ภัยพิบัติฟุกุชิมะ : เกิดอะไรขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์

ผู้หญิงคนหนึ่งร้องไห้อยู่บนถนนในจังหวัดมิยากิ หลังเกิดแผ่นดินไหวปี 2011

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, แผ่นดินไหวในปี 2011 มีความรุนแรงที่สุดเท่าที่เคยบันทึกสถิติไว้ในญี่ปุ่น

ช่วงบ่ายของวันศุกร์ในเดือน มี.ค. เมื่อ10 ปีก่อน ได้เกิดแผ่นดินไหวนอกชายฝั่งทางตะวันออกของญี่ปุ่น นับเป็นแผ่นดินไหวทรงพลังที่สุดเท่าที่ญี่ปุ่นเคยเก็บบันทึกสถิติมา

แผ่นดินไหวขนาด 9 รุนแรงมากจนทำให้แกนของโลกขยับออกจากแนวเดิม และทำให้เกิดคลื่นยักษ์สึนามิที่พัดถล่มเกาะฮอนชู เกาะหลักแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น และทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 18,000 คน เมืองหลายแห่งถูกซัดถล่มจนจมหายไปทั้งเมือง

ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ คลื่นยักษ์ได้ซัดถล่มแนวป้องกันและเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์จนทำให้เกิดหายนะครั้งใหญ่ ทางการได้กำหนดเขตหวงห้ามไม่ให้คนเข้าและมีขยายพื้นที่ออกไปเรื่อย ๆ ตามการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้า และต้องมีการอพยพประชาชนออกจากพื้นที่มากกว่า 150,000 คน

หนึ่งทศวรรษต่อมา ยังคงมีพื้นที่ที่ถูกกำหนดเป็นเขตหวงห้าม ผู้คนที่เคยอยู่อาศัยในเมืองหลายคนยังไม่ได้กลับบ้าน ทางการเชื่อว่าจะต้องใช้เวลานานถึง 40 ปี ในการจัดการฟื้นฟูพื้นที่ให้แล้วเสร็จ ซึ่งญี่ปุ่นใช้เงินไปแล้วหลายล้านล้านเยน

โรงไฟฟ้าตั้งอยู่ที่ไหน

โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ (Fukushima Daiichi Nuclear Power Plant) อยู่ในเมืองโอคุมะ จังหวัดฟุกุชิมะ ตัวโรงไฟฟ้าตั้งอยู่บนชายฝั่งทางตะวันออกของประเทศ ห่างจากกรุงโตเกียวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือราว 220 กม.

แผนที่ฟุกุชิมะ
1px transparent line

วันที่ 11 มี.ค. 2011 เวลา 14.46 น. ตามเวลาท้องถิ่น (ตรงกับ 12.46 น. ตามเวลาในประเทศไทย) เกิดแผ่นดินไหวที่มีชื่อเรียกว่า แผ่นดินไหวใหญ่ทางฝั่งตะวันออกของญี่ปุ่น (Great East Japan Earthquake) หรือ แผ่นดินไหวโตโฮกุ 2011 (2011 Tohoku earthquake) ทางตะวันออกของเมืองเซนได ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าไปทางเหนือ 97 กม.

ผู้พักอาศัยในเมืองได้รับการแจ้งเตือนเพียง 10 นาที ก่อนที่คลื่นยักษ์สึนามิจะเคลื่อนตัวมาถึงชายฝั่ง

โดยรวมแล้วแผ่นดินไหว สึนามิ และอุบัติเหตุทางนิวเคลียร์ครั้งนี้ ทำให้มีผู้ต้องละทิ้งบ้านเรือนเกือบ 500,000 คน

เกิดอะไรขึ้นที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ

ระบบควบคุมต่าง ๆ ซึ่งติดตั้งอยู่ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ตรวจพบว่ามีการเกิดแผ่นดินไหว และเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ทุกเครื่องหยุดทำงานโดยอัตโนมัติ ขณะที่เครื่องปั่นไฟฉุกเฉินที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซล ทำงานเพื่อสูบสารหล่อเย็นไปยังรอบ ๆ แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์ ซึ่งยังคงร้อนระอุอย่างมาก หลังจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หยุดทำงาน

แต่ไม่นานหลังจากนั้น คลื่นยักษ์สูงกว่า 14 เมตร ก็ซัดถล่มโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ กำแพงป้องกันคลื่นไม่สามารถป้องกันได้ น้ำทะเลทะลักเข้าท่วมโรงไฟฟ้าทำให้เครื่องปั่นไฟฉุกเฉินหยุดทำงาน

สึนามิซัดข้ามกำแพงกันคลื่นทะลักเข้ามาท่วมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ มี.ค. 2011

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, สึนามิซัดข้ามกำแพงกันคลื่นทะลักเข้ามาท่วมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์
ภาพถ่ายทางดาวเทียมแสดงให้เห็นไฟไหม้ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ มี.ค. 2011

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ความเสียหายนำไปสู่การหลอมละลายนิวเคลียร์และการระเบิดไฮโดรเจนหลายครั้ง

คนงานรีบกู้ระบบไฟฟ้า แต่เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น อุณหภูมิในเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ 3 เตา เพิ่มสูงขึ้นจนร้อนจัด ส่งผลให้แกนปฏิกรณ์นิวเคลียร์บางส่วนหลอมละลาย สภาพการณ์เช่นนี้เรียกว่าการหลอมละลายนิวเคลียร์ (nuclear meltdown)

นอกจากนี้ยังเกิดการระเบิดของสารเคมีหลายครั้งสร้างความเสียหายให้กับอาคารหลายหลัง สารกัมมันตรังสีเริ่มรั่วไหลออกสู่บรรยากาศและมหาสมุทรแปซิฟิก ทำให้ต้องมีการอพยพผู้คน และขยายเขตพื้นที่ห้ามเข้าเพิ่มเติมอีก

มีคนได้รับบาดเจ็บกี่คน

ไม่มีผู้เสียชีวิตในทันทีช่วงที่เกิดภัยพิบัตินิวเคลียร์ มีเพียงคนงานได้รับบาดเจ็บอย่างน้อย 16 คน จากแรงระเบิด แต่คนงานอีกหลายสิบคนต้องสัมผัสกับสารกัมมันตรังสี ในระหว่างที่พยายามหาทางลดความเย็นของเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ และควบคุมเหตุการณ์เฉพาะหน้า

มีรายงานว่า มีผู้ถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล 3 คน หลังจากสัมผัสกับสารกัมมันตรังสีในปริมาณสูง

ผลกระทบระยะยาวจากสารกัมมันตรังสีที่รั่วไหลเป็นเรื่องหนึ่งที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง องค์การอนามัยโลก (World Health Organization--WHO) ได้เผยแพร่รายงานในปี 2013 ระบุว่า ภัยพิบัตินิวเคลียร์จะไม่เป็นสาเหตุทำให้อัตราการป่วยเป็นมะเร็งเพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกตในภูมิภาค ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ทั้งในและนอกญี่ปุ่นเชื่อว่า นอกจากภูมิภาคโดยรอบโรงไฟฟ้านิวเคลียร์แล้ว ความเสี่ยงที่เกิดจากสารกัมมันตรังสีในบริเวณอื่นยังค่อนข้างต่ำมาก

อย่างไรก็ดี มีคนจำนวนมากเชื่อว่ายังมีอันตรายมีมากกว่านั้น ชาวเมืองยังคงกังวล แม้ว่าเจ้าหน้าที่ทางการได้ยกเลิกข้อจำกัดต่าง ๆ ในหลายพื้นที่แล้ว แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังไม่เดินทางกลับไปยังบ้านเดิมของตัวเอง

ในปี 2018 รัฐบาลญี่ปุ่น ประกาศว่าคนงานคนหนึ่งได้เสียชีวิตหลังจากสัมผัสกับสารกัมมันตรังสี และยอมรับที่จะจ่ายเงินชดเชยให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต อย่างไรก็ตาม ยังมีคนอีกจำนวนหนึ่งที่ได้รับการยืนยันว่า เสียชีวิตในช่วงที่มีการอพยพออกจากพื้นที่ รวมถึงคนไข้ในโรงพยาบาลหลายสิบคนที่ต้องถูกเคลื่อนย้าย เพราะเกรงว่าจะได้รับสารกัมมันตรังสี

คนงานตรวจหาสารกัมมันตรังสีจากเด็กชายคนหนึ่ง ใกล้กับโรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ มี.ค. 2011

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่ทางการคัดกรองประชาชนที่สัมผัสสารกัมมันตรังสี ในช่วงเกิดภัยพิบัติ

ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (International Atomic Energy Agency—IAEA) กำหนดให้ภัยพิบัติฟุกุชิมะ เป็นเหตุการณ์ระดับ 7 และเป็นภัยพิบัติที่ 2 ที่อยู่ในระดับชั้นนี้หลังจากเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าเชอร์โนบิลในยูเครน ระเบิดเมื่อปี 1986

ใครคือคนผิด

มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องการขาดการเตรียมพร้อมและความสับสนในการรับมือกับเหตุการณ์นี้ ทั้งจากบริษัทโตเกียวอิเล็กทริกพาวเวอร์ (Tokyo Electric Power--Tepco) ผู้ดำเนินการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ และจากรัฐบาลญี่ปุ่นเอง

คณะกรรมการสอบสวนอิสระที่รัฐสภาญี่ปุ่นตั้งขึ้นสรุปว่าสิ่งที่เกิดขึ้นที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะเป็น "ภัยพิบัติที่เกิดจากฝีมือมนุษย์อย่างแท้จริง" และกล่าวโทษบริษัทโรงไฟฟ้าว่าล้มเหลวในการปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านความปลอดภัย หรือการวางแผนรับมือกับเหตุการณ์เช่นนี้ อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 ศาลญี่ปุ่นได้ตัดสินให้อดีตผู้บริหารของเทปโก 3 คน พ้นผิดจากข้อกล่าวหาประมาทเลินเล่อ ซึ่งเป็นคดีอาญาเพียงคดีเดียวที่เกิดขึ้นจากภัยพิบัตินี้

นักเคลื่อนไหวด้านนอกศาลในกรุงโตเกียว หลังมีการไต่สวนผู้บริหารของเทปโกเกี่ยวกับภัยพิบัติฟุกุชิมะ ปี 2019

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ภัยพิบัติครั้งนั้นทำให้ประชาชนไม่พอใจ และมีการย้ายบ้านให้อยู่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในญี่ปุ่น

ในปี 2012 นายโยชิฮิโกะ โนดะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในขณะนั้น กล่าวว่า รัฐเองก็มีส่วนทำให้เกิดภัยพิบัตินี้เช่นกัน และในปี 2019 ศาลตัดสินให้รัฐบาลญี่ปุ่นต้องรับผิดชอบบางส่วน และควรจ่ายค่าชดเชยให้แก่ผู้อพยพออกจากพื้นที่เกิดเหตุ

มีแผนทำความสะอาดพื้นที่อย่างไร

แม้เวลาจะผ่านมาถึง 10 ปีแล้ว แต่เมืองหลายแห่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของญี่ปุ่นยังเป็นพื้นที่หวงห้าม และทางการกำลังทำความสะอาดพื้นที่เพื่อให้ชาวเมืองกลับเข้ามาได้

ในเวลาเดียวกันยังคงมีความท้าทายสำคัญหลายอย่าง และจำเป็นต้องใช้แรงงานหลายหมื่นคนในช่วง 30-40 ปีข้างหน้า ในการกำจัดกากนิวเคลียร์และแท่งเชื้อเพลิงอย่างปลอดภัย รวมถึงน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีอีกกว่า 1 ล้านตัน ที่ถูกเก็บไว้ที่โรงไฟฟ้า

แต่ชาวเมืองบางส่วนตัดสินใจที่จะไม่กลับไปที่นั่นอีก ทั้งด้วยเหตุผลเรื่องสารกัมมันตรังสี และไม่ต้องการหวนกลับไปยังสถานที่ที่เคยเกิดภัยพิบัติ แต่เลือกที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่ในเมืองอื่นแทน

ในปี 2020 สื่อหลายสำนักรายงานว่ารัฐบาลอาจเริ่มปล่อยน้ำที่ผ่านการกรองเพื่อลดการปนเปื้อนกัมมันตรังสีลงใน มหาสมุทรแปซิฟิก ตั้งแต่ปีหน้า

นักวิทยาศาสตร์บางส่วนเชื่อว่าผืนน้ำในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาลจะช่วยเจือจางน้ำที่มีการปนเปื้อน และทำให้ความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์และสัตว์ลดต่ำลง แต่กลุ่มสิ่งแวดล้อมกรีนพีซระบุว่า น้ำปนเปื้อนกัมมันตรังสีอาจสร้างความเสียหายถึงขั้นทำลายดีเอ็นเอของมนุษย์ได้

ทางการญี่ปุ่นระบุว่ายังไม่มีการตัดสินใจขั้นสุดท้ายว่าจะทำอย่างไรกับน้ำปนเปื้อนสารกัมมันตรังสีนี้

คำบรรยายวิดีโอ, ครบรอบ 10 ปี เหตุแผ่นดินไหว สึนามิ และภัยพิบัตินิวเคลียร์ในญี่ปุ่น