“พายุ ดาวดิน” 1 สัปดาห์หลังเสียดวงตาจากการสลายการชุมนุมหยุดเอเปค

tnp

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, ผู้ชุมนุมกลุ่ม "ทะลุฟ้า" เดินทางเข้ายื่นข้อเรียกร้องให้ตำรวจเปิดเผยชื่อผู้ปฏิบัติงานเหตุสลายการชุมนุมเมื่อ 18 พ.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นับแต่วันที่ พายุ บุญโสภณ หรือ “พายุ ดาวดิน” ได้รับบาดเจ็บสาหัสที่ดวงตาหลังตำรวจเข้าสลายการชุมนุมของกลุ่ม “ราษฎรหยุดเอเปค 2022” เมื่อ 18 พ.ย. จนทำให้เขาต้องตาบอดและยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจนถึงวันนี้ เขาก็เลือกที่จะไม่พูดคุยกับใครเลย

นิติกร ค้ำชู หรือ “ตอง ดาวดิน” หนึ่งในเพื่อนร่วมขบวนการที่ไปชุมนุมกับพายุ เป็นผู้ที่ติดตามและดูแลพายุอย่างใกล้ชิดหลังจากที่เขาต้องเข้ารักษาตัว  

นิติกรบอกกับบีบีซีไทยว่าตั้งแต่ที่พายุเข้ารับการผ่าตัดวันแรกจนกระทั่งถึง 24 พ.ย. สภาพจิตใจของเขาดีขึ้นกว่าเดิม เมื่อเทียบกับวันแรกที่เข้ารักษาตัว

“ที่ผ่านมาพายุจะเงียบ นอนอย่างเดียว ไม่พูดคุยกับใครเลย ส่วนหนึ่งน่าจะมาจากความปวดแผล เลยทำให้ไม่อยากสื่อสารกับใคร ญาติที่มาเฝ้าจะคุยด้วยก็ไม่คุย พวกเราถามอะไรไปก็ไม่อยากตอบ ก็เลยปล่อยให้พัก” นิติกรอธิบาย

“ปกติก็แค่ตื่นมากินข้าว เสร็จแล้วก็นอน เมื่อวานนี้คนที่มาเฝ้าบอกว่าเริ่มพูดคุยมากขึ้น เริ่มยิ้มเริ่มหัวเราะได้ เริ่มถามข่าวเกี่ยวกับพี่น้องที่อยู่ข้างนอกว่าเป็นอย่างไรบ้าง เริ่มอยากกินก๋วยเตี๋ยวเนื้อ ขอแท็บเล็ตมานอนฟังซีรีส์ สภาพจิตใจน่าจะเริ่มดีขึ้น แต่ต้องดูต่อไปว่าอย่างไรหลังจากนี้”

Protest

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

หลังจากการผ่าตัดตาไปแล้วสองรอบ ช่วงนี้ พายุอยู่ในช่วงพักฟื้นหลังผ่าตัด แพทย์แจ้งกับญาติว่าหลังจากเข้าที่แผลดีขึ้นแล้วจะเปิดแผลดูและประเมินต่อไปว่าสภาพเป็นอย่างไร หลังจากนั้นถึงจะวินิจฉัยแนวทางการรักษาในระยะยาวได้ต่อไป หลังจากที่ได้แจ้งตั้งแต่วันแรกที่เข้ามารักษาว่าโอกาสที่เขาจะกลับมามองเห็นได้จากตาที่ได้รับบาดเจ็บคือ 1%

กิจกรรมปิดตาทวงคืนความยุติธรรม

ผ่านไป 1 สัปดาห์ ยังไม่มีการแสดงความรับผิดชอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือหน่วยงานใด ต่อเหตุความรุนแรงที่เกิดขึ้น

“รู้สึกโกรธแค้นมาตั้งแต่วันนั้น และความรู้สึกนี้ก็ยังอยู่” นิติกรบรรยายถึงความรู้สึกของเขา

“จริง ๆ ส่วนตัวประเมินเอาไว้แล้วว่า (ตำรวจ) จะมาแนวนี้ ตำรวจให้สัมภาษณ์ตั้งแต่วันแรกว่ายังไม่มีข้อมูล ยังไม่ชัดเจน จะเป็นไปได้อย่างไร เมื่อผู้ได้รับบาดเจ็บก็อยู่ในโรงพยาบาลของคุณ มาแถลงแบบนี้มันดูน่าเกลียด รู้ว่าอย่างไรตำรวจก็จะไม่ออกมารับผิดชอบ”

Protest

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เขาบอกบีบีซีไทยว่าทุกคนที่ไปชุมนุมในวันนั้นไม่คิดว่าเหตุการณ์จะรุนแรงถึงขนาดนี้ โดยทางผู้ชุมนุมประกาศชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ของการชุมนุมก็คือการอยากประชาสัมพันธ์ อยากสื่อสารเรื่องราวความเดือดร้อนที่พี่น้องชาวบ้านจากในแต่ละเครือข่ายที่มาว่าเขาได้รับผลกระทบจากนโยบายที่เกี่ยวกับเอเปค

เมื่อกลุ่มผู้เสียหายรู้สึกว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม พวกเขาจึงจัดกิจกรรม "ปิดตาข้างเดียว" เพื่อให้คนในกรุงเทพฯ รับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้น และได้ขยายกิจกรรมไปยังต่างจังหวัดด้วย โดยกิจกรรมเริ่มตั้งแต่หนึ่งวันหลังจากการชุมนุมจนทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเกิดขึ้น นำโดยนายอานนท์ นำภา เข้ร้องทุกข์ที่ สน.สำราญราษฎร์

วันต่อมาก็มีตัวแทนจากกลุ่มราษฎรหยุดเอเปคเข้าไปยื่นร้องกรรมาธิการพัฒนาการเมืองของสภาผู้แทนราษฎร ให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง และเมื่อ 23 พ.ย. ก็มีการเคลื่อนไหวในภาคอีสาน โดยเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอิสานจาก 4 จังหวัด ซึ่งเป็นองค์กรที่พายุทำงานอยู่ ในพื้นที่ จ.ชัยภูมิ จ.สุรินทร์ จ.ศรีสะเกษ และ จ.ยโสธร ไปยื่นหนังสือที่ศาลากลางจังหวัด เพื่อขอให้ทำการตรวจสอบและหาคนมารับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น

protest

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นอกจากนี้ยังมีนักกิจกรรมที่ จ.ขอนแก่น ไปยื่นหนังสือที่สถานีตำรวจภูธรภาค 4 และสถานีตำรวจภูธรเมืองขอนแก่น ให้ชี้แจงและแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งที่เกิดขึ้น เพราะมีเจ้าหน้าตำรวจควบคุมฝูงชนที่มาจาก จ.ขอนแก่น ไปเข้าร่วมปราบปรามผู้ชุมนุมในวันที่ 18 พ.ย. ด้วย

“ตั้งใจจะจัดกิจกรรมรูปแบบนี้ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เพราะไม่อยากให้กระแสเรื่องนี้มันเงียบหายไป จึงคิดทำกิจกรรมให้มีความต่อเนื่อง และสื่อสารเรื่องราวความคืบหน้าอยู่เรื่อย ๆ จนกว่าจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาแสดงความรับผิดชอบ” นิติกรอธิบาย

“พวกเรารู้สึกว่าเรื่องนี้ยังไปไม่ไกลมาก สื่อจากต่างประเทศยังไม่รู้เรื่องนี้เลยว่ามีการสลายการชุมนุมจนถึงขั้นมีคนได้รับบาดเจ็บ ก็เลยคุยกันว่าวันที่ 28 หรือ 29 พ.ย. จะมีการแถลงข่าวกับสื่อมวลชนต่างประเทศ รู้สึกว่าเรื่องนี้ยังอยู่ในการรับรู้ที่ค่อนข้างแคบอยู่”

หลังจากที่พายุได้รับอนุญาตให้ออกจากโรงพยาบาลไปพักฟื้นที่บ้านได้ เขายืนยันว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ อีกซักพักหนึ่ง ซึ่งหากไม่มีอะไรผิดพลาด เขาจะออกจากโรงพยาบาลได้ภายในสัปดาห์หน้า ตอนนี้ทีมแพทย์ก็ประเมินอาการเป็นรายวันอยู่

“เรื่องคดีคือฟ้องแน่ ๆ แต่ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมข้อมูลและปรึกษาหารือกับทีมทนาย และที่สำคัญคือต้องรอให้พายุตัดสินในร่วมด้วย” นิติกรกล่าว   

ตำรวจว่าอย่างไร

Protest

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

หลังวันเกิดเหตุ 18 พ.ย. พล.ต.ต. อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แถลงชี้แจงกรณีใช้กระสุนยางว่า เพื่อการป้องกันตนเองจากผู้ที่จะทำร้ายเจ้าหน้าที่ ซึ่งมีตำรวจได้รับบาดเจ็บ 5 นาย ขณะเดียวกันมีการจับกุมผู้ชุมนุมที่กระทำผิดกฎหมายซึ่งหน้าไป 10 คน

ต่อมา พล.ต.ท.สราวุฒิ การพานิช ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผู้ช่วย ผบ.ตร.) ระบุภายหลังรับหนังสือข้อเรียกร้องจากกลุ่มทะลุฟ้า เมื่อ 24 พ.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่าเหตุการณ์เมื่อ 18 พ.ย. เป็นเรื่องที่ไม่มีใครอยากให้เกิด เพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจนายหนึ่งก็ได้รับบาดเจ็บที่ดวงตา กรณีค่าเสียหายต่อผู้ชุมนุมจากการสลายการชุมนุม ได้นำเรื่องถึง ผบ.ตร. แล้ว โดยผู้ชุมนุมมีสิทธิร้องต่อศาลกรณีที่ถูกละเมิดได้ พร้อมเสนอให้ผู้ชุมนุมรวบรวมความเสียหายให้ตำรวจ ซึ่งจะมีการพิจารณาหลังจากนี้ตามขั้นตอนทางราชการ "ไม่มีใครอยากให้เกิดทั้งสองฝ่าย เพราะทั้งฝ่ายตำรวจและผู้ชุมนุมก็บาดเจ็บ ของตำรวจก็มีหนึ่งรายที่ดวงตาอาจจะมองไม่เห็น" ส่วนมาตรการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเหตุเช่นนี้ในอนาคต ผู้ช่วย ผบ.ตร. กล่าวว่า ทั้งสองฝ่ายจะต้องประชุมร่วมกันอีกครั้งเพื่อกำหนดการป้องกันเหตุร่วมกัน

เรียกร้องรัฐยุติความรุนแรง

22 พ.ย. ฮิวแมนไรท์สวอทช์รายงานทางเว็บไซต์ขององค์กรถึงเหตุการณ์การสลายการชุมนุมที่เกิดขึ้น โดยในบทความดังกล่าวได้อ้างอิงคำพูดของ เอเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการฝ่ายเอเชียของฮิวแมนไรท์วอทช์ ว่า "การใช้กำลังของรัฐบาลไทยต่อผู้ชุมนุมทำให้เสียภาพลักษณ์ในฐานะการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปค และเป็นการเน้นย้ำถึงการไม่อดทนต่อเสียงที่ไม่เห็นด้วย”

“ผู้แทนต่างชาติที่เข้าร่วมต่างได้เห็นว่ารัฐบาลที่นำโดยพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่อายที่จะปราบปรามการประท้วงอย่างสันติในประเทศไทยด้วยวิธีที่รุนแรง”

Protest

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ก่อนหน้านี้เมื่อ พ.ย. 2563 โฆษกของนายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ แสดงความกังวลเกี่ยวกับการใช้กำลังโดยกองกำลังความมั่นคงของไทยว่า “เป็นเรื่องน่าสลดใจที่เห็นการใช้อาวุธที่ร้ายแรงต่อผู้ประท้วงอย่างสงบ รวมถึงการใช้ปืนฉีดน้ำแรงดันสูง”

“เป็นเรื่องสำคัญมากที่รัฐบาลไทยจะละเว้นจากการใช้กำลังและประกันการคุ้มครองอย่างเต็มที่สำหรับทุกคนในประเทศไทยที่ใช้สิทธิขั้นพื้นฐานอย่างสันติในการประท้วง”

ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวว่าในช่วงสองปีต่อมา ทางการไทยล้มเหลวในการปฏิบัติตามข้อกังวลของเลขาธิการยูเอ็น โดยตำรวจยังมีการทำร้ายผู้ชุมนุมอยู่หลายครั้งโดยไม่ต้องรับโทษ

“รัฐบาลไทยควรหยุดปราบปรามการชุมนุมอย่างรุนแรง และสอบสวนอีกทั้งดำเนินคดีอย่างเหมาะสมกับผู้ที่รับผิดชอบต่อการละเมิดข้อตกลงนั้น โดยไม่คำนึงถึงตำแหน่งหรือยศ” เพียร์สันกล่าว

“รัฐบาลที่เกี่ยวข้องและสหประชาชาติควรเรียกร้องต่อสาธารณะให้รัฐบาลไทยยุติการปราบปรามทางการเมืองและเข้าร่วมการเจรจาเกี่ยวกับการปฏิรูปประชาธิปไตยแทน”   

สื่อมวลชนร้องสภาฯ หลัง ตร. เฉย

24 พ.ย. ตัวแทนสื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานของตำรวจในการสลายการชุมนุมของกลุ่มราษฎรเมื่อ 18 พ.ย. เข้ายื่นหนังสือต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร ผ่านทางนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล ในฐานะประธาน กมธ. ขอให้ตรวจสอบสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวเพื่อหาตัวผู้รับผิดชอบ รวมถึงเชิญผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ผบ.ตร., ผบช.น. และ ผบก.อคฝ. มาชี้แจงถึงเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง และร่วมกันหามาตรการที่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุซ้ำรอ อีกในอนาคต

มีสื่อมวลชนที่ได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 4 รายจากการสลายการชุมนุมในครั้งนั้น ทั้งหมดต่างสวมใส่เครื่องหมายแสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชน (ปลอกแขน)

ผู้แทนสื่อแจ้งต่อประธานกรรมาธิการว่า การสลายการชุมนุมโดยไม่สนใจสัญลักษณ์ดังกล่าว ไม่เพียงผิดกับข้อตกลงที่ทางองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนเคยตกลงไว้กับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ตั้งแต่ปี 2564 ยังอาจขัดกับคำสั่งของศาลแพ่งในคดีหมายดำที่ พ3683/2564 (คดีกระสุนยาง) ที่ศาลแพ่งได้สั่งให้ทาง สตช. “..ระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชน..”

ในคำร้องต่อ กมธ.ผู้แทนสื่อได้แนบคลิปจากการไลฟ์สดของสื่อมวลชน รวมถึงคลิปที่มีการเผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย ถึงเหตุการณ์ตำรวจ คฝ.เข้าทำร้ายนักข่าว The MATTER และการปาวัตถุจากทิศทางซึ่งเจ้าหน้าที่ยืนอยู่เข้าใส่ช่างภาพ Reuters จนได้รับบาดเจ็บบริเวณดวงตา รวมทั้งหมด 7 คลิป เพื่อประกอบการพิจารณา

ประท้วง

ที่มาของภาพ, The Matter

คำบรรยายภาพ, พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส สำนักข่าวออนไลน์ The MATTER (ขวา) ยืนหนังสือร้องเรียนต่อนายณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธาน คณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร