กลุ่มธุรกิจ PTT-OR ชี้แจงกรณีกองทุนความมั่งคั่งนอร์เวย์ประกาศถอนการลงทุน

แหล่งยาดานา ในอ่าวเมาะตะมะ ประเทศเมียนมา

ที่มาของภาพ, PTTEP HANDOUT

คำบรรยายภาพ, แหล่งยาดานา ในอ่าวเมาะตะมะ ประเทศเมียนมา

แม้ว่ารัฐประหารในเมียนมาจะผ่านมาแล้วกว่าหนึ่งปี แรงกดดันจากนานาชาติที่มีต่อการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนยังมีอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินอร์เวย์ได้ประกาศถอนการลงทุนจาก บมจ. ปตท. หรือ PTT และ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ฐานเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่รัฐบาล-กองทัพเมียนมา เป็นเจ้าของ

ผู้บริหารกองทุนสัญชาตินอร์เวย์ ที่มีมูลค่ากว่า 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 45 ล้านล้านบาท) ให้เหตุผลว่า มติดังกล่าวของคณะกรรมการบริหารกองทุนเห็นว่า เป็นความเสี่ยงที่ไม่อาจยอมรับได้ (unacceptable risk) เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยนอกจากสองบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยแล้ว ยังมีบริษัทในอิสราเอลอีกหนึ่งแห่งด้วย ที่กองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินอร์เวย์ ถอนการลงทุน

การตัดสินดังกล่าวมีผลมาจากการออกคำแนะนำโดยคณะกรรมการจริยธรรมเมื่อวันที่ 10 พ.ค. และต่อมาธนาคารกลางแห่งชาตินอร์เวย์ (Norge Bank) จึงมีประกาศเรื่องนี้ในวันที่ 15 ธ.ค.

คณะกรรมการด้านจริยธรรมของกองทุนนี้ยังอธิบายว่า บริษัทสัญชาติไทยทั้งสองเป็นพันธมิตรกับบริษัทที่มีรัฐบาลและกองทัพเมียนมาเป็นเจ้าของ และกิจการต่าง ๆ ก็มีไว้เพื่อสนับสนุนกองทัพเมียนมาทางการเงินในปฏิบัติการทางทหารและการใช้อำนาจในทางมิชอบ

"นี่เป็นความเสี่ยงที่ยอมรับไม่ได้ เมื่อบริษัทเหล่านั้นมีส่วนช่วยในการละเมิดขั้นร้ายแรงต่อสิทธิมนุษยชน ท่ามกลางสถานการณ์สงครามหรือความขัดแย้ง"

ภาพอาคารสำนักงานของธนาคารกลางแห่งชาตินอร์เวย์

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ภาพอาคารสำนักงานของธนาคารกลางแห่งชาตินอร์เวย์

นับตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 เป็นต้นมา เมียนมาต้องเผชิญกับเหตุความวุ่นวายทางการเมืองหลังจากกองทัพเมียนมาได้ก่อรัฐประหารรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และใช้กำลังปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองและการขึ้นสู่อำนาจของทหาร

ล่าสุด ทั้ง ปตท. และโออาร์ออกแถลงการณ์ชี้แจงเพื่อยืนยันว่า ได้ปฏิบัติตามกฏหมายและข้อกำหนดรวมถึงหลักการเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักสากลนับตั้งแต่เกิดวิกฤตทางการเมืองในเมียนมา

ธุรกิจ ปตท. ในเมียนมาที่ถูกจับตา

หลังข่าวดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ไม่นาน บล. ยูโอบี เคย์เฮียน ได้อธิบายถึงความเกี่ยวโยงระหว่างกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาตินอร์เวย์ และบริษัทด้านพลังงานและค้าปลีกของไทยว่า

1) กองทุนของธนาคารกลางนอร์เวย์ (Norges Bank) ถือหุ้นใน OR ราว 0.23% (ประมาณ 28 ล้านหุ้น)

2) สาเหตุน่าจะเกิดจากการลงทุนของ OR ในเมียนมา 2 รายการ ได้แก่ กิจการร่วมทุนกับ Bright Energy ( ซึ่ง OR ถือหุ้น 35%) ในการทำธุรกิจค้าส่งและคลังเก็บผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ปัจจุบันยังอยู่ระหว่างก่อสร้างและได้หยุดไปตั้งแต่รัฐประหารในเมียนมา และ กิจการร่วมทุนอีกตัวทำธุรกิจค้าปลีก (ซึ่ง OR ถือ 51%) ซึ่งหยุดดำเนินการตั้งแต่รัฐประหารเช่นกัน

นอกจากนี้ สำนักข่าวรอยเตอร์ยังรายงานเพิ่มเติมว่า ยังมีธุรกิจในเครือของ ปตท. คือ ปตท. สำรวจและผลิตปิโตเลียม ที่ได้ประกาศเมื่อเดือน มี.ค. ว่าได้แจ้งเปลี่ยนผู้ดำเนินโครงการยาดานา ในเมียนมา หลัง บริษัท โททาลเอนเนอร์ยี่ส์ อีพี เมียนมา ของฝรั่งเศสถอนตัวไป

อย่างไรก็ตาม บล.กสิกรไทย คาดว่า ข่าวดังกล่าวจะเป็นปัจจัยกดดันต่อราคาหุ้นในระยะสั้น ขณะที่ต้องตามต่อว่าจะมีกองทุนต่างประเทศกองอื่นๆ ตัดสินใจแบบเดียวกันหรือไม่ เนื่องจากทาง OR ได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้มีการจ่ายเงินให้กับบริษัทที่เข้าร่วมลงทุนหลังจากบริษัทดังกล่าวติดอยู่ในรายชื่อประเทศที่ถูกคว่ำบาตรของประเทศตะวันตก

PTT-OR ชี้แจงยึดมั่นในหลักสิทธิมนุษยชน

สถานีบริการน้ำมันของ ปตท.

ที่มาของภาพ, Getty Images

ต่อมาวันที่ 22 ธ.ค. ทั้ง ปตท. และ โออาร์ ได้ชี้แจงต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเกี่ยวกับประเด็นการลงทุนในเมียนมา

เอกสารชี้แจงที่ลงนามโดยนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ระบุว่า กลุ่มปตท. ได้ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติด้านความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยมิติสิ่งแวดล้อม มิติสังคม และมิติกำกับดูแล โดยมีการบูรณาการหลักสิทธิมนุษยชนครอบคลุมสายโซ่อุปทานของบริษัท ตั้งแต่การตรวจสอบอย่างรอบด้าน การบริหารจัดการ ตลอดจนส่งเสริม ปกป้อง และให้ความเคารพด้านสิทธิมนุษยชนให้สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากลอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเป็นอย่างมากเกี่ยวกับเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในเมืยนมาร์หลังการรัฐประหารปี 2564 โดยการสนับสนุนการแก้ไขปัญหาวิกฤตอย่างสันติและเข้มงวดในการปฏิบัติตามกฎหมาย และแนวทางปฏิบัติสากลทุกพื้นที่ที่ปฏิบัติการ

ส่วนคำชี้แจงของ บมจ. ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ โออาร์ ที่ลงนามโดยนายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่า การเข้าร่วมทุนในบริษัทร่วมทุน Brighter Energy ในปี 2562 โดยถือหุ้นในสัดส่วน 35% เพื่อประกอบธุรกิจค้าส่งและคลังเก็บ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โดยอยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้างเก็บคลังผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เพื่อดำเนินการในเมียนมา มีวัตถุประสงค์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนชาวเมียนมาระหว่างปี 2564 ได้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงและความไม่สงบในเมียนมา รวมทั้งมาตรการคว่ำบาตรจากหลายประเทศ โออาร์ได้แสดงเจตนารมณ์ในฐานะผู้ถือหุ้นข้างน้อยให้ BE หยุดการดำเนินการก่อสร้างคลัง โดยโออาร์จะไม่ชำระเงินทุนเพิ่มเติม และ BE จะต้องไม่ชำระเงินให้แก่บุคคลใดๆ ที่อยู่ในบัญชีที่ถูกคว่ำบาตร (Sanctions list) โดยเด็ดขาด

ทั้ง ปตท. และโออาร์ยืนยันว่า ปฏิบัติตามกฏหมายและข้อกำหนดรวมถึงหลักการเคารพสิทธิมนุษยชนตามหลักสากล

ข้าม Twitter โพสต์
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน: บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาที่มาจากภายนอก

สิ้นสุด Twitter โพสต์

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 18 ธ.ค. กลุ่มรณรงค์ต่อต้านเงินเปื้อนเลือด (Blood Money Campaign-BMC) ได้ออกแถลงการณ์ขอให้ประชาชนร่วมยุติการซื้อสินค้าคาเฟอเมซอน ซึ่งเป็นกิจการร้านกาแฟของบริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด หรือ OR และอยู่ในเครือ ปตท. โดยให้เหตุผลว่า กิจการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายธุรกิจของ ปตท. และผู้จัดหาแหล่งทุนของอาชญกรรมต่อมนุษยชาติในเมียนมา

หุ้น PTT และ OR ปรับตัวลดลง

ผลกระทบระยะสั้นที่เกิดขึ้นต่อหุ้นของบริษัททั้งสองในตลาดหลักทรัพย์ยังคงปรากฏนับตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา

เมื่อวันศุกร์ที่ 16 ธ.ค. ราคาหุ้นของ OR ปรับตัวลดลง 2.90% หรือ 0.70 บาท มาอยู่ที่ราคา 23.40 บาท ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 1,451 ล้านบาท และทำราคาต่ำสุดของวันนี้ที่ 23.20 บาท ถือว่าต่ำสุดในรอบ 1 ปี 10 เดือน

ส่วน PTT ก็ปรับตัวลดลง 1.59% หรือ 0.50 บาท อยู่ที่ราคา 31 บาท ถือว่าต่ำสุดในรอบ 2 ปี ด้วย ส่วนมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 1,481 ล้านบาท และราคายังต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีที่ 37.64 บาท

ต่อมาในช่วงเช้าวันที่ 19 ธ.ค. ราคาหุ้น OR ยังปรับตัวลดลงอีก 0.43% หรือ 0.10 บาท อยู่ที่ราคา 23.40 บาท มูลค่าการซื้อขาย 274 ล้านบาท

ธุรกิจและความรับผิดชอบต่อสังคม

ในปัจจุบัน การลงทุนอย่างยั่งยืน กำลังเป็นหนึ่งในหัวข้อที่บรรดานักลงทุนเริ่มหันมาให้ความสำคัญมากขึ้น

เป็นระยะเวลากว่า 1 ปีแล้ว ที่เมียนมายังคงปกครองด้วยกองทัพหลังก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เป็นระยะเวลากว่า 1 ปีแล้ว ที่เมียนมายังคงปกครองด้วยกองทัพหลังก่อรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลจากการเลือกตั้ง และมีรายงานว่ากองทัพเมียนมาสังหารผู้ต่อต้านมากกว่า 2,000 คน

ในบทความเรื่อง "Responsible Investment มิติใหม่ของการลงทุน" โดย ดร.กฤษฎา เสกตระกูล, รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานพัฒนาความยั่งยืนตลาดทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เสนอว่า การลงทุนแบบที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (Responsible Investment) ที่กลายเป็นกระแสมาแรงทุกวันนี้ เนื่องจากนักลงทุนเริ่มมีความตระหนักว่าโลกกำลังเสื่อมโทรมทั้งในด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งธุรกิจควรมีส่วนรับผิดชอบด้วย โดยไม่ควรมุ่งแต่แสวงหากำไรสูงสุดเพื่อตอบสนองต่อผู้ถือหุ้นเท่านั้น

สำหรับการลงทุนอย่างยั่งยืนมีพัฒนาการมายาวนาน โดยมีรูปแบบหรือกลยุทธ์การลงทุนที่หลากหลาย เช่น การบริหารความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอด้วยการคัดกรองปัจจัยเชิงลบ (Negative Screening) เช่น ไม่ลงทุนในธุรกิจที่อาจขัดต่อศีลธรรมจรรยาที่ดีของสังคม การคัดกรองปัจจัยเชิงบวก (Positive Screening) เช่น เลือกลงทุนในธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม ส่งเสริมหลักศีลธรรมจรรยาหรือมีความโดดเด่นในการดำเนินงานด้านการลงทุนที่คำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคมและบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) ของธุรกิจ