เสียงในสภาเปลี่ยนไปอย่างไรจากเลือกตั้ง 62 ถึงเลือกตั้ง 66

สภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

หลายพรรคการเมืองทยอยเปิดตัวว่าที่ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเตรียมพร้อมสู้ศึกเลือกตั้งทั่วไปที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างช้าในเดือน มี.ค. 2566

แต่หากคำนวณแล้ว แค่เฉพาะ 7 พรรคการเมืองมีที่นั่งในสภาปัจจุบัน ซึ่งแกนนำพรรคได้เปิดเผยจำนวน ส.ส. เป้าหมายครั้งหน้า พบว่า พวกเขาตั้งเป้าหิ้ว ส.ส. เข้าสภารวมกันถึง 785 เสียง จากที่นั่งที่มีอยู่จริง 500 เสียง พรรคเพื่อไทยพรรคเดียวตั้งเป้ากว่า 250 ที่นั่ง หวังคว้าชัยชนะแบบ "แลนด์สไลด์"

การจัดทัพรับศึกเลือกตั้งของพรรคต่าง ๆ เกิดขึ้นท่ามกลางภาวะไม่แน่นอนทางการเมือง หลัง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 24 ส.ค. จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ สิ้นสุดลงหรือไม่ โดยฝ่ายค้านมองว่าเขาเป็นนายกฯ ครบ 8 ปีแล้ว

ตลอดเวลา 3 ปีเศษ การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเสียงในสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ครั้งสำคัญ ๆ เกิดจากอะไรบ้าง และแกนนำพรรคไหนกำหนดที่นั่งเป้าหมายในศึกเลือกตั้งครั้งต่อไปแล้วบ้าง บีบีซีไทยสรุปข้อมูลมาไว้ ณ ที่นี้

มติแรกของสภา กับ การลาออกของ ส.ส. คนแรก

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ใช้เวลากว่า 2 เดือน กว่าจะประกาศรับรอง ส.ส. ได้ครบ 500 คน ภายหลังเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562

ผู้แทนราษฎรทั้ง 500 ชีวิต มาจาก 26 พรรคการเมือง ซึ่งถือเป็นสถิติสูงที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย

แม้พรรคเพื่อไทย (พท.) ชนะการเลือกตั้งด้วยยอด ส.ส. 136 เสียง แต่ไม่อาจรวบรวมเสียงในการจัดตั้งรัฐบาลได้ เมื่อพรรคอันดับสองอย่างพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่มี ส.ส. 116 เสียง ชิงจัดตั้งรัฐบาลแข่งและทำได้สำเร็จ ปิดดีลรัฐบาลผสม 19 พรรค มีที่นั่งในสภา 254 เสียง ทิ้ง พท. และพันธมิตรให้ตกที่นั่ง 7 พรรคร่วมฝ่ายค้าน มีที่นั่งในสภา 246 เสียง

ชวน

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, นายชวน หลีกภัย โค้งขอบคุณเพื่อนสมาชิกที่เลือกเขาเป็นประธานสภาสมัยที่ 2 ของชีวิต หลังเคยทำหน้าที่มาแล้วเมื่อปี 2529-2531

สภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 ประชุมนัดแรกเมื่อ 25 พ.ค. 2562 เพื่อเลือกประธานและรองประธานสภา โดยมี ส.ส. ที่ได้รับการรับรองจาก กกต. เข้าร่วมประชุม 498 คน ผลปรากฏว่า นายชวน หลีกภัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ผู้เป็นทั้งอดีตนายกฯ และอดีตประธานสภา ชนะโหวตนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้า พท. ด้วยคะแนนเสียง 258 ต่อ 235 งดออกเสียง 1

ส่วนการประชุมร่วมกันของรัฐสภานัดแรกเกิดขึ้นเมื่อ 5 มิ.ย. 2562 เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นการแข่งขันกันระหว่าง 2 แคนดิเดตคือ พล.อ. ประยุทธ์ หัวหน้าคณะรัฐประหาร 2557 จากบัญชีนายกฯ ของ พปชร. และนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (อนค.) จากบัญชีของพรรค อนค.

ผลปรากฏว่า พล.อ. ประยุทธ์ได้รับคะแนนสนับสนุนจากทั้ง ส.ส. และ ส.ว. ไป 500 เสียง ส่วนนายธนาธรซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ชั่วคราวหลังรับคำร้อง “โยกหุ้น” เอาไว้พิจารณา ได้เสียงสนุนจากเพื่อน ส.ส.ฝ่ายค้าน 244 เสียง

ไม่ถึงชั่วโมงก่อนการประชุมร่วมสองสภาจะเริ่มต้นขึ้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้า ปชป. และอดีตนายกฯ ได้ประกาศลาออกจากการเป็น ส.ส. เพราะไม่ต้องการร่วมโหวตสนับสนุนหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นนายกฯ ต่ออีกสมัย เมื่อไม่สามารถปฏิบัติตามมติพรรคที่สังกัดได้ นายอภิสิทธิ์จึงขอยุติบทบาทผู้แทนฯ โดยถือเป็นคนแรกที่ลาออกจากตำแหน่ง

ส.ส.

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, ส.ส. ปชป. และพรรคอื่น ๆ ร่วมรับฟังการเปิดแถลงลาออกจากตำแหน่ง ส.ส. ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เมื่อ 5 มิ.ย. 2562 ทำให้เขาหยุดสถิติการทำิหน้าที่ในสภาไว้ที่ 27 ปีนับจากเล่นการเมือง

3 “พรรคจิ๋ว” ขอยุบตัวเอง ก่อนย้ายไปสังกัด พปชร.

ในช่วงจัดตั้งรัฐบาล “ประยุทธ์ 2” มี “พรรคจิ๋ว” อยู่ 10 พรรค ทั้งหมดเลือกยืนเคียง พปชร. ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคประชาภิวัฒน์, พรรคพลังไทยรักไทย (ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคเพื่อชาติไทย), พรรคไทยศรีวิไลย์, พรรคครูไทยเพื่อประชาชน, พรรคประชานิยม, พรรคประชาธรรมไทย, พรรคประชาชนปฏิรูป,  พรรคพลเมืองไทย, พรรคประชาธิปไตยใหม่ และพรรคพลังธรรมใหม่

ต่อมาเมื่อมีการเลือกตั้งซ่อม ส.ส.เขต แล้วต้องนำคะแนนเลือกตั้งไปคำนวณหายอด ส.ส.พึงมีได้ และ ส.ส.บัญชีรายชื่อใหม่ ทำให้พรรคไทรักธรรมได้เข้าสภาเป็นพรรคจิ๋วลำดับที่ 11 และไม่ลืมที่จะไหลตามไปสมทบกับฝ่ายรัฐบาล

สำหรับ "พรรคจิ๋ว" หมายถึงพรรคการเมืองที่มีที่นั่งในสภาพรรคละคน ทั้งหมดเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ ที่เข้าสภาได้ด้วยการปัดเศษทศนิยมตามสูตรคำนวณ ส.ส. ของ กกต. ทั้งที่ได้รับคะแนนมหาชน (ป็อปปูลาร์โหวต) ไม่ถึงเกณฑ์มี ส.ส. พึงมีได้ 1 คน หรือ 71,123.112 คะแนน

อย่างไรก็ตามมีหัวหน้าพรรคจิ๋ว 3 คนขอเปลี่ยนสถานะตัวเองได้สำเร็จ จากเคยเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ก็ย้ายไปสังกัดพรรคแกนนำรัฐบาลเสียเลย ซึ่งกลเกมทางกฎหมาย-การเมืองนี้ถูกตั้งชื่อเรียกว่า “ไพบูลย์โมเดล”

พรรคจิ๋ว

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, นายอุตตม สาวนายน หัวหน้า พปชร. รับหนังสือแสดงเจตนารมณ์สนับสนุน พปชร. เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลจาก 11 พรรคการเมืองที่มีเสียงเดียวในสภา เป็นลายเซ็นของ ส.ส. 11 คน เมื่อ 13 พ.ค. 2562

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป ที่เข้าสภาด้วยคะแนนเสียงเลือกตั้ง 45,420 คะแนน คือนักการเมืองคนแรกที่ยื่นคำร้องต่อ กกต. เพื่อ “ขอเลิกพรรค” ตัวเอง ก่อนสมัครเป็นสมาชิก พปชร. เมื่อ 9 ก.ย. 2562 ปัจจุบัน เขามีตำแหน่งใหญ่โตเป็นถึงรองหัวหน้า พปชร. และรับผิดชอบงานด้านกฎหมายของพรรค

ตามด้วย พ.ต.อ. ยงยุทธ์ เทพจำนงค์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชานิยม ที่ใช้มติคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ยุบพรรคตัวเอง ก่อนสมัครเป็นสมาชิก พปชร. เมื่อ 15 ก.ค. 2563

เช่นเดียวกับนายพิเชษฐ สถิรชวาล ส.ส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย ที่ยุบพรรคตัวเอง ก่อนสมัครเป็นสมาชิก พปชร. เมื่อ 29 พ.ย. 2564

ถึงขณะนี้จึงเหลือ “พรรคจิ๋ว” อยู่ในสภาเพียง 8 พรรค โดย 7 พรรคยังเป็นพรรคร่วมรัฐบาลเช่นเดิมแม้ทำทีขู่ถอนยวงเป็นระยะ ๆ ส่วนพรรคไทยศรีวิไลย์ได้พลิกขั้วไปทำหน้าที่ฝ่ายค้าน

ยุบอนาคตใหม่ หยุดภาวะ “รัฐบาลเสียงปริ่มน้ำ”

การเปลี่ยนแปลงสัดส่วนเสียงในสภาระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายค้านครั้งสำคัญ เกิดขึ้นภายหลังศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค อนค. เมื่อ 21 ก.พ. 2563 ทำให้ ส.ส. ที่เป็น กก.บห. หายไป 11 คน เหลือผู้แทนฯ ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสภาได้ 487 คน

ทว่า ส.ส. อนาคตใหม่เดิมทั้ง 65 คน ไม่ได้ย้ายไปอยู่พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ภายใต้การนำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ทั้งหมด แต่แยกตัวไปสังกัดอีก 3 พรรคร่วมรัฐบาล

  • พรรคก้าวไกล (ก.ก.) 54 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 18 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 36 คน
  • พรรคภูมิใจไทย (ภท.) 9 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 7 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 2 คน
  • พรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) 1 คน เป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ
  • พรรคชาติพัฒนา (ชพน.) 1 คน เป็น ส.ส.เขต

ผลที่ตามมาคือ พรรคร่วมรัฐบาลที่เคยมี “เสียงปริ่มน้ำ” ได้เสียงชาวอนาคตใหม่เดิมไปเติม 11 เสียง ทำให้มีเสียงเพิ่มขึ้นเป็น 275 เสียง ทิ้งห่างจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน บวก 1 เสียงของนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคเศรษฐกิจใหม่ (ศม.) ที่เสียงลดลงเหลือ 212 เสียง เพราะก่อนหน้านั้น ส.ส.ศม. ก็ทิ้งหัวหน้าพรรคตัวเอง-พลิกขั้วไปอยู่กับรัฐบาล

ส่วน อนค. ซึ่งเคยเป็นพรรคอันดับสามในสภาก็ตกไปอยู่ในอันดับสี่ ตามหลัง ภท. นั่นเอง

ก้าวไกล

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ที่ประชุมใหญ่วิสามัญพรรคก้าวไกลมีมติเป็นเอกฉันท์เลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ เป็นหัวหน้าพรรค เมื่อ 14 มี.ค. 2563

6 ส.ส. “งูเห่า” ถูกขับพ้นพรรค

ส.ส. ชุดแรกที่ถูกพรรคต้นสังกัดขับพ้นพรรค หนีไม่พ้น 4 ส.ส. อนาคตใหม่ ที่โหวตสวนทางกับมติพรรคในการประชุม 3 นัดสำคัญ

หนึ่งในนั้นเกิดขึ้นในระหว่างการประชุมสภา 17 ต.ค. 2562 เพื่ออนุมัติพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) โอนอัตรากำลังพลและงบประมาณบางส่วนของกองทัพบก กองทัพไทย กระทรวงกลาโหม ไปเป็นของหน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ซึ่งเป็นส่วนราชการในพระองค์ พ.ศ. 2562 ซึ่งปรากฏว่าสภาล่างอนุมัติ พ.ร.ก. ด้วยคะแนนเสียง 374 ต่อ 70 งดออกเสียง 2 โดย 70 เสียงที่โหวตคว่ำ พ.ร.ก. ล้วนเป็นชาวอนาคตใหม่ ขณะเดียวกันมี ส.ส.อนค. 3 คน ลงมติเห็นชอบ และ 1 คน งดออกเสียง

ต่อมาประชุมใหญ่ อนค. มีมติเมื่อ 16 ธ.ค. 2562 ให้ขับ 4 ส.ส. พ้นพรรค และตอกย้ำด้วยมติ กก.บห. และ ส.ส. ของพรรคในวันรุ่งขึ้น เป็นผลให้นักการเมืองกลุ่มนี้ต้องหาต้นสังกัดใหม่ภายใน 30 วัน เพื่อไม่ให้พ้นสมาชิกภาพตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ ซึ่งปรากฏว่าทั้งหมดได้พลิกขั้ว-ย้ายข้างไปอยู่ฝั่งรัฐบาล ประกอบด้วย น.ส. ศรีนวล บุญลือ ส.ส.เชียงใหม่ เข้าสังกัด ภท., พ.ต.ท. ฐนภัทร กิตติวงศา ส.ส.จันทบุรี สังกัด พปชร., นายจารึก ศรีอ่อน ส.ส.จันทบุรี สังกัดพรรคพลังท้องถิ่นไท (พทท.) และ น.ส. กวินนาถ ตาคีย์ ส.ส.ชลบุรี สังกัด พทท.

นอกจากพรรคสีส้ม ยังมี 2 ส.ส. เพื่อไทยถูกขับพ้นพรรคตามมติ กก.บห. และ ส.ส. ของพรรคเมื่อ 12 ต.ค. 2564 นั่นคือ นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ ด้วยเหตุผลที่ว่า “ทำตัวปฏิปักษ์ต่อพรรค ทำลายชื่อเสียงพรรค” และ น.ส. พรพิมล ธรรมสาร ส.ส.ปทุมธานี ด้วยพฤติการณ์ “ฝักใฝ่พรรคการเมืองอื่น ไม่ยึดมั่นอุดมการณ์พรรค”

ต่อมา น.ส. พรพิมลได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก พปชร. ส่วนนายศรัยย์วุฒิเลือกพรรคเพื่อชาติ (พช.) และได้ทะยานขึ้นสู่การเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่เมื่อ พ.ย. 2564 ก่อนถูกลูกพรรคยึดเก้าอี้คืน เมื่อ กก.บห. พร้อมใจกันลาออก ส่งผลให้หัวหน้าพรรคต้องพ้นเก้าอี้ไปโดยปริยายเมื่อ ก.ค. 2565 ทั้งนี้แถลงการณ์ของ พช. ระบุว่านายศรัณย์วุฒิ “มีพฤติกรรมอันเป็นอุปสรรคต่อการทำงานของพรรค”

นอกจาก 6 ส.ส. ที่ถูกขับพ้นพรรคแล้ว ยังมี ส.ส.ฝ่ายค้านอีกหลายคนในหลายพรรคที่มักแสดงพฤติกรรมสวนทางกับจุดยืนของพรรคและสนับสนุนแนวทางรัฐบาลในการลงมตินัดสำคัญ ๆ ในสภา จนถูกเรียกขานว่า “ส.ส. งูเห่า” แต่พรรคต้นสังกัดก็ยังเก็บ-เลี้ยง-ดองคนเหล่านี้เอาไว้จนกว่าจะสิ้นอายุขัยของสภา ไม่ใช้มติขับพ้นพรรคแบบที่ผ่านมา เพราะไม่ต้องการหยิบยื่นอิสรภาพให้พวกเขาไปมีชีวิตแบบที่หวัง

ฝ่ายค้าน

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ฝ่ายค้านวอล์กเอาต์เป็นครั้งที่ 3 เมื่อ 4 ธ.ค. 2562 ในระหว่างประชุมสภาเพื่อพิจารณาญัตติให้ตั้ง กมธ.วิสามัญเพื่อศึกษาผลกระทบจากการกระทำ ประกาศ และคำสั่งของ คสช. ตามมาตรา 44 แต่ก็มี ส.ส. ฝ่ายค้านนับสิบคนที่ "แหกมติ" วิปฝ่ายค้านและเลือกอยู่เป็นองค์ประชุมให้รัฐบาล

ธรรมนัสสร้าง “บ้านหลังใหม่” หลังถูกขับพ้นพรรคเก่า

แต่สำหรับการขับ ส.ส. พ้นพรรคล็อตใหญ่ที่สุดที่เชื่อกันว่าเป็นการวางแผนร่วมกันระหว่างฝ่ายผู้ขับกับฝ่ายผู้ถูกขับเพราะหวัง “แยกจากกันด้วยดี” หนีไม่พ้น กรณี พปชร. มีมติเมื่อ 19 ม.ค. 2565 ให้ขับ 21 ส.ส. กลุ่ม ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค พ้นจากพรรคตัวเอง โดยนายไพบูลย์ นิติตะวัน มือกฎหมายของพรรค แถลงอ้างเหตุผลว่า ร.อ. ธรรมนัส “ก่อให้เกิดความเสียหายต่อความมั่นคง ความเป็นเอกภาพ และเสถียรภาพของพรรค” จากการเรียกร้องให้ปรับโครงสร้างพรรคใหม่ขนานใหญ่ แต่พรรคไม่สามารถดำเนินการให้ได้

สำหรับ 21 ส.ส. ประกอบด้วย ส.ส.แบบแบ่งเขต 17 คน และ 4 ส.ส.บัญชีรายชื่อ

การเดินเกมของกลุ่ม 21 ส.ส. ถูกวิเคราะห์ว่ามีเป้าหมายเพื่อต่อรองขอให้มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) "ประยุทธ์ 2/5" และจัดสรรเก้าอี้รัฐมนตรีให้กลุ่ม ร.อ. ธรรมนัสอย่างน้อย 1 ตำแหน่ง ตามการรายงานของสื่อมวลชนแทบทุกสำนัก ถึงขั้นมีการปล่อยชื่อกระทรวงที่หมายมั่นปั้นมือว่าจะเข้าไปรั้งเก้าอี้ออกมาในเวลานั้น แต่ผ่านมาถึงบัดนี้ก็ยังไม่มีสัญญาณปรับ ครม. แต่อย่างใด

ย้อนกลับไปเมื่อ 8 ก.ย. 2564 ร.อ. ธรรมนัสถูก "ปลดฟ้าผ่า" พ้นจากเก้าอี้ รมช.เกษตรและสหกรณ์ พร้อมกับนางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ รมช.แรงงาน หลังปรากฏกระแสข่าวว่าเขาอยู่เบื้องหลังความเคลื่อนไหวในขบวนการโหวตล้ม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม กลางสภา ในระหว่างการอภิปรายไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านช่วงปลายเดือน ส.ค. 2564

ผู้สื่อข่าวประจำรัฐสภายกให้ "แผนกบฏการเมืองล้มนายกรัฐมนตรี" เป็นเหตุการณ์เด่นแห่งปี 2564 โดยให้เหตุผลว่า "ไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ลูกพรรคเดินเกมล็อบบี้ ส.ส. ในพรรคของตัวเอง เพื่อโค่นล้มนายกรัฐมนตรี"

ศท.

ที่มาของภาพ, ThaI News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.อ. วิชญ์ กับ ร.อ. ธรรมนัส ในวันประชุมใหญ่ของ ศท. เมื่อ 18 มี.ค. 2565 ก่อนที่ความสัมพันธ์ของทั้งคู่จะเข้าสู่จุดแตกหัก

จากเคยเป็น “มุ้งย่อย” ใน พปชร. ผู้กองธรรมนัสได้ออกไปสร้าง “บ้านหลังใหม่” ใช้ชื่อว่าพรรคเศรษฐกิจไทย (ศท.) ทว่าไม่ใช่ทุกคนที่เก็บของไปอยู่บ้านหลังเดียวกับเขา-สมัครเป็นสมาชิกพรรค ศท. เมื่อ 20 ม.ค. 2565 เนื่องจากมี 3 ส.ส. ขอแยกวงไปสังกัด ภท. ประกอบด้วย นายเอกราช ช่างเหลา ส.ส.บัญชีรายชื่อ, นายวัฒนา ช่างเหลา ส.ส.ขอนแก่น และนายสมศักดิ์ พันธ์เกษม ส.ส.นครราชสีมา

ขณะที่สถานการณ์ของ ศท. ก็ไม่ราบรื่นดังคาด พล.อ. วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา นั่งเก้าอี้หัวหน้าพรรคได้เพียง 2 เดือน ก็จำต้องเก็บข้าวของออกจากพรรคไป ก่อนปรากฏตัวเป็นหัวหน้าพรรครวมแผ่นดินหลังจากนั้น ส่วนหัวหน้าพรรคคนใหม่ของ ศท. ก็คือ ร.อ. ธรรมนัส นั่นเอง

บททดสอบแรกของผู้กองธรรมนัสคือการนำพรรคเข้าสู่สนามเลือกตั้งซ่อมลำปาง เมื่อ 10 ก.ค. 2565 ก่อนประสบความพ่ายแพ้ให้แก่ผู้สมัครจากพรรคเสรีรวมไทย (สร.) ทั้งที่เป็นเจ้าของพื้นที่เดิม-ส่งผู้สมัครคนเดิมลงรักษาเก้าอี้

ทั้งนี้ นายวัฒนา สิทธิวัง ส.ส.ลำปาง ซึ่งเป็น 1 ใน 21 ส.ส. ที่ถูก พปชร. ขับพ้นพรรคและย้ายเข้าสังกัด ศท. แต่ต้องยุติการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. หลังศาลฎีการับคำร้อง กกต. ที่ขอให้ศาลสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่ หรือ "แจกใบเหลือง" จากกรณีหัวคะแนนจ่ายเงินจูงใจเลือกตั้ง

ปัจจุบัน ศท. เหลือ ส.ส. ปฏิบัติหน้าที่ในสภาได้ 16 คน

ขณะที่ภาพรวมในช่วงปลายวาระของสภาชุดปัจจุบัน เหลือ ส.ส. ปฏิบัติหน้าที่ได้ 477 คน เนื่องจากในช่วงที่ผ่านมา มีนักการเมืองต้องพ้นสมาชิกภาพตามคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญ ศาลอาญา ศาลฎีกา และมีอีกหลายคนที่อยู่ระหว่างถูกสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างรอคำวินิจฉัยคดีต่าง ๆ

จากการตรวจสอบเสียงในสภาล่าสุด ณ เดือน ส.ค. 2565 พบว่า 7 พรรคฝ่ายค้าน มีเสียงรวมกัน 206, พรรคเศรษฐกิจไทยซึ่งประกาศตัวเป็น “ฝ่ายค้านอิสระ” หลังแพ้ศึกเลือกตั้งซ่อม ส.ส.ลำปาง มีอยู่ 16 เสียง และ 17 พรรคร่วมรัฐบาล มีเสียงรวมกัน 253 เสียง

เป้าหมายในศึกเลือกตั้ง 2566

การเลือกตั้ง 2566 จะกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แยกการตัดสินใจเลือกระหว่าง ส.ส.เขต กับ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หากไม่มีอะไรผิดพลาด ก็จะใช้สูตรคำนวณปาร์ตี้ลิสต์แบบหารด้วย 100 ทว่าขณะนี้ยังรอการตีความร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. จากศาลรัฐธรรมนูญอยู่

ในช่วงที่ผ่านมา บรรดาแกนนำพรรคการเมืองต่าง ๆ ได้ออกมาประกาศยอด ส.ส. เป้าหมายไว้บ้างแล้ว ทั้งต่อหน้าสมาชิกพรรคและในการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

เฉพาะ 7 พรรคการเมืองมีที่นั่งในสภาปัจจุบัน และแกนนำพรรคได้เปิดเผยจำนวนเก้าอี้เป้าหมายครั้งหน้า พบว่า พวกเขาตั้งเป้าหิ้ว ส.ส. เข้าสภารวมกันถึง 785 เสียง จากที่นั่งที่มีอยู่จริง 500 เสียง

CG
  • พรรคเพื่อไทย 250+ ที่นั่ง : นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรค ประกาศกลางที่ประชุมใหญ่สามัญพรรคเมื่อ 24 เม.ย. เชิญชวนประชาชนเลือกเพื่อไทยให้ชนะขาด “เลือกเพื่อไทยอย่างแลนด์สไลด์อย่างถล่มทลายให้มีเก้าอี้ ส.ส. ในสภาอย่างน้อย 250 ที่นั่งขึ้นไป”
  • พรรคพลังประชารัฐ 150 ที่นั่ง : หัวหน้าพรรคให้โจทย์แก่ผู้บริหารพรรค และ ส.ส. กลางที่ประชุมใหญ่สามัญพรรคเมื่อ 3 เม.ย. ว่าต้องให้ประชาชนสนับสนุน พปชร.  150 ที่นั่ง
  • พรรคภูมิใจไทย 100+ ที่นั่ง : นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานะหัวหน้าพรรค ตอบคำถามผู้สื่อข่าวระหว่างการประชุมใหญ่สามัญประจำปี 23 เม.ย. แสดงความเชื่อมั่นว่า “จะได้เกิน 100 คนอย่างแน่นอน”
  • พรรคเศรษฐกิจไทย 100+ ที่นั่ง : ในระหว่างการประชุมใหญ่วิสามัญของพรรคเมื่อ 18 มี.ค. ซึ่งเป็นการเปลี่ยนโครงสร้าง กก.บห. ชุดใหม่ พรรคตั้งเป้ากวาดที่นั่งไม่ต่ำกว่า 100 คน ก่อนที่ในเวลาต่อมาผู้ประกาศเป้าหมายอย่าง พล.อ. วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา จะย้ายไปเป็นหัวหน้าพรรครวมแผ่นดิน ส่วน ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ยังไม่ได้เปิดเผยตัวเลขเป้าหมายแต่อย่างใด
  • พรรคก้าวไกล 120 ที่นั่ง : นายพิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค เปิดเผยผ่านสื่อมวลชนเมื่อ 29 ส.ค. ว่า พรรคตั้งเป้ากวาด ส.ส. 120 ที่นั่ง แบ่งเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อ 30 ที่นั่ง และ ส.ส.เขต 90 ที่นั่ง
  • พรรคประชาธิปัตย์ 40+ ที่นั่ง : นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรค ยังไม่เคยพูดถึงเป้าหมายในภาพรวม ทว่าในระหว่างเปิดตัวผู้สมัคร ส.ส.สตูลเมื่อ 13 ส.ค. ทั้งหัวหน้าพรรคและแกนนำพรรคต่างตอกย้ำเป้าหมายนำ ส.ส.ใต้เข้าสภาให้ได้ 35-40 ที่นั่ง
  • พรรคชาติไทยพัฒนา 25+ ที่นั่ง : น.ส. กัญจนา ศิลปอาชา หัวหน้าพรรค ตั้งเป้าเป็น “พรรคของคนทั้งประเทศ” ด้วยการได้ ส.ส. มากกว่า 25 ที่นั่ง ในระหว่างการประชุมใหญ่ของพรรค 24 เม.ย.