ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ : ฟังเสียงแกนนำผู้ชุมนุม หลัง กทม.ประกาศให้ใช้พื้นที่ชุมนุมได้ 7 แห่ง

ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบฯ เมื่อ 14 ต.ค. 2563

ที่มาของภาพ, wasawat lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ผู้ชุมนุมกลุ่มราษฎรเคลื่อนขบวนจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยไปทำเนียบฯ เมื่อ 14 ต.ค. 2563

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกประกาศอนุญาตให้ผู้ชุมนุมใช้สถานที่ที่ทาง กทม. จัดหาให้ 7 พื้นที่เพื่อการชุมนุมสาธารณะ โดยได้ออกประกาศเมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา ในขณะที่นักจัดกิจกรรมเห็นว่านี่เป็นนิมิตรหมายที่ดี แต่ยังคิดว่าการชุมนุมควรเกิดขึ้นได้ทุกที่และไม่ยุ่งยาก

สถานที่ชุมนุมทั้ง 7 แห่งที่ กทม. กำหนดได้แก่

  • ลานคนเมือง เขตพระนคร
  • ศูนย์เยาวชนกรุงเทพมหานคร (ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง
  • ที่สาธารณะใต้สะพานรัชวิภา ใกล้ซอยวิภาวดีรังสิต 36 เขตจตุจักร
  • ลานจอดรถหน้าสำนักงานเขตพระโขนง
  • ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา เขตมีนบุรี
  • ศูนย์กีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ
  • สวนมณฑลภิรมย์ เขตตลิ่งชัน
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ซึ่งนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการ กทม. ระบุว่าแต่ละจุดจะมีแผนผังชัดเจนว่าสามารถทำกิจกรรมได้บริเวณใดบ้าง เช่น ลานคนเมือง ฝั่งทิศใต้ (ด้านวัดสุทัศน์) สามารถใช้พื้นที่ได้ 60% จากพื้นที่ทั้งหมด หรือประมาณ 3,722 ตารางเมตร รองรับผู้ชุมนุมได้ 1,000 คน ศูนย์เยาวชนไทย-ญี่ปุ่น กำหนดพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร รองรับได้ 800 คน

"เนื่องจากเป็นประกาศครั้งแรกของกรุงเทพมหานคร ผู้ชุมนุมจะต้องปฏิบัติตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องทั้งหมด กทม.มีหน้าที่อำนวยความสะดวก จัดพื้นที่ให้ ก็คงมีเรื่องความปลอดภัย ห้องน้ำ หน่วยแพทย์ฉุกเฉิน มีซีซีทีวี เก็บข้อมูล แต่มาตรการความมั่นคงตำรวจจะเป็นคนมาดูแล ในส่วนของการทำผิดกฏหมายต่าง ๆ เรื่องความรุนแรง การใช้อาวุธ เนื้อหาในการชุมนุม ตำรวจจะเป็นผู้รับผิดชอบ กทม.เองไม่ได้มีหน้าที่ในส่วนนี้" นายชัชชาติ กล่าว

เมื่อสอบถามเกี่ยวกับการตัดสินใจดังกล่าวของผู้ว่า กทม. น.ส. ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ หนึ่งในแกนนำการชุมนุม กลุ่มเยาวชนปลดแอก ให้ความคิดเห็นกับบีบีซีไทยว่าการชุมนุมควรจะเกิดขึ้นได้ในทุกที่ที่ประชาชนต้องการ

"พื้นที่สาธารณะถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินของประชาชนและของชาติ เพราะฉะนั้นประชาชนที่อยากจะออกมาใช้สิทธิ์ในการเรียกร้องต้องสามารถทำได้ทุกที่ แต่ส่วนหนึ่งก็คิดว่านี่เป็นนิมิตหมายที่ดีว่าอย่างน้อยทางผู้ว่า กทม. ก็เห็นถึงความสำคัญของการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชน" ภัสราวลีกล่าว

"ผู้ว่าฯ เห็นถึงปัญหาที่มันเกิดขึ้นว่ารัฐบาลชุดนี้ปิดพื้นที่ไม่ให้มีการเรียกร้อง ชุมนุม หรือพูดคุยในเรื่องใด ๆ เลยที่เกี่ยวข้องกับการวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล จึงไม่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยและไม่นำไปสู่การแก้ปัญหา"

น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ "มายด์"

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือ "มายด์" กราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอให้ปรับปรุงแก้ไข 3 ข้อ

แม้จะเห็นว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี แต่ภัสราวลียังมองอีกว่าต้องคำนึงถึงสิทธิของประชาชนเป็นหลักก่อน

"ตอนนี้บ้านเมืองเป็นอย่างไร ประชาชนต้องการจะเรียกร้องอะไรบ้าง…การที่จะไปจำกัดกรอบว่าที่ไหนเป็นที่ที่ถูกต้อง ในการใช้สิทธิเสรีภาพ คิดว่ายังไม่ถูกต้องตามหลักประชาธิปไตยอยากเต็มใบเสียเท่าไหร่" ภัสราวลีกล่าวเสริม

พื้นที่ไม่เอื้อต่อการชุมนุม

ทางด้านนักกิจกรรมการเมืองที่จัดการชุมนุมหลายครั้งในช่วงเวลาที่ผ่านมาอย่าง ชลธิชา แจ้งเร็ว หรือลูกเกด เห็นว่าการใช้สิทธิและเสรีภาพในการชุมนุมตามมาตรฐานสากล สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการที่รัฐต้องจัดหาสถานที่ที่เอื้อให้ประชาชนสามารถมาใช้สิทธิ์และเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างเสรี แต่พื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่มีขนาดใหญ่ เข้าถึงได้ง่าย และเป็นสถานที่ที่ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้เห็นและได้ยินการจัดกิจกรรมมีไม่มาก

"พอผู้ว่าฯ ประกาศออกมาตอนแรกต้องยอมรับเลยว่าตื่นเต้นและดีใจมากกับการที่จะให้พื้นที่ของ กทม. เป็นพื้นที่สาธารณะที่ใครก็สามารถเข้ามาใช้ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ แต่พอมาดูรายละเอียดแล้วก็เกิดความกังวลในหลาย ๆ เรื่อง" ชลธิชากล่าว

"พื้นที่ 7 แห่งที่ท่านผู้ว่าฯ จัดไว้ให้ไม่ได้เอื้อต่อากรชุมนุม เพราะเวลาที่เราจัดการชุมนุม เราก็ต้องการให้ข้อเรียกร้อง ความคิดเห็น หรือประเด็นของเรามันขยายไปสู่พื้นที่สาธารณะ แต่พื้นที่ส่วนมากที่จัดให้เป็นที่ที่คนเข้าถึงได้ยาก จากทั้งหมดดูเหมือนจะมีอยู่ที่เดียวที่เราสามารถใช้งานในการจัดการชุมนุมได้จริง ๆ ก็คือที่ลานคนเมือง"

ลูกเกด-ชลธิชา เป็นสมาชิก "กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย" (Democracy Restoration Group: DRG) ในปัจจุบันเธอตกเป็นผู้ต้องหา 14 คดีจากการร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง

ที่มาของภาพ, wasawat lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ลูกเกด-ชลธิชา เป็นสมาชิก "กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย" (Democracy Restoration Group: DRG) ในปัจจุบันเธอตกเป็นผู้ต้องหา 14 คดีจากการร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง

เธอให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าการจัดพื้นที่สำหรับการชุมนุมเป็นสิ่งที่ดี แต่พื้นที่นั้น ๆ ต้องมาพร้อมกับการถูกได้ยิน การได้รับฟังจริง ๆ และการเข้าถึงได้ง่าย ถึงจะเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการชุมนุม

"จริง ๆ การที่ท่านผู้ว่าฯ จัดเตรียมพื้นที่สาธารณะให้ก็อาจจะดูเหมือนเป็นดาบสองคม เพราะถ้าประชาชนไม่ไปตามสถานที่ที่กำหนดเอาไว้ ก็จะดูเป็นการป่วนเมือง กทม. ต้องออกมารับรองการใช้เสรีภาพในการชุมนุมบนท้องถนนด้วย เพราะนี่เป็นการจัดการชุมนุมตามมาตรฐานสากลและ พรบ.การชุมนุม ของบ้านเราก็รับรองเรื่องการชุมนุมบนท้องถนนด้วยเช่นกัน" ชลธิชาอธิบาย

"จริง ๆ แล้วพื้นที่ในการจัดการชุมนุมที่เลือกใช้ก็สะท้อนให้เห็นเรื่องที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นอยากให้ กทม. ให้เสรีกับการใช้พื้นที่เพื่อการชุมนุมสาธารณะได้อย่างไม่จำกัด"

เพิ่มภาระให้ประชาชน

การประกาศให้ใช้พื้นที่ในการชุมนุมของ กทม. นั้นเป็นการประกาศโดยใช้อำนาจตามาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่ในปัจจุบันไทยยังบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เพื่อบริหารบ้านเมืองในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อยู่ จึงทำให้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ไม่ได้ถูกบังคับใช้ จึงไม่จำเป็นต้องไปแจ้งเรื่องการจัดการชุมนุมให้กับสำนักงานเขตพื้นที่ที่จะจัดการชุมนุมได้ทราบ

ชุมนุม 18 ตุลา

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมเมื่อ 18 ต.ค. เกิดขึ้นจากการนัดหมายผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของเครือข่ายผู้ชุมนุม โดยวันนั้นไม่มีผู้ปราศรัยหลัก

"คำถามคือหลังจากที่ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ กลับมาใช้งานได้ตามปกติ และหากเราต้องใช้สถานที่ในการชุมนุม เราต้องไปแจ้งตามสำนักงานเขตต่าง ๆ ด้วยหรือไม่ จากปกติที่เคยแจ้งแค่ตำรวจในท้องที่ที่จะไปจัดการชุมนุม" ชลธิชาตั้งคำถาม

เธอเห็นว่าทาง กทม. ไม่จำเป็นต้องออกมาประกาศเรื่องพื้นที่สาธารณะในการจัดการชุมนุมได้ แต่ กทม. ควรมีนโยบายไปยังสำนักงานเขตในแต่ละพื้นที่ว่าทาง กทม. ยินดีที่จะให้ประชาชนใช้พื้นที่ของ กทม. ในการแสดงความคิดเห็นการชุมนุมก็เพียงพอแล้ว

อย่างไรก็ตาม นายชัชชาติ กล่าวก่อนหน้านี้ว่า พื้นที่ที่กำหนดขึ้นถือเป็นจุดทดลอง 1 เดือน เนื่องจาก กทม.ยังไม่เคยประกาศให้มีพื้นที่ชุมนุมสาธารณะ จากนี้จะพิจารณาว่าเป็นประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการประกาศพื้นที่ และประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์หรือไม่ รวมทั้งสามารถดูแลการดูแลการชุมนุมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมาตรา 9 แห่ง พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ปี 2558 ได้หรือไม่