ปริญญ์ พานิชภักดิ์ : แม้มีผู้ร้องเรียนเพิ่ม เหยื่อ-ผู้เชี่ยวชาญ ชี้กระบวนการยุติธรรมไทยยังเป็นอุปสรรคต่อผู้ถูกล่วงละเมิด

ปริญญ์ พานิชภักดิ์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

  • Author, ชัยยศ ยงค์เจริญชัย
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

จำนวนผู้เสียหายที่ทนายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชน นำมาเปิดเผย มีมากขึ้นเรื่อย ๆ หลัง "ทนายตั้ม" ออกมากล่าวหา "รองหัวหน้าพรรค" คนหนึ่ง เรื่องการล่วงละเมิดทางเพศ จนนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ผู้อำนวยการศูนย์เลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และ ส.ก. ของพรรคประชาธิปัตย์ และทุกตำแหน่งที่มีในพรรค ท่ามกลางเสียงวิจารณ์และข้อสงสัยว่า ทำไมจึงมาเป็นข่าวในช่วงการเลือกตั้ง

เมื่อวานนี้ (21 เม.ย.) ทนายษิทราออกมาโพสต์ข้อความว่า ได้รับการบอกเล่าทางโทรศัพท์จากผู้เสียหายรายล่าสุด ที่อ้างว่าเมื่อปี 2002 ในสหราชอาณาจักร ขณะอายุ 25 ปี เธอถูกชายผู้นี้หลอกว่าจะช่วยพูดคุยกับผู้บริหารของธนาคารกลางของประเทศอังกฤษ หรือ Bank of England เพื่อให้เธอมาทำงานที่นี่ได้

หลังจากนั้นได้มีการนัดหมายให้มาพบที่อะพาร์ตเมนต์และถูกนายปริญญ์เข้ามาทำร้ายร่างกาย ลวนลาม และข่มขืน โดยผู้เสียหายรายนี้ได้มีการแจ้งความ จากนั้นมีผู้หญิงไทยผู้กว้างขวางคนหนึ่งในอังกฤษ โทรไปหาที่ทำงานพร้อมข่มขู่ให้เธอยุติการดำเนินคดี

ผู้เสียหายจากคดีของนายปริญญ์กำลังจุดประเด็นกระแส "Me Too" ในสังคมไทย ในขณะที่เหตุการณ์คล้าย ๆ กันเกิดขึ้นกับผู้หญิงไทยอีกจำนวนไม่น้อย แต่เพราะอะไรที่ทำให้ผู้เสียหายจากคดีการล่วงละเมิดทางเพศเลิกที่จะไม่ออกมาต่อสู้เพื่อสิทธิและศักดิ์ศรีของตัวเอง

กระบวนการไม่เป็นมิตร

ดร.ชเนตตี ทินนาม อาจารย์ประจำภาควิชาการสื่อสารมวลชน คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เชี่ยวชาญประเด็นเพศสภาพและเพศวิถีเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยไม่เป็นมิตรต่อผู้หญิง และมีช่องโหว่ทางกฎหมายหลายด้านที่ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากเลือกที่จะเงียบเวลากลายเป็นผู้เสียหาย

ดร.ชเนตตี ทินนาม

ที่มาของภาพ, Chanette Tinnam

คำบรรยายภาพ, ดร.ชเนตตี ทินนาม เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมในประเทศไทยไม่เป็นมิตรต่อผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากเลือกที่จะเงียบเวลากลายเป็นผู้เสียหาย

มูลนิธิหญิงชายก้าวไกลได้เผยผลการสำรวจประจำปีเกี่ยวกับเรื่องที่ผู้หญิงถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยผลสำรวจล่าสุดเมื่อปี 2564 พบว่าไม่ต่ำกว่า 70% ของผู้หญิงไทยเคยตกเป็นเหยื่อของการถูกคุกคามทางเพศเลือกที่จะเงียบและไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม

"ผู้หญิงที่กล้าเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้มันแค่หยิบมือเดียว เป็นส่วนน้อยมาก ๆ นั่นเป็นเพราะผู้หญิงไม่รู้สึกว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยเป็นมิตรและช่วยเหลือผู้หญิงได้จริง ๆ" ดร.ชเนตตีอธิบาย

"ในอดีตกฎหมายไทยอนุญาตให้คดีความที่เกี่ยวข้องกับเรื่องราวทางเพศเป็นเรื่องที่ไกล่เกลี่ยกันได้ เพราะฉะนั้นคดีส่วนใหญ่ก็จะไปจบที่การไกล่เกลี่ย เพราะว่ามันก็จะมีเรื่องของการต้องการที่จะรักษาชื่อเสียงของทั้งสองฝ่าย แต่ในปัจจุบันกฎหมายแก้ไขให้เป็นอาญาแผ่นดิน และยอมความไม่ได้"

ดร.ชเนตตีอธิบายเพิ่มเติมว่าถึงแม้ว่าผู้หญิงจะกล้าพอที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิบนเนื้อตัวบนร่างกายของตัวเองโดยการแจ้งความ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แต่สุดท้ายแล้วกระบวนการยุติธรรมก็จะค่อย ๆ ตะล่อมให้ต้องเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย

ในสังคมไทยผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของคดีล่วงละเมิดทางเพศ กลายเป็นฝ่ายรับ มักถูกตำหนิว่าไม่ดูแลตัวเองให้ดี หรือว่าเปิดโอกาสให้อีกฝ่าย หรือสมยอมเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเงินหรือทางการเมือง และหลายคนก็ถูกกล่าวหาว่าต้องการไต่เต้าไปสู่ระดับการงานที่สูงกว่า

"สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่ามันมีแต่เสียเปรียบในกระบวนการยุติธรรม เพราะชื่อเสียงของผู้หญิงไม่เคยได้รับการปกป้องในเชิงศักดิ์ศรีเลย ทันทีที่เรื่องเหล่านี้ได้ถูกเผยแพร่ออกไป และการไปอยู่ในกระบวนการยุติธรรมก็ใช้เวลานานมากด้วยในคดีความทางเพศ ถ้าผู้หญิงตัดสินใจที่จะสู้ไปให้ถึงที่สุดกระบวนการมันล่าช้าเกินกว่าเหตุมาก" ดร.ชเนตตีกล่าวกับบีบีซีไทย

Lawyer

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ระบบอำนาจนิยมในไทย

ปัญหาหลักที่เกิดขึ้นอาจไม่ได้เกิดจากกระบวนการยุติธรรมเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเกิดจากการแทรกแซงโดยระบบอำนาจด้านอื่นประกอบด้วย

"เราต้องเข้าใจว่าระบบอำนาจนิยมของประเทศไทยมันไม่ธรรมดา เราไม่รู้ว่ากลไกโครงสร้างต่าง ๆ ที่มันไม่เอื้ออำนวยต่อความเป็นธรรมทางเพศ บางทีมันถูกระบบอำนาจนิยมในรูปแบบต่าง ๆ เข้าแทรกแซงการทำงาน ทำให้กระบวนการทุกอย่างมันช้าลง การอำนวยความยุติธรรมต่อผู้เสียหายมันทอดเวลาไปนาน จนทำให้เกิดบาดแผลที่ยาวนานขึ้น จนทำให้ผู้หญิงหลายคนหยุดกระบวนการยุติธรรมแต่แรก หรือถ้าไปแจ้งความแล้วก็ถูกกล่อมให้เข้าสู่ขั้นตอนการไกล่เกลี่ย" ดร.ชเนตตีกล่าวเสริม

"กระบวนการไกล่เกลี่ยนี้ไม่ได้ช่วยให้ผู้กระทำความผิดสำนึก หรือทำให้สังคมเกิดการเรียนรู้อะไร เพราะท้ายที่สุดแล้วทุกคนก็จะเชื่อว่าเดี๋ยวเรื่องมันก็จะจบที่การไกล่เกลี่ยอยู่ดี"

"เราต้องมาจัดการกับระบบอำนาจนิยมที่แฝงและฝังรากลึกอยู่ในกระบวนการยุติธรรมไทย ส่วนใหญ่ผู้กระทำความผิดในคดีล่วงละเมิดทางเพศเป็นผู้ที่มีอำนาจมากในสังคม ความเป็นชายในสังคมไทยมันเอื้อให้เกิดการใช้อำนาจเหนือเพศอื่น"

ดร.ชเนตตีอธิบายเสริมว่าสังคมไทยไม่จริงจังกับการสอนผู้ชายให้เคารพร่างกายของเพศอื่น สังคมไทยสอนให้ลูกผู้ชายมีอิสระเสรีในเรื่องเพศได้ สามารถแสดงออกทางเพศได้ และการเป็นคนเจ้าชู้ไม่ผิด ถึงแม้ว่ากฎหมายไทยจะเป็นระบบผัวเดียวเมียเดียว แต่ก็เอื้อให้เพศชายมีเสรีภาพทางเรื่องเพศผ่านการอ้างอิงเรื่องของวัฒนธรรม ประเพณีและทำให้เรื่องเพศเป็นเรื่องที่ตามอำเภอใจได้

Lawyer

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เสียงจากผู้เสียหาย ตกเป็นเหยื่อเพราะความไว้ใจ

เอ๋ (นามสมมุติ) มีความมุ่งมั่นที่จะทำงานในเส้นทางสื่อสารมวลชน ตั้งความหวังว่าจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากการฝึกงาน 4 เดือน ที่องค์กรข่าวออนไลน์แห่งหนึ่งให้ได้มากที่สุดเพื่อนำไปใช้ประกอบการทำงานในอนาคตของเธอ

เมื่อเริ่มฝึกงาน เอ๋ไปร่วมงานเลี้ยงส่งนักศึกษาฝึกงานคนก่อนหน้าเธอ ทำให้เธอได้พบกับชาย (นามสมมุติ) นักข่าวคนหนึ่งขององค์กรข่าวนี้ และต่อมาเธอได้ขอเพิ่มเขาเป็นเพื่อนทางเฟซบุ๊ก เพื่อขยายเครือข่ายผู้สื่อข่าวสำหรับการทำงานในอนาคต

ชายเริ่มตีสนิทกับเอ๋ ส่งข้อความส่วนตัวมาถามสารทุกข์สุขดิบบ่อยครั้ง ขณะที่เพื่อนร่วมงานทราบถึงสภาพจิตใจที่ย่ำแย่ของเธอจากการถูกเพื่อนสนิทล่วงละเมิดทางเพศ และมีปัญหากับแฟน

เอ๋เลือกตอบข้อความชายเป็นบางครั้ง เพราะกลัวถูกมองว่าเป็นนักศึกษาฝึกงานที่ไม่มีมารยาท แต่ไม่อยากให้ความสัมพันธ์เกินเลยไป และยังไม่อยากเริ่มความสัมพันธ์ครั้งใหม่ เธอนำเรื่องนี้ไปหารือกับเพื่อนร่วมงานของชาย โดยพวกเขามองว่าเป็นเรื่องปกติหรือเป็นนิสัยของชาย และแนะนำให้เธอหาทางหลบเลี่ยงเอาเอง

แต่เอ๋ก็หลีกเลี่ยงชายไม่ได้เมื่อถูกมอบหมายให้ไปทำงานที่ต่างจังหวัดด้วยกัน และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของความสัมพันธ์ที่นำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศ เธอตัดสินใจร้องเรียนเรื่องนี้ต่อต้นสังกัดของชาย แต่เขาอ้างว่าเธอ "ให้ท่า" เขาและเต็มใจมีเพศสัมพันธ์เพราะฝ่ายหญิงแสดงท่าที "คล้ายว่ามีอารมณ์ร่วม"

ปริญญ์ พานิชภักดิ์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายปริญญ์ พาณิชภักดิ์ อดีตรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เข้ารายงานตัวต่อพนักงานสอบสวน สน.ลุมพินี ในคดีกระทำอนาจารแก่บุคคลอายุมากกว่า 15 ปีและข่มขื่นกระทำชำเราเมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2565

เหมือนถูกข่มขืนซ้ำ

หญิงผู้เสียหายจากการล่วงละเมิดทางเพศหลายคนเลือกที่จะไม่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพราะไม่ต้องการถูกสอบสวนโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เป็นเพศชาย และบางส่วนก็ไม่เชื่อในการทำงานของตำรวจ

เอ๋บอกกับบีบีซีไทยว่าไม่เชื่อมั่นในการทำงานของตำรวจ ที่เธอมองว่าไม่มีความกระตือรือร้นที่จะทำคดีและมีความเข้าใจในเรื่องการคุกคามทางเพศน้อย

"เราไม่อยากโดนข่มขืนซ้ำจากการตั้งคำถามหรือโทษเราในฐานะเหยื่อ" เอ๋กล่าว

"ไม่ได้ต้องการให้เขาติดคุกหรืออะไร เพราะคิดว่ากระบวนการยุติธรรมแบบตำรวจ ศาล คุก ไม่ได้ทำให้เขาเปลี่ยนความคิดได้ เลยตัดสินใจเลือกร้องเรียนภายในองค์กรแทน การร้องเรียนลักษณะนี้จะเน้นกระบวนการเจรจาพูดคุย การอบรมเปลี่ยนความคิดของผู้กระทำเป็นหลัก ซึ่งคิดว่าดีกว่าในระยะยาว"

ดร.ชเนตตีอธิบายว่าการที่ผู้หญิงไม่แจ้งความในทันที เพราะการคุกคามทางเพศนั้นมักกล่าวโทษผู้หญิงเสมอว่าเป็นต้นเหตุของการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ค่านิยมของสังคมที่ยังยกย่องผู้หญิงดีว่าต้องรักนวลสงวนตัว ไม่ชิงสุกก่อนห่าม ต้องรักษาความบริสุทธิ์เอาไว้ ทำให้เป็นอุปสรรคสำคัญทำให้ผู้หญิงไม่กล้าแจ้งความ

"กระบวนการสืบสวนของตำรวจไม่เข้าใจความอ่อนไหวของผู้หญิงที่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนี้ ทำให้ผู้หญิงรู้สึกว่าถูกข่มขืนซ้ำโดยกระบวนการสืบสวนสอบสวนของตำรวจ"

"หลังจากนั้นการรายงานข่าวของสื่อก็เปรียบเสมือนการข่มขืนซ้ำอีกรอบ เพราะการรายงานข่าวของบางสื่อมีรายละเอียดในเชิงลึกมาก และเมื่อถูกรายงานออกไปแล้วสังคมโลกออนไลน์ที่ให้ความสนใจในเรื่องเกี่ยวกับเพศมาก ก็จะเริ่มเกิดการล่าแม่มดและหารายละเอียดของคนในคดี ทำให้เหมือนถูกข่มขืนซ้ำอีกรอบ" ดร.ชเนตตีกล่าว

พรรคประชาธิปัตย์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, กลุ่มที่เรียกตัวเองว่า "เฟมินิสต์ปลดแอก" และ "ราษฎรมูเตลู" จัดกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์บริเวณหน้าพรรคประชาธิปัตย์วันนี้ (18 เม.ย.) เพื่อวิจารณ์ท่าทีของพรรคต่อกรณีที่อดีตรองหัวหน้าพรรคถูกกล่าวหาว่าก่อเหตุข่มขืนและล่วงละเมิดทางเพศ

ต้องสร้างระบบเยียวยา

ดร.ชเนตตีเห็นว่าเรื่องนี้ไม่ควรเป็นภาระของผู้หญิงที่ต้องออกมาสู้กับระบบอำนาจนิยม แต่สังคมต่างหากที่ต้องออกมาสร้างความมั่นใจให้กับผู้หญิง ว่าถ้าพวกเธอออกมาเรียกร้องแล้วต้องไม่เกิดเรื่องของการถูกข่มขืนซ้ำโดยสังคม

"เมื่อใดก็ตามที่มีผู้หญิงต้องการออกมาบอกว่าตนเองถูกล่วงละเมิดทางเพศ สังคมต้องเตรียมระบบการเยียวยาให้พวกเธอ ต้องคิดถึงกลไกของการเยียวยาเป็นลำดับแรก ๆ"

ผู้หญิงหลายคนกังวลกับชีวิตหลังกระบวนการยุติธรรมว่าคดีสิ้นสุดแล้วเป็นอย่างไรต่อ จะยังอยู่ในสังคมได้อย่างมีศักดิ์ศรีต่อได้หรือไม่

"สังคมต้องสร้างระบบการเยียวยาหลังกระบวนการยุติธรรม ให้ผู้หญิงรู้สึกว่ายังมีเพื่อน หลังจากนี้จะได้รับคืนศักดิ์ศรีที่หายไป ถ้ามีระบบนี้ได้ ผู้หญิงก็จะกล้าที่จะออกมา ตอนนี้ไม่อยากบอกใครให้ออกมาต่อสู้เรียกร้องความยุติธรรมให้ตัวเองในเมื่อสังคมไม่มีระบบเยียวยาอะไรให้ผู้หญิงเลย"

"การลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิของผู้หญิงหนึ่งคน ไม่ได้เป็นการเรียกร้องสิทธิให้แค่ตัวเอง แต่เป็นการส่งเสียงให้สังคม และผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่ออีกจำนวนมหาศาลว่าพวกเขาจะไม่โดดเดี่ยวอีกต่อไป"