารณะ นำเสนอข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและสังคม รวมทั้งกำหนดแนวทางปฏิบัติที่สมดุล

ปมการลาออกของ ผอ. ททบ. 5 ยังไม่ชัดเจน

จนถึงขณะนี้ ยังไม่มีการชี้แจงเหตุผลจากกองทัพบกอย่างชัดเจนถึงการมีคำสั่งจากพล.อ. ณรงค์พันธ์ จิตต์แก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ททบ.5 ให้ พล.อ. รังษี กิติญานทรัพย์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ททบ.5 พ้นจากหน้าที่ โดยให้ พล.ท. วิสันติ สระศรีดา อดีตเจ้ากรมยุทธศึกษาทหารบก ทำหน้าที่แทน ตั้งแต่วันที่ 7 เม.ย. เป็นต้นไป

ทว่า พล.อ.รังษี กล่าวกับสื่อมวลชนว่า "ไม่ใช่การปลด" เพราะเขาเป็นผู้ทำหนังสืออนุมัติถึง ผบ.ทบ. ขอพ้นหน้าที่ โดยให้เหตุผลว่าเป็นความจำเป็นส่วนตัว

พล.อ. รังษี กิติญานทรัพย์

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ททบ.5

คำบรรยายภาพ, พล.อ. รังษี กิติญานทรัพย์

คำสั่งดังกล่าวมีขึ้น หลังจากสังคมวิพากษ์วิจารณ์ ททบ.5 อย่างหนัก นับตั้งแต่คณะผู้บริหาร ททบ.5 เข้าพบเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยเมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา โดย พล.อ. รังษี ให้สัมภาษณ์ในรายการ "เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand" ทางช่อง 9 MCOT HD วันที่ 25 มี.ค. ว่า เดินทางเข้าพบทูตรัสเซียตามคำเชิญที่มีนายไพศาล พืชมงคล อดีตที่ปรึกษา พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งเป็นผู้ประสานงานคนเดียวกันกับกรณีการลงนามความร่วมมือด้านข่าวสารกับอิหร่านก่อนหน้านี้

สาระสำคัญของการหารือกับทูตรัสเซียในครั้งนั้นคือ การแสวงหาความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารเพื่อสร้างความสมดุลในการรายงานข่าวที่ ททบ.5 พึ่งพาเฉพาะสำนักข่าวจากชาติตะวันตกอย่าง รอยเตอร์ เพียงแห่งเดียว โดยคาดว่าจะมีการลงนามความร่วมมืออีกครั้งในเวลาต่อมา

บรรยากาศการหารือระหว่าง ผู้บริหาร ททบ.5 และเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/สถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทย

คำบรรยายภาพ, บรรยากาศการหารือระหว่าง ผู้บริหาร ททบ.5 และเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทย เมื่อวันที่ 21 มี.ค. ที่ผ่านมา โดย พล.อ. รังษี ระบุว่า นายไพศาล พืชมงคล (สูทสีน้ำตาล) อดีตที่ปรึกษา พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้ประสานงาน

แต่ก่อนจะถึงวันที่ ททบ.5 จะจัดแถลงข่าวความร่วมมือดังกล่าวในวันที่ 24 มี.ค. ผู้สื่อข่าวซึ่งได้รับแจ้งหมายแถลงข่าวเมื่อวันที่ 23 มี.ค. กลับได้รับแจ้งจาก ททบ.5 ขอยกเลิกการแถลงข่าวดังกล่าว ท่ามกลางกระแสข่าวว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม แสดงความกังวลถึงความไม่เหมาะสม และเกรงจะถูกนำไปขยายผลทางการเมืองทั้งภายในและนอกประเทศ

ผศ.ดร.พรรษาสิริ กุหลาบ อาจารย์ภาควิชาวารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บอกบีบีซีไทยว่า จากกระแสที่สังคมมีความประหลาดใจที่ ททบ. 5 มีความร่วมมือกับจีนและอิหร่านไปแล้วก่อนหน้านี้ อาจจะทำให้เรื่องนี้เป็นประเด็นอ่อนไหวจนทำให้สถานีฯ ไม่ต้องการแตะต้อง แต่หากพิจารณาอีกด้าน นี่อาจจะสะท้อนให้เห็นว่า มีความพยายามในเชิงการทูตหรือการเมืองระหว่างประเทศของประเทศที่เกี่ยวข้องเพื่อพยายามใช้ปกป้องผลประโยชน์

บทบาท ททบ.5 เป็น "สื่อมวลชน" หรือ "กระบอกเสียงของรัฐ"

ภาพการตัดสัญญาณรายการ "เที่ยง ททบ.5" ของวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ที่เล่าถึงสถานการณ์ในยูเครน เป็นเวลากว่า 8 นาที ก่อนจะตัดเข้ารายการปกติของสถานีอาจมองได้ว่าเป็นการแทรกแซงสื่อ ซึ่ง ผศ.ดร.พรรษาสิริ อธิบายว่า "นี่เป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้นในสื่อมวลชนยุคปัจจุบัน ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวของ ททบ.5 ก็สะท้อนปัญหาสำคัญในสังคมสื่อภายใต้กฎหมายปัจจุบัน"

เธอบอกว่า สิ่งที่สังคมมองว่าเป็นการแทรกแซงความเป็นอิสระของกองบรรณาธิการ แต่หน่วยงานรัฐซึ่งเป็นเจ้าของสื่ออาจบอกว่าเป็นการกระทำที่ชอบธรรมแล้วเพราะไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ ภารกิจขององค์กร หรือไม่ในกรณีล่าสุด อ้างว่าต้องรักษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

"อย่างไรก็ตาม โดยหลักการเราไม่สามารถจะใช้นิยามสื่อมวลชน หรือ journalist ในสังคมประชาธิปไตย กับช่องนี้ได้ รวมทั้ง เอ็นบีที " ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าว

ที่มาของภาพ, คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

คำบรรยายภาพ, "อย่างไรก็ตาม โดยหลักการเราไม่สามารถจะใช้นิยามสื่อมวลชน หรือ journalist ในสังคมประชาธิปไตย กับช่องนี้ได้ รวมทั้ง เอ็นบีที " ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าว

แต่เมื่อพิจารณาในเชิงกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ในกรณีสื่อในสังกัดรัฐ ก็เปิดช่องให้หน่วยงานต้นสังกัดสามารถแทรกแซงได้ นักวิชาการสื่อรายนี้ยกตัวอย่าง รัฐธรรมนูญปี 2560 มาตรา 35 วรรค 6 ที่ระบุว่า "เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่สื่อมวลชนย่อมมีเสรีภาพตามวรรคหนึ่ง แต่ให้คำนึงถึงวัตถุประสงค์และภารกิจของหน่วยงานที่ตนสังกัดด้วย"

"อย่างไรก็ตาม โดยหลักการเราไม่สามารถจะใช้นิยามสื่อมวลชน หรือ journalist ในสังคมประชาธิปไตย กับช่องนี้ได้ รวมทั้ง เอ็นบีที " ผศ.ดร.พรรษาสิริ กล่าว

สื่อกองทัพกำลังเข้าใกล้ชิดรัฐเผด็จการมากขึ้นหรือไม่

นอกจากคำถามของสังคมเกี่ยวกับความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสารระหว่าง ททบ.5 และทางการรัสเซีย อิหร่านและจีนแล้ว รศ.พิจิตรา ศุภสวัสดิ์กุล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยนโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังตั้งข้อสังเกตว่า ระยะหลัง ๆ ทิศทางนโยบายต่างประเทศของไทย ดูจะเป็นมิตรกับประเทศที่มีรูปแบบการปกครองส่อไปในทางเผด็จการมากขึ้น และอาจจะมีการใช้สื่อเป็นเครื่องมือด้วย

นายเยฟกินี โทมิคิน (ซ้าย) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยต้อนรับทีมงานจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 นำโดย พล.อ. รังษี กิติญาณทรัพย์​ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/สถานทูตรัสเซียประจำประเทศไทย

คำบรรยายภาพ, นายเยฟกินี โทมิคิน (ซ้าย) เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำประเทศไทยต้อนรับทีมงานจากสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 นำโดย พล.อ. รังษี กิติญาณทรัพย์​ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2565

"ททบ. 5 เป็นสื่อสังกัดกองทัพบก วัฒนธรรมองค์กรและสายงานบังคับบัญชามาจากพื้นฐานของกองทัพและผู้บริหารก็เป็นข้าราชการ จึงเป็นไปได้ยากที่จะวางตัวให้มีวัฒนธรรมองค์กรเป็นเหมือนกับสำนักข่าวอื่น ๆ และรายงานข่าวได้อย่างเสรี" รศ.พิจิตรา กล่าว

อดีต ผอ. ททบ.5 เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในวันที่ 24 มี.ค. ที่ผ่านมาว่า ททบ.5 จะเสนอข่าวตามเนื้อผ้า เที่ยงตรงขึ้น โดยไม่ต้องการยุ่งกับการเมือง

"กองทัพบกยุคนี้ไม่ได้ยุ่งกับการเมือง โดยเฉพาะ ผบ.ทบ.จะเห็นได้ว่าไม่เคยพูดเรื่องการเมืองเลย ทหารยุคนี้เป็นทหารที่ค่อนข้างห่างการเมือง ผมตรึกตรองแล้วว่าสิ่งที่ทำแล้วประชาชนได้ประโยชน์ด้านข่าวสาร ผบ.ทบ.ก็ไม่เคยสั่งการอะไร เวลาผมทำอะไรก็จะรายงานท่านในฐานะประธานบอร์ด ซึ่งการไปพบทูตแต่ละประเทศก็จะเรียนท่านว่าไปแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ท่านก็ไม่ได้ถามว่าไปทำไม มีรายละเอียดอย่างไร"

นายชัยยิด เรซ่า โนบัคตี (ขวา) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านและผู้บริหาร ททบ.5 ร่วมลงนามร่วมกับในบันทึกความเข้าใจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความร่วมมือด้านการค้า-การท่องเที่ยวและการเกษตร เมื่อวันที่ 10 มี.ค.

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ททบ.5

คำบรรยายภาพ, นายชัยยิด เรซ่า โนบัคตี (ขวา) เอกอัครราชทูตสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่านและผู้บริหาร ททบ.5 ร่วมลงนามร่วมกับในบันทึกความเข้าใจในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและความร่วมมือด้านการค้า-การท่องเที่ยวและการเกษตร เมื่อวันที่ 10 มี.ค.

จากกรณีที่กองทัพเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง รวมถึงการมีทูตรัสเซียเข้ามาหารือเรื่องความร่วมมือด้านข้อมูลข่าวสาร หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยนโยบายสื่อ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ มองว่า ททบ.5 เป็น "เครื่องมือในการโฆษณาชวนเชื่อ" โดยเหตุการณ์ที่ตอกย้ำแนวความคิดดังกล่าว มาจากท่าทีที่เปลี่ยนไปหลังจากที่คณะผู้บริหาร ททบ.5 ได้เข้าหารือกับทางการยูเครน แล้วมีนโยบายว่าจะไม่รายงานข่าวความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซียเลย

"กลับกลายเป็นว่า ททบ.5 ทำหน้าที่สำนักข่าวอย่างไม่ถูกต้อง นอกจากตัวเองจะเป็นเครื่องมือของการโฆษณาชวนเชื่อแล้ว ยังมีการเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยการปิดหูปิดตา ทั้ง ๆ ที่เป็นประเด็นหลักของกระแสโลกที่คนในสังคมไทยต้องรู้" เธอกล่าว

ข้อกังขาต่อมาตรฐานสื่อ "กลุ่มท็อปนิวส์"

แม้ว่าบริษัท กาแล็กซี่ มัลติมีเดีย คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะยุติสัญญาผลิตรายการข่าวให้กับ ททบ.5 ไปแล้วในวันนี้ (31 มี.ค.) เร็วกว่ากำหนดเดิม แต่การคัดเลือกบริษัทดังกล่าวเข้ามาเป็นผู้ร่วมผลิตรายการข่าวที่ดำเนินไปอย่างรวดเร็วยังเป็นข้อกังขา

ภาพการแถลงข่าวลงนามความร่วมมือระหว่าง ททบ.5 และกลุ่มท้อปนิวส์

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ททบ.5

คำบรรยายภาพ, ภาพการแถลงข่าวลงนามความร่วมมือระหว่าง ททบ.5 และกลุ่มท้อปนิวส์

ผศ.ดร.พรรษาสิริ ตั้งคำถามว่า ในการคัดเลือกกลุ่มท็อปนิวส์เข้ามานั้น ทาง ททบ.5 ได้ตรวจสอบว่าการรายงานข่าวของกลุ่มดังกล่าวสอดคล้องกับหลักการวารสารศาสตร์หรือไม่ หลายครั้งที่มีการรายงานข่าวที่คลาดเคลื่อนจนกระทบความน่าเชื่อถือขององค์กร อยู่บ่อยครั้ง

รวมทั้งกรณีที่มีผู้ร้องเรียนว่า รายการเล่าข่าวข้น ทาง ททบ. 5 ดำเนินรายการโดย นายกนก รัตน์วงศ์สกุล และนายธีระ ธัญญะไพบูลย์ ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา ได้เผยแพร่คลิปที่อ้างว่าฝ่ายยูเครนจัดฉากศพพลเรือนผู้เสียชีวิตนับร้อยศพจากการถูกทหารรัสเซียรุกราน แต่พบว่าเป็นเฟกนิวส์ เนื่องจากเป็นคลิปการแสดงเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องให้สังคมโลกสนใจวิกฤตการณ์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของดินฟ้าอากาศ ในกรุงเวียนนาของออสเตรีย เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้เกี่ยวข้องใด ๆ กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครน จนคณะกรรมการจริยธรรมวิชาชีพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยออกมาตักเตือน

ทีมผู้บริหาร ททบ.5 และ ผู้ดำเนินรายการจากกลุ่มท้อปนิวส์

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ททบ.5

คำบรรยายภาพ, ทีมผู้บริหาร ททบ.5 และ ผู้ดำเนินรายการจากกลุ่มท้อปนิวส์

นอกจากนี้ นักวิชาการรายนี้ยังตั้งข้อสังเกตว่า เหตุผลของผู้บริหาร ททบ.5 ที่กล่าวไว้เมื่อครั้งที่ลงนามความร่วมมือว่า พันธมิตรใหม่จะทำให้เรตติ้งของสถานีฯ เพิ่มขึ้น ก็ไม่ได้สอดคล้องกับพันธกิจของ ททบ.5 ที่ต้องการเป็นสื่อสาธารณะเพื่อความมั่นคง ในขณะที่องค์กรยังเป็นหน่วยงานรัฐที่ต้องใช้เงินภาษีจากประชาชนอีกด้วย ในขณะเดียวกันกฎหมายยังเปิดช่องให้หารายได้จากการโฆษณาได้

"ที่จริง ททบ.5 ก็มีฝ่ายข่าวอยู่แล้ว ทำไมไม่ส่งเสริมคนในองค์กรให้มีศักยภาพ การใช้งบประมาณในฝ่ายข่าวควรที่จะใช้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ากว่านี้" เธอตั้งคำถาม

ททบ.5 : สื่อทหารกับสิทธิ์พิเศษ

ท่ามกลางการแข่งขันอย่างหนักในอุตสาหกรรมโทรทัศน์และวิทยุที่คิดเป็นเม็ดเงินโฆษณากว่า 6.36 หมื่นล้านบาท ในปี 2564 ในยุคการเปลี่ยนผ่านมาสู่การเป็นสื่อดิจิทัล นอกจาก ททบ.5 จะได้สิทธิในการบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินดิจิทัลแบบไม่ต้องเข้าประมูลร่วมกับกิจการทีวีอื่น ๆ แล้ว ททบ.5 ยังเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัลรายใหญ่ด้วย

ขณะที่ ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 กำหนดให้ช่อง ททบ.5 ของกองทัพบก จัดอยู่ในใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัลประเภทบริการสาธารณะ ประเภทที่ 2 ที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความมั่นคงของรัฐหรือความปลอดภัยสาธารณะ ซึ่งสามารถหารายได้จากการโฆษณาได้ "เท่าที่เพียงพอต่อการประกอบกิจการโดยไม่แสวงหากำไร"

แต่ในเวลาต่อมา คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เปลี่ยนเงื่อนไขให้ ททบ.5 สามารถมีโฆษณาได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 8-10 นาที หรือใกล้เคียงกับทีวีดิจิทัลประเภทธุรกิจ ที่สามารถมีโฆษณาได้ไม่เกินชั่วโมงละ 12 นาที 30 วินาที

นอกจากกิจการโทรทัศน์แล้ว กองทัพยังคงได้รับสิทธิในการถือครองคลื่นวิทยุต่อไปอีก ภายใต้การขออนุญาตเป็น "สถานีวิทยุเพื่อสาธารณะและความมั่นคง" จากข้อมูลที่รวบรวมโดยสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กองทัพมีสถานีวิทยุมากถึง 198 สถานี แบ่งเป็น ของกองทัพบก 127 สถานี กองทัพอากาศ 36 สถานี กองทัพเรือ 21 สถานี และกองบัญชาการกองทัพไทย 14 สถานี

ผศ.ดร.พรรษาสิริ เสนอแนะว่า หากเป็นสื่อในสังกัดของกองทัพก็ต้องไม่ใช้ทรัพยากรสาธารณะมาแข่งขัน เพราะเนื้อหาที่นำเสนอเป็นไปเพื่อวัตถุประสงค์และภารกิจของกองทัพ เพื่อส่งเสริมอำนาจของกองทัพ มากกว่าประโยชน์สาธารณะหรือส่งเสริมอำนาจและการมีส่วนร่วมของพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย

"ดังนั้น อย่างแรกคือ ควรคืนคลื่นความถี่มาให้ประชาชน หรือถ้าจะดำเนินงานในฐานะโทรทัศน์บริการสาธารณะ ก็ควรถือประโยชน์ของสาธารณะซึ่งหมายถึงการส่งเสริมอำนาจอธิปไตยของประชาชนเป็นที่ตั้ง มากกว่าการนำเสนอเฉพาะภารกิจและมุมมองที่กองทัพเห็นว่าเป็นประโยชน์"