เปิดบทลงโทษโรงงานกระดาษนำเข้าขยะเทศบาล 130 ตันจากออสเตรเลีย

กรมควบคุมมลพิษ

ที่มาของภาพ, กรมควบคุมมลพิษ

คำบรรยายภาพ, เมื่อเจ้าหน้าที่เปิดตู้คอนเทนเนอร์ออกมา ก็พบวัสดุปนเปื้อนเป็นจำนวนมาก เมื่อ 27 ก.ค.

อธิบดีกรมควบคุมมลพิษยืนยัน จะเร่งตรวจสอบและส่งกลับขยะเทศบาล 130 ตัน ที่โรงงานรีไซเคิลกระดาษของไทยนำเข้ามาจากออสเตรเลีย และส่งกลับต้นทางโดยเร็ว

กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ร่วมกับกรมศุลกากรเข้าตรวจสอบสินค้าขาเข้าที่นำเข้าจากประเทศออสเตรเลีย ที่ศูนย์เอกซเรย์และเทคโนโลยีศุลกากร สำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี เมื่อ 27 ก.ค. หลังได้ข้อมูลว่ามีตู้สินค้าต้องสงสัยว่าสำแดงไม่ตรงกับข้อเท็จจริง

บริษัท อินเตอร์ แปซิฟิก เปเปอร์ จำกัด สำแดงว่าเป็นเศษกระดาษ (waste paper-mixed paper) น้ำหนักประมาณ 130 ตัน เพื่อมาเข้ากระบวนการผสมกับเยื่อกระดาษ ผลิตเป็นกระดาษม้วน ที่โรงงานของโรงงานรีไซเคิลกระดาษ อ.บ้านสร้าง จ.ปราจีนบุรี

อย่างไรก็ตามเมื่อตรวจสอบสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์พบว่า มีเศษกระดาษและวัสดุชนิดอื่นปะปน เช่น รองเท้า ซองบรรจุภัณฑ์อาหาร หน้ากากอนามัย ผ้าอ้อมอนามัย อะลูมีเนียม สเปรย์กระป๋อง ซองยา ฯลฯ รวมวัสดุเจือปนประมาณ 20-30% เข้าข่ายเป็นขยะเทศบาล

“กฎหมายเราห้ามไม่ให้มีสิ่งปนเปื้อนเกิน 1% แต่นี่คาดว่ามีประมาณ 30% มีกลิ่น และอาจมีติดเชื้อบ้าง” นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดี คพ. กล่าว

สำหรับขยะเทศบาลเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้าและห้ามนำผ่านราชอาณาจักร ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ปี 2562

กรมควบคุมมลพิษ

ที่มาของภาพ, กรมควบคุมมลพิษ

นายอรรถพลกล่าวด้วยว่า คพ. และกรมศุลกากรได้หารือร่วมกับบริษัท อินเตอร์ แปซิฟิก เปเปอร์ จำกัด เบื้องต้นได้รับคำชี้แจงจากบริษัท สรุปได้ ดังนี้ 

  • ต้องนำเข้าเศษกระดาษจากต่างประเทศ เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษม้วน
  • ที่ผ่านมา นำเข้าเศษกระดาษจากต่างประเทศราว 4% เนื่องจากเศษกระดาษเยื่อขาวในประเทศไม่เพียงพอ ส่วนที่เหลือใช้เศษกระดาษภายในประเทศ
  • ก่อนหน้านี้เคยนำเข้าเศษกระดาษมาแล้ว ซึ่งในสัญญาซื้อขายกำหนดให้มีวัสดุเจือปนไม่เกิน 1% โดยน้ำหนัก โดยสิ่งเจือปนจำพวกเศษพลาสติกที่ถูกคัดแยก ทางโรงงานจะส่งไปเป็นเชื้อเพลิงเสริมที่โรงปูนซีเมนต์
  • บริษัทพร้อมปฏิบัติตามคำแนะนำของหน่วยงานราชการให้ถูกต้องต่อไป และจะเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบสินค้าตั้งแต่ต้นทางเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุในลักษณะเช่นนี้อีก
กรมควบคุมมลพิษ

ที่มาของภาพ, กรมควบคุมมลพิษ

คำบรรยายภาพ, บริษัทเอกชน สำแดงเป็นสินค้าเศษกระดาษไม่ได้แยก พิกัด 4707.90.00 น้ำหนักรวม 294 ตัน แต่จากการตรวจสอบพบของอันมีลักษณะเข้าข่ายเป็นขยะเทศบาล พิกัด 3825.10.00 เมื่อ ก.ย. 2564

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการตรวจพบการขนขยะเทศบาลจากต่างประเทศเข้ามาในไทย เพราะเมื่อ 8 ก.ย. 2564 คพ. ร่วมกับกรมศุลกากรเข้าตรวจสอบตู้สินค้านำเข้าที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยนำเข้ามาจากประเทศสหรัฐฯ สำแดงว่าเป็นเศษกระดาษ น้ำหนัก 294 ตัน แต่เมื่อเปิดตู้คอนเทนเนอร์ออกมากลับพบว่ามีเศษพลาสติกและวัสดุอื่น ๆ ปนเปื้อนจำนวนมาก เข้าข่ายเป็นขยะเทศบาล

ในครั้งนั้น ผู้นำเข้าคือ บริษัท สยามคราฟท์อุตสาหกรรม จำกัด

สำหรับการนำเข้าขยะเทศบาล มีความผิดตามกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศุลกากร พ.ศ. 2560, พ.ร.บ.การส่งออกไปนอกและการนำเข้าในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ. 2522 และประกาศกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งกำหนดให้ขยะเทศบาลเป็นสินค้าที่ต้องห้ามนำเข้าและห้ามนำผ่านราชอาณาจักร พ.ศ. 2562 โดยกำหนดบทลงโทษสูงสุดคือจําคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

  • มาตรา 202 ของกฎหมายศุลกากร ระบุว่า ผู้ใดยื่น จัดให้ หรือยอมให้ผู้อื่นยื่นใบขนสินค้า เอกสาร หรือข้อมูล ซึ่งเกี่ยวกับการเสียอากรหรือการปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ไม่ถูกต้องหรือไม่บริบูรณ์ อันอาจก่อให้เกิดความสําคัญผิดในรายการใด ๆ ที่ได้แสดงไว้ในใบขนสินค้า เอกสาร หรือข้อมูลดังกล่าวต่อพนักงานศุลกากร ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5 แสนบาท
  • มาตรา 244 ของกฎหมายศุลกากร ระบุว่า ผู้ใดนําของที่ผ่านหรือกําลังผ่านพิธีการศุลกากรเข้ามาในราชอาณาจักร หรือส่งของดังกล่าวออกไปนอกราชอาณาจักร หรือนําของเข้าเพื่อการผ่านแดนหรือการถ่ายลําโดยหลีกเลี่ยงข้อจํากัดหรือข้อห้ามอันเกี่ยวกับของนั้น ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ และศาลอาจสั่งริบของนั้นก็ได้ ไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคําพิพากษาหรือไม่