ย้อนปัญหา “ส่วยทางหลวง” 30 ปียังไม่ถูกแก้ไข

รถบรรทุก

ที่มาของภาพ, สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง

คำบรรยายภาพ, สำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ ขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งโรงโม่หินไม่ให้บรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจําคุกไม่ 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

"ส่วยทางหลวง" หรือ "ส่วยสติกเกอร์" ถูกพูดถึงอีกครั้งในสังคมการเมืองไทย ในฐานะ “ใบเบิกทางพิเศษ” ให้แก่รถบรรทุกที่แม้มีน้ำหนักเกินก็สามารถวิ่งได้บนถนนทั่วไทย

ปัญหานี้เกิดขึ้นมาราว 30 ปี ซึ่งนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ผู้ออกมาเปิดโปงขบวนการส่วยทางหลวงคนล่าสุด คาดการณ์ว่าส่วยทางหลวงมีมูลค่าสูงถึงปีละ 20,000 ล้านบาท

ล่าสุดวันนี้ (31 พ.ค.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ออกมายอมรับว่า “ส่วยสติ๊กเกอร์มีจริง” และ “มีมานานแล้ว” พร้อมกำชับให้จเรตำรวจแห่งชาติเร่งดำเนินการตรวจสอบ คาดว่าจะมีความคืบหน้าภายใน 15 วันนี้

วิวัฒนาการขบวนการ “ส่วยทางหลวง”

ขบวนการส่วยทางหลวงถูกเปิดโปงต่อสาธารณะครั้งแรก ๆ ผ่านการรายงานข่าวของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี เมื่อปี 2539 และเกาะติดสถานการณ์เป็นระยะ ๆ ต่อเนื่อง

กิตติ สิงหาปัด อดีตผู้สื่อข่าว/ผู้ประกาศข่าว สถานีโทรทัศน์ไอทีวี ซึ่งปัจจุบันเป็นผู้ดำเนินรายการ “ข่าว 3 มิติ” ของสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 ลำดับวิวัฒนาการเคลียร์ส่วยรถบรรทุก จากยุค “ใส่เงินในมือเจ้าหน้าที่-โยนเงินลงถนน-ติดสติกเกอร์หน้ารถ” รถบางส่วนแม้ไม่มีสติกเกอร์ ก็จะส่งทะเบียนรถเข้ากลุ่มไลน์ของผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้ปล่อยผ่านได้ “ปัจจุบันการจ่ายส่วย มองเห็นด้วยตาเปล่าน้อยมาก จึงต้องตรวจสอบจากพฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ที่ปล่อยปละละเลยให้รถบรรทุกที่น้ำหนักเกินวิ่งบนทางหลวงได้” ผู้เกาะติดปัญหาส่วยทางหลวงระบุ

เมื่อเดือน ก.ค. 2561 ผู้ประกอบการรถบรรทุกส่วนหนึ่งร้องเรียนไปยังรายการข่าว 3 มิติ เรื่องการกลับมาของส่วยสติกเกอร์

รายงานพิเศษของข่าวสามมิติ ออกอากาศเมื่อ 16 ก.ค. 2561 ปรากฏภาพเจ้าหน้าที่ด่านชั่งน้ำหนัก จ.หนองบัวลำภู กำลังเรียกตรวจรถบรรทุกหิน ซึ่งบรรทุกน้ำหนักมากเกือบ 100 ตัน ทั้งที่กฎหมายให้บรรทุก 50 ตัน ที่หน้ารถติดสติกเกอร์มีข้อความสีแดงวางอยู่บนพื้นสีขาวว่า “แสงเทียน แสงสว่าง” เป็นสัญลักษณ์สื่อสารกับเจ้าหน้าที่กลุ่มรับส่วย

“คนขับรถคันนี้บอกว่าเขาไม่รู้อะไรมาก รู้แต่ว่าถ้าติดสติกเกอร์นี้แล้ว เจ้าของโรงโม่หินจะใส่หินเท่าไรก็ได้ เขามีหน้าที่ขับอย่างเดียว” ข่าวสามมิติรายงานโดยอ้างคำกล่าวของโชว์เฟอร์รถบรรทุกหินที่ถูกจับกุม

ส่วนที่ จ.มหาสารคาม พบรถพ่วงบรรทุกดิน ที่หน้ารถมีสติกเกอร์ข้อความว่า “โชคมานะมั่น” รายนี้เคลียร์กับตำรวจบางนายแล้ว เมื่อถูกเจ้าหน้าที่ทางหลวงจับ จึงโทรศัพท์มาขอเคลียร์กับเจ้าหน้าที่และนักข่าว โดยปรากฏเสียงสนทนาจากชายปลายสายว่า “ดูแลกันหน่อยไม่ได้หรือครับ” ชายที่คาดว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตอบกลับไปว่า “เขาร้องเรียนมาจากส่วนกลาง”

หากเจ้าหน้าที่คนไหนไม่รับสินบน ขบวนการส่วยสติกเกอร์จะมีการ “วางสายเพื่อแจ้งข่าว” ตามการเปิดเผยข้อมูลของนายปราบพล โล่ห์วีระ ผู้อำนวยการสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ (สคน.) กรมทางหลวง (ในขณะนั้น)

“สถานีเกือบทุกสถานี มีคนไปเฝ้าเกือบหมด เราออกเมื่อไร เขาออกเมื่อนั้น มันกระจายกันทั่วประเทศ เพราะเป็นเครือข่ายกัน... ผมเลยพยายามแก้ปัญหา นอกจากที่สถานี จะมีหน่วยส่วนกลาง และผมสั่งการให้ดำเนินการข้ามจังหวัด ข้ามภาค เช่น อยุธยาให้ข้ามไปจับที่สระบุรี สระบุรีให้ไปจับที่ชัยนาท สับขาหลอก ดังนั้นคนที่ไปเฝ้าสระบุรี เวลาออก เขาก็นึกว่าจับที่สระบุรี จริง ๆ ไม่ใช่หรอก ไปจับที่ชัยนาทโน่น” นายปราบพลกล่าวกับข่าว 3 มิติ

ต่อมาในเดือน ม.ค. 2566 รายงานพิเศษอีกชิ้นของข่าวสามมิติ แสดงให้เห็นภาพรถบรรทุกหลายคัน เลี่ยงการวิ่งเข้าจุดตรวจน้ำหนัก สถานีตรวจสอบน้ำหนักพยุหคีรี จ.นครสวรรค์ หลังได้รับข้อมูลร้องเรียนจากประชาชนว่ามีรถบรรทุกน้ำหนักเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ไม่ยอมวิ่งเข้าด่าน

คำอธิบายจากเจ้าหน้าที่กรมทางหลวงคือ เจ้าหน้าที่หน้าด่านจะออกติดตามรถบรรทุกที่หนีด่านชั่งน้ำหนักมาตรวจสอบ หากใครฝ่าฝืนก็จะโดนจับภาพบันทึกเอาไว้ และส่งไปยังศูนย์บัญชาการเครือข่ายตรวจสอบน้ำหนักยานพาหนะใน กทม. เพื่อเอาผิดได้

3 ปี จับรถบรรทุก นน.เกิน ได้ 468 คัน

แบบสติกเกอร์ “พระอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง” ที่เปิดเผยผ่านแฟนเพจของนายวิโรจน์

ที่มาของภาพ, FB/Wiroj Lakkhanaadisorn

คำบรรยายภาพ, แบบสติกเกอร์ “พระอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง” ที่เปิดเผยผ่านแฟนเพจของนายวิโรจน์

ข้อมูลจากสำนักงานควบคุมน้ำหนักยานพาหนะ กรมทางหลวง ระบุว่า ปัจจุบันมีสถานีตรวจน้ำหนัก 97 สถานีทั่วประเทศ และสถานีย่อย (spot check) 33 สถานี

ขณะที่สถิติเรื่องร้องเรียนรถบรรทุกเกินน้ำหนักย้อนหลัง 3 ปี มีทั้งสิ้น 1,479 เรื่อง และจับรถบรรทุกน้ำหนักเกินได้ 468 คัน

  • 2563 ร้องเรียน 673 เรื่อง จับกุมรถบรรทุกเกินน้ำหนัก 217 คัน
  • 2564 ร้องเรียน 467 เรื่อง จับกุมรถบรรทุกเกินน้ำหนัก 167 คัน
  • 2565 ร้องเรียน 339 เรื่อง จับกุมรถบรรทุกเกินน้ำหนัก 84 คัน

กรมทางหลวงรับผิดชอบเรื่องการควบคุมน้ำหนักบนโครงข่ายถนนหลวง 78,093 กม. ต่อ 2 ช่องจราจร หรือประมาณ 54,000 กม. ขณะที่งบประมาณในการซ่อมแซมถนนอยู่ที่ราว 24,000 ล้านบาท หรือกิโลเมตรละ 20 ล้านบาท

โดยเฉลี่ย ถนนคอนกรีด มีอายุใช้งาน 30 ปี ถนนยางมะตอย มีอายุใช้งาน 7 ปี โดยออกแบบมารองรับการบรรทุกน้ำหนัก 21-25 ตันเท่านั้น เมื่อมีการบรรทุกเกิน ทำให้รัฐต้องจ่ายค่าซ่อมแซมบำรุงถนนทั้งของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นราว 1 แสนล้านบาทต่อปี

ขณะที่ข้อมูลขององค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่นประเทศไทยระบุว่า ในแต่ละปีมีรถบรรทุกวิ่งบนถนนหลวงราว 5 แสนคัน ขณะที่การจ่ายส่วยรถบรรทุกเฉลี่ยอยู่ที่ 3,500 บาทต่อเดือน รวมเป็นมูลค่า 1,750 ล้านบาทต่อเดือน หรือ 21,000 ล้านบาทต่อปี

ตั้ง กก. 3 ชุดตรวจสอบ “ส่วยสติกเกอร์” ภาคใหม่

ขณะที่การเปิดโปงขบวนการส่วยทางหลวงภาคใหม่ เกิดขึ้นโดยนายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งออกมาเปิดเผยเมื่อ 27 พ.ค. โดยเรียกสติกเกอร์แปะหน้ารถบรรทุกว่า “Easy Pass พิสดาร” เพื่อเป็นสัญลักษณ์ให้เจ้าหน้าที่รู้ว่ารถที่ติดสติกเกอร์ดังกล่าวจ่ายส่วยเรียบร้อยแล้ว สามารถวิ่งได้บนถนนทั่วไทย

นักการเมืองรายนี้ได้เปิดเผยรูปแบบ “สติกเกอร์ส่วย” ไว้หลากหลาย อาทิ สติกเกอร์รูปพระอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง, กระต่ายน้อย, แอปเปิลแดง, ใบโพธิ์ รวมถึงสติกเกอร์ที่มีข้อความ เช่น รักเมืองไทย

แบบสติกเกอร์ “เรารักประเทศไทย” ที่เปิดเผยผ่านแฟนเพจของนายวิโรจน์ ถูกระบุว่าวิ่งได้ในภาคอีสาน สนนราคาที่ 25,000 บาท/คัน

ที่มาของภาพ, FB/Wiroj Lakkhanaadisorn

คำบรรยายภาพ, แบบสติกเกอร์ “เรารักประเทศไทย” ที่เปิดเผยผ่านแฟนเพจของนายวิโรจน์ ถูกระบุว่าวิ่งได้ในภาคอีสาน สนนราคาที่ 25,000 บาท/คัน

นายวิโรจน์ ผู้ถูกหัวหน้าพรรค ก.ก. เปรียบเปรยเป็น “อุกกาบาตทลายส่วยทางหลวง” ระบุว่า สติกเกอร์แต่ละดวงจะมีมูลค่าแตกต่างกัน ตั้งแต่ 3,000-5,000 บาทต่อเดือน ขึ้นอยู่กับระยะทางและจำนวนด่าน บางพื้นที่อาจแพงถึงหลักหมื่น ขณะที่จำนวนรถบรรทุกในประเทศไทยมีทั้งสิ้นประมาณ 1.4 ล้านคัน ถ้ามีรถบรรทุก 300,000 คัน ต้องเสียเงินซื้อสติ๊กเกอร์เดือนละ 3,000-5,000 บาท คิดเป็น 900-1,500 ล้านบาทต่อเดือน และในปีหนึ่ง มูลค่าส่วยทางหลวงอาจสูงถึง 20,000 ล้านบาท

ผลจากการเปิดประเด็นของนายวิโรจน์ ซึ่งพุ่งเป้าไปที่ตำรวจทางหลวง ทำให้ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ลงนามในคำสั่งเมื่อ 30 พ.ค. 2566 ให้ พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการตำรวจทางหลวง (ผบก.ทล.) ไปปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ขาดจากการปฏิบัติหน้าที่ตำแหน่งเดิม และแต่งตั้ง พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว ผู้บังคับการกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ปปป.) มารักษาราชการแทน ผบก.ทล.

ขณะเดียวกันผู้บริหารองค์กรที่เกี่ยวข้องยังพากันตั้งคณะกรรมการตรวจสอบกรณีส่วยสติกเกอร์อย่างน้อย 3 ชุด โดยให้รายงานต่อผู้บังคับบัญชาทราบภายใน 15 วัน

  • สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีส่วยสติกเกอร์รถบรรทุก โดยมี พล.ต.อ.วิสนุ ปราสาททองโอสถ จเรตำรวจแห่งชาติ (จตช.) เป็นผู้รับผิดชอบ
  • กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีส่วยสติกเกอร์ โดยมี พล.ต.ต.วิวัฒน์ ชัยสังฆะ รอง ผบช.ก. เป็นหัวหน้า
  • กระทรวงคมนาคม แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการติดสินบนเจ้าหน้าที่ด้วยการติดสติกเกอร์บนรถบรรทุก โดยมีรองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านทางหลวง เป็นประธาน

วันพรุ่งนี้ (1 มิ.ย.) สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทยจะเข้าหารือกับพรรคก้าวไกล และส่งมอบข้อมูลเรื่องส่วยสติกเกอร์ให้เพิ่มเติม

สื่อหลายสำนัก อาทิ ไทยรัฐ มติชน รายงานโดยอ้างข้อมูลจากนายอภิชาติ ไพรรุ่งเรือง สหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่เล่าถึงการจ่ายส่วยตามขนาดบรรทุกจากเล็กไปใหญ่ สนนราคาจาก 3,000 บาท ถึง 27,000 บาทต่อเดือน และมีสติกเกอร์ราว 50 แบบทั่วประเทศ โดยคาดการณ์ว่ามีรถที่จ่ายส่วยสติกเกอร์ราว 1.5-2 แสนคัน จากรถที่จดทะเบียนกับกรมขนส่งทางบกทั้งหมด 1.5 ล้านคัน