รัสเซีย ยูเครน : เมืองลิซิชานสก์ถูกโจมตีราบเป็นหน้ากลอง

Locals look at destroyed buildings in Lysychansk after heavy fighting in the Luhansk area, Ukraine,

ที่มาของภาพ, EPA

หลังจากยิงขีปนาวุธถล่มศูนย์การค้าแห่งหนึ่งในเมืองเครเมนชุก จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ล่าสุดกองทัพรัสเซียได้มุ่งเป้าหมายการโจมตีไปยังเมืองทางภาคตะวันออกอีกแห่งของยูเครน ที่มีชื่อว่า "ลิซิชานสก์" (Lysychansk)

เจ้าหน้าที่ระดับท้องถิ่นของยูเครนระบุว่า เหตุรัสเซียโจมตีด้วยขีปนาวุธในวันนี้ (28 มิ.ย.) ได้สร้างความกังวลเป็นอย่างยิ่ง ส่งผลให้เมืองลิซิชานสก์ ในภูมิภาคลูฮันสก์ พังราบเป็นหน้ากลอง และทำให้พลเรือนเสียชีวิตไป 8 คน

นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกอย่างน้อย 21 คน โดยโศกนาฏกรรมครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่ชาวบ้านรวมกลุ่มกันไปหาน้ำดื่ม

ผู้ว่าการภูมิภาคลูฮันสก์ระบุผ่านแอปพลิเคชันเทเลแกรมว่า การโจมตีของรัสเซียครั้งนี้ทำให้เมืองลิซิชานสก์กลายเป็นซากปรักหักพัง และถูกทำลายอย่างสิ้นเชิง

เมืองลิซิชานสก์ตกเป็นเป้าการระดมโจมตีอย่างหนัก หลังจากเมืองคู่แฝดอย่าง "เซเวอโรโดเนตสก์" ตกอยู่ภายใต้การยึดครองของรัสเซียไปเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา

แผนที่

นายอเล็กซานเดอร์ ร็อดนียานสกี ที่ปรึกษาของประธานาธิบดีโวโลดีมีร์ เซเลนสกีแห่งยูเครน ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า ขณะนี้รัสเซียกำลังทุ่มสรรพกำลังไปที่การรุกคืบเข้ายึดครองภูมิภาคดอนบาส ทางภาคตะวันออกของยูเครน

เขาชี้ว่า ยูเครนจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนด้านอาวุธเพิ่ม เพื่อใช้ต่อกรกับรัสเซียที่กำลังใช้ปืนใหญ่ทำลายเมืองต่าง ๆ เพื่อเข้ายึดครองเมืองเหล่านี้

ขณะเดียวกันมีรายงานว่า เมืองคาร์คีฟ เมืองใหญ่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของยูเครนก็ถูกโจมตีอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 คน และบาดเจ็บอีก 19 คน ในจำนวนนี้มีเด็กรวมอยู่ด้วย 4 คน

รัสเซียประกาศจะไม่หยุด จนกว่ายูเครนจะยอมแพ้

นายดมิทรี เปสคอฟ โฆษกทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซีย ระบุว่ารัสเซียจะไม่ยุติปฏิบัติการโจมตี จนกว่ายูเครนจะยอมจำนน พร้อมเรียกร้องให้ทางการยูเครนสั่งให้ทหารของตนยอมวางอาวุธแต่โดยดี

ด้านประธานาธิบดีเซเลนสกี ยืนกรานว่าทหารยูเครนจะไม่ยอมแพ้อย่างเด็ดขาด และพวกเขาจะเป็นฝ่ายที่มีชัยชนะในสงครามครั้งนี้

ผู้นำจี 7 ตัดสินใจเรื่องอะไรบ้าง

แม้ผู้นำกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก หรือ จี 7 จะเสียงแตกเรื่องสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนในระหว่างการประชุมสุดยอดที่ประเทศเยอรมนี แต่เหล่าผู้นำชาติมหาอำนาจเหล่านี้ก็เตรียมเดินทางไปพบกันในที่ประชุมสุดยอดชาติสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต ที่กรุงมาดริดของสเปน ซึ่งคาดว่าจะมีการอนุมัติแผนการเพิ่มกำลังทหารกว่า 300,000 นายให้เตรียมเฝ้าระวังภัยการโจมตีในระดับสูงสุด

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียได้วิจารณ์ความเคลื่อนไหวของนาโตครั้งนี้โดยชี้ว่า นาโตเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรม "ก้าวร้าว" ซึ่งชอบสร้างการเผชิญหน้าทางทหาร

สำหรับการประชุมผู้นำกลุ่มจี 7 นั้นมีการเห็นพ้องให้มีการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย โดยมีเป้าหมายเพื่อตัดลดรายได้จากการขายน้ำมันของรัสเซีย

นอกจากนี้ที่ประชุมยังเรียกร้องให้ทุกประเทศหลีกเลี่ยงการกักตุนอาหาร เพราะอาจกระตุ้นให้ราคาอาหารโลกถีบตัวสูงขึ้นอีก และยังมีการผลักดันเรื่องห้ามนำเข้าทองคำจากรัสเซีย อันเป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรให้รุนแรงขึ้น

รัสเซียยิงขีปนาวุธถล่มศูนย์การค้ายูเครน

คำบรรยายวิดีโอ, ศูนย์การค้ายูเครนเกิดไฟลุกไหม้รุนแรงหลังถูกขีปนาวุธถล่ม

ประธานาธิบดี เซเลนสกี ระบุว่า รัสเซียได้ยิงขีปนาวุธโจมตีศูนย์การค้าแห่งหนึ่งในเมืองเครเมนชุก ทางภาคตะวันออกของยูเครน ซึ่งมีประชาชนอยู่ด้านในกว่า 1,000 คน

ความคืบหน้าล่าสุด มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเป็น 18 คน บาดเจ็บอีกอย่างน้อย 59 คน และเกรงว่าตัวเลขเหล่านี้จะเพิ่มขึ้นอีก

การโจมตีเกิดขึ้นระหว่างที่ผู้นำกลุ่มจี 7 ร่วมประชุมในประเทศเยอรมนี โดยได้ออกแถลงการณ์ประณามถึงเหตุโจมตีดังกล่าวว่า "เลวร้ายอย่างมาก"

"การโจมตีที่ไม่แยะแยะกลุ่มพลเมืองผู้บริสุทธ์เป็นการก่ออาชญากรรมสงคราม" แถลงการณ์ของจี 7 ระบุ

ประธานาธิบดีเซเลนสกี ระบุหลังเกิดเหตุว่า "นี่ไม่ใช่การโจมตีที่ผิดพลาดหรือเป็นอุบัติเหตุ แต่เป็นการคิดคำนวณมาแล้วของรัสเซียว่าจะโจมตีศูนย์การค้า" พร้อมบอกว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มสูงขึ้น และผู้คนที่อยู่ในศูนย์การค้านั้นมีทั้งผู้หญิงและเด็ก

ด้านรัสเซีย ไม่ได้ออกมาแสดงความเห็นใด ๆ แต่นายดิมิทรี โพลยานสกี รองเอกอัครราชทูตรัสเซียประจำสหประชาชาติ ออกมากล่าวหาว่ายูเครนใช้เหตุการณ์เช่นนี้ เรียกความเห็นอกเห็นใจ ก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดของนาโต ซึ่งจะเริ่มขึ้นในวันนี้ไปจนถึงวันที่ 30 มิ.ย. นี้

ควันท่ามกลางตึกในกรุงเคียฟ

ที่มาของภาพ, Reuters

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา รัสเซียได้ระดมยิงขีปนาวุธหลายลูกถล่มใส่กรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน ก่อนหน้าที่จะมีการประชุมสุดยอดจี 7 ในเยอรมนี ด้านรัสเซียยึดเมืองเซเวอโรโดเนตสก์ทางตะวันออกของยูเครนได้แล้ว และยังรับปากจะส่งขีปนาวุธอิสกันเดอร์-เอ็ม ที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ ให้เบลารุสด้วย

เกิดระเบิดรุนแรงขึ้นในหลายพื้นที่ของกรุงเคียฟ ซึ่งถูกถล่มด้วยขีปนาวุธหลายลูก สร้างความเสียหายต่ออาคารที่พักอาศัย

นายวิทาลี คลิตช์โค นายกเทศมนตรีกรุงเคียฟ กล่าวว่า ขีปนาวุธเหล่านี้ตกใส่เขตเชฟเชนคิฟสกี และได้มีการส่งรถพยาบาลและเจ้าหน้าที่กู้ภัยเข้าไปที่จุดเกิดเหตุแล้ว

การโจมตีนี้เกิดขึ้นไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่ประธานาธิบดีเซเลนสกี ได้ร้องขอระบบป้องกันภัยทางอากาศจากบรรดาชาติพันธมิตรของยูเครนอีกครั้ง

นายเซเลนสกี ได้เตือนว่า สงครามนี้กำลังเข้าสู่ "ขั้นที่มีความยุ่งยากซับซ้อนทางอารมณ์ความรู้สึกและศีลธรรม"

เขาพูดหลังจากที่เมืองเซเวอโรโดเนตสก์ เมืองสำคัญทางตะวันออกของยูเครน และเป็นศูนย์กลางการสู้รบอย่างดุเดือดมานานหลายสัปดาห์ ตกอยู่ในการควบคุมของรัสเซียอย่างเต็มที่แล้วเมื่อวันเสาร์ (25 มิ.ย.)

คาดว่าบรรดาผู้นำจากกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G7) ซึ่งกำลังรวมตัวกันอยู่ในเยอรมนี จะรับปากให้การสนับสนุนทางการทหารแก่รัฐบาลยูเครนรอบใหม่ และบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมต่อรัสเซีย

ไบเดน ย้ำ จี7 และนาโต ต้องผนึกกำลังต้านรัสเซีย

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ กล่าวว่า ชาติตะวันตกต้องผนึกกำลังกันต่อต้านการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

"เราต้องผนึกกำลังกัน" ไบเดน กล่าวกับนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี ก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดจี7

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ หารือกับนายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี

"ปูตินเริ่มตั้งหน้าตั้งตารอว่า นาโต และจี7 คงจะแตกกัน...แต่เราไม่ได้เป็นอย่างนั้นและเราจะไม่เป็นเช่นนั้น"

"ดังนั้นเราไม่สามารถปล่อยให้การรุกรานนี้ดำเนินต่อไปโดยไม่ต้องรับผลใด ๆ"

นายกฯ อังกฤษ ระบุ "ไม่ใช่เวลาที่จะทิ้งยูเครน"

ด้านนายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร จะรับปากการสนับสนุนทางการเงินให้กับยูเครนต่อไป ขณะที่เขาหารือกับผู้นำโลกในการประชุมสุดยอดต่าง ๆ

คาดว่าเขาจะเรียกร้องให้บรรดาพันธมิตรสนับสนุนรัฐบาลยูเครนต่อต้าน "ความป่าเถื่อน" ของรัฐบาลรัสเซียต่อไป โดยระบุว่า ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะทิ้งยูเครน

นายจอห์นสัน มีกำหนดที่จะรับประกันเงินกู้ 429 ล้านปอนด์ ของธนาคารโลกด้วย

นายกรัฐมนตรีบอริส จอห์นสัน ของสหราชอาณาจักร

ที่มาของภาพ, PA Media

นายจอห์นสัน เดินทางไปเข้าร่วมการประชุมสุดยอดจี 7 ในเยอรมนี และการประชุมองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation) หรือ นาโต ในกรุงมาดริดของสเปน โดยคาดว่า เรื่องยูเครนจะเป็นประเด็นหลักในการหารือของทั้งสองการประชุม

ก่อนหน้าการประชุม นายจอห์นสัน กล่าวว่า "คนรุ่นต่อไปในอนาคตจะนับถือและมีแรงบันดาลใจจากการต้านทานความป่าเถื่อนของปูตินอย่างกล้าหาญของชาวยูเครน"

"ยูเครนสามารถชนะได้และจะชนะ แต่พวกเขาจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากเราในการคว้าชัย ตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะทิ้งยูเครน"

เขายังเตือนชาวยูเครนว่า ไม่ควรที่จะ "ยอมรับสันติภาพอันเลวร้าย" ที่พวกเขา "ได้รับข้อเสนอให้ยอมสละดินแดนของพวกเขาบางส่วนเพื่อแลกกับการหยุดยิง" ในสงครามต่อต้านรัสเซีย

เส้นสีเทา

จี7 เสียงแตก

เจมส์ แลนเดล ผู้สื่อข่าวการทูต

เรื่องสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน คงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในการเป็นประเด็นหลักของการหารือในการประชุมสุดยอดจี7 ในบาวาเรีย เยอรมนี

บรรดาผู้นำของสหรัฐฯ, สหราชอาณาจักร, เยอรมนี, ฝรั่งเศส, อิตาลี, แคนาดา และญี่ปุ่น เผชิญกับความท้าทาย

พวกเขาตั้งใจที่จะแสดงออกถึงความเป็นเอกภาพและการตัดสินใจเกี่ยวกับสงครามนี้ แต่ในช่วงไม่กี่เดือนนี้ พันธมิตรตะวันตกได้แสดงสัญญาณของความตึงเครียดและอ่อนล้าให้เห็น

ขีปนาวุธ

ที่มาของภาพ, EPA

บางชาติ โดยเฉพาะฝรั่งเศส เยอรมนี และอิตาลี ได้ตั้งคำถามว่า การยุติสงครามจะดีกว่าหรือไม่ แม้ว่ายูเครนจะต้องยอมสูญเสียดินแดนบางส่วนไป

การสำรวจความคิดเห็นทั่วยุโรปเมื่อไม่นานนี้ แสดงให้เห็นว่า ผู้ที่ร่วมแสดงความเห็นบางส่วนให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาวิกฤตค่าครองชีพก่อนการลงโทษรัสเซีย ขณะที่คนอีกจำนวนมากบอกว่า จำเป็นต้องกอบกู้ความสัมพันธ์บางอย่างกับรัสเซียในอนาคต

ประเทศอื่น ๆ อย่างสหราชอาณาจักร โปแลนด์ และ 3 รัฐบอลติก ได้ยืนกรานมาโดยตลอดว่า ข้อตกลงสันติภาพใด ๆ กับรัฐบาลรัสเซียที่ยูเครนไม่ได้เป็นคนกำหนด จะนำไปสู่การรุกรานของรัสเซียในอนาคตต่อไป

เส้นสีเทา

"ตัดออกซิเจนของเครื่องจักรสงครามของรัสเซีย"

บรรดาชาติจี7 "มีเป้าหมายเดียวกัน ในการตัดออกซิเจนของเครื่องจักรสงครามของรัสเซีย ขณะที่ดูแลเศรษฐกิจของเราด้วย" นายชาร์ลส์ มิเชล ประธานสภายุโรป กล่าว

คำบรรยายวิดีโอ, รัสเซีย ยูเครน : ย้อนดูเหตุการณ์สำคัญหลังครบ 100 วันสงครามในยูเครน

ในการกล่าวช่วงการเริ่มประชุมสุดยอดจี7 ในบาวาเรีย นายมิเชล กล่าวว่า "สงครามของรัสเซียทำให้โลกเผชิญความเสี่ยง" โดยระบุว่า สงครามนี้ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณอาหารและเชื้อเพลิง ราคาสินค้า และความมั่นคง

เขากล่าวว่า จี7 และสหภาพยุโรปมี "เอกภาพอย่างเหนียวแน่น" ในการสนับสนุนยูเครน

นายมิเชลกล่าวว่า สหภาพยุโรป จะให้ความช่วยเหลือทั้งทางการเมือง มนุษยธรรม และทางการเงินแก่ยูเครนต่อไป และรับปากว่าจะช่วยฟื้นฟูประเทศยูเครนด้วย

และสงครามนี้กำลังทำให้สหภาพยุโรปเปลี่ยนไป โดยได้มีการมอบสถานะผู้สมัครสมาชิกสหภาพยุโรปให้แก่ยูเครนและมอลโดวา และชาติอื่น ๆ ที่ต้องการจะเดินตามรอย

นายมิเชลกล่าวด้วยว่า สงครามนี้ ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไปนับตั้งแต่การประชุมสุดยอดจี7 ที่คอร์นวอลล์ ของสหราชอาณาจักรเมื่อปีที่แล้ว "โลกกำลังจับตามอง เรามาตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้องและปกป้องกฎหมายระหว่างประเทศกันเถอะ"

รัสเซียยึดเซเวอโรโดเนตสก์สำเร็จ

กระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักร ระบุว่า การยึดเมืองเซเวอโรโดเนตสก์ทางตะวันออกของยูเครนเป็นความสำเร็จที่สำคัญของรัสเซียในบริบทที่รัสเซียได้มีการปรับลดความทะเยอทะยานลง

ในเดือน เม.ย. ช่วงที่มีการบุกยูเครนได้ 2 เดือน รัสเซียได้ปรับแผนการโจมตีอย่างฉับพลัน จากที่ตั้งเป้าจะยึดพื้นที่ส่วนใหญ่ของยูเครน มาเป็นการมุ่งเน้นการบุกภูมิภาคดอนบาสเพิ่มขึ้น

ทหารยูเครน (ในภาพ) ต้านทานการบุกของรัสเซียเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ในเมืองเซเวอโรโดเนตสก์

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, ทหารยูเครน (ในภาพ) ต้านทานการบุกของรัสเซียเป็นเวลานานหลายสัปดาห์ในเมืองเซเวอโรโดเนตสก์

การยึดเมืองเซเวอโรโดเนตสก์เป็นส่วนสำคัญของแผนการดังกล่าว เพราะมันคือศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมที่สำคัญและมีที่ตั้งที่สำคัญทางยุทธศาสตร์แถบแม่น้ำซีเวอร์สกี โดเนตส์

อย่างไรก็ตาม กระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักร ระบุในการแถลงข้อมูลประจำวันเกี่ยวกับยูเครนว่า "มันเป็นเพียงหนึ่งในเป้าหมายที่ท้าทายหลายอย่างที่รัสเซียจะต้องทำให้ได้ในการยึดภูมิภาคดอนบาสให้ได้ทั้งหมด"

"รวมถึงการบุกศูนย์กลางที่สำคัญอย่างเมืองครามาทอร์สก์ และการรักษาเส้นทางขนส่งเสบียงที่สำคัญไปยังเมืองโดเนตสก์" กระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักรระบุ

รัสเซียรับปากส่งขีปนาวุธที่ติดหัวรบนิวเคลียร์ได้ให้เบลารุส

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย กล่าวว่า รัสเซียจะส่งระบบขีปนาวุธพิสัยใกล้ที่สามารถติดตั้งหัวรบนิวเคลียร์ได้ให้แก่เบลารุส ชาติพันธมิตรของรัสเซียในอีกไม่กี่เดือนนี้

เขากล่าวว่า ระบบขีปนาวุธอิสกันเดอร์-เอ็ม (Iskander-M) "สามารถยิงขีปนาวุธร่อนและขีปนาวุธทิ้งตัวทั้งในแบบที่เป็นอาวุธทั่วไปและอาวุธนิวเคลียร์ได้"

ระบบขีปนาวุธนี้มีพิสัยสูงสุด 500 กิโลเมตร

ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกได้เพิ่มสูงขึ้น หลังจากที่ประธานาธิบดีปูติน ตัดสินใจบุกยูเครนเมื่อ 24 ก.พ. ที่ผ่านมา

ขีปนาวุธอิสกันเดอร์

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ขีปนาวุธอิสกันเดอร์ มีพิสัยสูงสุด 500 กิโลเมตร (แฟ้มภาพ)

นายปูติน ได้พูดถึงอาวุธนิวเคลียร์หลายครั้งนับตั้งแต่นั้นมา ซึ่งคนบางส่วนได้ตีความว่า เป็นการเตือนชาติตะวันตกไม่ให้เข้ามาแทรกแซง

การพูดในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก นายปูติน กล่าวว่า รัสเซีย จะช่วยดัดแปลงเครื่องบินรบเอสยู-25 (SU-25) ของเบลารุส เพื่อที่จะใช้ในการขนส่งอาวุธนิวเคลียร์ได้

ในการหารือกับประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ของเบลารุสในนครเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เมื่อวันเสาร์ (25 มิ.ย.) นายปูตินกล่าวว่า "เราได้ตัดสินใจแล้วว่า ภายใน 2-3 เดือนต่อไปนี้ เราจะส่งระบบขีปนาวุธเชิงยุทธวิธีอิสกันเดอร์-เอ็มให้เบลารุส"

ก่อนหน้านี้ รัสเซียได้มีการส่งขีปนาวุธอิสกันเดอร์ไปประจำการที่เมืองคาลินินกราด ดินแดนขนาดเล็กในบอลติกของรัสเซียที่ถูกขนาบข้างระหว่างลิทัวเนียและโปแลนด์ซึ่งต่างก็เป็นสมาชิกของนาโต

ประธานาธิบดีรัสเซียและเบลารุสยังได้หารือกันเกี่ยวกับการตัดสินใจของลิทัวเนียในการไม่ให้มีการขนส่งสินค้าเข้าออกจากคาลินินกราดด้วย ซึ่งเป็นท่าทีที่ทำให้รัฐบาลรัสเซียไม่พอใจ

ผู้นำเบลารุสกล่าวว่า ท่าทีดังกล่าวของลิทัวเนียคือ "การประกาศสงครามอย่างหนึ่ง" และ "ไม่อาจยอมรับได้"