สรุปเส้นทางสู่ตำแหน่ง "ประธานสภา" - จุดยืนเพื่อไทย-ก้าวไกล

หัวหน้าพรรคโบกมือลา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เป็นเวลากว่าหนึ่งเดือนที่ความระหองระแหงระหว่างพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาลอย่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยได้เกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะปมการชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

ท่าทีล่าสุดของพรรคเพื่อไทย ผ่านการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 27 มิ.ย. คือ การส่งสัญญาณว่าสมาชิกส่วนใหญ่ของพรรคมีความเห็นให้คณะเจรจาของพรรค ยื่นข้อเสนอแก่พรรคก้าวไกลว่า ต้องการตำแหน่ง "ประธานสภาผู้แทนราษฎร" พร้อมด้วยรัฐมนตรีอีก 14 ตำแหน่ง โดยอ้างเหตุผลว่า "ให้ยึดหลักความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ เป็นธรรมและเสมอภาคต่อกัน"

แม้ว่าในแถลงการณ์ร่วมของพรรคเพื่อไทย เมื่อช่วงเย็นวันที่ 27 มิ.ย. จะไม่ได้รายชื่อว่าใครจะเป็นแคนดิเดตประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่ในเวลาต่อมา พรรคก้าวไกลได้ใช้ช่องทางสื่อออนไลน์ของพรรคทั้งเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ สื่อสารต่อสาธารณะในทำนองว่าจะเสนอให้ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา เป็นแคนดิเดตประธานสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคก้าวไกล พร้อมอธิบายถึงวิสัยทัศน์ของเขาด้วย

เหตุการณ์ดังกล่าวยิ่งทำให้สังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างดุเดือดถึงรอยร้าวที่อาจเกิดขึ้นระหว่างแกนนำสำคัญในการจัดตั้งรัฐบาล โดยเฉพาะในสังคมออนไลน์ที่ทำให้ #ประธานสภา ขึ้นอันดับหนึ่งในทวิตเตอร์ทันที

อันที่จริง ท่าทีพรรคเพื่อไทยต่อจุดยืนทางการเมืองในหลายประเด็น ถูกสังคมตั้งคำถามมาอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ก่อนเลือกตั้งทั่วไป เมื่อวันที่ 14 พ.ค. จนมาถึงปมล่าสุด เกี่ยวกับตำแหน่งประธานสภา ซึ่งพบเค้าลางแห่งความขัดแย้ง ตั้งแต่การลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาล

พรรคก้าวไกลสงวนท่าทีในเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด จนกระทั่งถึงวันที่เสนอรายชื่อแคนดิเดตประธานสภาผู้แทนราษฎรอย่างเป็นทางการในวันที่ 27 มิ.ย.

บีบีซีไทย รวบรวมเหตุการณ์ที่สะท้อนท่าทีที่เปลี่ยนแปลงของพรรคเพื่อไทย พร้อมบริบทที่เกิดขึ้นในขณะนั้น

22 พ.ค.: จุดเริ่มจัดตั้งรัฐบาลร่วม 8 พรรค

พรรคก้าวไกลสามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนในการจัดตั้งรัฐบาลได้ 313 เสียง จาก 7 พรรคการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย, พรรคประชาชาติ, พรรคไทยสร้างไทย, พรรคเพื่อไทรวมพลัง, พรรคเสรีรวมไทย, พรรคเป็นธรรม, พรรคพลังสังคม โดยกำหนดนโยบายการบริหารประเทศร่วมกัน 23 ข้อ

ในวันนั้น มีรายงานว่าตัวแทนพรรคเพื่อไทยได้แจ้งความประสงค์ไปยังแกนนำพรรคก้าวไกล ถึงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรที่เป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งพรรคก้าวไกลบอกว่าขอเวลาพิจารณา

23 พ.ค.: ปิยบุตร จุดประเด็น ประธานสภา

ปมประเด็นเรื่อง ประธานสภาผู้แทนราษฎรปะทุขึ้นจนเป็นข่าวดัง เมื่อนายปิยะบุตร แสงกนกกุล อดีตผู้ช่วยหาเสียงพรรคก้าวไกล โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กส่วนตัวระบุว่า

"พรรคก้าวไกลจะเสียตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรไม่ได้ การเมือง คือ ศิลปะของการทำสิ่งที่คนเชื่อว่าเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ แต่เมื่อดุลกำลังอำนาจยังไม่เพียงพอ การประนีประนอมกันเพื่อรักษาสถานะความเป็นไปได้ของการทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้ ก็เป็นเรื่องจำเป็น"

การตัดสินใจโพสต์ข้อความดังกล่าวเกิดขึ้น ภายหลังมีกระแสข่าวว่า พรรคเพื่อไทยขอให้พรรคก้าวไกลยอมให้ตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรให้กับพรรคเพื่อไทย เนื่องจากในการเจรจาต่อรองเพื่อกำหนดเนื้อหาใน MOU ได้ผ่านพ้นไปด้วยดี จนเห็นได้ชัดเจนว่า พรรคก้าวไกลได้ยอมถอยในหลายประเด็นไปแล้ว

24 พ.ค.: เพื่อไทยเผย ยังไม่มีการพูดคุยเรื่องประธานสภา

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ออกมาชี้แจงสื่อมวลชนถึงกรณีที่นายปิยบุตรโพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 23 พ.ค. ว่า พรรคแกนนำยังไม่พูดคุยเรื่องประธานสภาผู้แทนราษฎร เรื่องนี้ต้องรอให้พรรคแกนนำนัดหมายการหารือมาก่อน

อย่างไรก็ตาม หัวหน้าพรรคเพื่อไทยบอกสื่อมวลชนว่า ด้วยประสบการณ์ทางการเมืองมากกว่า 22 ปี เชื่อว่าพรรคมีบุคลากรที่มีความพร้อมในตำแหน่งดังกล่าว

25 พ.ค.: ก้าวไกล-เพื่อไทย เผยต้องการตำแหน่ง "ประธานสภา"

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนยืนยันว่า เก้าอี้ประธานสภา ต้องเป็นโควตาก้าวไกลเป็นอื่นไปไม่ได้ เนื่องจากมีความจำเป็นในการผลักดัน 3 วาระ โดยเฉพาะร่างกฎหมาย 45 ฉบับ

ด้านนายประเสริฐ จันทรรวงทอง เลขาธิการพรรคเพื่อไทย เปิดเผยและยืนยันรายงานที่ว่าได้แจ้งความประสงค์ต้องการตำแหน่งประธานสภา ไปตั้งแต่วันลงนาม MOU เมื่อวันที่ 22 พ.ค. พร้อมกับยืนยันว่ามีบุคคลที่เหมาะสม และไม่อยากให้ถึงขั้นเสนอชื่อแข่งกัน

18 มิ.ย.: จุดยืนเพื่อไทย "พรรคอันดับ 1 จะทำหน้าที่ประธานสภาฯ"

นายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย และนายประเสริฐ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงกรณีตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยยืนยันว่า พรรคยืนยันหลักการเดิมมาโดยตลอดว่า เมื่อพรรคก้าวไกลได้ประมุขฝ่ายบริหารแล้ว พรรคเพื่อไทยควรได้ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ

แต่เพื่อให้ได้ข้อยุติและไม่เกิดปัญหากับทั้งสองพรรค จึงมีจุดยืนดังนี้

  • เห็นชอบในหลักการว่า พรรคอันดับ 1 จะทำหน้าที่ประธานสภาฯ
  • เนื่องจากพรรคอันดับ 1และ 2 มีจำนวนใกล้เคียงกันมาก ดังนั้นตำแหน่งรองประธานสภาฯ ทั้ง 2 คน จึงควรเป็นคนของพรรคลำดับ 2
  • ส่วนรายละเอียดการประสานงานต่าง ๆ จะเป็นวาระของคณะทำงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการต่อไป โดยตัวแทนของ 2 พรรคควรหารือกัน

การให้สัมภาษณ์ของนายภูมิธรรมมีก่อนที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันถัดมา (19 มิ.ย.)

19 มิ.ย.: พรรคก้าวไกล ขอบคุณเพื่อไทยที่ยอมถอย

นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล กล่าวต่อสื่อมวลชนขอบคุณพรรคเพื่อไทย ที่มีท่าทีชัดเจนเกี่ยวกับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจะนำไปสู่บรรยากาศการหารือที่ดีขึ้น

ในการให้สัมภาษณ์ดังกล่าว นายชัยธวัชระบุกับสื่อมวลชนว่า จะมีการพูดคุยระหว่างสองพรรคอีกครั้ง แต่ยืนยันว่าจะไม่มีการปล่อยให้เกิดฟรีโหวตในวันเลือกประธานสภาแน่นอน

20 มิ.ย.: ประวิตรเยือนอังกฤษ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ นำ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ เดินทางไปประเทศอังกฤษ มีกำหนดกลับไทยในวันที่ 25 มิ.ย.

พล.อ.ประวิตร ชี้แจงว่า การเดินทางครั้งนี้ได้วางแผนไว้นานแล้ว เพื่อชมการแข่งม้าและดูแลร่างกาย

อย่างไรก็ดี การเดินทางเยือนอังกฤษครั้งนี้ มีขึ้นท่ามกลางกระแสข่าวการไปพบอดีตนายกรัฐมนตรี นายทักษิณ ชินวัตร แต่ พล.อ.ประวิตร ตอบผู้สื่อข่าวหลังเดินทางกลับมาในวันที่ 27 มิ.ย.ว่า ไม่ได้ไปพบผู้ใด

รัฐสภา

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

21 มิ.ย.: อดิศรกลับมาจุดกระแสค้านยกประธานสภาให้ก้าวไกล

ระหว่างการจัดกิจกรรมโครงการเสริมศักยภาพ ส.ส. และ บุคลากรทางการเมือง ของพรรคเพื่อไทย ที่โรงแรม SC Park กรุงเทพฯ นายอดิศร เพียงเกษ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ได้แสดงความคิดเห็นว่า ไม่เห็นด้วยที่พรรคเพื่อไทยซึ่งได้ ส.ส. 141 คน จะไปยอมให้พรรคก้าวไกลที่ได้ ส.ส. 151 คน ในทุกเรื่อง รวมทั้งตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร

ทั้งนี้ มี ส.ส. และสมาชิกพรรคจำนวนหนึ่งเห็นด้วยกับความคิดเห็นของนายอดิศร และเสนอให้ฟรีโหวตเลือกประธานสภาในสภาผู้แทนราษฎร

งานสัมมนาพรรคเพื่อไทยเมื่อ 21 มิ.ย. มี ส.ส. แสดงความเห็นกว้างขวางปมประธานสภา หลังจาก ภูมิธรรม เวชชยชัย กล่าวยอมรับว่า การให้ข่าวของเขาและเลขาธิการพรรคอาจทำให้สมาชิกพรรคเกิดความไม่สบายใจ หรือความไม่พอใจ เรื่องการยึดหลักการเรื่องพรรคอันดับหนึ่ง

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคเพื่อไทย

คำบรรยายภาพ, งานสัมมนาพรรคเพื่อไทยเมื่อ 21 มิ.ย. มี ส.ส. แสดงความเห็นกว้างขวางปมประธานสภา หลังจาก ภูมิธรรม เวชชยชัย กล่าวยอมรับว่า การให้ข่าวของเขาและเลขาธิการพรรคอาจทำให้สมาชิกพรรคเกิดความไม่สบายใจ หรือความไม่พอใจ เรื่องการยึดหลักการเรื่องพรรคอันดับหนึ่ง

27 มิ.ย.: ก้าวไกล-เพื่อไทย เปิดศึกชิงพื้นที่สื่อ

  • เวลา 12.00 น. นพ.ชลน่าน ยืนยันว่าไม่มีดีลลับใด ๆ จากที่มีกระแสข่าว พล.อ.ประวิตร เดินทางไปอังกฤษเพื่อทำดีลลับกับพรรคเพื่อไทย
  • เวลา 17.00 น. ผู้บริหารพรรคเพื่อไทย ประกอบด้วย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว พร้อมด้วยนายภูมิธรรม เวชยชัย รองหัวหน้าพรรค, นายชูศักดิ์ ศิรินิล ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรค และ นายประเสริฐ จันทรรวงทอง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ และเลขาธิการพรรค แถลงผลการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคร่วมกับ ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยืนยันความเห็นร่วมที่ประชุมพรรคเสนอให้คณะเจรจาต่อรองกับพรรคก้าวไกลในสูตร รัฐมนตรี 14 ตำแหน่งพ่วงกับตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร
พิธา-หมอชลน่าน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

  • เวลา 17.40 น. สื่อมวลชนรายงานว่าพรรคก้าวไกล ได้ข้อยุติแล้วว่าจะส่ง นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส.พิษณุโลก ในฐานะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ลงชิงตำแหน่งประธานสภาผู้เเทนราษฎร เพื่อเสนอในที่ประชุมร่วมระหว่างพรรคก้าวไกลกับพรรคเพื่อไทยในวันที่ 28 มิ.ย.
  • เวลา 19.35 น. พรรคเพื่อไทยโพสต์ข้อความและอินโฟกราฟิก ที่มีเนื้อหาอธิบายข้อสรุปของผู้บริหาร 4 รายที่ร่วมแถลงข่าวในช่วงบ่าย โดยตอกย้ำจุดยืนในข้อสรุปที่ว่า "ตำแหน่ง ประธานสภา" ให้ยึดหลักความรู้ ความสามารถ ประสบการณ์ เป็นธรรมและเสมอภาคต่อกัน สำหรับเป็นแนวทางแก่คณะเจรจาหารือกับพรรคก้าวไกล
  • เวลา 22.00 น. พรรคก้าวไกลโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ ถึงวิสัยทัศน์ของนายปดิพัทธ์ สันติภาดา แคนดิเดตประธานสภาของพรรคก้าวไกล โดยชูประเด็นสำคัญคือ สร้างรัฐสภาที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นของประชาชน
  • เวลา 23.11 น. น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ รองโฆษกพรรคก้าวไกล แจ้งสื่อมวลชนผ่านไลน์แอปพลิเคชันว่า "การประชุมร่วมเรื่อง 'ประธานสภา' ระหว่างพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทย ถูกเลื่อนออกไปก่อน หากมีกำหนดการใหม่จะแจ้งให้สื่อมวลชนทราบอีกครั้ง"

28 มิ.ย.: ยกเลิกหารือ 8 พรรคร่วม

นพ.ชลน่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยในรายการ "เจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์" ทางสถานีโทรทัศน์ MCOT HD30 เมื่อช่วงเช้าวันที่ 28 มิ.ย. ว่า "แนวทางดังกล่าว ยังไม่ใช่มติของคณะกรรมการบริหารพรรค เพราะหากมีมติแล้วจะกระทบต่อการเจรจาและความรู้สึกของพรรคก้าวไกล ไม่ได้เพิ่มหลักการใหม่ แต่ยังคงเป็นหลักการเดิม"

ต่อมาเวลา 16.18 น น.ส.ภคมน หนุนอนันต์ รองโฆษกพรรคก้าวไกลแจ้งสื่อมวลชนว่า การประชุม 8 พรรคร่วมในวันที่ 29 มิ.ย. เลื่อนออกไป โดยกำหนดการประชุมใหม่จะมีขึ้นในวันที่ 2 ก.ค. ที่พรรคก้าวไกล

ส่วนการประชุมระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลเรื่องตำแหน่งประธานสภา มีรายงานว่า จะมีการหารือในช่วงเข้าของวันที่ 2 ก.ค.

29 มิ.ย.: แกนนำทั้งสองพรรคเผยภาพหารือชื่นมื่น

TWITTER

ที่มาของภาพ, TWITTER

  • เวลา 16.00 น. ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงรอยแห่งความขัดแย้งปมเลือกประธานสภา แกนนำพรรคก้าวไกลและพรรคเพื่อไทยต่างโพสต์ แชร์ภาพและวิดีโอการหารือระหว่างกัน ในการวางแผนการบริหารรัฐบาลใหม่ ด้วยบรรยากาศที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม
  • เวลา 17.00 น. นพ.ชลน่าน ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนที่สถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี กล่าวยอมรับว่า การเสนอชื่อแคนดิเดตประธานสภา "ไม่ใช่การแข่ง" แต่เป็นการขอตำแหน่ง แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ พร้อมทั้งอธิบายสภาพการณ์ในปัจจุบันของพรรคเพื่อไทยว่า พรรคเหมือนถูกคลุมถุงชนด้วยการถูกมัดด้วยอาณัติประชาชน

"เราถูกมัดด้วยอาณัติประชาชน แม้เราอยากออกไป แต่ออกไปไม่ได้ เน้นนะครับ แม้เราอยากออกไป ซึ่งเรามีสิทธิด้วยนะครับที่จะออกไปแต่ไม่ชอบธรรม เราถูกประชาชน 25 ล้านเสียงมัดเรากับก้าวไกลให้ติดกันเสมือนพ่อแม่ ลูก " เขากล่าว

  • เวลา 18.00 น. นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล เปิดเผยว่า พรรคได้รับการติดต่อจากทางสภาผู้แทนราษฎรเกี่ยวกับความพร้อมในการประชุมสภาวันที่ 4 ก.ค. แล้ว และพรรคได้ยืนยันมีความพร้อมเข้าร่วมประชุม พร้อมเชื่อมั่นว่าพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกลจะมีข้อสรุปร่วมกันได้ก่อนวันที่ 4 ก.ค.
  • เวลา 18.40 น. นางพรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ได้ออกหนังสือด่วนมาก ขอเชิญ ส.ส. เข้าร่วมประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ครั้งที่ 1 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) ในวันที่ 4 ก.ค. เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุมสภาผู้แทนราษฎร

โดยมีระเบียบวาระการประชุม ประกอบด้วย

  • การให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปฏิญาณตนในที่ประชุมก่อนเข้ารับหน้าที่ตามมาตรา 115 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
  • เลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร
  • เลือกรองประธานสภาผู้แทนราษฎร

2 ก.ค.: ก้าวไกล-เพื่อไทยหารือ กรณีเลือกประธานสภานัดสุดท้าย

คณะเจรจาหารือพรรคเพื่อไทยกับพรรคก้าวไกลเตรียมหารือกันเรื่องตำแหน่ง "ประธานสภา" นัดสุดท้ายในช่วงเข้า ขณะที่ช่วงบ่ายจะเป็นการหารือของ 8 พรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาล ที่พรรคก้าวไกล

4 ก.ค.: ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ครั้งที่ 1

ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

ที่มาของภาพ, ฝ่ายประชาสัมพันธ์ รัฐสภา

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรประชุมสภาผู้แทนราษฎร เพื่อเลือกตำแหน่งประธานสภา และรองประธานสภาสองตำแหน่ง