โควิด-19 : 'เราไม่ทิ้งกัน' อาจยังไม่เป็นจริง เมื่ออาชีพหลักคนตาบอดกระทบหนัก

ภาพคนตาบอดหญิงจับไมค์นั่งร้องเพลงบนทางเท้า โดยมีหีบใส่เงินวางอยู่บนตัก

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, คนตาบอดที่ทำอาชีพร้องเพลงได้รายได้น้อยลงจากมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม
  • Author, พริสม์ จิตเป็นธม
  • Role, ผู้สื่อข่าววิดีโอบีบีซีไทย

การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในไทยตั้งแต่ต้นปีนี้ ที่นำมาสู่มาตรการควบคุมการเคลื่อนที่ ส่งผลให้ประชาชนหลากหลายอาชีพขาดรายได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งเดือนแล้ว แม้แนวโน้มผู้ป่วยใหม่ค่อนข้างคงที่ แต่ยังไม่มีการออกมาตรการผ่อนคลายข้อบังคับ

แม้ว่าประชาชนบางรายจะเปลี่ยนอาชีพ เพื่อหารายได้ประทังชีวิตในช่วงวิกฤตนี้ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเปลี่ยนอาชีพได้แบบทันทีทันใด หนึ่งในกลุ่มคนเหล่านั้นคือคนพิการ โดยเฉพาะคนตาบอด ที่อาชีพหลักซึ่งมีเพียงไม่กี่ทางเลือกของพวกเขา "ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง"

นายต่อพงศ์ เสลานนท์ นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ระบุว่าคนตาบอดมีอาชีพหลักอยู่ 3 อย่าง คืออาชีพนวดแผนไทย ประมาณ 30,000 คน อาชีพค้าสลากกินแบ่งรัฐบาล ประมาณ 10,000 คน และอาชีพนักร้องนักดนตรีในที่สาธารณะ ประมาณ 5,000 คน

"ทั้งสามอาชีพหลักของคนตาบอด ณ ปัจจุบัน เราได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง จากสถานการณ์โควิดฯ นี้" ต่อพงศ์ กล่าวกับบีบีซีไทย พร้อมอธิบายถึงว่า มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม มติเลื่อนการออกสลากสามงวด รวมถึงการสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด เป็นสาเหตุที่ทุกอาชีพหลักของคนตาบอดได้รับผลกระทบ

ภาพในอดีตหมอนวดตาบอดยกขาของลูกค้าชูขึ้นเพื่อนวด

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ปัจจุบันร้านนวดถูกสั่งปิดชั่วคราวเนื่องจากเป็นหนึ่งในสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาด

"รัฐสั่งปิด แต่ไม่บอกว่าจะช่วยเหลืออะไร"

กระดาษเอสี่พิมพ์คำว่า "ปิดชั่วคราว" พร้อมเบอร์โทรศัพท์ถูกติดไว้บนประตูเหล็กหน้าร้านนวดแห่งหนึ่งใน จ.ฉะเชิงเทรา ปกติเบอร์นี้จะมีเสียงเรียกเข้าจากลูกค้าตลอดทั้งวันเพื่อนัดเวลานวด กลับกลายเป็นนาน ๆ ครั้ง ถึงจะมีสายเรียกเข้าโทรศัพท์มาถามว่า "เมื่อไหร่จะเปิด"

นี่เป็นคำตอบที่ น.ส.พัชรี พรหมอินทร์ เจ้าของร้านนวดแห่งนี้ไม่สามารถตอบลูกค้าได้ เนื่องจากกิจการของเธออยู่ภายใต้คำสั่งปิดชั่วคราวมาเกือบเดือนแล้ว และยังไม่มีแนวโน้มว่าจะกลับมาเปิดได้ตามปกติ แม้ว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดจะทยอย "ดีขึ้น" ในความหมายของการมีผู้ติดเชื้อยืนยันรายใหม่เพิ่มน้อยลง

ป้ายปิดชั่วคราวถูกแปะไว้บนประตูเหล็กหน้าร้านนวดของพัชรี

ที่มาของภาพ, PATCHAREE PHROM-IN

นอกเหนือจากการทำงานแล้ว วิถีชีวิตของ พัชรี ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงจากเดิมมากนัก เหตุผลว่า "มองไม่เห็น" ทำให้การไม่ค่อยออกจากบ้านของเธอเป็นปกติ นอกจากนั้นเธอยังคงมอบที่พักอาศัยและอาหารการกินให้กับลูกน้องของเธอสองคน แม้จะสวนทางกับรายได้ที่ชะงักลง ขณะที่ลูกน้องอีกสองคนขอเดินทางกลับภูมิลำเนาหลังจากไม่มีงานให้ทำ

"ถามว่าร้านพี่นี่สั่งปิด ถ้าพี่เปิดพี่มีความผิดถูกไหมคะ บางอาชีพอาจจะยังทำได้แต่มีรายได้น้อยลง แต่ถามว่าหมอนวดและอาชีพอื่น ๆ ที่หน่วยงานรัฐสั่งปิด แต่หน่วยงานรัฐก็ไม่ได้บอกว่าจะช่วยเหลืออะไร...ไม่รู้เขาให้ความสนใจน้อย หรือว่าจริง ๆ เขาไม่เข้าใจคนพิการ" หญิงวัย 43 ปี กล่าวกับบีบีซีไทย พร้อมยอมรับว่านี่คือเหตุการณ์ที่วิกฤตที่สุดตั้งแต่เปิดร้านมา 15 ปี

พัชรี และพนักงานนวดของเธออีก 2 คน

ที่มาของภาพ, PATCHAREE PHROM-IN

คำบรรยายภาพ, "ส่วนหนึ่งเราก็ตาบอด เขาก็ตาบอด...ก็เหมือนเพื่อนกันอยู่ด้วยกันเหมือนพี่เหมือนน้อง" พัชรี กล่าว

"รัฐบาลต้องจริงใจกับประชาชน"

นายอำนวย สุวรรณรังสิกุล ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น "คนบกพร่องทางการมองเห็น" บอกกับบีบีซีไทยถึงการตัดสินใจประกอบอาชีพเจ้าของกิจการร้านนวดแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรปราการ ว่า "อยากทำเยอะแยะเลยครับ แต่ทางเลือกของอาชีพเรามีเท่านี้"

ร้านนวดของเขาเป็นหนึ่งในกิจการที่จังหวัดสมุทรปราการสั่งปิดเป็นการชั่วคราวมาตั้งแต่วันที่ 22 มี.ค. ทำให้รายได้ของเขากลายเป็นศูนย์นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา จากที่ปกติมีลูกค้าราว 3-4 คนต่อวัน ทุกวันนี้เขาทำได้เพียง "อยู่นิ่ง ๆ เลยครับ"

"ถ้าใช้ประหยัด ๆ มันก็พออยู่ได้ระยะหนึ่ง แต่สองเดือนก็แย่แล้วนะครับ เพราะค่าใช้จ่ายเราจ่ายทุกวัน กินจ่ายอะไรก็ต้องพยายามประหยัด" ชายวัย 52 ปีเล่าถึงผลกระทบจากวิกฤตการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นพร้อมภาวนาให้ทุกอย่างสิ้นสุดภายในเดือนพฤษภาคม

ภาพก่อนร้านจะถูกสั่งปิด อำนวยกำลังนวดลูกค้าบนเตียงนวดภายในร้านของเขา

ที่มาของภาพ, เสน่ห์ นวดไทย

แม้ว่าพิการทางการมองเห็น แต่เทคโนโลยียังพอให้ อำนวย กรอกประวัติและอาชีพของเขาซึ่งได้รับผลกระทบจากการถูกสั่งปิด บนเว็บไซต์ "เราไม่ทิ้งกัน" เพื่อขอรับเงินเยียวยาจำนวน 5,000 บาทได้ แต่ไม่นานเขาก็ได้รับข้อความปฏิเสธ โดยมีเหตุผลว่าอาชีพของเขาไม่เข้าเกณฑ์รับเงินเยียวยาเพราะเป็น "เจ้าของธุรกิจ"

"ก็งงว่าทำไมผมถึงกลายไปเป็นนักธุรกิจ เรามีความรู้สึกว่าภาครัฐทำในสิ่งที่เกิดความผิดพลาดแล้วไม่พยายามที่จะแก้ไขปรับปรุง...รัฐบาลต้องจริงใจกับประชาชน เพราะว่าคุณขอความร่วมมือ...เวลาคุณเยียวยา ผมมองว่าเหมือนคุณไม่ค่อยจริงใจอะ" เจ้าของร้านนวดซึ่งได้รับผลกระทบกล่าว

ภาพนายจุติ ไกรฤกษ์ สวมใส่หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ลงพื้นที่แจกหน้ากากอนามัยให้กับคนไร้บ้าน

ที่มาของภาพ, กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

คำบรรยายภาพ, นายจุติ ลงพื้นที่สวนลุมพินี-หัวลำโพง แจ้งหน้ากากอนามัยให้คนไร้บ้านเมื่อ 5 เม.ย.

ก่อนหน้านี้ บีบีซีไทยติดต่อนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อสอบถามเรื่องหลักเกณฑ์อาชีพของผู้ลงทะเบียนขอรับความช่วยเหลือ

นายจุติอธิบายว่าใครก็ตามที่ถือสัญชาติไทยและอายุ 18 ปี บริบูรณ์ขึ้นไปและได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็สามารถลงทะเบียนได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะทำอาชีพอิสระ จะมีนายจ้างหรือไม่ก็ตาม

"เราไม่ได้มีข้อกำหนดเลยว่าจะต้องมีหนังสือรับรองจากนายจ้างหรือไม่ ถ้าคุณเป็นคนไทยตามเงื่อนไข คุณก็ลงทะเบียนรับเงินค่าเยียวยานี้ได้หมด" นายจุติย้ำ

"หากคุณอยู่ในภาคธุรกิจที่ไม่ถูกกฎหมาย คุณก็สามารถลงทะเบียนได้เพราะถือว่าอยู่ในภาคธุรกิจบริการการท่องเที่ยวเหมือนกัน ในช่องของอาชีพ คุณก็เลือกเป็นพนักงานนวดแผนโบราณมาเท่านี้ก็ไม่มีปัญหาแล้ว แต่ถ้ามีข้อสงสัยประการใดก็สามารถสอบถามเงื่อนไขและขอความช่วยเหลือจากพนักงานของเราผ่านคอลเซ็นเตอร์ได้"

"ตอนนี้ไวรัสไม่กลัวแล้วค่ะ กลัวอดตายมากกว่า"

ตลอด 10 ปีที่ น.ส.ฐิติยาพร นุชนารถ ประกอบอาชีพเดินขายสลากกินแบ่งรัฐบาล นี่เป็นครั้งแรกที่เธอพยายามหันไปค้าขายผลไม้ เพื่อหารายได้มาชำระหนี้ที่ค้างไว้กว่า 60,000 บาท จากการกู้ยืมมาเพื่อเป็นทุนในการซื้อสลาก

เงินเยียวยา 5,000 บาท จากรัฐบาลในเดือนแรกถูกโอนมาให้เธอเรียบร้อยแล้ว เธอให้ความเห็นว่าสาเหตุที่ได้รับเงินเนื่องจากว่าเธอมีข้อมูลด้านอาชีพจาก "บัตรกดหวย" ของธนาคารอยู่แล้ว ขณะที่คนตาบอดคนอื่นในหมู่บ้านอีก 6 คน "ถูกแจกจ่ายอาชีพให้เรียบร้อย"

ฐิติยาพร ไม่เห็นด้วยกับมติของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ที่เลื่อนการออกสลากจากงวดวันที่ 1 เม.ย. ให้ไปออกรางวัลเป็นวันที่ 16 พ.ค. และมีการงดขายสลาก 3 งวด ได้แก่ งวดวันที่ 16 เม.ย. 2 พ.ค. และ 16 พ.ค. เธอบอกว่าหากประเมินว่าขายได้น้อยลงเธอก็จะลงทุนน้อยลง แต่ไม่จำเป็นต้องหยุดขาย

ฐิติยาพร นั่งพักระหว่างขายลอตเตอรี่

ที่มาของภาพ, THITIYAPORN NUCHANART

คำบรรยายภาพ, "ตอนนี้ไวรัสไม่กลัวแล้วค่ะ กลัวอดตายมากกว่าค่ะ" เธอกล่าว

"หวยมันหยุดขายเราไม่ได้หยุดใช้หนี้นี่ ค่าน้ำค่าไฟเขาไม่ได้ให้เราหยุดจ่าย กินเราก็หยุดกินไม่ได้ ถ้าทุกอย่างมันหยุดได้พร้อมกันหมดก็ดีค่ะ...สำหรับอาชีพขายลอตเตอรี่ มันไม่จำเป็นต้องหยุดนะคะ คนที่เขาอยากซื้อเขาก็ซื้อ ใครที่เขาไม่มีกำลังซื้อเขาก็ไม่ซื้อ เพราะมันไม่ใช่ของกินของใช้ประจำวัน...ลอตเตอรี่มันเป็นความหวังของคนทั้งประเทศอยู่แล้ว มันขายได้อยู่แล้ว" หญิงวัย 31 บอกกับบีบีซีไทย

หลังจากที่ไม่มีการจำหน่ายสลาก เธอจึงผันตัวเองไปขายสินค้าอื่นในตลาด โดยเริ่มจากขายก๋วยเตี๋ยวลุยสวน แต่เนื่องจากต้องใช้มือทำและไม่ผ่านความร้อน จึงทำให้มีลูกค้ากังวลไม่กล้าซื้อ จึงเปลี่ยนไปรับสับปะรดจากตลาดไทมาแบ่งขายตามตลาดเล็ก ๆ

"ตอนนี้ไวรัสไม่กลัวแล้วค่ะ กลัวอดตายมากกว่าค่ะ" เธอกล่าว

คนพิการไทย 2,027,500 คน หรือ 3.05% ของประชากรไทย ขณะที่คนพิการทางการมองเห็นมีจำนวน 191,965 คน

มาตรการเยียวยาของรัฐ

นอกเหนือจากเงินเยียวยา 5,000 บาท ในโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ซึ่งมีผู้ได้รับผลกระทบหลายรายออกมาร้องเรียนว่าถูก "เปลี่ยนอาชีพ" ทำให้ไม่ได้รับเงินดังกล่าว จนทางกระทรวงการคลังต้อง "ปิดประตูกระทรวง" หลังมีประชาชนเข้าไปร้องเรียนจำนวนมากในวันที่ 14 เม.ย. โดยให้ผู้ได้รับผลกระทบยื่นอุทธรณ์ผ่านเว็บไซต์ในวันที่ 20 เม.ย.

สำหรับคนพิการกว่า 2 ล้านคน ที่มีบัตรประจำตัวคนพิการ จะได้รับเงินช่วยเหลือเยียวยาจำนวน 1,000 บาท โดยกำหนดจ่ายในเดือนเมษายนเพียงครั้งเดียว ซึ่งเป็นหนึ่งในสามมาตรการของกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) ในการช่วยเหลือคนพิการช่วงวิกฤตการแพร่ระบาดนี้

นอกจากนั้นยังมีมาตรการพักชำระหนี้กองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นระยะเวลา 12 เดือน และสามารถกู้ยืมกองทุนดังกล่าวได้โดยไม่มีดอกเบี้ย ผ่อนชำระภายใน 5 ปี โดยปลอดชำระหนี้ในปีแรก

บีบีซีไทยสอบถามคนพิการทางการมองเห็นในหลายจังหวัด พบว่าขณะนี้ (16 เม.ย.) ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาคนพิการ 1,000 บาท ขณะที่นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า "กว่าจะได้ก็อาจจะเดือนพฤษภาคม"

ภาพนายต่อพงศ์สวมเสื้อสีฟ้า มือซ้ายจับไมค์ยกขึ้นพูด

ที่มาของภาพ, Thailand Association of the Blind

คำบรรยายภาพ, ผมยังไม่อยากใช้บทสรุปว่าเรา (คนตาบอด) ถูกทิ้งแล้วนะ แต่ผมอยากจะบอกว่าเรายังมีความหวังที่จะเข้าถึงสิทธินั้นอยู่" ต่อพงศ์ กล่าว

'เราไม่ทิ้งกัน' อาจยังไม่เป็นจริง

อย่างไรก็ตามทางสมาคมคนตาบอดได้เปิดรับบริจาคเงิน และตั้งศูนย์ประสานงานช่วยเหลือคนตาบอดในสถานการณ์โควิด-19 เพื่อกระจาย "ถุงยังชีพ" รวมถึงหน้ากากอนามัยและเจลล้างมือ ซึ่งได้ดำเนินการแจกจ่ายแล้วกว่า 10,000 ชุด

"คนตาบอดโดยวิถีการใช้ชีวิตเราอยู่กับการสัมผัส เราใช้มือแทนตา เราต้องอยู่กับการสัมผัส สัมผัสคนนำทาง สัมผัสสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ...ในขณะที่ Social Distancing (การเว้นระยะห่างทางสังคม) มันทำให้โรคโควิดฯ อาจจะยุติลง ซึ่งเราก็เห็นด้วย แต่ระยะห่างระหว่างคนนี่เป็นสิ่งที่คนตาบอดกลัว ว่าเขา (คนตาดี) จะไม่กล้าเข้ามาให้ความช่วยเหลือเรา" ต่อพงศ์ เสลานนท์ กล่าวกับบีบีซีไทย

รปภ.ของรถไฟฟ้าเดินนำเพื่อให้คนตาบอดจับแขนเข้าขบวน

ที่มาของภาพ, Getty Images

ต่อพงศ์ ยังให้ความเห็นว่าระบบการลงทะเบียนเพื่อรับเงินเยียวยาในเว็บไซต์ "เราไม่ทิ้งกัน" ส่งผลให้คนตาบอดสามารถเข้าถึงได้น้อยลง เนื่องจากระบบค่อนข้างซับซ้อน โดยยกตัวอย่างการส่งรหัสยืนยัน (OTP) ซึ่งมีระยะเวลาที่สั้น แต่คนตาบอดต้องขอความช่วยเหลือจากคนตาดีในการอ่านรหัสนั้น

"ผมคิดว่าการประสานงานระหว่างหน่วยงานของรัฐที่ดูแลกลุ่มคนพิการกับระบบในเรื่องการเงินการคลังมันต้องใกล้ชิดมากกว่านี้ และทำให้มาตรการต่าง ๆ มันได้รับการอำนวยความสะดวกมากกว่านี้ เพื่อทำให้ 'เราไม่ทิ้งกัน' มันเป็นจริง ผมยังไม่อยากใช้บทสรุปว่าเรา (คนตาบอด) ถูกทิ้งแล้วนะ แต่ผมอยากจะบอกว่าเรายังมีความหวังที่จะเข้าถึงสิทธินั้นอยู่" นายกสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย