ศาลอาญาคดีทุจริตฯ สั่งจำคุก "ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร" 3 ปี ผิด ม.157 คดี "บิลลี่" ส่วนข้อหาฆาตกรรมยกฟ้อง

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานพร้อมทนายความเดินทางถึงศาลเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

คำบรรยายภาพ, นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานพร้อมทนายความเดินทางถึงศาลเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา

วันนี้ (28 ก.ย.) ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง อ่านคำพิพากษาคดีฆาตกรรม นายพอละจี รักจงเจริญ” หรือ “บิลลี่” นักปกป้องสิทธิมนุษยชนชาวกะเหรี่ยง บ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี โดยตัดสินสั่งจำคุกนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เป็นเวลา 3 ปี ไม่รอลงอาญา ตามความผิดประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนข้อกล่าวหาฆาตกรรมบิลลี่ ศาลยกฟ้อง

ศาลพิเคราะห์พยานหลักฐานของโจทก์และจำเลยตามแนวทางไต่สวนแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 หรือ นายชัยวัฒน์ ไม่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ไม่นำตัวนายพอละจี พร้อมกับของกลางน้ำผึ้งส่งให้เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 จึงพิพากษาให้ลงโทษจำคุก 3 ปี ไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่เหลืออีก 3 คน ไม่มีเจตนาร่วมและสนับสนุนการกระทำผิด จึงไม่มีความผิดตามข้อกล่าวหานี้

ในข้อหาร่วมกันข่มขืนใจ หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังนายพอละจีให้จำยอมโดยกระทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายแก่ชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สิน ยังมีหลักฐานไม่เพียงพอ ทำให้ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยทั้ง 4 คน

และในข้อหาสุดท้าย ร่วมกันฆ่านายพอละจีโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ผลการตรวจดีเอ็นเอชิ้นส่วนกระดูกขมับข้างซ้ายของวัตถุพยานที่พบใต้น้ำเขื่อนแก่งกระจาน ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นชิ้นส่วนกระดูกของนายพอละจี ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ศาลยกฟ้องในข้อหานี้ทั้งหมดเช่นกัน

ล่าสุด ศาลอาญาทุจริตฯ ได้ให้ประกันนายชัยวัฒน์ ชั้นอุทธรณ์คดี โดยตีราคาประกัน 800,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

นอกจากนายชัยวัฒน์ พร้อมลูกน้องและทนายความเดินทางมารับฟังคำพิพากษาในวันนี้แล้ว ยังมีนางพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ เดินทางมาร่วมฟังการอ่านคำพิพากษาคดีในวันนี้ด้วย

ภาพหน้าของบิลลี่

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

ผลการตรวจดีเอ็นเอชิ้นส่วนกระดูกไม่ยืนยันว่าเป็นของบิลลี่

ในเอกสารศาลที่เผยแพร่สื่อมวลชนระบุถึงผลการตรวจไมโทคอนเดรียดีเอ็นเอชิ้นส่วนกระดูก Temporal (กระดูกขมับ) ข้างซ้าย ซึ่งเป็นวัตถุพยานที่พบใต้น้ำในเขื่อนแก่งกระจาน เป็นของบุคคลที่เป็นลูกของนางโพเราะจี หรือเป็นหลานของนางนอกะเต แม่ของนางโพเราะจี เนื่องจากสารพันธุกรรมในไมโทคอนเดรียเป็นพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นของบุคคลใด

ส่วนการวิเคราะห์กระดูกวัตถุพยาน พบว่าเป็นของบุคคลอายุ 20 ปีขึ้นไป ไม่สามารถบอกเพศ ความสูง และเชื้อชาติ ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพิสูจน์เอกลักษณ์ของบุคคลได้

การนำแผนผังเครือญาติมาใช้ประกอบผลการตรวจหาดีเอ็นเอแบบไมโทคอนเดรีย คดีนี้ยังมีข้อเท็จจริงที่ไม่เป็นการจำกัดวงอาจทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนได้ และไม่มีแพทย์หรือผู้ตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์ยืนยันผลได้ว่าชิ้นส่วนกระดูกวัตถุพยานเป็นของนายบิลลี่ จึงฟังไม่ได้แน่ชัดว่ากระดูก Tempora (กระดูกขมับ) ข้างซ้าย วัตถุพยานเป็นของนายพอละจีหรือบิลลี่ มีผลให้ฟังไม่ได้ว่านายบิลลี่ถึงแก่ความตายแล้วหรือไม่ ทำให้ไม่ครบองค์ประกอบความผิดฐานฆ่าผู้อื่น

ส่วนความผิดข้อหาร่วมกันเผาทำลายศพนายพอละจีหรือบิลลี่และเก็บชิ้นส่วนศพที่เหลือจากการเผา เศษเถ้า ถ่านและเศษสิ่งของอื่น ๆ ที่เหลือบรรจุใส่ถังน้ำมัน 200 ลิตร ไปทิ้งใต้น้ำบริเวณสะพานแขวน เขื่อนแก่งกระจาน เพื่อทำลายหลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของตน เพื่ออำพรางคดีแก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้น เมื่อพิสูจน์ไม่ได้ว่ากระดูก Temporal (กระดูกขมับ) ข้างซ้าย วัตถุพยานเป็นของนายพอละจีหรือบิลลี่ ประกอบกับโจทก์และโจทก์ร่วมทั้งสามไม่มีประจักษ์พยานและพยานแวดล้อมใกล้ชิดเห็นหรือเชื่อมโยงได้ว่าจำเลยทั้งสี่นำถังน้ำมันของกลางไปทิ้งในเขื่อน จึงไม่มีพยานรับฟังลงโทษจำเลยทั้งสี่

ดังนั้นสำหรับข้อหาร่วมกันฆาตรกรรมนายพอละจีโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ศาลจึงยกฟ้องจำเลยทั้งหมด เนื่องจากไม่สามารถพิสูจน์ได้อย่างสิ้นสงสัยว่าชิ้นส่วนกระโหลกที่พบเป็นของนายบิลลี่

"รัฐบาลและทุกฝ่ายจะต้องรับผิดชอบ"

น.ส.พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ในฐานะผู้ช่วยทนายฝ่ายภรรยาของนายบิลลี่กล่าวภายหลังการรับฟังคำพิพากษาในวันนี้ว่า "ทุกฝ่ายย่อมมีสิทธิที่จะอุทธรณ์คำสั่งที่ศาลได้พิจารณามา โดยทั้งหมดมี 5 ประเด็นเกี่ยวกับคำฟ้องของคดีนี้ โดยศาลสั่งลงโทษเพียงจำเลยที่ 1 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ในกรณีที่จับกุม ควบคุมตัวนายบิลลี่ พอละจี รักจงเจริญ พร้อมด้วยน้ำผึ้งป่าที่เป็นของต้องห้ามผิดกฎหมายแล้วไม่นำส่งพนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้อง ก็ถือได้ว่า เป็นการกระทำผิดกฎหมายทั้งกฎหมายบ้านเมืองและกฎหมาย"

อย่างไรก็ตาม ขั้นตอนต่อไป น.ส.พรเพ็ญระบุว่า จำเป็นต้องศึกษาคำสั่งของศาลโดยละเอียดอีกครั้ง เนื่องจากนายบิลลี่ยังคงถือเป็นบุคคลที่เจ้าหน้าที่รัฐทำให้สูญหายไปนั้บตั้งแต่วันที่ 17 เม.ย. 2557 ยังถือว่าเป็นการกระทำผิดทางกฎหมายทั้งกฎหมายอาญาปัจจุบันและกฎหมายอาญาระหว่างประเทศ และทำให้เกิดความเสียหายต่อครอบครัวและชุมชน

"ความรับผิดชอบนี้ย่อมกลับไปที่รัฐบาลและทุกฝ่ายที่จะต้องรับผิดชอบต่อชุมชนและครอบครัวของบิลลี่ ว่าจับกุมแล้วไม่นำส่งตัวให้เจ้าหน้าที่แล้วบิลลี่ไม่กลับมาสู่ครอบครัว" เธอกล่าวย้ำ

เธอบอกว่าจะต้องปรึกษาหารือกันต่อไป อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคิดว่าจะยื่นอุทธรณ์ต่อศาล

น.ส.พรเพ็ญระบุว่า จำเป็นต้องศึกษาคำสั่งของศาลโดยละเอียดอีกครั้ง

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, น.ส.พรเพ็ญระบุว่า จำเป็นต้องศึกษาคำสั่งของศาลโดยละเอียดอีกครั้ง

"ไม่มีอะไรจะพูด" นางพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่กล่าวต่อคำถามผู้สื่อข่าวที่สอบถามความรู้สึกภายหลังจากรับฟังคำสั่งศาลในวันนี้

"คืออยากรู้ข้อเท็จจริงว่าบิลลี่หายไปไหนตั้งแต่ปี 2557 จนถึงวันนี้ มันไม่มีคำตอบเลย ก็ไม่รู้จะเอาอะไรไปเชื่อได้" เธอกล่าวสั้น ๆ ก่อนยุติการให้สัมภาษณ์

"ไม่มีอะไรจะพูด" มึนอ ภรรยาของบิลลี่กล่าวต่อผู้สื่อข่าวสั้น ๆ เพื่อบรรยายความรู้สึกต่อคำพิพากษาของศาลในวันนี้  (28 ก.ย.)

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, "ไม่มีอะไรจะพูด" มึนอ ภรรยาของบิลลี่กล่าวต่อผู้สื่อข่าวสั้น ๆ เพื่อบรรยายความรู้สึกต่อคำพิพากษาของศาลในวันนี้ (28 ก.ย.)

ที่มาของคดี

ย้อนไปวันที่ 5 ก.ย. 2565 กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ได้นำตัวอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน และพวกรวม 4 คน ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เขตตลิ่งชัน กทม. เพื่อส่งตัวให้พนักงานอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ ในความผิดฐาน "ฆาตกรรมโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" บิลลี่-พอละจี รักจงเจริญ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนชาวปกาเกอะญอ

นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร

นอกจากนี้ คณะพนักงานสอบสวนคดีพิเศษของดีเอสไอยังแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติม นายชัยวัฒน์กับพวก ในความผิดฐานร่วมกันโดยมีอาวุธข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใดไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจนั้นเอง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และ 309 เมื่อ 31 ส.ค. 2565 ณ กองคดีความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และส่งผลการสอบสวนเพิ่มเติมไปยังพนักงานอัยการเมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2565

ด้านนายชัยวัฒน์ได้เดินหน้าสู้คดีเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธ์ โดยในวันที่ 5 ก.ย. 2565 ศาลอาญาคดีทุจริตฯ มีคำสั่งรับฟ้องนายชัยวัฒน์กับพวก แต่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างต่อสู้คดี โดยใช้หลักทรัพย์คนละ 800,000 บาท พร้อมกำหนดเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ เว้นแต่ศาลอนุญาต และห้ามยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน โดยที่ดีเอสไอและอัยการไม่ได้คัดค้านการประกันตัว

5 ข้อหาเดิมของนายชัยวัฒน์ และพวก มีอะไรบ้าง

บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลที่ปรากฏในสื่อมวลชน เกี่ยวกับข้อหาที่ทำให้อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานและพวกรวม 4 คนตกเป็นจำเลย ประกอบด้วย 5 ข้อหา ดังนี้

  • ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน
  • ร่วมกันโดยมีอาวุธข่มขืนใจผู้อื่นให้กระทำการใด ไม่กระทำการใดหรือจำยอมต่อสิ่งใด โดยทำให้กลัวว่าจะเกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย เสรีภาพ ชื่อเสียงหรือทรัพย์สินของผู้ถูกข่มขืนใจ
  • ร่วมกันหน่วงเหนี่ยวหรือกักขังผู้อื่นหรือกระทำด้วยประการใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย เป็นเหตุให้ผู้ถูกหน่วงเหนี่ยวถูกกักขังหรือต้องปราศจากเสรีภาพในร่างกายนั้นถึงแก่ความตาย
  • ร่วมกันโดยทุจริตหรืออำพรางคดีกระทำการใด ๆ แก่ศพหรือสภาพแวดล้อมในบริเวณที่พบศพ ก่อนการชันสูตรพลิกศพเสร็จสิ้นในประการที่น่าจะทำให้การชันสูตรพลิกศพหรือผลทางคดีเปลี่ยนแปลงไป
  • เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ

ย้อนเหตุการณ์การหายตัวของบิลลี่

สำหรับปมปัญหาก่อนหายตัวไปของนายบิลลี่ อาจต้องย้อนก่อนการประกาศพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานเมื่อปี 2524 ซึ่งพื้นที่ภายในนั้น ชาวบ้านบางกลอย-ใจแผ่นดิน ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวปกาเกอะญอที่อยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ป่า อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี มาก่อนแล้ว

บ้านไม้ยกพื้นสูงแบบเรียบง่ายที่มึนอพักอาศัยอยู่ในปัจจุบันกับแม่และลูกอีก 4 คนของเธอ

ที่มาของภาพ, CHARLOTTE PAMMENT/BBC

คำบรรยายภาพ, บ้านไม้ยกพื้นสูงแบบเรียบง่ายที่มึนอพักอาศัยอยู่ในปัจจุบันกับแม่และลูกอีก 4 คนของเธอ

ทว่า นับจากการประกาศเขตอุทยานแห่งชาติเป็นต้นมา พวกเขาถูกทางการไล่รื้อ บังคับอพยพอย่างน้อย ๆ 2 ครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในปี 2539 และ 2554 โดยมีการใช้ "ปฏิบัติการยุทธการตะนาวศรี" เผาบ้านและยุ้งฉางของชาวบ้านเพื่อบังคับย้ายชาวกะเหรี่ยงออกจากป่าใจแผ่นดิน

เหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้นายคออี้ มีมิ หรือ"ปู่คออี้" ผู้นำจิตวิญญาณชาวกะเหรี่ยง กลายเป็นที่รู้จัก เขายังเป็นผู้ฟ้องคดีที่กรมอุทยานฯ เผายุ้งฉางชาวกะเหรี่ยง โดยมีหลานชาย คือ นายบิลลี่ ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทนายความ และยังเก็บข้อมูลจากปู่คออี้ รวมทั้งผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการไล่ที่ เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการต่อสู้คดีในชั้นศาล

บิลลี่ ซึ่งขณะหายตัวไปมีอายุได้ 30 ปี เป็นแกนนำชาวกะเหรี่ยงที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยงในการอยู่อาศัยและทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน

ที่มาของภาพ, ครอบครัวรักจงเจริญ

คำบรรยายภาพ, บิลลี่ ซึ่งขณะหายตัวไปมีอายุได้ 30 ปี เป็นแกนนำชาวกะเหรี่ยงที่มีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยงในการอยู่อาศัยและทำกินในเขตอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน
  • ปมครอบครองน้ำผึ้งป่า 38 ขวด

การหายตัวไปอย่างปริศนาของนายบิลลี่เกิดขึ้นในช่วงเย็นของวันที่ 17 เม.ย. 2557 จากการสอบสวนชาวบ้านในพื้นที่ มีรายงานว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่อุทยานฯ แก่งกระจานควบคุมตัวไว้ฐานมีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง 38 ขวด และหลังจากนั้นก็ไม่มีใครพบเห็นเขาอีกเลย

มีรายงานว่าหนึ่งในเจ้าหน้าที่อุทยานฯ ที่ควบคุมตัวของเขาคือ นายชัยวัฒน์ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจานในเวลานั้น และมีรายงานว่าเจ้าหน้าที่ดังกล่าวได้ปล่อยตัวเขาไป

  • ครอบครัวเรียกร้องความเป็นธรรม

ต่อมาในเดือน ก.ค. 2557 นางพิณนภา พฤกษาพรรณ หรือ มึนอ ภรรยาของบิลลี่ร่วมกับเครือข่ายองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน ร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรี ขอให้มีการไต่ส่วนฉุกเฉินการหายตัวไปของนายบิลลี่ ทั้งศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกายกคำร้อง โดยให้เหตุผลว่าหลักฐานไม่เพียงพอ

มึนอ ภรรยาของบิลลี่ เชื่อมั่นว่าดีเอสไอจะนำตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของสามีของเธอมาลงโทษได้

ที่มาของภาพ, CHARLOTTE PAMMENT/BBC

คำบรรยายภาพ, มึนอ ภรรยาของบิลลี่ เชื่อมั่นว่าดีเอสไอจะนำตัวผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสียชีวิตของสามีของเธอมาลงโทษได้

ในเดือน เม.ย. 2559 ในวาระครบ 2 ปีการหายตัวไปของนายบิลลี่ เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม เขตงานตะนาวศรี ร้องทุกข์กล่าวโทษนายชัยวัฒน์ อดีตหัวหน้าอุทยานฯ แก่งกระจาน ข้อหากักขังหน่วงเหนี่ยวหรือกระทำการให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกาย

  • ดีเอสไอรับคดีการหายตัวไปของ "บิลลี่" เป็นคดีพิเศษ

กรณีดังกล่าวกลับมาถึงจุดผลิกผันอีกครั้งเมื่อวันที่ 28 มิ.ย. 2561 เมื่อดีเอสไอรับคดีการหายตัวไปของบิลลี่เป็นคดีพิเศษ

ครม. มีมติแต่งตั้ง พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม เมื่อ 15 ต.ค. 2562

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, ครม. มีมติแต่งตั้ง พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ไปเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม เมื่อ 15 ต.ค. 2562 ท่ามกลางความกังวลของกลุ่มสิทธิมนุษยชนว่าจะกระทบกับความต่อเนื่องของกระบวนการยุติธรรม

ต่อมาวันที่ 10 ก.ค. 2562 ดีเอสไอ โดย พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ในฐานะหัวหน้าชุดสืบสวนคดีบิลลี่ รายงานความคืบหน้าการสอบสวนว่า เจ้าหน้าที่ยังคงพยายามสืบหาข้อมูลพยานหลักฐาน และเผยว่ากำลังหาพยานหลักฐานสำคัญซึ่งไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ยืนยันว่าได้มีการส่งเจ้าหน้าที่แฝงตัวเข้าไปในพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลสำคัญ ช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ประเทศไทยยื่นขอขึ้นทะเบียนป่าแก่งกระจานเป็นมรดกโลก โดยผู้เชี่ยวชาญได้หยิบประเด็นว่าด้วยการละเมิดสิทธิชุมชนชาวกะเหรี่ยงแก่งกระจานมาพูดถึงด้วย

ภรรยาของนายบิลลี่ยื่นคำร้องต่อศาลจังหวัดเพชรบุรีในวันที่ 27 ส.ค. 2562 ขอให้ศาลสั่งให้นายบิลลี่เป็นบุคคลสาบสูญ หลังจากหายตัวไป 5 ปี โดยมีพยานหลักฐานน่าเชื่อถือได้ว่า นายบิลลี่ถูกบังคับให้หายสาบสูญโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และศาลกำหนดนัดไต่สวนวันที่ 28 ต.ค. ปีเดียวกัน

  • พบหลักฐานยืนยันว่า "บิลลี่" เสียชีวิตแล้ว

หลังจากดีเอสไอรับคดีการหายตัวไปของนายบิลลี่เป็นคดีพิเศษแล้ว ก็เริ่มการสอบสวนและลงพื้นที่และพิจารณาข้อมูลทั้งหมด พร้อมกับหาข่าวในพื้นที่เป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้พบจุดสำคัญว่า ผู้ก่อเหตุน่าจะทิ้งพยานหลักฐาน และรถจักรยานยนต์ของนายบิลลี่ที่หายไป

ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ที่พบเป็นส่วนกะโหลกศีรษะด้านท้ายทอยค่อนมาทางด้านหู มีรอยแตกร้าวและรอยไหม้

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ที่พบเป็นส่วนกะโหลกศีรษะด้านท้ายทอยค่อนมาทางด้านหู มีรอยแตกร้าวและรอยไหม้

ในการแถลงความคืบหน้าการสืบสวนสอบสวนคดีการหายตัวไปของนายบิลลี่ เมื่อวันที่ 3 ก.ย. 2562 ได้เปิดเผยหลักฐานสำคัญที่เชื่อมโยงกับการหายตัวไปของเขา โดยระบุว่า เมื่อช่วงเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่พบกระดูกกะโหลกมนุษย์ในถังขนาด 200 ลิตรที่จมอยู่ใต้น้ำ บริเวณสะพานแขวนเหนืออ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน การตรวจสอบพบว่ากระดูกที่พบมีสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอตรงกับนางโพเราะจี รักจงเจริญ มารดาของบิลลี่ จึงทำให้สามารถอนุมานได้ว่านายบิลลี่ได้เสียชีวิตแล้ว

ผศ. วรวีย์ ไวยวุฒิ ผู้อำนวยการกองสารพันธุกรรม สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กล่าวในระหว่างการแถลงข่าวครั้งนั้นระบุว่า จากการตรวจสอบชิ้นส่วนกระดูกมนุษย์ที่พบนั้น เป็นส่วนกะโหลกศีรษะด้านท้ายทอยค่อนมาทางด้านหู "ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของร่างกายมนุษย์หากไม่อยู่ในร่างกายแล้ว บุคคลนั้นคือเสียชีวิต นอกจากนี้ยังมีร่องรอยที่กระดูกผ่านการเผาไหม้"

  • "ชัยวัฒน์" ปฏิเสธผลการสืบสวนของดีเอสไอ

4 ก.ย. 2562 หนึ่งวันหลังจากการแถลงข่าวของดีเอสไอ นายชัยวัฒน์ ซึ่งเคยถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่อยู่ในเหตุการณืควบคุมตัวนายบิลลี่ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยว่า เจ้าหน้าที่ควบคุมตัวนายบิลลี่ฐานมีน้ำผึ้งป่าไว้ในครอบครอง 38 ขวด แต่หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่ก็ได้ปล่อยตัวไป

นอกจากนี้อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานกล่าวเสริมว่า เขาไม่เคยจับกุมชาวกะเหรี่ยงในป่าแก่งกระจาน ถ้าเป็นชุมชนที่อยู่มาดั้งเดิมและทำตามกฎหมาย พร้อมกับยืนยันว่าไม่เคยมองชาวกะเหรี่ยงในแง่ร้าย แต่เหตุที่ต้องนำปฏิบัติการการเผาบ้านปู่คออี้และชุมชนชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอยครั้งนั้น "เป็นเหตุผลด้านความมั่นคงและภัยคุกคาม"

  • "ชัยวัฒน์" ถูกปลดและถูกฟ้องดำเนินคดี

ในวันที่ 25 มี.ค. 2564 คณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีมติให้ปลดนายชัยวัฒน์ ออกจากราชการ หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ชี้มูลความผิด ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 ของประมวลกฎหมายอาญา โดยการเผาทำลายทรัพย์สินของชาวบ้านบางกลอยในป่าแก่งประจาน

ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หนึ่งในคนสุดท้ายที่พบเห็นบิลลี่เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, ชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน หนึ่งในคนสุดท้ายที่พบเห็นบิลลี่เมื่อวันที่ 17 เม.ย. 2557

ทว่า นายชัยวัฒน์ ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง โดยมีผู้ที่ถูกฟ้องประกอบด้วย กระทรวงทรัพยากรฯ , ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ และ ป.ป.ท. จากกรณีดังกล่าว เนื่องจากการมีคำสั่งให้ลงโทษปลดนายชัยวัฒน์ออกจากราชการ โดยไม่ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นทำการสอบสวนและไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหาให้นายชัยวัฒน์ทราบ น่าจะมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยกฎหมาย และการให้คำสั่งดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไปจะทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่นายชัยวัฒน์ที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง

การฟ้องร้องคดีนี้ดำเนินการจนสิ้นสุดถึงจนถึงศาลปกครองสูงสุดที่ยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นที่พิพากษาให้ทุเลาการบังคับตามคำสั่งกระทรวงทรัพยากรฯ ที่สั่งปลดเขาออกจากราชการ จึงทำให้เข้ากลับมาดำรงตำแหน่งข้าราชการในกระทรวงได้ ก่อนที่จะถูกแต่งตั้งกลับมาเป็นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติในเดือน ก.พ. 2566

อย่างไรก็ตาม นายชัยวัฒน์ยังคงต้องคดีที่เกี่ยวข้องกับการหายไปของนายพอละจี เนื่องจากในวันที่ 10 ส.ค. 2565 สำนักงานอัยการสูงสุด มีความเห็นสั่งฟ้องนายชัยวัฒน์ และพวกรวม 4 คน โดยหนึ่งในนั้นเป็นข้อหา "ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน" คือ นายพอละจี