ตรวจการบ้านรัฐบาลเศรษฐา (1): ดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ยังไร้บทสรุป-ส่อลดผู้ได้รับอานิสงส์

คนไทย

ที่มาของภาพ, AFP/Getty Images

พรรคเพื่อไทย (พท.) เข้าสู่สนามเลือกตั้ง 14 พ.ค. ภายใต้คำขวัญ “คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน” ประกาศสารพัดนโยบายประชานิยม หวังช่วงชิงคะแนนเสียงจากประชาชนผ่านคูหาเลือกตั้ง แต่ถึงขณะนี้รัฐบาลเพื่อไทยกำลังถูกตั้งคำถามอย่างหนักถึงความสามารถในการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติว่า “คิดครบ ทำได้จริง” หรือไม่

นโยบายหาเสียงของพรรค พท. ที่ใช้เม็ดเงินสูงสุด หนีไม่พ้น นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ภายใต้วงเงิน 560,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังไร้บทสรุปทั้งแหล่งเงินที่จะใช้ดำเนินการ แพลตฟอร์ม กลุ่มคนที่ได้อานิสงส์ รวมถึงวันเริ่มต้นนโยบาย ฯลฯ เป็นผลให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง

ผ่านมาเกือบ 2 เดือนนับจากรัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน เข้าปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นทางการเมื่อ 5 ก.ย. พวกเขาทำอะไรไปแล้วบ้าง นโยบายไหนเกิดผลเป็นรูปธรรม นโยบายไหนล่องหน นโยบายไหนไม่ตรงปก นโยบายไหนส่อเค้าเป็นเพียง “เทคนิคการหาเสียง”

บีบีซีไทยชวนตรวจการบ้านนโยบายหาเสียงหลักของพรรคแกนนำรัฐบาลอย่างเพื่อไทยที่ประชาชนรอคอย-ถูกกล่าวขานถึงที่สุด โดยเปรียบเทียบข้อมูลจาก 3 ส่วน

  • เอกสารที่พรรค พท. ชี้แจง 70 นโยบายหาเสียง ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ซึ่งเป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 มาตรา 57 ที่กำหนดให้พรรคการเมืองที่โฆษณานโยบาย ชี้แจงวงเงินและที่มาของเงินที่จะใช้ดำเนินการ, ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย และผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย
  • คำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อรัฐสภา
  • สถานะล่าสุดของนโยบาย โดยสำรวจผ่านมติ ครม. และคำชี้แจงของรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง

ในตอนแรก ขอนำเสนอนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

นโยบายหาเสียง

เศรษฐา

ที่มาของภาพ, กองโฆษก พรรคเพื่อไทย

คำบรรยายภาพ, เศรษฐาคือผู้ประกาศนโยบายเติมเงินผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัลของพรรคเพื่อไทย เมื่อ 17 มี.ค. ก่อนมีการเปิดเผยวงเงินที่จะให้ประชาชน จำนวน 10,000 บาท บนเวทีเปิดตัวแคนดิเดตนายกฯ เมื่อ 5 เม.ย.

นโยบายหาเสียง: กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล ใช้วงเงิน 560,000 ล้านบาท

นายเศรษฐา ทวีสิน คือผู้ประกาศนโยบาย “กระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ผ่านกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet)” บนเวทีเปิดตัว สส.แบบแบ่งเขต 400 คน เมื่อ 17 มี.ค. ก่อนเปิดเผยวงเงินที่จะเติมให้ประชาชนจำนวน 10,000 บาท บนเวทีเปิดตัว 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีของพรรค พท. เมื่อ 5 เม.ย.

นายเศรษฐาและแกนนำเพื่อไทยย้ำหลายกรรมหลายวาระถึงหลักการของนโยบายนี้ว่า จะสร้างกระเป๋าเงินดิจิทัลให้คนไทยที่มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ได้ใช้จ่ายใกล้บ้านภายในรัศมี 4 กิโลเมตร โดยเงินดิจิทัลมีอายุการใช้งาน 6 เดือน และร้านค้าสามารถนำมาแลกเป็นเงินบาทกับธนาคารรัฐในภายหลัง

พรรค พท. แสดงความเชื่อมั่นว่า นโยบายนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียนทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทำให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างเท่าเทียม และขยายตัวสูงกว่าเม็ดเงินที่ใช้, ประชาชนทุกคนมีกระเป๋าเงินดิจิทัล ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อมาตรการทางการคลังในอนาคต, ประเทศเข้าสู่ระบบการเงินรูปแบบใหม่ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน และภาคธุรกิจได้รับอานิสงส์จากกำลังซื้อประชาชนที่เพิ่มขึ้น

สำหรับที่มาของเม็ดเงิน 560,000 ล้านบาท พรรค พท. แจ้งต่อ กกต. ว่า จะใช้การบริหารระบบงบประมาณปกติและบริหารระบบภาษี ซึ่งมีที่มาจาก 4 แหล่ง ได้แก่ 1. ประมาณการว่าปี 2567 รัฐจะจัดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น 260,000 ล้านบาท 2. การจัดเก็บภาษีนิติบุคคลจะเพิ่ม 100,000 ล้านบาท 3. การบริหารจัดการงบประมาณ 110,000 ล้านบาท 4. การบริหารงบประมาณด้านสวัสดิการที่ซ้ำซ้อน 90,000 ล้านบาท

นโยบายรัฐบาล

นโยบายรัฐบาล: มีแต่หลักการ ขาดรายละเอียดในการดำเนินการ

คำแถลงนโยบายของรัฐบาลต่อรัฐสภาพูดถึงนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอตเล็ตเพียงว่า “จะทำหน้าที่เป็นตัวจุดชนวนที่จะกระตุกเศรษฐกิจประเทศให้ตื่นมาอีกครั้ง” ด้วยการใส่เงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจอย่างทั่วถึงและกระจายไปยังทุกพื้นที่ให้หมุนเวียนอยู่ในระบบเศรษฐกิจฐานราก เกิดการจับจ่ายใช้สอยยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างโอกาสในการประกอบอาชีพของประชาชน และภาคธุรกิจที่จะขยายการลงทุน ขยายกิจการ เกิดการผลิตสินค้าที่มากขึ้น นำไปสู่การจ้างงาน สร้างอาชีพ และ “เกิดการหมุนเวียนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจอีกหลายรอบ รัฐบาลเองก็จะได้รับผลตอบแทนคืนมาในรูปแบบของภาษี”

นอกจากนี้จะเป็นการวางรากฐานเศรษฐกิจดิจิทัลให้กับประเทศ เพิ่มประสิทธิภาพและความโปร่งใสให้กับกลไกการชำระเงินของระบบเศรษฐกิจและรัฐบาล

อย่างไรก็ตามรัฐบาลไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดที่แน่ชัดได้ โดยเฉพาะคำถามตัวโต ๆ จาก สส.ฝ่ายค้าน และ สว. ที่ว่าเอาเงินที่ไหนมาใช้ดำเนินการ

นายจุลพันธ์ อมรวิวิฒน์ รมช.คลัง ยืนยันกลางสภาว่า จะไม่ใช้เงินนอกงบประมาณ ไม่แตะต้องสมบัติของชาติ ไม่กู้เพิ่ม ไม่กระทบต่อหนี้สาธารณะ และยึดหลักกรอบวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด

เอกสารนโยบายของรัฐบาลเศรษฐาที่แจกจ่ายให้สมาชิกรัฐสภามีเนื้อหา 52 หน้า

ที่มาของภาพ, Thai news Pix

คำบรรยายภาพ, เอกสารนโยบายของรัฐบาลเศรษฐาที่แจกจ่ายให้สมาชิกรัฐสภามีเนื้อหา 52 หน้า

สถานะล่าสุด

สถานะล่าสุด: ยังไร้บทสรุป

เม็ดเงิน 560,000 ล้านบาท ดูจะเป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาล ทำให้มีข้อเสนอเรื่องการตัด "คนรวย" ออกจากโครงการ จากที่เคยประกาศแจกเงินก้นถุง 10,000 บาทแก่คนไทยที่อายุ 16 ปีขึ้นไปแบบถ้วนหน้า

ที่ประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีนายจุลพันธ์เป็นประธาน เมื่อ 25 ต.ค. ได้ข้อสรุปหลักเกณฑ์แจกเงินดิจิทัล 3 แนวทาง เพื่อเสนอคณะกรรมการชุดใหญ่ที่มีนายกฯ เป็นประธาน พิจารณา ดังนี้

1. ตัดสิทธิผู้มีรายได้เกิน 50,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากในบัญชีมากกว่า 500,000 บาท จะเหลือผู้เข้าเกณฑ์ 49 ล้านคน ใช้งบประมาณ 490,000 ล้านบาท

2. ตัดสิทธิผู้ที่มีรายได้เกิน 25,000 บาทต่อเดือน และมีเงินฝากในบัญชีมากกว่า 100,000 บาท จะเหลือผู้เข้าเกณฑ์ 43 ล้านคน ใช้งบประมาณ 430,000 ล้านบาท

3. ให้เฉพาะกลุ่มเปราะบาง/กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐราว 15-16 ล้านคน ใช้งบประมาณ 150,000-160,000 บาท แต่ทางเลือกนี้จะไม่เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับเรื่องแหล่งเงิน นายจุลพันธ์ระบุว่าแนวทางการกู้เงินจากธนาคารออมสิน คลัง “มีข้อติดขัดทางกฎหมาย” เนื่องจากต้องขยายเพดานหนี้ตามมาตรา 28 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการ พ.ศ. 2561 เขาจึงเสนอให้ใช้งประมาณแผ่นดินเป็นหลัก โดยตั้งงบผูกพันข้ามปี รวม 4 ปี เป็นเงินปีละ 100,000 บาท

เมื่อต้องรองบจาก พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 รมช.คลังจึงยอมรับว่า โครงการนี้จะต้องล่าช้าออกไปเป็นช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค. 2567 จาก “ดีเดย์” ที่นายกฯ ประกาศไว้ว่าจะเริ่ม 1 ก.พ. 2567

เป๋าตัง

ที่มาของภาพ, wasawat lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ที่ปรึกษานายกฯ เชื่อว่า 90% น่าจะกลับไปใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง เพราะการไปพัฒนาระบบใหม่ต้องใช้เวลานานและยุ่งยาก แม้ก่อนหน้านี้แกนนำรัฐบาลยืนยันไม่ใช่แอปฯ นี้ก็ตาม

ล่าสุดนโยบายนี้ส่อเค้าต้องเลื่อนออกไปไกลกว่าเดิมอีก เมื่อนายพิชัย ชุณหวชิร ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เปิดเผยกลางเวทีเสวนาของวุฒิสภาเมื่อ 30 ต.ค. ว่าการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ในการดำเนินการ “คงล่าช้าไม่ทันเดือน ก.พ. 2567 น่าจะใช้ได้เดือน ก.ย. 2567” ขณะเดียวกันควรเร่งพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณปี 2568 เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เสร็จในเวลาใกล้เคียงกัน

กุนซือนายกฯ ยอมรับว่า โครงการนี้มีหลายอย่างต้องปรับเปลี่ยน เช่น

1. การให้สิทธิประชาชน 56 ล้านคน หลายฝ่ายเห็นว่า “ไม่ควรแจกคนรวย” ตัวเลขประชาชนที่ได้สิทธิจะเหลือ 40 กว่าล้านคน ดังนั้นคงใช้เงินไม่ถึง 500,000 ล้านบาท

2. การแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตอาจได้ไม่พร้อมกัน อาจได้ใช้เงินในช่วงวันหยุดยาว เช่น ปีใหม่ สงกรานต์ เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว

3. เชื่อว่า 90% น่าจะกลับไปใช้แอปพลิเคชันเป๋าตัง เพราะการไปพัฒนาระบบใหม่ต้องใช้เวลานานและยุ่งยาก

นอกจากนี้ยังมีอดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์กว่า 100 คน ออกแถลงการณ์เมื่อ 6 ต.ค. เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกนนโยบายแจกเงินผ่านดิจิทัลวอลเลต 10,000 บาท แก่ผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป เพราะมองว่า “ประโยชน์ที่ประเทศจะได้น้อยกว่าต้นทุนที่เสียไปอย่างมาก” พร้อมไล่เลียงเหตุผลเอาไว้ 8 ข้อ

เช่นเดียวกับ 2 องค์กรอิสระที่อยู่ระหว่างศึกษานโยบายเงินดิจิทัลของรัฐบาล “เศรษฐา” โดยผู้ตรวจการแผ่นดินกำลัง “แสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม” ว่านโยบายนี้ ขัดต่อรัฐธรรมนูญและกฎหมายวินัยการเงินการคลังหรือไม่ ตามที่เครือข่ายภาคประชาชนยื่นคำร้องมา ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเมื่อ 27 ต.ค. ให้แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อศึกษาและดำเนินการรับฟังความเห็นเกี่ยวกับนโยบายรัฐบาล กรณีการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต มี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เจ้าของฉายา “มือสอบจำนำข้าว” เป็นประธาน