PM 2.5 เชียงราย : หมอกพิษฆ่าแม่ผม “เรารักบ้านเกิด แต่เกลียดอากาศที่บ้านเกิด”

ปิยพล กันตรีสมบัติ

ที่มาของภาพ, ปิยพล กันตรีสมบัติ

คำบรรยายภาพ, ค่า PM2.5 พุ่งสูงสุดในแม่สาย
  • Author, กีรติ วุฒิสกุลชัย
  • Role, ผู้สื่อข่าวพิเศษ บีบีซีไทย

“สวัสดีค่ะ ฉันอยู่จังหวัดเชียงราย คุณอยู่จังหวัดอะไร หรือประเทศอะไรคะ ครอบครัวคุณมีกันกี่คน แล้วต้องมีใครตายไป เพียงเพราะเขา ‘หายใจ’ ไหมคะ” นี่คือสิ่งที่ผู้เขียนอยากกล่าว ก่อนจะนำผู้อ่านไปทำความรู้จักกับคนเชียงรายอีกหลายคนที่เชื่อว่า “สูญเสียคนที่รัก” เพียงเพราะอากาศที่หายใจ

จิรัน เฟื่องนาค วัย 27 ปี ที่เต็มไปด้วยพลังฝันและอยากทำงานพัฒนาสังคม แต่สำหรับตอนนี้ ฝันของเขาคงไม่ใช่ที่ อ. แม่สาย จ. เชียงราย บ้านเกิดของเขา

“รักบ้านเกิด แต่เกลียดอากาศที่บ้านเกิด” คือสิ่งที่ จิรัน สรุปให้กับตัวเอง หลังเห็นภาพบ้านเกิดผ่านเฟซบุ๊ก วันนี้ถนนที่เขาเคยผ่านกลับปกคลุมด้วยฝุ่นควันหนาจนเป็นสีเหลือง สิ่งที่เกิดขึ้นที่ อ. แม่สาย ทำให้ความเจ็บปวดที่เขาพยายามลืม หวนกลับมาอีกครั้ง

"เราสูญเสียคนในครอบครัวจากมะเร็งปอดไป 2 คน ตั้งแต่ปัญหาฝุ่นละอองประมาณปี 2555-2556 ทำให้เราเชื่อสนิทใจว่านี่ (มลพิษ) คือต้นเหตุ”

“คนแรกคือปู่ ตามมาด้วยแม่ ทั้งคู่ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเหล้า ไม่มีเครือญาติที่เป็นมะเร็ง แม่เป็นอาสาสมัครหมู่บ้านคอยช่วยสาธารณสุขชุมชน (อสม.) ออกตรวจสุขภาพคนในหมู่บ้าน แต่แม่กลับลืมดูแลตัวเอง แม่ไม่คิดว่าคนที่แข็งแรง ไปทำสวนทำไร่ได้ทุกวัน จะด่วนจากไป"

ชาวเชียงรายเผชิญกับคุณภาพอากาศเลวร้าย มานานหลายสัปดาห์แล้ว แต่หนักสุด คือ ตั้งแต่ 26 มี.ค. 2566 ที่ปริมาณฝุ่นละออกขนาดเล็ก PM 2.5 พุ่งสูงนับสิบเท่า จนเกิดแฮชแท็ก #saveแม่สาย #เชียงราย

แต่สำหรับคนที่เกิดและเติบโตที่เชียงราย แม้ปัญหามลพิษทางอากาศรอบนี้จะหนัก แต่จริง ๆ พวกเขาเผชิญกับอากาศพิษมายาวนานแล้ว และมีหลายคน รวมถึงจิรันที่เชื่อว่าสูญเสียคนในครอบครัวไป จากอากาศเป็นพิษ

คุณแม่จองจิรัน (ซ้าย) และจิรันในวัยเด็ก (ขวา)

ที่มาของภาพ, จิรัน เฟื่องนาค

คำบรรยายภาพ, คุณแม่ของจิรัน (ซ้าย) และจิรันในวัยเด็ก (ขวา)

ย้อนกลับไปทศวรรษก่อน จิรัน มีเวลาเพียง 3 วัน เพื่อดูใจแม่ที่ป่วยหนัก เพราะช่วงนั้น จิรันใช้ชีวิตอยู่ในกรุงเทพฯ ไปเรียน ไปเที่ยว ไปดูหนังกับเพื่อน ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข เขาไม่รู้เลยว่า แม่จะต้องเข้าออกโรงพยาบาลไม่เว้นวัน ต้องทำการบำบัดด้วยคีโมและฉายแสง “แม่ปิดเรื่องนี้เป็นความลับ”

พอเรียนจบ ม. 6 ที่โรงเรียนในตัวอำเภอแม่สาย จิรันก็ย้ายเข้ากรุงเทพฯ เพราะเชื่อในคำสอนของแม่ว่า “ถ้าอยากได้ดี ต้องไปให้ไกล ต้องเข้าไปเรียนที่กรุงเทพฯ แล้วไม่ต้องกลับมา” เพราะครอบครัวของเขาไม่ได้มีต้นทุนที่ดี การขายบ้านริมถนนใหญ่ คือ เงินก้อนสุดท้าย เพื่อส่งเสียลูกชายไปเรียนเมืองกรุง พร้อมกับบอกลายาแก้แพ้เม็ดสีเหลืองที่กินทุกคืน เมื่ออยู่ที่แม่สาย

จนกระทั่งเขากลับมาบ้านอีกครั้ง และครั้งนั้นเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่แม่จะจากไปตลอดกาล

หนีคือทางออก

ด้วยความโกรธตัวเอง จิรันเลือกพาน้องสาวที่อายุห่างกันถึง 14 ปี และขณะนั้นเรียนอยู่ชั้น ป. 4 ย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ ที่ในความคิดเขา อย่างน้อยมลพิษก็น้อยกว่า

“ใครจะว่าอากาศกรุงเทพฯ แย่ สำหรับเราสองคนมันดีกว่าที่แม่สายมาก แม้จะต้องอยู่คอนโดเล็ก ๆ ตอนนี้บ้านของผมไม่ใช่สถานที่ แต่มันคือน้อง คือคนในครอบครัว น้องบอกผมตามที่ได้ฟังในการ์ตูนเสมอว่า ต่อจากนี้เราคือบ้านของกันและกันนะ” เขากล่าวกับผู้เขียน

เช่นเดียวกัน กับนักศึกษาแพทย์ที่ขอใช้เพียงชื่อเล่นว่า “แกว” คุณแม่ลูกหนึ่งวัย 30 ปี เจ้าของเพจ “เรียนหมอ” เธอเป็นอีกคนที่เกิดและเติบโต รวมถึงครอบครัวทั้งหมดอาศัยอยู่ที่ อ. แม่สาย จ. เชียงราย

ภาพที่เธอโพสต์ว่า เครื่องฟอกอากาศ 9 ตัว ก็ยังไม่เพียงพอลดระดับมลพิษ ที่ทำให้ลูกของเธอมีอาการเลือดกำเดาไหล กลายเป็นภาพไวรัลที่มีผู้แชร์ไปมากกว่า 10,000 ครั้ง

แกว และลูกชาย ที่ตอนนี้ขอไปอยู่ภูเก็ตชั่วคราว

ที่มาของภาพ, Facebook: เรียนหมอ

คำบรรยายภาพ, แกว และลูกชาย ที่ตอนนี้ขอไปอยู่ภูเก็ตชั่วคราว

“เด็ก ๆ เขายังไม่รู้ยังไร้เดียงสา เขายังบอกแม่เลยว่า อันนี้ทุกทีไม่มีเนอะแม่ มันสวยเนอะ เพราะตามท้องถนนเห็นฝุ่นตกลงมาเลย” เธอเล่า

“เด็กพอเห็นมัน (ฝุ่น) ตกลงมา ก็วิ่งไล่จับฝุ่น” เมื่อเธอเห็นลูกชายที่ใส่หน้ากากอนามัยกระโดดจับฝุ่นข้างถนน คนเป็นแม่ได้แต่ปวดใจ

“มันไม่ใช่สิ่งแวดล้อมที่เด็กควรจะเติบโต แม้ว่าเราจะพยายามทำพื้นที่ให้เขาทำกิจกรรมในบ้าน... แต่เด็กก็ไม่โอเคอยู่ดี เด็กต้องการพื้นที่สีเขียว สำหรับการวิ่งเล่นอิสระ มันไม่ยุติธรรมสำหรับเด็ก ๆ ทุกคนที่กำลังจะเจริญเติบโตเลย”

เมื่อเธอเห็นลูกเลือดกำเดาไหล จึงตัดสินใจจองตั๋วเครื่องบินไป จ. ภูเก็ต ทันที เพื่ออพยพหนีหมอกพิษ

“หัวอกของคนเป็นแม่ เราพยายามปกป้องเขาเต็มที่ เขาควรที่จะมีคุณภาพชีวิตที่ดี มันไม่ใช่แค่แสบจมูก มันสามารถผ่านเข้าไปยังสมอง ไปตามกระแสเลือดได้ มันมีผลต่อการเจริญเติบโต มีผลต่อการทำงานของสมอง” เธออธิบายในฐานะที่เป็นเภสัชกร และกำลังเรียนปริญญาสาขาแพทย์ต่อ

ภาพนี้ทำให้ แกว ตัดสินใจอพยพออกจากเชียงรายชั่วคราว

ที่มาของภาพ, FB: เรียนหมอ

คำบรรยายภาพ, ภาพนี้ทำให้ แกว ตัดสินใจอพยพออกจากเชียงรายชั่วคราว

“มันเป็นปัญหาที่เขาไม่ได้สร้าง แต่เขาต้องอยู่กับมันโดยที่เขาป้องกันตัวเองไม่เป็น ดูแลตัวเองก็ไม่ได้ แค่เราเห็นลูกมีเลือดกำเดาไหลทั้งที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เลยคิดว่าเราอยู่ที่นี่ไม่ได้แล้ว เลยพากันอพยพไปภูเก็ต 2 สัปดาห์ ให้สถานการณ์ดีขึ้น แม้เราจะเข้าใจว่ามันคือการแก้ปัญหาชั่วคราว เราย้ายไปตลอดไม่ได้ ก็ตาม”

วันที่ออกเดินทางด้วยเครื่องบินออกจาก จ. เชียงราย เป็นอีกครั้งที่ทำให้ แกว ตระหนักถึง “ความไม่ยุติธรรม” เพราะเมื่อเครื่องบินพุ่งขึ้นเหนือเมฆหมอก ท้องฟ้ากลับโปร่งโล่ง เปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีขาว และเมื่อเปลี่ยนเครื่องที่ กทม. บินไปถึงภูเก็ต ท้องฟ้ากลายเป็นสีฟ้าสดใส “แม้จะอยู่ในฟ้าเดียวกัน แต่ทำไมมันคนละสี”

“อากาศดีจังเลย” คือคำที่เธอพูดกับลูก แต่ในใจกลับโศกเศร้า เพราะคิดถึงคนทางบ้าน พ่อ แม่ และญาติพี่น้อง ที่ยังต้องเผชิญฝุ่นพิษ

“เราอยากหอบอากาศตรงนี้ไปฝากเขาจัง แต่มันทำไม่ได้ มันจุกในใจ หรือ ในภาษาเหนือเขาเรียกว่า ‘กัดอ๊ก’” พูดถึงตรงนี้ ว่าที่คุณหมอหยุดสะอื้นไห้ เมื่อพูดถึงบ้านเกิดที่รัก

บีบีซี

ที่มาของภาพ, ครูตั๊ก คนเล่นกล้อง

คำบรรยายภาพ, “มันเป็นปัญหาที่เขาไม่ได้สร้าง แต่เขาต้องอยู่กับมันโดยที่เขาป้องกันตัวเองไม่เป็น" แกว กล่าว

แม้หนีหมอกพิษ ไปพึ่งฟ้าใสที่ภาคใต้ แต่เธอยืนยันกับผู้เขียนว่า “รักบ้านเกิด” แม้จะหนีปัญหาออกมาชั่วคราว แต่เชียงรายยังเป็น “บ้าน” ที่เธอจะกลับไปและอยู่อาศัย

“ใครบ้างไม่รักบ้านเกิด… คำว่าบ้านมันจบแล้วค่ะ มันคือพี่น้อง ครอบครัว พี่เข้าใจหนูใช่ไหม แล้วทุกคนต้องมานั่งดมควันอย่างนี้ พูด ๆ ไป มันก็จุก (แกวเสียงสั่นและหยุดพูดสักพัก) เราอยู่บ้านนอก ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนก็ไม่มีตังค์ เขาจะเอาเงินที่ไหนไปซื้อหน้ากาก N95 ไม่ใช่ทุกคนจะมีเงินซื้อเครื่องฟอกอากาศ ต่อให้มีเงินซื้อ แต่เท่าไหร่มันจะจบ เพราะปัญหามันเยอะขึ้นเรื่อย ๆ”

ชายแดนนำเข้าหมอกพิษ

ปัญหามลพิษทางอากาศ ที่ยาวนานมานับสิบปี ทำให้แม่สายที่เคยเป็นหมุดหมายของนักท่องเที่ยว มีดอยที่สวยงาม เป็นแหล่งฟอกปอด ด้วยอากาศบริสุทธิ์ ใกล้กันก็มีแหล่งช็อปปิ้งชายแดน

มาวันนี้ หมอกควันเป็นภัยเงียบ แต่มองเห็นเด่นชัด จนทำให้กลายเป็น “เมืองในสายหมอก” แม้แต่กลางวันยังต้องเปิดไฟขับรถ พระอาทิตย์เห็นได้ไม่ชัดและเล็ก แสงส่องไม่ถึงพื้นถนน

ฝุ่นควันเหล่านี้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ ตั้งแต่วันที่ จิรัน และหมอแกว เริ่มเติบโต จนวันนี้กลายเป็นแม่คน เป็นเสาหลักของครอบครัว

จิรัน เฟื่องนาค

ที่มาของภาพ, จิรัน เฟื่องนาค

คำบรรยายภาพ, จิรัน และน้องสาว ตอนนี้อยู่ในกรุงเทพฯ แต่สักวันหนึ่งอยากกลับไปเชียงราย

จิรัน เล่าว่าเคยขี่จักรยานยนต์ฝ่าฝุ่นไปเรียนหนังสือ ผ่านไป 10 ปีเขาคิดว่าทุกอย่างจะดีขึ้น แต่ทุกอย่างกลับตรงกันข้าม

“สุดท้ายใคร ๆ ก็อยากกลับบ้าน บ้านที่เป็นบ้านเกิด เราผูกพันและรักทุกอย่างที่เราจากมา แต่สิทธิการมีอากาศที่ดีหายใจในบ้านเกิดของเรา จะได้กลับมาไหม”

ไม่เพียงแต่แม่สาย แต่คือทุกที่

มิ้ง หรือ แพทย์หญิง วรรัตน์ อิ่มสงวน แพทย์อายุรกรรมโรคปอดและทางเดินหายใจ บอกว่า จากการทำงานที่เชียงรายตั้งแต่ปี 2542 ครั้งนี้เป็นครั้งที่หมอกควันรุนแรงที่สุด วัดค่า pm 2.5 ภายในตัวเมือง ได้มากถึง 400-600 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร

เธอคาดการณ์ว่า หากไม่มีการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง “ภายใน 10 ปี รับรองคนเชียงรายจะเป็นมะเร็งปอด กันเต็มเมือง”

“ความเล็กของ pm 2.5 เล็กกว่าขนาดเส้นผมของคนเรา 30 เท่า ไม่เพียงแต่หายใจลงปอด แล้วคิดว่าช่วงอากาศดี ๆ เดี๋ยวก็ฟอกปอดได้ แต่ขนาดของฝุ่นสามารถผ่านเข้าไปในกระแสเลือด และพาเอาโลหะหนักที่ฟุ้งในอากาศที่เป็นต้นตอของโรคมะเร็งเข้าไปด้วยได้ พอเข้าไปยังกระแสเลือดมันออกมาไม่ได้เหมือนหายใจเข้าหายใจออกนะคะ” เธออธิบาย

บีบีซี

ที่มาของภาพ, ครูตั๊ก คนเล่นกล้อง

คำบรรยายภาพ, ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กในเชียงรายยังคงสูงต่อเนื่อง

“สงสารชีวิตใหม่ที่เขาต้องเกิดมาในเมืองนี้ เกิดมา 1 วินาทีก็ต้อง สูดฝุ่น 600 มคก./ลบ.ม. แล้ว” แพทย์หญิงประจำเชียงรายพูดถึงชีวิตบริสุทธิ์ที่ต้องลืมตาดูโลกในวันที่อากาศไม่บริสุทธิ์ ไม่สามารถปกป้องตัวเองได้

ในขณะที่คนทั่วไปต้องหาทางปกป้องตัวเอง แต่หน้ากาก N95 คือคำตอบในระยะสั้น เพราะ “สามารถกรอง pm 2.5 ได้ 95% แต่ก็ยังมี 5% ที่เล็ดลอดเข้าไปได้”

นี่ยังไม่ใช่ปัญหาเร่งด่วน ?

จิรัน มองว่า ปัญหาหมอกควันในเชียงราย และพื้นที่อื่น ๆ ของภาคเหนือ เป็นปัญหาระดับนานาชาติที่แก้ได้ยาก แต่ถ้าไม่แก้ในเวลานี้ มันจะถูกส่งต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น แต่การแก้ไขต้องรู้ถึงปัญหา แก้ให้ตรงจุด และแก้ไขทันทีตั้งแต่ระดับท้องถิ่นและภาครัฐและภูมิภาค “ถ้าคุณไม่เคยขี่มอเตอร์ไซค์ฝ่าฝุ่นไปเรียน คุณไม่มีทางเข้าใจว่า มันเป็นอย่างไร เราไม่ปิดกั้นเลยว่าใครจะมาเป็นผู้แก้ไขปัญหา แต่อยากให้เขาทำด้วยความเข้าใจจริง ว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร และคนในท้องที่ได้รับผลกระทบขนาดไหน”

“ไม่ควรต้องมีใครตายแบบปู่และแม่ เพียงเพราะเขาหายใจในบ้านเกิดที่หนีไปไหนไม่ได้” จิรัน ทิ้งท้ายในฐานะคนรักบ้านเกิดที่เกลียดอากาศในถิ่นกำเนิด จนต้องพาตัวเองและน้องสาวออกมา

ด้าน หมอแกว เห็นตรงกันว่า อยากให้ “ใครสักคน” ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อคนภาคเหนือ

ศิลปินที่ออกมาสะท้อนปัญหาฝุ่นควัน

ที่มาของภาพ, Puttarak Dadsada

คำบรรยายภาพ, ศิลปินที่ออกมาสะท้อนปัญหาฝุ่นควัน

“ถ้าเราบอกว่า รอฟ้ารอฝน เราก็รอกันแบบนี้ทุกปี แต่คนภาคเหนือเราต้อง ดมกันแบบนี้ 24 ชั่วโมง เป็นระยะเวลาหลายเดือน… ถ้าใครลุกขึ้นมาทำจริงจังได้ หนูบอกเลยว่าคุณคือฮีโร่จริง ๆ” หมอแกว กล่าวหนักแน่นแฝงการร้องขอด้วยหัวใจคนเป็นแม่

“ทุกคนควรมีสิทธิที่จะหายใจโดยที่ไม่ต้องกลัวตาย” เธอกล่าวทิ้งท้าย