รัสเซีย ยูเครน : 2 ผู้นำมหาอำนาจยุโรป เรียกร้องให้ ปูติน “เจรจาอย่างจริงจังและโดยตรง” กับ เซเลนสกี

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย หารือทางโทรศัพท์กับผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนีนาน 80 นาที

สำนักนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ระบุว่า ผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนีเรียกร้องให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย จัดการ "เจรจาอย่างจริงจังและโดยตรง" กับประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ของยูเครน ด้านทูตรัสเซียประจำสหราชอาณาจักร ระบุ ไม่เชื่อว่า รัสเซียจะใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีกับยูเครน

นายเอ็มมานูเอล มาครง และนายโอลาฟ ชอลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ได้พูดคุยกับนายปูติน ทางโทรศัพท์นาน 80 นาที

สำนักนายกรัฐมนตรีเยอรมนี ระบุว่า ผู้นำทั้งสอง "ยืนกรานให้มีการหยุดยิงในทันที และให้ถอนกำลังทหารรัสเซียออกไป"

ขณะที่ทำเนียบรัฐบาลรัสเซีย ระบุว่า ผู้นำรัสเซีย กล่าวว่า รัฐบาลรัสเซียเปิดกว้างในการกลับมาเจรจากันต่อไปกับรัฐบาลยูเครน

แต่ไม่ได้มีการระบุถึงความเป็นไปได้ในการเจรจากันโดยตรงระหว่างนายปูตินและนายเซเลนสกี

ประธานาธิบดียูเครนเคยกล่าวก่อนหน้านี้ว่า เขาไม่ "กระตือรือร้น" ให้มีการเจรจา แต่ระบุเพิ่มเติมว่า การเจรจาน่าจะจำเป็นเพื่อยุติความขัดแย้ง

ได้มีการจัดการเจรจาระหว่างรัสเซียและยูเครนขึ้นหลายครั้งแล้วทั้งแบบทางไกลและการพบหน้ากัน นับตั้งแต่รัสเซียบุกยูเครนเมื่อ 24 ก.พ. แต่ความพยายามนี้ได้หยุดชะงักไป

ฝรั่งเศสและเยอรมนี ยังเรียกร้องให้นายปูติน ปล่อยตัวนักรบชาวยูเครน 2,500 คน ที่ถูกจับตัวเป็นเชลยสงครามที่โรงงานเหล็กอะซอฟสตาลในเมืองมาริอูโปลด้วย

โรงงานแห่งนี้กลายเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายในการต้านทานกองทัพรัสเซียในเมืองท่าทางตอนใต้แห่งนี้ ซึ่งทหารได้รัสเซียได้ระดมยิงโจมตีอย่างต่อเนื่อง และขณะนี้เมืองนี้ก็กลายเป็นซากปรักหักพังไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ในเดือนนี้ เจ้าหน้าที่ทางการมอสโก ระบุว่า นักรบกลุ่มสุดท้ายที่ปกป้องโรงงานแห่งนี้ได้ยอมแพ้แล้ว ขณะที่ประธานาธิบดีเซเลนสกี กล่าวว่า พวกเขาได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงงาน

รัสเซียเคยระบุว่า ได้มีการเคลื่อนย้ายนักรบมากกว่า 900 คน ไปยังเรือนจำที่กลับมาเปิดใช้งานใหม่ในหมู่บ้านโอเลนิฟกาในภูมิภาคโดเนตสก์ที่รัสเซียยึดครองอยู่

ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บสาหัสจำนวนหนึ่ง ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาลในเมืองโนโวอะซอฟสก์ ซึ่งอยู่ในภูมิภาคโดเนตสก์เช่นเดียวกัน

ยูเครนหวังว่า นักรบเหล่านี้จะได้รับการปล่อยตัวจากการแลกเปลี่ยนตัวนักโทษระหว่างกัน แต่รัสเซียยังไม่ยืนยันเรื่องนี้ สมาชิกรัฐสภาของรัสเซียบางคน ระบุว่า ควรจะมีการไต่สวนนักโทษเหล่านี้ หรือถึงขั้นประหารชีวิต

ภาพมุมสูงความเสียหายโรงงานเหล็กอะซอฟสตาล

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ยูเครนต้องการแลกเปลี่ยนตัวนักรบที่ปกป้องโรงงานเหล็กอะซอฟสตาล ซึ่งถูกรัสเซียควบคุมตัวไว้เป็นเชลยสงคราม แต่รัสเซียยังไม่ยืนยันเรื่องนี้

ในระหว่างการหารือกันทางโทรศัพท์นั้น ผู้นำฝรั่งเศสและเยอรมนียังได้ร้องขอให้นายปูติน ยกเลิกการปิดกั้นเมืองท่าโอเดสซาของยูเครนด้วย เพื่อให้มีการส่งออกธัญพืชได้

รัฐบาลรัสเซีย ระบุว่า นายปูติน เสนอว่า รัสเซียจะพิจารณาทางเลือกต่าง ๆ เพื่อช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดวิกฤตอาหารโลก แต่เรียกร้องให้ชาติตะวันตกยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรต่าง ๆ

รัสเซีย ยังได้เตือนฝรั่งเศสและเยอรมนีเรื่องการส่งอาวุธให้แก่ยูเครนเพิ่มเติมด้วย โดยระบุว่า จะทำให้ความไร้เสถียรภาพดำเนินต่อไปได้

ทูตรัสเซียไม่เชื่อว่า จะใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี

ด้านนายอันเดร เคลิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหราชอาณาจักร กล่าวกับบีบีซีว่า เขาไม่เชื่อว่า ประเทศของเขาจะใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีในสงครามยูเครน

ทูตรัสเซียระบุว่า ตามกฎของกองทัพรัสเซีย จะไม่มีการใช้อาวุธแบบนี้ในความขัดแย้งเช่นนี้

Andrei Kelin
คำบรรยายภาพ, นายอันเดร เคลิน เอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหราชอาณาจักร กล่าวกับบีบีซีว่า เขาไม่เชื่อว่า ประเทศของเขาจะใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีในสงครามยูเครน

เขายังเรียกข้อกล่าวหาอาชญากรรมสงครามในเมืองบูชาว่า เป็น "การกุเรื่อง" ด้วย นอกจากนี้เขายังได้พูดถึงนางลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหราชอาณาจักรว่า "ก้าวราวอย่างมาก" และขาดประสบการณ์

นายเคลิน กล่าวว่า รัสเซียมีกฎที่เข้มงวดมากในการใช้อาวุธนิวเคลียร์ ส่วนใหญ่จะใช้เมื่อมีการคุกคามการคงอยู่ของรัสเซีย

"มันไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับปฏิบัติการในขณะนี้เลย" เขากล่าวกับรายการซันเดย์ มอร์นิง (Sunday Morning) ของบีบีซี วัน (BBC OneX

ในตอนที่นายปูติน สั่งให้มีการเตรียมพร้อมอาวุธนิวเคลียร์ในช่วงปลายเดือน ก.พ. ไม่นานหลังจากบุกยูเครน เป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางว่า นั่นคือการเตือน

นายปูติน กล่าวหาว่า ชาติตะวันตกและนาโต คือ ตัวการที่ทำให้เกิดการรุกรานขึ้น แต่นายเบน วอลเลซ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักร ระบุว่า มันคือความพยายามในการเบี่ยงเบนความสนใจของผู้คนต่อ "สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในยูเครน" โดยระบุว่า การบุกรัสเซียไม่คืบหน้าแผนที่กำหนดไว้ หลังเริ่มบุกไปเพียงไม่กี่วัน และพยายามที่จะ "เตือนชาวโลก" ว่า รัสเซียมีการป้องปรามทางนิวเคลียร์

กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซีย ได้ยิงขีปนาวุธโจมตีกองกำลังของรัฐบาลยูเครน ใกล้กับเมืองอัฟดีอิฟกา เมื่อวันเสาร์ (28 พ.ค.)

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, กลุ่มแบ่งแยกดินแดนที่สนับสนุนรัสเซีย ได้ยิงขีปนาวุธโจมตีกองกำลังของรัฐบาลยูเครน ใกล้กับเมืองอัฟดีอิฟกา เมื่อวันเสาร์ (28 พ.ค.)

อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี เป็นอาวุธที่สามารถใช้ในการโจมตีระยะใกล้ ตรงข้ามกับอาวุธนิวเคลียร์ "เชิงยุทธศาสตร์" ซึ่งอาจจะมีการยิงจากระยะไกลกว่ามาก และอาจจะทำให้เกิดสงครามนิวเคลียร์เต็มรูปแบบขึ้นได้

อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธียังรวมถึงอาวุธหลายประเภท รวมถึงระเบิดขนาดเล็ก และขีปนาวุธต่าง ๆ ที่ใช้ในสนามรบ คาดว่า รัสเซียมีอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีอยู่ราว 2,000 หัวรบ

ในการรายงานความคืบหน้าปฏิบัติการเมื่อวันอาทิตย์ (29 พ.ค.) เจ้าหน้าที่กองทัพยูเครน ระบุว่า การสู้รบอย่างดุเดือดดำเนินไปอย่างต่อเนื่องทั่วเมืองเซเวอโรโดเนตสก์ เมืองที่อยู่ทางตะวันออกสุดและยังอยู่ภายใต้การควบคุมของยูเครน