ธ.ก.ส. มีสภาพคล่อง-สถานะการเงิน แข็งแกร่ง พอไหม หลังรัฐเตรียมดึงเงิน 1.7 แสนล้านบาท ใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต

stock photo

ที่มาของภาพ, Getty Images

  • Author, ปณิศา เอมโอชา
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

เมื่อวานนี้ (23 เม.ย. 2567) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบและเห็นชอบตามสาระสำคัญในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งรวมถึงการใช้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นหนึ่งในสามแหล่งเงินทุนรวม 5 แสนล้านบาท โดยจะใช้ในวงเงิน 1.72 แสนล้านบาทจาก ธ.ก.ส.

มติ ครม. ระบุว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 มีความล่าช้าในการประกาศใช้ จึงอาจพิจารณาแนวทางการบริหารเงินงบประมาณในปี 2567 ร่วมกับสำนักงบประมาณ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์การใช้งบประมาณ เช่น การปรับลดงบประมาณที่ไม่จำเป็นหรืองบประมาณที่หน่วยรับงบประมาณไม่สามารถเบิกจ่ายได้ทันในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 การใช้งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เป็นต้น

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตอบคำถามสื่อมวลชนหลังการประชุม ครม. โดยระบุว่า รัฐบาลได้มีการชี้แจงกับฝั่งสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส. ที่แสดงความกังวลว่า การยืมเงิน ธ.ก.ส. มานั้นทำได้จริงตามกฎหมายหรือไม่ รวมถึงประเด็นอื่น ๆ อาทิ สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารฯ และการชดเชยต้นทุนโครงการดิจิทัลวอลเล็ตคืนให้แก่ ธ.ก.ส. เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา

นายจุลพันธ์ย้ำว่าระหว่างนี้จะมีการส่งเรื่องไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความ แต่ยืนยันว่าขั้นตอนทั้งหมดนั้นถูกกฎหมาย และ “สภาพคล่อง ธ.ก.ส. มีความมั่นคง”

“รัฐบาลจะดำเนินนโยบายอะไรก็ตาม มีแต่จะเสริมความแข็งแกร่งให้กับธนาคารในกำกับ เพราะ ธ.ก.ส. เป็นปีกหลักปีกหนึ่งในการช่วยเหลือเกษตรกร รัฐบาลทุกชุดใช้บริการ ธ.ก.ส. มาโดยตลอด รัฐบาลชุดนี้เราก็เห็นความสำคัญ” นายจุลพันธ์ ระบุ

สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. ที่พอเป็นไปได้

Thai farmer

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ธ.ก.ส. มีโครงการธุรกรรมนโยบายรัฐ ทั้งหมด 133 โครงการ ซึ่งพุ่งเป้าเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรไทย

ปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนว่ากระทรวงการคลังและ ธ.ก.ส. จะจัดสรรงบส่วนใดมารองรับวงเงิน 1.72 แสนล้านบาทนี้ ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือฝั่งเกษตรกรในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท

ตามข้อมูลงบการเงินประจำปีของ ธ.ก.ส. สิ้นสุดวันที่ 31 มี.ค. 2566 ซึ่งผ่านการตรวจสอบบัญชีจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) พบว่า ธ.ก.ส. มีสินทรัพย์รวม 2.26 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าราว 2.57 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 1.15% ทว่าตัวเลขสินทรัพย์นี้ไม่เท่ากับเงินสดในมือของ ธ.ก.ส.

ตามข้อมูลงบการเงินดังกล่าว ธ.ก.ส. มีสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง ซึ่งหมายถึงสินทรัพย์ที่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันที มูลค่า 4.28 แสนล้านบาท อยู่ในรูป เงินสด รายการระหว่างธนาคารและตลาดเงินสุทธิ และเงินลงทุนสุทธิ ซึ่งตามความเห็นจาก รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเศรษฐกิจดิจิทัล การลงทุนและการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุกับบีบีซีไทยว่า ธ.ก.ส. สามารถแบ่งสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องมูลค่า 4.28 แสนล้านบาทดังกล่าว มาใช้ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ตได้

ขณะที่ตัวเลขสินทรัพย์ก้อนใหญ่ของธนาคารฯ อยู่ในรูป ‘เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้และดอกเบี้ยค้างรับสุทธิ’ ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.21 ล้านล้านบาท (ตัวเลขนี้มีการคำนวณการตั้งสำรองเผื่อหนี้สูญแล้ว จึงทำให้ตัวเลขออกมาน้อยกว่าผลรวมของสินเชื่อและดอกเบี้ยค้างรับ) ซึ่งแบ่งเป็นเงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ 1.55 ล้านล้านบาท และดอกเบี้ยค้างรับ 2.65 หมื่นล้านบาท

ในช่วงเวลาเดียวกันนี้ ธ.ก.ส. มีตัวเลขเงินรับฝากอยู่ที่ 1.82 ล้านล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ตามข้อมูลงบการเงินล่าสุด ณ วันที่ 31 ธ.ค. 2566 ซึ่งยังไม่ผ่านการตรวจสอบบัญชีจาก สตง. พบว่า ธ.ก.ส. มีเงินรับฝากลดลงเล็กน้อย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 1.81 แสนล้านบาท

สำหรับธุรกิจธนาคาร เงินฝากจะถูกจัดอยู่ในหมวดหนี้สินของธนาคาร- เพราะไม่ได้เป็นเงินของธนาคารตั้งแต่แรก แต่เป็นเงินของผู้นำมาฝาก ในทางตรงกันข้าม เงินที่ธนาคารปล่อยกู้ออกไปจะจัดอยู่ในหมวดสินทรัพย์ เนื่องจากเม็ดเงินที่ปล่อยกู้ออกไปนี้สามารถสร้างรายได้ให้ธนาคารได้จากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ธนาคารเก็บจากผู้กู้

งบการเงินของ ธ.ก.ส. ยังมีอีกหนึ่งตัวเลขสำคัญ นั่นคือสัดส่วนลูกหนี้ที่รอการชดเชยจากรัฐบาล ซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่ 5.94 แสนล้านบาท ตัวเลขเหล่านี้เกิดขึ้นจากบทบาทของ ธ.ก.ส. ที่เป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งมีหน้าที่ตอบสนองนโยบายการคลังของรัฐบาล ปัจจุบัน ธ.ก.ส. มีโครงการธุรกรรมนโยบายรัฐ ทั้งหมด 133 โครงการ

ตัวอย่างโครงการเหล่านี้ ก็เช่น โครงการรับจำนำข้าวทั้งนาปีและนาปรัง เริ่มตั้งแต่ปีการผลิต 2554/55 จนถึง 2556/57 คิดเป็นมูลค่าลูกหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาลรวมราว 6.28 หมื่นล้านบาท หรือโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 ที่มีมูลค่าหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาล 5.19 หมื่นล้านบาท ขณะที่โครงการที่มีมูลค่าหนี้รอการชดเชยจากรัฐบาลมากที่สุดถึง 8.55 หมื่นล้านบาทนั้น คือโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2564/65 รอบที่ 1

นายจุลพันธ์ กล่าวว่า ระหว่างตอนนี้จนถึงช่วงเดือน ต.ต. ช่วงต้นของไตรมาสสุดท้าย ซึ่งเป็นไทม์ไลน์ที่คาดว่าจะมีการเริ่มแจกเงินจริง จะต้องมีการพิจาณารายละเอียดต่าง ๆ เพิ่มเติม

บีบีซีไทยได้ติดต่อไปยัง ธ.ก.ส. เพื่อขอสอบถามความคิดเห็นของธนาคารเกี่ยวกับบทบาทของ ธ.ก.ส. ในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่ทางธนาคารฯ ระบุว่าขอรอให้ทราบรายละเอียดเพิ่มเติมชัดเจนกว่านี้ จึงจะสามารถให้ความเห็นได้

บริหารความเสี่ยง-ชดเชย “ค่าเสียโอกาส”

รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าวว่า ในฐานะสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ การสนองนโยบายของรัฐบาลเป็นหน้าที่หนึ่งของ ธ.ก.ส. อย่างไรก็ดี เขาอธิบายว่าสภาพคล่องของธนาคารมีที่มาจากเม็ดเงินฝากของประชาชน ซึ่งมีต้นทุนดอกเบี้ยที่ธนาคารต้องจ่ายคืนให้กับผู้ฝากเงิน ดังนั้น โดยปกติแล้ว เมื่อได้รับเงินฝากมา ธนาคารฯ จะบริหารเงินตรงนั้นเพื่อให้เกิดรายได้ อาทิ การปล่อยสินเชื่อ

“รัฐบาลใช้[สภาพคล่อง]เขาได้ แต่ต้องชดเชยให้เขาด้วย มันมีต้นทุนค่าเสียโอกาส ธนาคารรับสภาพคล่องมา ถ้าธนาคารไม่เอาไปใช้ในโครงการแจกเงินดิจิทัล เขาก็สามารถเอาเงินอันนี้ไปลงทุนหรือไปปล่อยกู้ ดังนั้นเวลารัฐบาลจะชดเชย ต้องคำนวณจากฐานต้นทุนค่าเสียโอกาส” รศ.ดร.อนุสรณ์ ชี้

เขายกตัวอย่างกรณีที่คล้ายกันซึ่งเกิดขึ้นกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่า ผลกระทบต่อสภาพคล่องของ กฟผ. ที่ต้องปฏิบัติตามนโยบายภาครัฐในการรับภาระค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่าเอฟที) คือตัวอย่างการที่รัฐบาลใช้แขนขาบริหารนโยบายการคลังจนอาจส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของหน่วยงานได้ กฟผ. เคยต้องออก หนังสือ “ด่วนที่สุด” เพื่ออธิบายถึงสถานการณ์สภาพคล่องที่แม้ยังไม่เข้าขั้นมีปัญหาแต่ “มีความเสี่ยง”

“ถ้ารัฐจะเอาสภาพคล่องไปใช้เพื่อโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ได้มีปัญหาอะไรในความเห็น แต่เงินตรงนี้ต้องเอามาคืนด้วยเพราะมันเป็นเงินฝากคน มันต้องมีชัด ๆ ว่าต้องชำระคืนเท่าไหร่” รศ.ดร.อนุสรณ์ กล่าว

ความกังวลจากหลายฝ่าย

มาตราที่ 28 ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 วรรคหนึ่ง ระบุว่า "การมอบหมายให้หน่วยงานของรัฐดําเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการโดยรัฐบาลรับภาระจะชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ในการดําเนินการนั้น ให้กระทําได้เฉพาะกรณีที่อยู่ในหน้าที่และอํานาจตามกฎหมายและอยู่ภายในขอบแห่งวัตถุประสงค์ของหน่วยงานของรัฐนั้น เพื่อฟื้นฟูหรือกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการประกอบอาชีพหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน หรือเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากสาธารณภัยหรือการก่อวินาศกรรม" และภาระที่รัฐจะต้องชดเชยนั้น ต้องมียอดคงค้างทั้งหมดรวมกันไม่เกินอัตราที่คณะกรรมการกําหนด

ตามข้อมูลรายงานการวิเคราะห์สถานะภาระทางการคลังตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 เผยแพร่เมื่อเดือน ก.ย. 2566 พบว่า ในปี 2565 รัฐบาลมีงบประมาณรายจ่ายประจำปีรวม 3.1 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้ 34.22% หรือ 1.06 ล้านล้านบาทคือยอดคงค้างที่รัฐต้องรับชดเชยตามมาตรา 28

จากยอดคงค้างฯ ข้างต้นนั้น 1.06 ล้านล้านบาทนั้น มากถึง 83.45% หรือ 8.85 แสนล้านบาท คือยอดคงค้างที่รัฐบาลต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ให้กับ ธ.ก.ส.

ตัวเลข 34.22% ยังมีความสำคัญเพิ่มเติม เพราะแม้ยังไม่เกินเกณฑ์ 35% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี ตามที่คณะกรรมการนโยบายการเงินการคลังของรัฐได้ประกาศกำหนดไว้ในเวลานั้น อย่างไรก็ดี ภายหลังมีการปรับเกณฑ์ดังกล่าวลงมาเหลือเป็นไม่เกิน 32% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ

รายงานฯ ข้างต้นเสนอแนะว่า "รัฐบาลควรใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีดำเนินกิจกรรม มาตรการ หรือโครงการเป็นลำดับแรก และพิจารณาดำเนินการตามมาตรา 28 ให้ใช้เพียงเท่าที่จำเป็น โดยต้องเป็นกรณีที่มีความจำเป็นเร่งด่วนและไม่สามารถใช้จ่ายเงินจากงบประมาณในการดำเนินการได้เท่านั้น"

สำนักงานงบประมาณของรัฐสภา

ที่มาของภาพ, สำนักงานงบประมาณของรัฐสภา

คำบรรยายภาพ, รัฐบาลมียอดคงค้างที่ต้องรับชดเชยค่าใช้จ่ายหรือการสูญเสียรายได้ให้กับ ธ.ก.ส. สูงถึง 8.85 แสนล้านบาท คิดเป็น 83.45% ของยอดคงค้างทั้งหมดในปี 2565

น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจพรรคก้าวไกล เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ว่า การใช้ช่องทางตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการแจกเงินดิจิทัล "ต้องตีลังกาตีความ" หรือ "อาศัยการไต่เส้นตีความ" เพื่อให้ ธ.ก.ส. แจกเงินดิจิทัล

เธอกล่าวเรื่องนี้ไว้ตั้งแต่ในช่วงการเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริงหรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ตามมาตรา 152 ของรัฐธรรมนูญ 2560 เมื่อวันที่ 3 เม.ย. ว่า หากใช้วิธีนี้อาจไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ ธ.ก.ส. เพราะวัตถุประสงค์การดำเนินงานตามพระราชบัญญัติ ธ.ก.ส. ในมาตรา 9 (3) เขียนไว้ชัดเจนว่า ให้เป็นสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาชนบท และธุรกรรม ต่าง ๆ ต้องเป็นไปเพื่อทำให้เกิดการสร้างผลผลิต ลดต้นทุนเกษตรกร

นอกจากนี้ ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ยังเคยกล่าวกับบีบีซีไทยว่า ถ้าดูตามวิสัยทัศน์ขององค์กร คือการเป็นธนาคารพัฒนาชนบทอย่างยั่งยืน และถ้าดูคุณค่าร่วมขององค์กร ที่ว่า "ยกระดับเศรษฐกิจระดับชุมชน ชนบท ให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพการแข่งขัน สามารถพึ่งพาตนเองได้" จะพบว่าการแจกเงินไม่น่าจะสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และคุณค่าขององค์กร

"การแจกเงินไม่ได้เป็นการทำให้ประชาชนเติบโตได้อย่างยั่งยืน เสมือนการแจกปลา แต่ไม่สอนให้หาปลา ทั้งนี้ แม้ว่าจะอ้างได้ว่า เศรษฐกิจมีการชะลอตัวจนทำให้ต้องมีการแจกเงิน แต่การแจกเงินในลักษณะนี้ได้ทำมาตลอดหลายรัฐบาลที่ผ่านมา แต่ไม่เคยที่จะนำไปสู่การพึ่งพาตัวเองได้อย่างแท้จริง" นักวิชาการจากทีดีอาร์ไอ กล่าว

ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อวันที่ 22 เม.ย. นายศุภชัย วงศ์เวคิน ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ ธ.ก.ส. ได้มีการยื่นหนังสือต่อ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง โดยตั้งคำถามในหลายประเด็น เช่น การใช้เงินดังกล่าวของ ธ.ก.ส. ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ สภาพคล่องของ ธ.ก.ส. มีเพียงพอสำหรับใช้ทำโครงการดังกล่าวหรือไม่ รวมถึงรัฐบาลมีแผนจะใช้เงินคืนกับ ธ.ก.ส. อย่างไร เป็นต้น

เครดิตเรทติ้งของ ธ.ก.ส.

Thai farmer

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, ธ.ก.ส. เป็นธนาคารรัฐเพียงแห่งเดียวที่มุ่งเน้นในการให้ความช่วยเหลือแก่ภาคเกษตรกรรม โดยแรงงานในภาคเกษตรกรรมคิดเป็น 30% ของแรงงานรวมของประเทศ

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ ธ.ก.ส. ที่ระดับ ‘AAA(tha)’ และระยะสั้นที่ ‘F1+(tha)’ เมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2566 ซึ่งเป็นอันดับที่สูงที่สุดของการจัดอันดับ

นายพชร ศรายุทธ์ นักวิเคราะห์ของฟิทช์ เรทติ้งส์ ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทยระบุว่า สำหรับการจัดอันดับเครดิตของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธ.ก.ส. นั้น จะเน้นดูที่โอกาสที่ธนาคารจะได้รับความช่วยเหลือหรือสนับสนุนจากรัฐบาลหรือผู้ถือหุ้น มากกว่าโครงสร้างเครดิตของธนาคาร

ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นใน ธ.ก.ส. ถึง 99.8% ตามข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ ธ.ก.ส.

ทั้งนี้ ในประกาศอันดับเครดิตล่าสุดนั้น ฟิทช์ เรทติ้งส์ ชี้ประเด็นในส่วนโครงสร้างการเงินของธนาคารว่า เริ่มเห็นกำไรที่ฟื้นตัวขึ้นหลังได้รับผลกะทบจากช่วงวิกฤตโรคระบาด โดย ธ.ก.ส. มีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานต่อสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้น ณ สิ้นเดือน มี.ค. 2566 เป็น 0.7% จากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่อยู่ที่ 0.6%

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้เรื่องการพิจารณาอันดับเครดิตหรือผลกระทบจากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต พชร ชี้ว่า ฟิทช์ เรทติ้งส์ จะออกประกาศเพิ่มเติมนอกเหนือจากการจัดอันดับรายปีก็ต่อเมื่อ “การกระทำดังกล่าวกระตุ้น ‘ความอ่อนไหวต่ออันดับเครดิต’ ที่เราเคยให้ไว้” ซึ่งเขาย้ำว่าการจัดอันดับเครดิตเกี่ยวพันอยู่กับแนวโน้มการสนับสนุนของรัฐบาล มากกว่าโครงสร้างการเงินของสถาบันฯ

“ในการจัดอันดับ อันไหนที่แข็งแรงกว่า อันนั้นจะเป็นตัวกำหนดเครดิต ของ ธ.ก.ส. เขาจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล อันดับเครดิต ธ.ก.ส. อ้างอิงกับกับเครดิตของประเทศไทย รัฐเป็นผู้ถือหุ้น มีสถานะที่ชัดเจน เป็นธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ มีบทบาทในการช่วยเหลือกับนโยบายของรัฐ สนับสนุนนโยบายของรัฐมาโดยตลอด อันนั้นเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด” พชร ทิ้งท้าย