พ.ร.บ. อุ้มหาย : มติ ครม. เลื่อนบังคับใช้ 4 มาตรา เหตุจัดซื้อกล้องตำรวจ 1.71 แสนตัวไม่ทัน

tnp

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, แม่ของสยาม ธีรวุฒิ ผู้ลี้ภัยทางการเมืองคดีมาตรา 112 ที่สูญหายตั้งแต่ปี 2562 หลังจากลี้ภัยไปอยู่ประเทศเวียดนาม

พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 หรือ "พ.ร.บ. อุ้มหาย" ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 ก.พ. 2566 นี้ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอเลื่อนเวลาบังคับใช้ อ้างเหตุผลเรื่องงบประมาณและความพร้อมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ล่าสุด คณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบเลื่อนบังคับใช้มาตรา 22-25 พ.ร.บ. ฉบับนี้ แล้ว และให้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ต.ค. 2566 เป็นต้นไป

น.ส. รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุม ครม. เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ว่า ครม. เห็นชอบร่างพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ.2565 พ.ศ. .... ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ. ดังกล่าว เพื่อขยายกำหนดเวลาในการมีผลใช้บังคับเฉพาะมาตรา 22-25 ออกไป

น.ส. รัชดา กล่าวว่า ความจำเป็นที่ต้องขยายเวลา เนื่องจากต้องมีการปรับปรุงการดำเนินการ บทบาท และหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมระดับหน่วยปฏิบัติ เช่น ตำรวจ กรมการขนส่งทางบก กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด

นอกจากนี้ ยังมีข้อขัดข้องที่ต้องดำเนินการเพิ่มเติม เช่น การจัดซื้อกล้องติดตัวเจ้าหน้าที่เพิ่มเติม 1.71 แสนตัว กล้องติตรถยนต์ควบคุมผู้ถูกจับ 1,578 ตัว และกล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ 6 พันกว่าตัว รวมถึงการจัดทำระบบจัดเก็บข้อมูล หน่วยความจำระบบคลาวด์ (Cloud) โดยต้องดำเนินการจัดซื้อด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-bidding ซึ่งต้องใช้ระยะเวลา

และต้องเตรียมความพร้อมของบุคลากร ที่ต้องฝึกอบรมบุคลากรในใช้งานอุปกรณ์บันทึกภาพและเสียง ซึ่งมีหลากหลายยี่ห้อและวิธีการใช้งานแตกต่างกัน

ด้านมูลนิธิผสานวัฒนธรรม องค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิมนุษยชน เข้ายื่นจดหมายต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อคัดค้านการชะลอการบังคับใช้กฎหมาย หลังมีรายงานว่า จะมีการเสนอวาระจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในที่ประชุม ครม. เพื่อชะลอการบังคับใช้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวออกไป

"รัฐบาลไม่มีความชอบธรรมและความจำเป็นในการเลื่อนการใช้บังคับ พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ ออกไป ไม่ว่าโดยวิธีใดแล้ว การเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวออกไป จะแสดงให้เห็นถึงความไม่เต็มใจของรัฐบาล" น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผอ. มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุ

กฎหมายป้องกันการซ้อมทรมานและอุ้มหาย ถูกผลักดันมาแล้วมากกว่า 10 ปี จากภาคประชาสังคม แต่ครั้งที่ใกล้เคียงครั้งหนึ่งคือในสมัยรัฐบาล คสช. ซึ่งร่างกฎหมาย ผ่านความเห็นชอบของ ครม. เมื่อปี 2559 แต่ถูก "ดอง" ในสภานิติบัญญัติชาติ (สนช.) เกือบหนึ่งปี ก่อนถูกส่งกลับไป ครม. จน สนช. หมดวาระ

tnp

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

ร่างกฎหมายได้รับการหยิบยกมาพิจารณาอีกครั้งในช่วงปลายปี 2564 หลังเกิดกรณีตำรวจ สภ. เมืองนครสวรรค์ ทรมานผู้ต้องสงสัยคดียาเสพติดจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 5 ส.ค. 2564 หรือคดี "ผู้กำกับโจ้" พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจึงได้ทำหนังสือถึงนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2564 เสนอร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งร่างโดยกระทรวงยุติธรรมและผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตั้งแต่วันที่ 23 มิ.ย. 2565 ให้สภาพิจารณาเป็นเรื่องเร่งด่วน หลังจากนั้นร่างกฎหมายก็ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภา ซึ่งมีการแก้ไขบางมาตราก่อนประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ 25 ต.ค. 2565

สำหรับมาตราที่ได้มีการขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป มีสาระสำคัญ ดังนี้

  • มาตรา 22 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่องในขณะจับ และควบคุมจนกระทั่งส่งตัวให้พนักงานสอบสวนหรือปล่อยตัวบุคคลดังกล่าว
  • มาตรา 23 การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รับผิดชอบต้องบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว
  • มาตรา 24 การเข้าถึงข้อมูลของผู้ถูกควบคุมตัว
  • มาตรา 25 การไม่เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ถูกควบคุมตัว กรณีอยู่ภายใต้การคุ้มครองของกฎหมาย ละเมิดต่อความเป็นส่วนตัว เกิดผลร้ายต่อบุคคล หรือเป็นอุปสรรคต่อการสืบสวนสอบสวน

ประกาศเป็นกฎหมายแล้วเหตุใดจึงมีอาจมีการชะลอบังคับใช้

เมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2566 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ. ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้ทำหนังสือถึง นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ว่ามีปัญหาขัดข้องในการเตรียมการปฏิบัติตาม พ.ร.บ. และได้ระบุอุปสรรคและข้อขัดข้องในการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายฉบับดังกล่าว

เหตุผลประการแรก คือ เรื่องงบประมาณ ผบ.ตร. อ้างในหนังสือว่า แม้ที่ผ่านมา ตร. ได้จัดซื้อกล้องบันทึกความเคลื่อนไหวให้กำลังพลในภารกิจอื่น แต่การรองรับการปฏิบัติงาน (Body Camera) ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว พบว่าปริมาณยังไม่เพียงพอ โดยจะต้องจัดซื้ออีก 171,808 ตัว กล้องติดรถยนต์ควบคุมผู้ถูกจับ 1,578 ตัว และกล้องติดสถานที่ควบคุมผู้ถูกจับ 6,244 ตัว โดยจะต้องใช้งบประมาณดำเนินการกว่า 3,473 ล้านบาท

เอกสารระบุด้วยว่า งบประมาณส่วนนี้ "ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายเกี่ยวข้องกับการจัดระบบเก็บข้อมูลอีกด้วย ซึ่งงบประมาณดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในแผนงบประมาณรายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2566 โดยจะต้องตั้งคำของบประมาณอย่างเร็วที่สุดคืองบประมาณปี พ.ศ. 2567

WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

นอกจากนี้ ยังมีเหตุด้านบุคลากร เจ้าหน้าที่ตำรวจยังขาดความรู้และทักษะในการใช้เทคโนโลยี และยังมีปัญหาข้อขัดข้องในการปฏิบัติงาน เนื่องจากความไม่ชัดเจนหรือคลุมเครือในบทกฎหมาย และแนวปฏิบัติ

หนังสือฉบับดังกล่าว ที่ถูกส่งไปยัง รมว.ยุติธรรม ก่อนกฎหมายมีผลบังคับใช้กว่า 1 เดือน มูลนิธิผสานวัฒนธรรมอ้างว่า ได้รับข้อมูลจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อได้ว่า บุคคลที่เกี่ยวข้องในรัฐบาล รวมทั้ง รมว. กระทรวงยุติธรรม ได้ให้การตอบรับคำขอของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแล้ว

นอกจากภาคประชาสังคมที่คัดค้านการชะลอบังคับใช้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และการคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา ได้ส่งจดหมายถึงกระทรวงยุติธรรมและนายกฯ ย้ำถึงความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายตามกำหนด ไม่ควรขยายเวลาบังคับใช้

ด้านสำนักงานอัยการสูงสุด ยังได้จัดทำแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายอย่างละเอียดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

จะมีผลอย่างไรหากเลื่อน

หาก พ.ร.บ. อุ้มหายฯ ถูกเลื่อนการบังคับใช้ออกไป ขั้นตอนต่อไปคือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม จะได้เสนอให้คณะรัฐมนตรีเพื่อตราพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้แทน

สัณหวรรณ ศรีสด นักกฎหมายจากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) กล่าวกับรายการเช้าทันโลก สถานีวิทยุ FM 96.5 ช่วงเช้าที่ผ่านมาว่า หากเป็นปัญหาเรื่องการคลัง การจัดซื้อจัดจ้างดังกรณีที่สำนักตำรวจแห่งชาติ ทำหนังสือต่อกระทรวงยุติธรรม เป็นปัญหาที่แก้ไขได้ โดยไม่จำเป็นต้องชะลอการบังคับใช้หมวดใดหมวดหนึ่งของ พ.ร.บ. ออกไป

"หมวด 3 ที่จะมีการชะลอมีกลไกสำคัญเยอะมาก นอกจากเรื่องประเด็นของการติดกล้อง (ของตำรวจ) มีทั้งประเด็นการบันทึกข้อมูล หรือการให้ศาลออกมาตรการชั่วคราวได้ มีมาตรการสำคัญหลายอย่างในนั้น น่าเสียดายถ้าจะถูกชะลอไป"

สัณหวรรณ ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกับมูลนิธิผสานวัฒนธรรมด้วยว่า หากกฎหมายถูกตราเป็นพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) เลื่อนหรือชะลอบังคับใช้ในสมัยประชุมสภา จะมีผลต่อการขยายเวลาการบังคับใช้ทันที และหากมีการยุบสภาผู้แทนราษฎร การเลื่อนหรือขยายเวลาบังคับใช้ก็จะถูกยืดไปจนกว่าจะมีสภาชุดใหม่มาพิจารณา

"กฎหมายที่ออกมาแล้ว ถ้าเกิดการเลื่อนจริง ๆ อาจจะต้องรอไปสภาชุดหน้า จะมีระยะสุญญากาศยาวนาน ส่วนตัวคิดว่ามาตราหลายมาตรา สามารถปฏิบัติตามได้ง่าย ไม่ได้สร้างภาระเกินควร ดังนั้น เราไม่จำเป็นต้องให้มีสุญญากาศ เพราะอยู่ในการทำงานอยู่แล้วของเจ้าหน้าที่" นักกฎหมายจากคณะกรรมการนักนิติศาสตร์สากล (ICJ) ระบุ

ทำไม พ.ร.บ. ฉบับนี้ จึงสำคัญกับคนทั่วไป

กรณีการอุ้มหายและซ้อมทรมานที่มีผู้กระทำเป็นเจ้าหน้าที่รัฐ เกิดขึ้นหลายกรณีในประเทศไทย แต่ใช่ว่า พ.ร.บ. ฉบับนี้จะเป็นเรื่องไกลตัวจากคนทั่วไป เนื่องจากมีกลไกกำหนดการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ เมื่อใช้อำนาจควบคุมตัวประชาชน

สัณหวรรณ นักกฎหมายจาก ICJ กล่าวด้วยว่า กฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายที่สำคัญกับคนทั่วไปอย่างมาก เพราะเป็นเรื่องระหว่างผู้มีอำนาจรัฐกับประชาชน ซึ่งหากเป็นทั่วไปจะเปราะบางเป็นพิเศษ

นักกฎหมายจาก ICJ ยกตัวอย่างสถานการณ์ เช่น เมื่อถูกคุมขัง ถูกควบคุมตัวที่เจ้าหน้าที่มีอำนาจ 100 เปอร์เซ็นต์ กฎหมายนี้จะทำให้ห้องขัง ห้องกักตัว สถานที่ควบคุมตัว ตลอดจนกระบวนการบังคับใช้กฎหมายโปร่งใสมากขึ้น เพราะมีกลไกต่าง ๆ เข้ามาคุ้มครอง รวมกลไกทางศาลที่สามารถฟ้องได้โดยตรง หากกังวลว่าจะตกเป็นเหยื่อของการซ้อมทรมาน

"ถ้ามีการจับกุมตัว มีการควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ต้องติดกล้องในสถานที่ควบคุมตัว ติดกล้องในรถรับส่ง รวมถึงต้องบันทึกข้อมูลละเอียดมากขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำที่ใช้อำนาจเกินส่วน" สัณหวรรณ กล่าวในรายการเช้าทันโลก

"สิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่พูดคุยกัน จะต้องมีการบันทึกไว้ในกล้อง การควบคุมตัว เจ้าหน้าที่ต้องมีบันทึกว่า คนที่ถูกควบคุมตัวมีลักษณะแบบไหนบ้าง"

นอกจากนี้ ใน พ.ร.บ. ยังกำหนดบทลงโทษ ผู้กระทำผิด ผู้บังคับบัญชา และผู้ที่ทราบว่าอาจจะเกิดเหตุ