สส. เพื่อไทย “ฮึกเหิม” วัน ทักษิณ ชินวัตร เหยียบพรรคเพื่อไทยในรอบ 17 ปี

ทักษิณ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ทักษิณ ชินวัตร รับดอกไม้จากผู้สนับสนุน ขณะเดินทางเข้าที่ทำการพรรคเพื่อไทยในรอบ 17 ปี
  • Author, หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) ยอมรับว่า การเดินทางเข้าพรรคของ ทักษิณ ชินวัตร ทำให้ สส. “มีความฮึกเหิม” พร้อมระบุว่าอดีตนายกฯ อยากกลับไปเยี่ยมประชาชนที่รักและสนับสนุนอีก

ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 และบิดาของ แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) เดินทางเข้าไปยังที่ทำการพรรคเพื่อไทย (พท.) ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ ในรอบกว่า 17 ปี

อาคารโอเอไอ (OAI Tower) ซึ่งตั้งชื่อเรียกตามชื่อเล่นลูกทั้ง 3 ของ ทักษิณ - โอ๊ค-พานทองแท้, เอม-พินทองทา, อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร - เคยใช้เป็นที่ทำการพรรคไทยรักไทย (ทรท.) มาก่อนตั้งแต่สมัยที่ ทักษิณ เป็นหัวหน้าพรรค ซึ่งเดิมชื่ออาคารไอเอฟซีที (IFCT) และใช้ต่อเนื่องมาถึงพรรคทายาททั้งพรรคพลังประชาชน (พปช.) และพรรค พท. แม้บางช่วงมีย้ายที่ทำการพรรคไปอยู่สถานที่อื่นบ้างก็ตาม

พลันที่รถยนต์หรูของ ทักษิณ จอดเทียบประตูทางเข้าอาคาร ในเวลา 13.35 น. เสียงตะโกนเรียก “นายกฯ ทักษิณ” และ “เรารักทักษิณ” ก็ดังไปทั่วบริเวณ ทั้งกองทัพสื่อมวลชน นักการเมือง เจ้าหน้าที่พรรค รวมถึงผู้สนับสนุนพรรคต่างเปิดกล้องสมาร์ทโฟนเตรียมพร้อมรอบันทึกภาพชายวัย 74 ปี

ทักษิณ ปรากฏตัวในชุดเสื้อสูทสีกรมท่ากับกางเกงยีนส์ โดยไม่ได้สวมอุปกรณ์พยุงคอ แขน และหลังอีกต่อไป มี แพทองธาร ซึ่งเดินทางมาเตรียมความพร้อมที่พรรค พท. ก่อนหน้า คอยประกบกายบิดามิห่าง และส่งสัญญาณแจ้งผู้สื่อข่าวว่าไม่มีการให้สัมภาษณ์

อาคารโอเอไอเป็นสมบัติของของครอบครัวชินวัตร และใช้เป็นที่ทำการพรรคมาแล้ว 3 พรรค

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, อาคารโอเอไอเป็นสมบัติของครอบครัวชินวัตร และใช้เป็นที่ทำการพรรคมาแล้ว 3 พรรค

อดีตนายกฯ คนที่ 23 กวาดสายตามองไปรอบ ๆ “บ้านหลังเก่า” ที่ห่างไปนาน พร้อมทักทายและรับดอกไม้จาก “มวลชน” ที่มารอต้อนรับ โดยมีเสียงปรบมือและกรีดร้องดังขึ้นเป็นระยะ นอกจากนี้เขายังถูกแฟนคลับขโมยหอมด้วย

แม้ระยะทางจากประตูพรรคถึงลิฟต์ไม่ถึง 100 เมตร แต่ ทักษิณ ใช้เวลาถึง 6 นาทีกว่าจะฝ่าฝูงชนไปได้

ประตูลิฟต์ปิดลง แต่ความตื้นตันใจของใครหลายคนยังอยู่ตรงนั้น

“คนรักทักษิณ”

สุชาดา เทียนทอง แม่ค้าวัย 68 ปี เดินทางจากบ้านพักย่านบางกอกน้อย กทม. ถึงอาคารโอเอไอตั้งแต่ 08.00 น. หลังทราบข่าวว่า “อดีตนายกฯ ในดวงใจ” จะเดินทางมาที่พรรค พท. จึงนัดหมายกับ ป้อม เพื่อนที่พักอยู่ย่านพระราม 2 ให้ขับรถมารับเธอที่บ้าน เนื่องจากเธอยังเดินไม่ถนัดนักหลังเข้ารับการผ่าตัดรักษาอาการกระดูกทับเส้นประสาทเมื่อ 2 เดือนก่อน

“อยากบอกว่ารักท่าน ถ้าไม่มีโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ป้าตายไป 3 รอบแล้ว” สุชาดา กล่าวกับบีบีซีไทย โดยเธอเล่าว่า ใช้บัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้าผ่าตัดมาแล้วสารพัดทั้งมดลูก ดวงตา และอาการกระดูกทับเส้นประสาท

แม่ค้าขายอาหารอย่าง สุชาดา บอกว่า ก่อนหน้านี้ไม่เคยสนใจการเมืองเลย จนกระทั่งเกิดพรรค ทรท. และนโยบายที่ “ทักษิณคิด” เธอกลายเป็น “แฟนพันธุ์แท้” ของ “พรรคทักษิณ” และไม่เคยปันใจไปเลือกพรรคไหนตลอด 22 ปีที่ผ่านมา

กับรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งถูกตั้งคำถามเรื่องความสามารถในการแปรนโยบายไปสู่การปฏิบัติ สารพัดนโยบายที่เพื่อไทยหาเสียงเอาไว้ยังไม่เกิดผลเป็นรูปธรรมหลังบริหารราชการแผ่นดินมาได้ 7 เดือนแล้ว โหวตเตอร์รายนี้ขอแก้ต่างแทน โดยตั้งคำถามกลับว่า ก็งบประมาณยังไม่ออกไม่ใช่หรือ แล้วจะไปโทษรัฐบาลได้อย่างไร

“สมัยประยุทธ์ (จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีคนที่ 29) ทำเอาไว้เละเทะ เหมือนห้องน้ำที่เข้าก่อนแล้วไม่ล้าง รัฐบาลนี้มาก็ต้องมาเก็บกวาดเช็ดล้าง เละเทะไปตั้งเท่าไร แล้วจะมาบอกว่ารัฐบาลนี้ไม่มีผลงาน ป้าว่ามันไม่ใช่” สุชาดา กล่าว

แม้ได้ยินคำประกาศ-ความต้องการของ ทักษิณ ที่ระบุว่าต้องการ “กลับบ้านมาเลี้ยงหลาน” แต่ สุชาดา อดคาดหวังไม่ไว้ว่าอดีตนายกฯ จะคอยช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่รัฐบาล “ถ้าท่านมาเป็นสมองให้พรรคเพื่อไทยได้ ก็โอเคเลย”

ป้าป้อม ป้าสุ

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ป้าป้อม (ซ้าย) กับ ป้าสุ (ขวา) ไปรอต้อนรับอดีตนายกฯ ตั้งแต่วันเดินทางถึงสนามบินดอนเมือง 22 ส.ค. 2566 ก่อนมารอพบอีกครั้งที่พรรคเพื่อไทยวันนี้

ขณะที่ จรัส (ไม่ประสงค์จะเปิดเผยนามสกุล) วัย 74 ปี นัดหมายเพื่อน ๆ สวมใส่เสื้อสีแดงที่สกรีนรูป ทักษิณ พร้อมข้อความว่า “นายกฯ ในดวงใจ” และ “FC เพื่อไทย” มารอต้อนรับอดีตนายกฯ

เธอบอกว่า เป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ออกไปร่วมชุมนุมบนท้องถนนตั้งแต่ปี 2553 เพื่อต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งพลิกขั้วการเมืองหลังการยุบพรรคพลังประชาชน (พปช.) แล้วไปจัดตั้งรัฐบาลในค่ายทหาร และต้องการทวงคืนความยุติธรรมให้ ทักษิณ ซึ่งเธอมองว่าเป็น “ผู้ถูกกระทำ”

ย้อนกลับไปเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน ทักษิณ เดินทางกลับบ้านเกิดที่ จ.เชียงใหม่ ระหว่าง 14-16 มี.ค. โดยมีประชาชน 4 คนซึ่งระบุว่าเป็นอดีตคนเสื้อแดง ไป “ดักรอ” ขบวนรถของ ทักษิณ ที่บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่

สื่อหลายสำนัก อาทิ สถานีโทรทัศน์ช่อง 7 และพีพีทีวี รายงานว่า อดีตคนเสื้อแดงนำโลงศพที่ทาสีแดงไปวางไว้ และชูป้ายประท้วงว่า “จะทวงความยุติธรรมหื้อคนเสื้อแดงกี่โมง” โดยให้เหตุผลว่า ทักษิณ ได้กลับบ้าน แต่มีคนเสื้อแดงต้องเสียชีวิตในระหว่างสลายการชุมนุม นปช. ปี 2553 และอีกหลายคนยังติดคุกอยู่

ในความรับรู้ของ จรัส ผู้ชุมนุมทั้งเสื้อแดงและเสื้อเหลืองได้รับเงินเยียวยาไปหมดแล้วคนละ 7.5 ล้านบาท ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร “แล้วจะเอาอะไรอีก จะมาทวงอะไร ทำไมไม่พูดประเด็นนี้บ้าง”

“ป้าไม่คิดว่านายกฯ ทักษิณเอาตัวรอดคนเดียวนะ ที่ผ่านมา ท่านโดนกระทำไปเยอะแล้ว ต้องไปอยู่เมืองนอก 17 ปี โดนยึดทรัพย์สินไปตั้งเท่าไร จึงไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องการได้อภิสิทธิ์อะไร” แนวร่วม นปช. จากเขตบางกอกใหญ่ กทม. กล่าว

เสื้อทักษิณ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เช่นเดียวกับ สุธรรม แสงประทุม สส.บัญชีรายชื่อ พรรค พท. ที่ให้ความเห็นกับบีบีซีไทยว่า “ตอนนี้ไม่ใช่ว่าท่านรอดแล้ว เพราะต้องผ่านการจับผิดและการหาเรื่องอีกโดยหลายต่อหลายคน” พร้อมย้ำว่า กระบวนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของสังคมไม่มีใครสามารถแก้ปัญหาให้จบได้ในครั้งเดียว

“ถ้าท่านแข็งแรงเมื่อไร ท่านคงไม่ทิ้งหรอก ท่านไม่เคยทิ้งคนที่ลำบาก” สุธรรม กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการทวงคืนความยุติธรรมให้คนเสื้อแดง

“นายเก่า-ผู้นำทางจิตวิญญาณ” ของชาวเพื่อไทย

ที่ชั้น 8 แพทองธาร นำบิดาของเธอไปดูห้องทำงานของหัวหน้าพรรค พท. ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นห้องทำงานของ ทักษิณ ในฐานะหัวหน้าพรรค ทรท. มาก่อน

จากนั้นจึงเปิดให้บรรดาสมาชิกพรรค ถ่ายภาพหมู่ร่วมกับ ทักษิณ และถ่ายภาพแยกเป็นรายกลุ่ม ไล่ตั้งแต่ รัฐมนตรี สส. อดีต สส. ข้าราชการการเมือง ฯลฯ โดยใช้กล้องของพรรค และไม่เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์แต่อย่างใด

โดยปกติ พรรค พท. ประชุมพรรคทุกวันอังคาร แต่การปรากฏตัวของ ทักษิณ ทำให้บรรยากาศคึกคัก ชื่นมื่น อบอุ่น และ “เต็มไปด้วยรอยยิ้มและความสุข” ตามการบรรยายของสมาชิกพรรคหลายคน

สส.เพื่อไทย บางส่วนเรียก ทักษิณ ว่า “ท่าน” “นาย” บ้างก็เปรียบเปรยเป็น “ผู้ใหญ่ที่เคารพ” “ผู้นำทางจิตวิญญาณ” หรือไม่ก็ “อดีตผู้บังคับบัญชา”

รัฐมนตรีหลายคนรุดออกจากห้องประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อตรงมายังพรรค พท. ตั้งแต่ช่วงเที่ยง โดย เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช รมว.วัฒนธรรม เป็นหนึ่งในคนกลุ่มนี้ โดยเขากล่าวกับบีบีซีไทยว่า “ลาประชุม (ครม.) มาเลย ไม่ทันได้กินข้าวเลย” เพราะต้องการมารอรับอดีตนายกฯ ทักษิณซึ่งเคยทำงานร่วมกันมานานตั้งแต่เมื่อครั้งที่เขาเป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย และ รมช.มหาดไทย ในรัฐบาลทักษิณ

เสื้อแดง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ทักษิณ เป็นผู้นำพรรคการเมืองที่ได้คะแนนมหาชนสูงสุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย โดยมีประชาชนถึง 19 ล้านคนลงคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ให้พรรค ทรท. ในการเลือกตั้งปี 2548 และทำให้พรรค ทรท. นำ สส. เข้าสภาได้ถึง 377 คน ก่อนที่หัวหน้ารัฐบาลพรรคเดียวจะพลัดหล่นจากอำนาจด้วยรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549

ทว่าสิ่งที่ผิดแผกไปจากเดิมคือ พรรค พท. ไม่ได้อยู่ในฐานะ ผู้ชนะการเลือกตั้ง ในปี 2566 แม้ต่อมา พรรค 141 เสียง จะสามารถรวบรวมเสียงสนับสนุนในรัฐสภา-ส่ง เศรษฐา ทวีสิน เข้าทำเนียบฯ ได้สำเร็จก็ตาม แต่การพลิกฟื้นความน่าเชื่อถือ-ศรัทธาในสายตาประชาชน ยังถือเป็นโจทย์ใหญ่ของเพื่อไทยเพื่อไม่ให้ประสบความพ่ายแพ้เป็นหนที่ 2 ในสนามเลือกตั้งครั้งต่อไป

เสริมศักดิ์ ระบุว่า ประชาชนนับถือศรัทธาอดีตนายกฯ ทักษิณมาก แต่ในช่วงที่อดีตนายกฯ ไม่อยู่ในไทย บางส่วนอาจไปเลือกพรรคอื่น แต่จากนี้เชื่อว่าจะกลับมาเลือกพรรค พท. เหมือนเดิม

“ท่านเป็นผู้ใหญ่ ก็คงให้คำปรึกษาแก่หลาย ๆ คน บางคนก็ย่อมอยากได้ประสบการณ์และความรู้ความสามารถของท่านอยู่แล้ว” รมว.วัฒนธรรม กล่าว

แม้มีความผูกพันกับทั้งคนและพรรค แต่ชายวัย 74 ซึ่งต้องคำพิพากษาให้จำคุก ไม่สามารถสมัครเป็นสมาชิกพรรค พท. ได้ เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามข้อบังคับพรรค พท. ข้อ 12

นั่นทำให้แกนนำพรรค พท. ถูกตั้งคำถามว่า การเข้าพรรคของ “นายใหญ่” สุ่มเสี่ยงต่อการทำให้พรรคถูกร้องเรียนว่าปล่อยให้คนนอกครอบงำพรรคหรือไม่ ซึ่งมีโทษถึงขั้นยุบพรรค

ประเสริฐ จันทรรวงทอง รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ปฏิเสธว่าไม่เกี่ยว และไม่กังวลใจ เพราะ ทักษิณ เป็นอดีตผู้ก่อตั้งพรรค ทรท. เมื่อกลับมาไทยก็ยังมีความผูกพันอยู่ อีกทั้งไม่มีข้อห้ามที่จะไม่ให้ ทักษิณ ไปไหนมาไหน

“น่าจะเป็นเรื่องของการให้ความเคารพนับถือกันมากกว่า สมาชิกกับท่านทักษิณ สามารถไปมาหาสู่กันได้อยู่แล้ว ไม่ได้เสียหายอะไร และไม่ได้เป็นการครอบงำ” ประเสริฐ กล่าว

พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง มาตรา 28 และ 29 ห้ามคนนอกควบคุม ครอบงำ หรือชี้นำกิจกรรมของพรรค

ทักษิณ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ด้าน แพทองธาร กล่าวถึงประเด็นการครอบงำพรรคว่า “คิดว่าคุณพ่อไปไกลกว่าการเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่แล้ว” โดยน่าจะเป็นปรึกษาและทำประโยชน์ให้กับประเทศได้โดยการใช้ความรู้ความสามารถ ซึ่งไม่จำเป็นต้องปรึกษาแค่ในพรรค พท. เท่านั้น ไม่ว่ารัฐมนตรีคนไหนที่เชื่อในวิสัยทัศน์ก็สามารถทำได้ ทั้งนี้โดยส่วนตัว แพทองธารก็ปรึกษาพ่ออยู่แล้วตั้งแต่เด็ก การแยกบทบาทพ่อลูก แล้วบอกครอบงำ คงไม่ใช่

“คนแก่ได้กลับบ้านอีกครั้งหนึ่ง”

ทักษิณใช้เวลาอยู่ที่อาคารโอเอไอราว 1 ชม. 40 นาที ซึ่ง อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ได้นำบรรยากาศบางส่วนมาถ่ายทอดให้สื่อมวลชนรับทราบในระหว่างแถลงข่าว

“ไม่ได้มา 17 ปี อะไร ๆ ก็เปลี่ยนไปเยอะ” ทักษิณ กล่าวกับ สส.เพื่อไทย ทั้งรุ่นใหม่และเก่า หลายคนรู้จักตั้งแต่รุ่นพ่อ ตอนนี้เป็นรุ่นลูกรุ่นหลานแล้ว โดย สส. หลายคนเพิ่งมีโอกาสเจอ ทักษิณ เป็นครั้งแรก

แพทองธาร ยืนยันว่า ไม่มีการพูดคุยเรื่องการทำงาน แต่เป็นเหมือน “คนแก่ได้กลับบ้านอีกครั้งหนึ่ง” ได้ทักทายทุกคน เชื่อว่าหลายคนก็คงรอจะเจอบิดาของเธอในฐานะเป็นผู้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย เป็นนายกฯ ที่มีผลงานมากที่สุด

“การมาครั้งนี้ ทำให้ สส. มีกำลังใจ รัฐบาลไทยรักไทยได้ทำให้ประเทศอย่างไร ประสบความสำเร็จอย่างไร ก็ทำให้ สส. มีความฮึกเหิม มีกำลังใจในการทำงานมากขึ้น” หัวหน้าพรรค พท. กล่าว

แพทองธาร บอกด้วยว่า ทักษิณบอกว่า “อยากกลับไปเยี่ยมประชาชนที่รักและสนับสนุนท่าน” แต่คงไม่ได้ไปช่วย สส. แต่ไปหาประชาชนจริง ๆ เพราะมีประชาชนอยากเจอคุณพ่อไม่ใช่ในนามพรรค แต่อยากเจอในนาม ดร.ทักษิณ อดีตนายกฯ ที่เคยทำประโยชน์ให้เขา

หากถามว่า ความเป็น ทักษิณ จะทำให้คะแนนนิยมของพรรค พท. กลับมาดีกว่าพรรคก้าวไกลหรือไม่นั้น หัวหน้าพรรค พท. โยนให้ประชาชนเป็นผู้ตอบคำถามนี้ เพราะเธอก็ไม่ทราบเหมือนกัน

อิ๊ง

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

1 เดือนหลังพักโทษ ทักษิณไปไหนมาบ้าง

ทักษิณ เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อ 22 ส.ค. 2566 ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรม ทว่าไม่ได้นอนเรือนจำแม้แต่คืนเดียว ก็ถูกย้ายตัวไปรักษาอาการป่วยที่ รพ.ตำรวจ

เมื่อครบ 6 เดือน เขาได้รับการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป ได้ออกจาก รพ.ตำรวจ มาใช้ชีวิตที่บ้านจันทร์ส่องหล้า ถ.จรัญสนิทวงศ์ 69 ตั้งแต่ 18 ก.พ. 2567 โดยมีแขกระดับ วีวีไอพี อย่าง สมเด็จ ฮุนเซน ประธานองคมนตรีกัมพูชา และอดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชา รุดมาเยี่ยมถึงบ้านพัก

ตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา เขาปรากฏตัวที่ไหนบ้าง

  • 13 มี.ค. ทักษิณ เดินทางไปที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เพื่อกราบนมัสการสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ เลขานุการสมเด็จพระสังฆราช โดยปรากฏภาพของเขาในแฟนเพจ The Room 44
  • 14 มี.ค. ทักษิณ เข้าสักการะศาลหลักเมืองกรุงเทพฯ ในช่วงรุ่งสาง
  • 14-16 มี.ค. ทักษิณ เดินทางไป จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นทั้ง “บ้านเกิด” และ “พื้นที่แจ้งเกิดทางการเมือง” ของเขา ท่ามกลางการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากคนการเมือง ข้าราชการ พ่อค้า และประชาชน
  • 24 มี.ค. ทักษิณ ไปตัดผมย่านศาลาแดง ถ.สีลม โดยมีประชาชนสนใจขอถ่ายรูปคู่ และโพสต์ภาพผ่านสื่อสังคมออนไลน์
  • 26 มี.ค. ทักษิณ เดินทางเข้ามายังที่ทำการพรรค พท.

หลังมาพบปะเยี่ยมเยียนอดีตลูกพรรคในวันนี้ มีกระแสข่าวว่าเขาอาจเดินทางลงพื้นที่ จ.อุดรธานี และกลับไปฉลองสงกรานต์ที่จังหวัดบ้านเกิดอีกครั้ง แต่กำหนดการทั้งหมดนี้ยังไม่ได้รับการยืนยัน โดย แพทองธาร บอกว่า “ยังไม่มีแผนที่ชัดเจนเลย”

กราฟิค