ครบ 8 เดือน ฟื้นสัมพันธ์ ไทย-ซาอุฯ "โอกาสอันมากมาย" ของธุรกิจ ส่วนแรงงานไทยยังไม่ได้ส่งออก

พาณิชย์

ที่มาของภาพ, กระทรวงพาณิชย์

คำบรรยายภาพ, กระทรวงพาณิชย์ส่งไก่ไทยไปซาอุดีอาระเบีย เมื่อเดือน มี.ค. เป็นการส่งออกเนื้อไก่สดจากไทยครั้งแรก ในรอบ 18 ปี พณ. ตั้งเป้าไทยส่งออกไก่ 980,000 ตันในปีนี้

8 เดือน หลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เยือนซาอุดีอาระเบีย เพื่อฟื้นความสัมพันธ์ทางการทูตในรอบกว่า 32 ปี เครื่องยนต์เศรษฐกิจในภาคท่องเที่ยว การค้าและการลงทุน เติบโตอย่างรวดเร็ว ทว่า ภาคการจัดส่งแรงงานไทยไปชาติตะวันออกกลางแห่งนี้ ยังไม่เห็นทิศทางที่สดใส

แม้กระทรวงแรงงานเร่งเป็นตัวกลางประสานระหว่างนายจ้างซาอุดีอาระเบีย ที่ต้องการคนไทยไปทำงานเหมือนเช่นกว่า 30 ปีก่อน แต่การจัดส่งผ่านรัฐยังอยู่ระหว่างขั้นตอนการสมัครและการคัดเลือกแรงงาน ที่มีคนไทยสนใจไม่มากนัก

"มันเกือบจะเป็นไปไม่ได้เลย... พอมีการออกข่าวว่า จะมีความต้องการแรงงานเยอะ ผมไม่ได้ตื่นเต้นเลย เพราะรู้ว่าเขาไม่กล้าจ้าง เพราะค่าแรงเขาถูก"  บรรจง ฉุดพิมาย รองประธานที่ปรึกษาสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ และตัวแทน หรือเอเยนต์จัดหางานที่มีประสบการณ์อยู่ในตะวันออกกลางกว่า 30 ปี กล่าวกับบีบีซีไทย

25 มกราคม 2565 คือ วันที่ไทยและซาอุดีอาระเบีย กลับมาเปิดสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกัน พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวในช่วงนั้นว่า "รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งกับโอกาสอันมากมายมหาศาล" ที่ประเมินว่าทั้งสองประเทศจะได้รับ ใน 9 ด้าน เช่น การท่องเที่ยว พลังงาน แรงงาน และอาหาร เป็นต้น

หลังจากนั้นมีการเยือนในระดับรัฐมนตรีของทั้งกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงแรงงาน และล่าสุด คือ กระทรวงพาณิชย์ เมื่อปลายเดือน ส.ค.  

กระทรวงพาณิชย์

ที่มาของภาพ, กระทรวงพาณิชย์

คำบรรยายภาพ, นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ พร้อมด้วยผู้แทนภาครัฐและเอกชน แถลงข่าวภายหลังการพบหารือกับประธานสภาหอการค้าซาอุดีอาระเบีย และเปิดงาน Saudi-Thai Business Forum เมื่อ 29 ส.ค. 2565 ที่ซาอุดีอาระเบีย

ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุกับบีบีซีไทยว่า มูลค่าการค้าระหว่างกันของไทยและซาอุดีอาระเบีย ตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ค. ปีนี้  หรือนับแต่การเยือนของ พล.อ.ประยุทธ์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าถึง 59.64%  โดยมีมูลค่ารวม 178,058 ล้านบาท แบ่งเป็นการส่งออก 33,084 ล้านบาท และการนำเข้า 144,974 ล้านบาท

สำหรับสินค้าส่งออกสำคัญของไทย 5 อันดับแรก กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ บอกว่าเป็นกลุ่มสินค้าเดิมที่มีการค้าขายระหว่างกันอยู่แล้ว แต่การเปิดความสัมพันธ์ทางการทูต ก็ได้เปิดตลาดใหม่ ๆ ให้กับธุรกิจไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหาร ที่มีกลุ่มอาหารฮาลาลที่ทางซาอุดีอาระเบียสนใจเป็นพิเศษ

ผ่านมาแล้ว 8 เดือน ของการเปิดสัมพันธ์ระหว่างกันของสองประเทศ ภาคส่วนต่าง ๆ มีความคืบหน้าอย่างไร บีบีซีไทยสำรวจสถานการณ์และตัวเลขที่น่าสนใจ ได้ดังนี้

การค้าการลงทุน กับโอกาสของภาคธุรกิจ

ตัวเลขการค้าระหว่างกันของไทยและซาอุดีอาระเบีย ในช่วงเดือน ม.ค.-ก.ค. 2565 อยู่ที่ 194,522 ล้านบาท

ประเทศไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย มูลค่า 37,183 ล้านบาท และนําเข้าจากซาอุดีอาระเบีย มูลค่า 157,339 ล้านบาท

เพียง 7 เดือนของปีนี้  มูลค่าการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย เพิ่มขึ้น 46% โดยไทยส่งออกสินค้าไปยังซาอุดีอาระเบียเพิ่มขึ้น 26%

ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปซาอุดีอาระเบีย 5 อันดับแรก ปี 2565 (ม.ค-ก.ค.) ได้แก่ 1) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ 2) ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ 3) ผลิตภัณฑ์ยาง 4) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป 5) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ

สินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากซาอุดีอาระเบีย 5 อันดับแรก ปี 2565 (ม.ค-ก.ค.) ได้แก่ 1) น้ำมันดิบ 2) ปุ๋ยและยากำจัดศัตรูพืช 3) เคมีภัณฑ์ 4) น้ำมันสำเร็จรูป 5) สินแร่โลหะ เศษโลหะ และผลิตภัณฑ์

ในการเยือนซาอุดีอาระเบีย ของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์และผู้แทนภาคเอกชน เมื่อปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ได้มีการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างเอกชนของ 2 ประเทศ และจัดตั้งสภาธุรกิจไทย-ซาอุดีอาระเบีย เพื่อขับเคลื่อนการเจรจาทางการค้า

รัฐบาลไทยคาดการณ์ว่าจะซื้อขายสินค้าระหว่างกันได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่มีการลงนาม และเมื่อรวมกับสินค้าไทย ที่นำมาขายได้ทันทีจากการเยือนซาอุดีอาระเบียครั้งนี้ 2,200 ล้านบาท รวมเป็น 12,200 ล้านบาท

กระทรวงพาณิชย์

ที่มาของภาพ, กระทรวงพาณิชย์

สินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารและผลิตภัณฑ์ฮาลาล ดูจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีการขยับของภาคธุรกิจมากที่สุด โดยมีความคืบหน้าจากการเยือนของคณะของกระทรวงพาณิชย์ ดังนี้

เดือน มี.ค. - องค์การอาหารและยาของซาอุดีอาระเบีย อนุญาตการนำเข้าไก่จากไทยเข้าประเทศได้เป็นครั้งแรกในรอบ 18 ปี โดยเป็นการนำเข้าจากโรงงานผลิตไก่แช่เย็น ไก่แช่แข็งและผลิตภัณฑ์ไก่ จำนวน 11 โรงงาน ซึ่งจากจำนวนทั้งหมดนี้ มี 6 โรงงาน เป็นโรงงานซีพีเอฟ หรือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด ในเครือซีพี

ซีพีเอฟคาดว่า ภายในสิ้นปีจะส่งออกได้ 6,000 ตัน มูลค่า 400-500 ล้านบาท และตั้งเป้าจะทำได้ถึง 60,000 ตัน ภายใน 5 ปี หรือมูลค่า 4,200 ล้านบาท

นอกจากนี้ ไทยยังยื่นรายชื่อโรงงานชำแหละไก่ต่อซาอุดีอาระเบีย เพิ่มเติมอีก 28 โรงงาน แหล่งข่าวระบุกับบีบีซีไทยว่า มีทั้งรายใหญ่ อย่างซีพีเอฟ สหฟาร์ม และรายย่อยอื่น ๆ

เดือน ส.ค. - บริษัท ปตท. นํ้ามัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ ปตท. พาเชนร้านกาแฟคาเฟ่อะเมซอน เปิดสาขาแรกที่กรุงริยาด และเตรียมเปิดทั้งหมดรวม 150 สาขา ภายในระยะเวลา 10 ปี

ห้างมานูเอล มาร์เก็ต - ห้างชั้นนำที่นำเข้าสินค้าจากยุโรปและเอเชีย มี 12 สาขาในหลายเมืองของซาอุดีฯ สื่อหลายสำนักรายงานตรงกันว่า นายจุรินทร์ รมว. พาณิชย์ ให้ข่าวถึงความคาดหวังว่าห้างดังกล่าวจะนำเข้าสินค้าไทยเพิ่มขึ้นจาก 22 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เป็น 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปีนี้ หรือประมาณ 1,110 ล้านบาท

กลุ่มอาหารฮาลาล - อยู่ระหว่างเจรจาเพิ่มเติม ได้แก่ เนื้อวัว นมวัว และเนื้อแพะ

กระทรวงพาณิชย์

ที่มาของภาพ, กระทรวงพาณิชย์

คำบรรยายภาพ,

ภาคการท่องเที่ยว

  • สายการบินซาอุเดียแอร์ไลน์ เปิดเที่ยวบินปฐมฤกษ์ บินตรงจากเมืองเจดดาห์-กรุงริยาด มาไทยเมื่อ 28 ก.พ. เป็นการบินตรงครั้งแรกในรอบ 32 ปี และเปิดเส้นทางบินตรงเชิงพาณิชย์ในเดือน พ.ค.
  • การบินไทย เปิดเส้นทางบินใหม่สู่ซาอุดีอาระเบีย เริ่มให้บริการตั้งแต่เดือน ส.ค. ที่ผ่านมา
  • คณะรัฐมนตรี อนุมัติฟรีวีซ่านักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบียได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา และสามารถอยู่ในราชอาณาจักรได้ไม่เกิน 30 วัน
  • สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ตั้งเป้านักท่องเที่ยวซาอุดีอาระเบีย เที่ยวไทยปีนี้ ไม่ต่ำกว่า 300,000 คน ตั้งแต่เปิดการท่องเที่ยวถึงสิ้นเดือน ก.ค. มีเข้ามาแล้วประมาณ 35,000 คน
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

ที่มาของภาพ, กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

คำบรรยายภาพ, เที่ยวบินปฐมฤกษ์ สายการบิน Saudia Airlines เที่ยวบิน SV846 จากเมืองเจดดาห์ - กรุงริยาด ราชอาณาจักรซาอุดีอาระเบีย - กรุงเทพฯ เที่ยวบินแรกในรอบ 32 ปี เมื่อ 28 ก.พ. 2565

จัดส่งแรงงานไทย ยังไม่คืบหน้า เหตุค่าแรงไม่ดึงดูด

ภาคการจัดส่งแรงงาน เป็นภาคที่ดูจะมีโอกาสน้อยที่สุดจากการเปิดสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ

เมื่อเดือน มิ.ย. มีประกาศรับสมัครงานในตำแหน่งงานในซาอุดีอาระเบียเป็นครั้งแรกจากกรมการจัดหางาน คือตำแหน่งพยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล และช่างฝีมือ 309 อัตรา

อัตราเงินเดือนของงานพยาบาล ตั้งแต่ตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาล พยาบาลผู้ดูแล และพยาบาลวิชาชีพอยู่ที่ระหว่าง  26,429- 29,163 บาท ส่วนอัตราเงินเดือนของช่างฝีมือ จบวุฒิการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรืออนุปริญญาขึ้นไป เงินเดือนตั้งแต่ 16,404-27,340 บาท

นอกจากการจัดส่งผ่านรัฐ ทางซาอุดีอาระเบีย ยังได้ขึ้นทะเบียนจัดหางานเอกชนของไทยอีก 7 บริษัท แต่ความคืบหน้าในขณะนี้ (25 ก.ย.) ยังไม่มีการจัดส่งแรงงานไทยไปยังซาอุดีอาระเบีย ในอัตราเงินเดือนระดับนี้

หลังประกาศตำแหน่งงานในเดือน มิ.ย. เจ้าหน้าที่จัดหางานจังหวัดแห่งหนึ่ง กล่าวกับบีบีซีไทยเมื่อเดือน 18 ก.ค. ว่า มีผู้สนใจจำนวนมาก แต่เมื่อมาดูข้อมูลของเงินเดือนค่าจ้างแล้ว อัตราไม่ได้แตกต่างจากในประเทศมากนัก จึงทำให้แรงงานที่สนใจไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบียมีไม่มาก

 "เงินเดือนค่อนข้างน้อย เพราะเทียบกับเงินเดือนในไทย บินไปแล้วไม่คุ้ม" เจ้าหน้าที่ระบุ

กาญจนา (ขอสงวนชื่อจริง) หญิงวัย 36 ปี ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่อีสาน เป็นหนึ่งในแรงงานไทยที่สมัครไปทำงานตำแหน่งผู้ช่วยพยาบาลกับสำนักงานจัดหางานจังหวัดที่เธออาศัย ตั้งแต่เดือน มิ.ย. แต่จนถึงเดือน ก.ย. เธอก็ยังไม่ได้รับการตอบรับเรียกสัมภาษณ์จากนายจ้าง

กาญจนา เคยทำงานในกรุงเทพฯ แต่หลังจากโควิด เธอหันมาเรียนในหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาลที่วิทยาลัยพยาบาลแห่งหนึ่ง เป็นเวลา 1 ปี เพื่อให้ได้ใบประกอบวิชาชีพ ปัจจุบันเธอรับงานผู้ช่วยพยาบาลรายวันตามศูนย์ต่าง ๆ โดยไม่ได้มีรายได้ประจำทุกวัน เธอมาสมัครงานซาอุฯ เพราะงานในไทยมีข้อจำกัดด้านอายุ นอกจากนี้ กาญจนายังสมัครงานดูแลผู้สูงอายุอีกแห่งคือ ที่ญี่ปุ่น แต่ต้องเสียเงินเรียนภาษาเพื่อสอบวัดระดับให้ผ่านก่อนจึงจะไปทำงานได้

"ตอนนี้ซาอุฯ น่าจะดูยาก เพราะว่าเงียบไปเลย เห็นบอกว่าจะเรียกสัมภาษณ์ก็ไม่เรียก คิดว่าหวังไปญี่ปุ่นแล้วล่ะค่ะ" กาญจนา กล่าว พร้อมบอกว่าอัตราเงินเดือนงานดูแลผู้สูงอายุในญี่ปุ่นเท่าที่รู้มาอยู่ที่ราว ๆ 40,000-50,000 บาท

กระทรวงแรงงาน

ที่มาของภาพ, กระทรวงแรงงาน

คำบรรยายภาพ, นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว. กระทรวงแรงงาน เซ็นลงนามความตกลง 2 ฉบับ จัดหาแรงงานไปทำงานซาอุดีอาระเบีย เมื่อเดือน มี.ค.

กรมการจัดหางานระบุ เปิด 2,000 กว่าตำแหน่ง แต่มาสมัครแค่ 99 คน

กรมการจัดหางานระบุกับบีบีซีไทยว่า ในระหว่างเดือน ก.ค.-ก.ย. กรมฯ ประกาศรับสมัครแรงงานไทยไปทำงานที่ซาอุดีอาระเบีย 7 บริษัท รวม 2,171 อัตรา โดยตำแหน่งพนักงานความสะอาดหญิง เป็นที่ต้องการมากที่สุด 46% รองลงมาคือพยาบาลและผู้ช่วยพยาบาล 38% และผู้ดูแลคนป่วยหรือคนชรา 14%

แต่จากการเปิดรับสมัคร มีแรงงานไทยมาสมัคร 99 คนเท่านั้น และนายจ้างสัมภาษณ์แรงงานไปแล้ว 2 บริษัท อีก 4 บริษัทอยู่ระหว่างการประสานงานสัมภาษณ์

กรมฯ ระบุว่า หลายสิบปีที่ซาอุดีอาระเบียพึ่งพาแรงงานต่างชาติจำนวนมาก จากประชากร 35.8 ล้านคน เป็นแรงงานต่างชาติแล้ว 13.5 ล้านคน จึงน่าจะเป็นตลาดแรงงานใหม่ของแรงงานไทยด้วย แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องแข่งขันกับแรงงานจากกลุ่มประเทศเอเชียใต้ และฟิลิปปินส์

กรมการจัดหางานระบุถึงอุปสรรคของการส่งแรงงานไทยไปซาอุดีอาระเบีย มีทั้งเรื่องของภาษา ที่แรงงานไทยสื่อสารภาษาอังกฤษได้น้อย จึงไม่ผ่านสัมภาษณ์  อัตราค่าจ้างไม่จูงใจ จึงทำให้คนสมัครน้อย และตำแหน่งที่นายจ้างซาอุดีอาระเบียต้องการ "ส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งที่ประเทศไทยขาดแคลนเช่นเดียวกัน เช่น พยาบาล พนักงานทำความสะอาด ช่างเชื่อม ช่างไฟฟ้า"

กรมฯ ระบุด้วยว่า เมื่อเป็นตำแหน่งที่ไทยก็ขาดแคลน "ทำให้การจัดส่งแรงงานไทยไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร"

เอเยนต์จัดส่งระบุ ค่าแรงเป็นเรตเมื่อ 30 ปีที่แล้ว

บรรจง ฉุดพิมาย รองประธานที่ปรึกษาสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า การจัดส่งแรงงานไทยไปซาอุดีอาระเบีย “เกือบจะเป็นไปไม่ได้เลย เพราะค่าแรงถูก”

บรรจง กล่าวว่า เขาได้รับการติดต่อจากเอเยนต์ซาอุดีอาระเบียมานับ 100 ราย ตั้งแต่ช่วงก่อนการฟื้นความสัมพันธ์ แต่รู้ดีว่าอัตราเงินเดือนของซาอุดีอาระเบีย ในกลุ่มแรงงานไม่มีทักษะ เช่น แม่บ้าน ยังเท่า ๆ กับเมื่อ 30 ปีที่แล้ว คือ ราว 400-500 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อเดือน หรือราว 14,800-18,500 บาท (คิดจากอัตราแลกเปลี่ยน 37 บาท=1 ดอลลาร์)

“ผมมองว่าตลาดมันเป็นไปไม่ได้... เอาค่าแรงเมื่อ 30 ปี มาคุย  ขนาดผมมีคอนเนคชัน (แรงงาน) ในสามจังหวัดภาคใต้เป็นอิสลามแท้ ๆ ยังไม่อยากไปเลย”

บรรจงบอกว่า เอเยนต์ซาอุดีฯ ที่มาพูดคุย ต่างต้องการแรงงานกลุ่มอาชีพแม่บ้าน ซึ่งจากตัวเลขประมาณการต้องการกว่า 4.3 ล้านราย ทุกคนที่มาคุยล้วนอยากได้แม่บ้านทั้งสิ้น ซึ่งจะเป็นกลุ่มต่อไปที่จะมีกระบวนการจัดหา

"เขาเน้นมาเอาแม่บ้านล้วน ๆ เลย แม่บ้าน คนขับรถ คนทำความสะอาดบ้าน แรงงานก่อสร้างไม่ถึงเราหรอก มันหยุดที่บังกลาเทศ" บรรจง กล่าว พร้อมบอกว่า ปัจจุบันในซาอุดีอาระเบีย มีอัตราเงินเดือนที่จ้างแรงงานกลุ่มไร้ทักษะ โดยจ้างชาวซูดาน เคนยา อยู่ที่เดือนละ 250 ดอลลาร์สหรัฐ เท่านั้น

สำหรับตลาดของแรงงานไทยแล้ว บรรจง กล่าวว่า ผู้ใช้แรงงานรับรู้โดยทั่วไปว่าประเทศที่ได้ค่าแรงดีคือ งานที่อิสราเอล รองลงมาคือไต้หวัน ซึ่งมีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 800 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 29,600 บาท

“คนที่ได้ไลเซ่น (ใบอนุญาตจัดหาแรงงาน) ไปแล้ว ก็ไปไม่เป็นเหมือนกัน” รองประธานที่ปรึกษาสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ กล่าว