จักรภพ เพ็ญแข "ขออนุญาตกลับบ้าน" หลังลี้ภัยการเมือง 15 ปี

มากองปราบ

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, นายจักรภพ เพ็ญแข เดินทางมาถึงไทยวันนี้ (28 มี.ค.) หลังลี้ภัยทางการเมืองไป 15 ปี

เป็นเวลา 15 ปี ที่ นายจักรภพ เพ็ญแข อดีตโฆษกรัฐบาลสมัยนายกรัฐมนตรีทักษิณ ชินวัตร และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีสมัยนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องหลบหนีออกนอกประเทศเพื่อลี้ภัยทางการเมือง

ในวันนี้ เขาเดินทางกลับประเทศไทยด้วยความตั้งใจ "กลับมารับใช้เมืองไทย" พร้อมกับเข้ามอบตัวกับกองบังคับการปราบปรามทันทีหลังเดินทางมาถึงท่าอากาศนานาชาติยานสุวรรณภูมิ จากคดีที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองอาวุธซึ่งถูกกล่าวหาว่า นำมาใช้โจมตีกลุ่มผู้ชุมนุมที่เรียกตัวเองว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ กปปส. ก่อนหน้านี้

นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอทช์ ประจำประเทศไทย ชี้ว่าการกลับมาของนายจักรภพครั้งนี้ถือเป็นเรื่องดี แต่จะดีกว่านี้หากไทยนิรโทษกรรมนักโทษทางการเมืองทั้งหมดอย่างกว้างขวาง และให้สิทธิผู้ต้องหาได้ต่อสู้คดีในบรรทัดฐานเดียวกัน

“ผมขออนุญาตกลับบ้าน”

ช่วงเวลาประมาณเที่ยงคืนที่ผ่านมา (28 มี.ค.) นายจักรภพเผยแพร่คลิปวิดีโอความยาวประมาณ 4 นาทีลงบนเฟซบุ๊กในชื่อเดียวกัน ขณะกำลังเดินทางไปยังสนามบินเพื่อเดินทางกลับไทย

ในคลิปวิดีโอดังกล่าวเขาอธิบายเหตุผลการเดินทางกลับในครั้งนี้ว่า เขาต้องจากเมืองไทยมา 15 ปี ด้วยเหตุผลทางการเมือง และกังวลในสวัสดิภาพและความปลอดภัย แต่ที่ผ่านมาติดตามสถานการณ์บ้านเมืองตลอด เหมือนอยู่เมืองไทยทุกวัน “แต่ไม่สามารถกลับเมืองไทยได้ เนื่องจากเหตุการณ์ไม่เอื้ออำนวยให้”

“ผมไปอยู่ในต่างประเทศเกือบ 15 ปี ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกในทุกเรื่อง ทำให้สิ่งหนึ่งที่เกิดความรู้สึกขึ้นมาในเวลาไม่นานนี้คือ ประเทศไทย ผมก็เป็นคนไทยเหมือนท่านทั้งหลาย ผมก็รักประเทศไทย แต่ความรักของเราแสดงออกในรูปแบบแตกต่างกัน ผมเองไปทางการเมือง ขณะที่คนอื่น ๆ อาจจะช่วยทำงานอื่น ๆ ที่สุจริต ทำงานหนักเพื่อประเทศชาติ แค่คนละหน้าที่ ผมคิดว่า ผมสามารถจะเก็บเกี่ยวประสบการณ์เหล่านี้กลับบ้านได้ เอาไปใช้ในการเตรียมประเทศไทยในยามที่โลกเปลี่ยนแปลงแบบจำหน้าไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องภูมิอากาศ การเมือง เอไอ หรือแม้แต่เรื่องภัยไข้เจ็บ” นายจักรภพกล่าวในคลิปวิดีโอ ซึ่งสอดคล้องกับโพสต์เฟซบุ๊กก่อนหน้านี้ที่ระบุว่าต้องการ “กลับไปรับใช้เมืองไทย”

“ถามว่า แล้วความคิดต่าง ๆ ที่เคยมีในอดีตที่ทำให้เกิดความขัดแย้งเนี่ย ผมจะว่ายังไง ผมก็ต้องตอบอย่างนี้ครับว่า คนเราทุกคนเนี่ย มันได้คิดหลังจากเวลาผ่านไปช่วงระยะหนึ่ง ...10 กว่าปีนี้ทำให้ผมได้คิดว่า เราคนไทยจะมาขัดแย้งกันทำไมในเมื่อโลกกำลังผันผวนเปลี่ยนแปลง ประเทศไทยควรจะรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ความหลากหลายทางความคิดเป็นเรื่องดี ไม่น่าจะเป็นเหตุผลให้มาทะเลาะกัน”

นายจักรภพกล่าวต่อว่า เขาตั้งใจกลับเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในหลาย ๆ คดีที่ตนเองถูกกล่าวหาก่อนหน้านี้ โดยจะกลับไปมอบตัวกับเจ้าหน้าที่ หวังว่าตนเองจะสามารถสู้คดีได้ และไม่นานจะได้รับอิสรภาพ สามารถกลับมาทำงานให้บ้านเมือง

“ส่วนเรื่องสิ่งที่เคยพูดไว้ สิ่งที่เคยเขียนไว้ สิ่งที่เคยแสดงออกไว้ ผมไปเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ผมขอเรียนท่านว่าผมได้คิดอะไรใหม่ขึ้นเยอะ และขอโอกาสให้กับผมสักนิดครับว่าความคิดใหม่ตรงนี้มันช่วยอะไรได้บ้าง สำหรับประเทศชาติ” นายจักรภพกล่าว

เขายังพูดทิ้งท้ายในคลิปวิดีโอว่า “ผมขออนุญาตกลับบ้าน ผมอยู่ข้างนอกพอแล้วครับ ผมอยากกลับบ้าน”

ประชาชนมารอต้อนรับ

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, มีประชาชนมารอต้อนรับนายจักรภพ ระหว่างเข้ามอบตัวกับกองบังคับการปราบปรามทันทีที่เดินทางถึงประเทศไทย

สื่อมวลชนไทยรายงานว่า เมื่อเดินทางถึงท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิในเวลาประมาณ 07.35 น. ตำรวจจได้ประสานนำตัวนายจักรภพเดินทางไปยังกองบังคับการปราบปรามทางประตูอื่น ขณะที่ญาติเป็นผู้นำสัมภาระส่วนตัวออกมาตามช่องทางปกติ และมีทนายความตามไปสมทบกับนายจักรภพในเวลาต่อมา

เมื่อเวลาประมาณบ่ายโมง นายจักรภพให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนหลังจากเสร็จสิ้นกระบวนการต่าง ๆ กับตำรวจกองปราบ โดยบอกว่า เขามีคดีที่เกี่ยวข้องกับการครอบครองอาวุธจำนวน 2 คดี ที่ศาลพระนครศรีอยุธยาและศาลอาญา กรุงเทพฯ ขณะนี้วางเงินประกันตัวจำนวน 200,000 บาทต่อคดี

นายจักรภพบอกว่าการเมืองในภาพใหญ่ของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดี “โดยเฉพาะระบอบประชาธิปไตยได้รับอนุญาตให้เจริญเติบโตขึ้น อาจจะระมัดระวัง แต่ก็เจริญเติบโตขึ้น ซึ่งตรงนี้มันจะทำให้ทุกอย่างมั่นคงแข็งแรง ดีกว่าเอาหัวไปชนกำแพงแล้วบอกว่าจะเอาเดี๋ยวนี้เดี๋ยวนั้น”

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าการกลับมาครั้งนี้มีดีล (Deal) หรือข้อตกลงอะไรหรือไม่ นายจักรภพบอกว่า “เรื่องดีล ฟังดูแล้วเหมือนมันเป็นเรื่องไม่ค่อยดีนะ แต่ว่าทุกอย่างที่มาถึงขนาดนี้ มันไม่มีอะไรเกิดขึ้นโดยไม่มีการพูดกัน” แต่การคุยกันในที่นี้ไม่ได้หมายถึงข้อแลกเปลี่ยนใดๆ มันเป็นการหาจุดร่วมและจุดต่างท่ามกลางความขัดแย้งที่ดำเนินมากว่า 10 ปี ภายใต้การเมืองภาพใหญ่ที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น จึงทำให้บรรยายกาศที่เอื้อต่อการพูดคุย ซึ่งต่างจากก่อนหน้านี้

“ฝ่ายที่สร้างประชาธิปไตยก็มุ่งมั่นที่จะสร้าง ขณะที่ฝ่ายทำลาย[ประชาธิปไตย]ก็ลดบทบาทลง จึงทำให้บรรยากาศดีขึ้น” นายจักรภพ กล่าว

นายจักรภพกราบพระบรมฉายาลักษณ์

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, นายจักรภพกราบพระบรมฉายาลักษณ์ ที่กองบังคับการปราบปราม

นายจักรภพเปิดเผยด้วยว่า ก่อนเดินทางกลับไทย เขาเคยต่อสายหา นายทักษิณ ครั้งหนึ่ง แต่เป็นเพียงการถามสารทุกข์สุขดิบเท่านั้น

“ผมเรียนถามว่าท่านเป็นอย่างไรบ้าง และบรรยากาศรวมเป็นอย่างไร แต่เรารู้ดีว่าต่างคนต่างต้องทำการบ้านในคดีต่างๆ ของเรา เพราะถึงแม้เป็นคดีทางการเมืองเหมือนกัน แต่มันคนละคดีกัน” โดยนายจักรภพเน้นย้ำว่า “เป็นการคุยกัน แต่ไม่ได้ปรึกษากัน”

“ท่าน [หมายถึงนายทักษิณ] พูดคำสำคัญว่า ยุคนี้หลายอย่างเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น” นายจักรภพตอบผู้สื่อข่าว

สำหรับบทบาทขอเขาหลังจากนี้ ก็ไม่ได้คิดจะทิ้งบทบาททางการเมือง “แต่ที่แน่นอนคือไม่ได้คิดจะเปลี่ยนแปลงอะไร หรือสร้างความวุ่นวายให้กับใครทั้งสิ้น” หากมีโอกาสเข้ามาทำงานการเมืองก็ค่อยว่ากันอีกที ส่วนการกลับมาทำอาชีพสื่อมวลชนนั้น ขอดูก่อนว่ายังมีพื้นที่ให้ “คนโบราณ” เช่นเขาอยู่หรือไม่ รวมทั้งยังเสนอตัวช่วยเหลือแกนนำคนเสื้อแดงคนอื่น ๆ ที่ยังลี้ภัยอยู่ต่างประเทศ และอยากกลับมาไทย เช่น นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย หากพิจารณาจากลักษณะคดี โดยไม่ได้ “เลือกที่รักมักที่ชัง” แต่อย่างใด

นายจักรภพบอกว่า หลังจากเมืองไทยไป 15 ปี คิดถึงเมืองไทยทุกวัน พ่อกับแม่ก็เสียชีวิตไปแล้วทั้งคู่ในช่วงที่เขาหลบหนีอยู่นอกประเทศ และส่วนตัวก็เสียดายโอกาสต่าง ๆ ที่เสียไป

เส้นทางชีวิต

ตลอดอายุ 57 ปี ของเขา นายจักรภพเคยเป็นอดีตข้าราชการในกระทรวงการต่างประเทศ ต่อมาลาออกมาทำอาชีพสื่อมวลชนและสร้างชื่อเสียงในฐานะผู้ดำเนินรายการโทรทัศน์หลากหลายช่อง จากนั้นตัดสินใจลงเล่นการเมืองโดยเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ของพรรคไทยรักไทยในช่วงปี 2548-2549 ถึง 2 ครั้ง แต่ไม่ได้รับเลือกเป็น สส. ทว่าเขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลทักษิณ รวมถึงตำแหน่งโฆษกรัฐบาล

หลังรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ซึ่งโค่นล้มรัฐบาลนายทักษิณได้ครึ่งปี ทางนายจักรภพร่วมก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมชื่อว่า พีทีวี (People’s Television - PTV) กับนายวีระ มุสิกพงศ์ (ชื่อขณะนั้น ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นายวีระกานต์) นายจตุพร พรหมพันธุ์ และ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ภายใต้คำขวัญ “เพื่อนพ้องน้องพี่ พีทีวีเพื่อประชาชน”

ทว่า เมื่อถึงวัน-เวลาในการออกอากาศครั้งแรก 1 มี.ค. 2550 บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เจ้าของโครงข่ายสัญญาณอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ไม่ยอมเชื่อมต่อโครงข่ายให้ จึงต้องนำรายการบางส่วนไปออกในช่องดาวเทียมอื่น

ขณะเดียวกัน วีระ-จตุพร-ณัฐวุฒิ-จักรภพ ได้หันไปสื่อสารกับประชาชนผ่านการเปิดเวทีปราศรัยที่ท้องสนามหลวงแทน โดยเนื้อหาเป็นการโจมตีคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ผู้กระทำการรัฐประหาร และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ซึ่งเป็นฝ่ายต่อต้านระบอบทักษิณ

เวทีสนามหลวงนี้ได้กลายเป็นจุดกำเนิดของกลุ่มที่เรียกตัวเองว่า แนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) ในเดือน เม.ย. 2550 ซึ่งแน่นอนว่า 4 สหายกลายเป็นกลุ่มแกนนำ นปก. รุ่นแรก (ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็นแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. ในเดือน ก.ค. 2552) และยังเป็นหัวหอกหลักในการจัดรายการ “ความจริงวันนี้” ทั้งทางหน้าจอทีวีและเดินสายสัญจรไปหลายจังหวัด

เมื่อพรรคพลังประชาชนชนะการเลือกตั้งในปี 2550 และได้นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี นายจักรภพก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีในเวลาต่อมา ดูแลและกำกับสื่อของรัฐ ซึ่งเขาได้เปลี่ยนชื่อจาก สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ช่อง 11 เป็น สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (เอ็นบีที) ในเวลาต่อมา

ในช่วงเวลาดังกล่าว นายจักรภพ ถูก พ.ต.ท.วัฒนศักดิ์ มุ่งกิจการดี ตำรวจ สน.บางมด ในขณะนั้น กล่าวหาว่ามีความผิดในคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากกรณีการกล่าวบรรยายเป็นภาษาอังกฤษ เรื่อง ประชาธิปไตยกับระบบอุปถัมภ์ ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2550 ซึ่งทาง พ.ต.ท. วัฒนศักดิ์ ร้องทุกข์กล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 2551 หรือกว่า 6 เดือนให้หลัง

ต่อมาพบว่าในปี 2552 นายจักรภพเดินทางออกนอกประเทศไทยเพื่อหลบหนีคดี ม. 112 และเคลื่อนไหวทางการเมืองจากนอกประเทศ แต่ทางอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีดังกล่าวเมื่อปี 2554

การชุมนุมขับไล่ คมช. เมื่อปี 2550

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การชุมนุมขับไล่ คมช. เมื่อปี 2550

เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำการรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 เพื่อโค่นล้มรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เขาก็เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ องค์การเสรีไทยเพื่อสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ซึ่งมี นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นผู้ก่อตั้งหลักในเดือน มิ.ย. 2558 ร่วมกับบรรดานักการเมืองและนักเคลื่อนไหวทางการเมืองที่หลบไปใช้ชีวิตในต่างแดน ได้แก่ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายสุนัย จุลพงศธร อดีต สส. พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน เพื่อไทย และ นายจักรภพ

นายจักรภพยังถูกศาลทหารออกหมายจับในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งเรียกรายงานตัวของ คสช. และในปี 2560 ศาลอาญาออกหมายจับนายจักรภพในข้อหาร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืนและวัตถุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย และเป็นอั้งยี่

กรณีดังกล่าวมีสาเหตุมาจาก เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจพบอาวุธสงครามหลายรายการเมื่อวันที่ 24-30 พ.ย. 2560 ในเขตพื้นที่ ต.ฉิมพลี อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งพบว่าเป็นอาวุธที่ผลิตในครั้งเดียวกันกับอาวุธที่ถูกนำมาใช้ก่อเหตุในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี และชลบุรี ในปี 2557 รวม 18 คดี ซึ่งเป็นช่วงที่มีการชุมนุมของ กปปส.

ด้านนายจักรภพปฏิเสธข้อหาดังกล่าวมาโดยตลอด แต่เขาเคยให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยเมื่อปี 2563 ว่า เลือกไม่กลับมาสู้คดีในไทย เพราะ "ไม่วางใจกระบวนการยุติธรรม" ขณะที่ ผู้ต้องหารายอื่น ๆ ถูกฟ้องในคดีเดียวกัน ทางศาลอาญามีคำสั่งยกฟ้องเมื่อปี 2565

จักรภพ 2563
คำบรรยายภาพ, นายจักรภพ เพ็ญแข ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยเมื่อปี 2563 ต่อกรณีการอุ้มหาย นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์

ชีวิตช่วงลี้ภัยทางการเมือง

ในปี 2563 นายวันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ นักกิจกรรมทางการเมืองที่หลบหนีออกนอกประเทศภายหลังการรัฐประหารของ คสช. ถูกอุ้มหายในประเทศกัมพูชา

หลังเกิดเหตุได้ไม่นาน ทางนายจักรภพได้ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยถึงกรณีดังกล่าวว่า มันคือการ “อุ้มฆ่า” โดยอ้างข้อมูลจากสายของเขาที่เป็นทั้งคนไทยและคนกัมพูชาซึ่งได้ไปเห็นที่เกิดเหตุมาแล้ว โดยในบทสัมภาษณ์ดังกล่าว เขาบอกว่านายวันเฉลิมคือ "เพื่อนร่วมอุดมการณ์เดียวกัน" และไม่คิดว่านายวันเฉลิมจะตกเป็นเป้า เนื่องจากวางมือทางการเมืองมานานหลายปีแล้ว

ส่วนตัวเขาเองนั้นไม่ได้ตั้งอยู่ในความประมาท ระหว่างหลบภัยอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านก็ได้รับข้อมูลเป็นการภายในที่ทำให้เชื่อว่า มีผู้ตามล่าเพื่อเอาชีวิต

อย่างไรก็ตาม นายจักรภพปฏิเสธให้ข้อมูลเรื่องสัญชาติหนังสือเดินทางของเขากับบีบีซีไทยในขณะนั้น หลังถูกกระทรวงการต่างประเทศเพิกถอนหนังสือเดินทางเมื่อปี 2557

ด้าน นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอทช์ ประจำประเทศไทย ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีในวันนี้ว่า (28 มี.ค.) การกลับไทยครั้งนี้ของนายจักรภพถือว่าเป็นเรื่องดี แต่จะดีกว่านี้มาก หากสามารถนิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องหาคดีทางการเมืองคนอื่น ๆ ทั้งหมด

“ไม่งั้นต้องรอให้หมดอายุความถึงจะกลับบ้านได้ หรือได้กลับเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลที่เป็นภัยกับเขาน้อยลง หรือไม่เห็นว่าเป็นภัย เขาก็กลับมาได้” นายสุณัย ระบุ

ไม่เช่นนั้นแล้ว กระบวนการยุติธรรมของไทยจะวนอยู่กับ “ทีใครทีมัน” ส่งผลให้ผู้ต้องหาคดีการเมืองอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ขั้วเดียวกับรัฐบาลเกิดคำถามว่า ทำไมพวกเขาไม่ได้รับความยุติธรรมเฉกเช่นเดียวกัน

“มันจะดีกว่าไหม ถ้าเป็นการกลับสู่เมืองไทยโดยไม่มีคดีใด ๆ รออยู่แล้ว หากเป็นคดีทางการเมือง” ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอทช์ ประจำประเทศไทย กล่าวและตั้งข้อสังเกตว่า ในช่วงนี้มีผู้ต้องหาทางการเมืองจำนวนหนึ่งที่ทยอยเดินทางหลบหนีออกนอกประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่มีคดีละเมิด ม.112 ไม่นับรวมผู้ต้องขังคดีทางการเมืองคนอื่น ๆ ที่ยังใช้ชีวิตอยู่ในเรือนจำ

“หากต้องการให้สถานการณ์การเมืองคลี่คลาย ผู้เห็นต่างอยู่ร่วมกันได้ ก็ควรผลักดันให้นิรโทษกรรมประชาชนอย่างแท้จริงและกว้างขวาง”

นายสุณัยยังคาดหวังว่า ต่อจากนี้ การดำเนินคดีนักโทษทางการเมืองของไทยจะเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน ผู้ต้องหาคนอื่น ๆ ควรได้รับสิทธิประกันตัวเพื่อต่อสู้ทางคดีเช่นเดียวกับนายจักรภพ เพื่อให้การดำเนินคดีทางการเมืองเป็นไปในบรรทัดฐานเดียวกัน