มาตรา 112 : พ่นสัญลักษณ์บนกำแพงวัดพระแก้ว การรณรงค์ยกเลิกกฎหมายหมิ่นสถาบันฯ ที่ประชิดวังมากที่สุด

Thai News Pix / ไข่แมวชีส

ที่มาของภาพ, Thai News Pix / ไข่แมวชีส

การใช้สีสเปรย์ฉีดพ่นกำแพงวัดพระแก้วของพระบรมมหาราชวัง เป็นสัญลักษณ์ “ไม่เอา 112” หรือหมายถึงกฎหมายอาญามาตรา 112 และสัญลักษณ์อนาคิสต์ หรืออนาธิปไตย ของศิลปินแนวร่วมรณรงค์ยกเลิกกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ นับเป็นความเคลื่อนไหวที่เข้าใกล้ประชิดเขตพระราชฐานมากที่สุด นับตั้งแต่เริ่มมีการพูดถึงการยกเลิก 112 ในช่วงปี 2563 เป็นต้นมา

เมื่อวันที่ 28 มี.ค.ศิลปินชาย อายุ 25 ปี ที่เรียกตนเองว่า "บังเอิญ" ได้พ่นสีสเปรย์บนกำแพงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือวัดพระแก้ว ถนนหน้าพระลาน แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร เมื่อเวลาประมาณ 17.40 น. ก่อนถูกตำรวจในเครื่องแบบ 2 นาย ควบคุมตัวไปที่สถานีตำรวจนครบาลพระราชวัง

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยเมื่อคืนที่ผ่านมา (28 มี.ค.) ว่า ในเวลา 22.00 น. ตำรวจได้ทำบันทึกการจับกุม ระบุ 2 ข้อหา ได้แก่ ร่วมกันทำให้โบราณสถานเสียหาย ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) โบราณสถาน ตามมาตรา 32 และข้อหาความผิดจากการขีด เขียน พ่นสี กำแพง ที่ติดกับถนนหรืออยู่ในที่สาธารณะ ตาม พ.ร.บ. รักษาความสะอาดสะอาดฯ มาตรา 12 โดยไม่มีข้อหาความผิดข้อหาหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาทฯ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112

สำหรับความผิดของมาตรา 32 ตาม พ.ร.บ.โบราณสถานฯ ต้องระวางโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี ปรับไม่เกิน 7 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

เด็กหญิงถูกจับกุมด้วย

ในการจับกุมศิลปินรายดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจยังจับกุมตัว เด็กหญิงที่ชื่อว่า "หยก" ด.ญ. อายุ 14 ปี ผู้ถูกแจ้งความดำเนินคดีมาตรา 112 ที่อายุน้อยที่สุด ขณะที่เธอเดินทางไปที่ สน. พระราชวัง เพื่อติดตามกรณีจับกุมศิลปินพ่นกำแพง

สำนักข่าวประชาไทย รายงานว่า “เธอถูกตำรวจจับล็อกตัวเข้าห้องสืบสวนโดยไม่มีการแจ้งข้อหาใด ๆ" และมีการปะทะผลักดันกันระหว่างตำรวจและประชาชน จนมีบางส่วนได้รับบาดเจ็บ

Thai News Pix / ไข่แมวชีส

ที่มาของภาพ, Thai News Pix / ไข่แมวชีส

ศูนย์ทนายฯ ให้ข้อมูลในเวลาต่อมาว่าเด็กหญิงรายนี้ เพิ่งมีอายุครบ 15 ปี ไปเมื่อกลางเดือน ก.พ. เป็นเด็กหญิงที่ถูกออกหมายเรียกมาตรา 112 จากการเข้าแจ้งความร้องทุกข์ของนายอานนท์ กลิ่นแก้ว สมาชิกกลุ่มประชาชนที่เรียกตัวเองว่า "ศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.)" เมื่อเดือน ม.ค. ซึ่งมีข้อมูลว่าเป็นการแจ้งความกรณีการชุมนุมที่ลานเสาชิงช้า เมื่อเดือน ต.ค. 2565

ตำรวจนำตัว "หยก" ไปที่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ พื้นที่เจ้าของคดี ก่อนแจ้งข้อหา 3 ข้อหา ได้แก่ มาตรา 112, พ.ร.บ. ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง และความผิดตามมาตรา 368 ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเจ้าพนักงาน เหตุเกิดจากการไม่ยอมพิมพ์ลายนิ้วมือในบันทึกจับกุม-รับทราบข้อหา ทั้งหมดเป็นหมายจับกุมศาลเยาวชนและครอบครัว จากเหตุการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2565 ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย

ศูนย์ทนายฯ รายงานด้วยว่า ก่อนหน้านี้ ด.ญ. ได้รับหมายเรียกแล้ว แต่ได้ทำหนังสือขอเลื่อนการเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ไปเป็นวันที่ 9 เม.ย. ที่จะถึง และได้ส่งให้ตำรวจแล้ว ทว่าศาลก็ยังคงออกหมายจับ

ความคืบหน้าของคดีในวันที่ 29 มี.ค. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน รายงานในช่วงเย็นว่า "บังเอิญ" นักกิจกรรมชายพ่นสี ถูกแจ้งข้อหา 2 ข้อหา ได้แก่ พ.ร.บ. โบราณสถานฯ และ พ.ร.บ. ความสะอาดฯ และได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 50,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามกระทำการใดในลักษณะเดียวกันนี้อีก

ส่วนเด็กหญิง "หยก" ถูกศาลเยาวชนและครอบครัวกลางออกหมายควบคุมตัวไว้ในความดูแลของสถานพินิจฯ เป็นเวลา 1 ผัด ระยะเวลา 30 วัน ที่บ้านปราณี จ. นครปฐม จนกว่าพนักงานอัยการจะมีคำสั่งฟ้องในคดีนี้ หลังจากเด็กหญิง ยืนยันที่จะปฏิเสธกระบวนการยุติธรรมทุกอย่าง ปฏิเสธที่จะมีที่ปรึกษาทางกฎหมาย หรือทนายความ และไม่ขอเซ็นเอกสารใด ๆ รวมถึงการยื่นขอประกันตัว

เด็กหญิงหยก ยังขอให้ทนายแจ้งความกลับตำรวจ 8 นายที่จับกุม ฐานฐานลักทรัพย์ ข่มขืนใจ ทำร้ายร่างกาย ระหว่างเข้าทำการจับกุมด้วย

THAI NEWS PIX

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, พบการพ่นสีสเปย์เป็นข้อความเดียวกับที่พ่นกำแพงวัดพระแก้ว ที่บริเวณ แยก เฉลิมกรุง หน้ากองกำกับการตำรวจนครบาลภาค 6

รณรงค์ยกเลิก 112 ประชิดวัง

การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการพ่นสีสเปรย์ข้อความเกี่ยวกับกฎหมายหมิ่นสถาบันกษัตริย์ ครั้งนี้ นับเป็นการเข้าใกล้เขตพระบรมมหาราชวังมากที่สุดนับตั้งแต่เคยมีมา บีบีซีไทย ย้อนเหตุการณ์เชิงสัญลักษณ์ในอาณาบริเวณเขตพระราชฐาน

นี่เป็นกิจกรรมส่วนหนึ่งที่จัดขึ้นโดย "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ในการจัดชุมนุมใหญ่ "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และสนามหลวงเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2563

การชุมนุมต่อเนื่อง 2 วัน รวมระยะเวลาชุมนุมที่ลากยาว 24 ชั่วโมงเต็ม โดยเช้าวันที่ 20 ก.ย. การชุมนุมเริ่มต้นด้วยการประกอบพิธีกรรม "ฝังหมุดคณะราษฎรครั้งที่ 2" ก่อนที่จะประกาศเคลื่อนขบวนนำจดหมายเปิดผนึกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ไปยื่นที่ทำเนียบองคมนตรี

แต่ระหว่างการเคลื่อนออกจากสนามหลวงไปทางศาลหลักเมือง ขบวนได้ถูกตำรวจสกัดที่บริเวณศาลฎีกา ถ.ราชดำเนินใน ผู้ชุมนุมจึงได้เจรจากับตำรวจและยินยอมที่จะยื่นหนังสือผ่าน พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) โดยมี น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ เป็นตัวแทนยื่นจดหมาย ก่อนที่จะเคลื่อนขบวนกลับที่ชุมนุมบริเวณสนามหลวงและยุติการชุมนุมในเวลา 09.30 น.

กิจกรรมนี้เกิดขึ้นในการชุมนุมของกลุ่ม "ราษฎร" เมื่อวันที่ 8 พ.ย. 2563 แกนนำผู้จัดชุมนุมเชิญชวนให้ผู้ชุมนุมเขียนจดหมายหรือที่ผู้จัดการชุมนุมเรียกว่า "ราษฎรสาส์น" เพื่อส่งถึงพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยเริ่มนัดหมายชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เพื่อให้ผู้ร่วมชุมนุมแต่ละคนเขียนจดหมาย ก่อนเคลื่อนขบวนไปตามแนวถนนราชดำเนินกลาง และราชดำเนินใน มุ่งหน้าพระบรมมหาราชวัง โดยมีเป้าหมายอยู่ที่สำนักพระราชวัง

แต่การเคลื่อนขบวนกว่าจะถึงจุดที่เข้าใกล้พระบรมมหาราชวัง ถูกยับยั้งด้วยตำรวจควบคุมฝูงชนที่ฉีดน้ำแรงดันสูง เพื่อสกัดไม่ให้ขบวนเดินหน้า อย่างไรก็ตาม มีการต่อรองผลักดันแนวกั้นของตำรวจเป็นระยะ ๆ กระทั่งในที่สุดผู้ชุมนุมก็สามารถตั้งตู้ไปรษณีย์ที่บริเวณหน้าศาลหลักเมืองได้สำเร็จ และให้ผู้ร่วมชุมนุมทยอยนำจดหมายหย่อนลงตู้ไปรษณีย์จำลอง

น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล แกนนำ "ราษฎร" ในการชุมนุมวันนั้น บอกว่า ข้อความหลักที่ต้องการสื่อสารถึงสถาบันกษัตริย์ คือ ข้อเรียกร้องหลัก 3 ข้อ เรื่องการให้ พล.อ. ประยุทธ์ ลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ โดยย้ำว่าข้อเรียกร้องเรื่องการปฏิรูปสถาบันฯ ไม่ใช่การล้มล้าง ส่วนเหตุที่ต้องส่งจดหมายถึงกษัตริย์เพราะที่ผ่านมารัฐบาลไม่มีการตอบสนองต่อข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม

THAI NEWS PIX

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

คำบรรยายภาพ, น.ส. จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ จากกลุ่มเยาวชนปลดแอก นำจดหมายไปหย่อนในตู้ไปรษณีย์จำลอง
  • 21 มี.ค. 2564: ชุมนุม "รีเด็ม" ใช้สนามหลวงเป็นที่เล่นว่าว ก่อนจบที่แก๊สน้ำตาและกระสุนยาง

เล่นว่าว-เต้น-เล่นสเก็ต คือกิจกรรมหลักในการชุมนุมที่นัดหมายโดยกลุ่มที่ใช้ชื่อว่า "รีเด็ม" (REDEM - Restart Democracy) โดยใช้พื้นที่ของท้องสนามหลวง ซึ่งผู้ชุมนุมเรียกชื่อใหม่ว่า "สนามราษฎร์" เป็นสถานที่เล่นว่าวจุฬา ซึ่งศิลปินจากกลุ่ม "ศิลปะปลดแอก" (FreeArts) พ่นสีสเปรย์เป็นภาพใบหน้าของแกนนำกลุ่ม "ราษฎร" ที่ตกเป็นจำเลยคดี 112 และถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำ เพื่อสื่อสัญลักษณ์เรียกร้องให้ "ปล่อยเพื่อนเรา"

นอกจากนี้ ยังมีลานเต้น โดยกลุ่ม "ศิลปะปลดแอก" และ "คณะราษแดนซ์" ลานสเก็ต โดย "คณะราษเก๊ต"

ส่วนกิจกรรมสำคัญที่กลุ่มรีเด็มประกาศไว้คือการ "ส่งสาส์นเรียกร้องให้มีการจำกัดอำนาจกษัตริย์" ซึ่งมีการเปิดเผยรูปแบบไว้ก่อนหน้านี้ว่าจะ "พับจดหมายเป็นรูปเครื่องบินส่งข้ามรั้ววัง" แต่ยังไม่ทันได้ทำกิจกรรม ก็จำต้องถอยร่นออกจากพื้นที่ไปเสียก่อนเมื่อเกิดเหตุปะทะกับเจ้าหน้าที่

กิจกรรมเชิงวัฒนธรรมที่เริ่มตอนเย็น กลายเป็นเหตุจลาจลนานกว่า 5 ชั่วโมง หลังจากการ์ดและมวลชนบางส่วนเข้ารื้อตู้คอนเทนเนอร์ที่ตำรวจวางไว้เป็นแนวสกัดกั้นไม่ให้ผู้ชุมนุมเข้าใกล้สถานที่สำคัญรอบท้องสนามหลวง อาทิ ศาลหลักเมือง วัดพระแก้ว พระบรมมหาราชวัง พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ฯลฯ ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อกระชับพื้นที่

พรรคการเมืองว่าอย่างไร

หลังเหตุการณ์พ่นสีสเปรย์เกิดขึ้นในช่วงเย็น รายการดีเบตพรรคการเมือง "เลือกตั้ง 66 เปลี่ยนใหม่หรือไปต่อ ตอน ตัวตึง" ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง 3 เมื่อคืนที่ผ่านมา

น.ต. ศิธา ทิวารี พรรคไทยสร้างไทย: มองว่า เหตุเกิดขึ้นเพราะประเทศไทย ไม่มีพื้นที่ที่ให้คนกลุ่มนี้แสดงออก ไม่มีพื้นที่สำหรับคนที่ต้องการพูดด้วยหลักการและเหตุผล ดังนั้น ต้องเปิดพื้นที่พูดคุย เพราะหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ ในอีก 20-30 ปี ข้างหน้าจะเกิดอะไรขึ้นก็ไม่ทราบได้ หากมีพื้นที่พูดคุยวันนี้ จะทำให้สถาบันกษัตริย์ยั่งยืนต่อไป

ธนกร วังบุญคงชนะ พรรครวมไทยสร้างชาติ: มองว่าเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม เพราะเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ส่วนมาตรา 112 คิดว่าวันนี้สถาบันกษัตริย์อยู่เหนือการเมือง และสร้างคุณูปการให้กับประเทศไทยอย่างมาก มาตรา 112 ไม่ควรไปแตะหรือไม่เกี่ยว และเห็นว่ามีไว้เพื่อปกป้องพระมหากษัตริย์ "เพราะท่านคงไม่สามารถตอบโต้ใครได้" ขณะเดียวกันมองว่า คนไทยส่วนใหญ่ในประเทศไม่ได้เดือดร้อนเรื่องนี้

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร พรรคก้าวไกล: พื้นที่สภาควรเป็นพื้นที่ที่พูดคุยเรื่องความเห็นแตกต่าง ในประเด็นมาตรา 112 อย่างสร้างสรรค์ มีวุฒิภาวะ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้รับการตอบรับจากสภา ทั้งเรื่องญัตติขบวนเสด็จ ส่วนเหตุการณ์นี้ การกระทำความผิด เรื่องรับผิดทางอาญาต้องดำเนินการอย่างได้สัดส่วน มีสิทธิในการต่อสู่คดีและประกันตัว และต้องพูดถึงกรณีหมุดคณะราษฎร และอนุสาวรีย์ปราบกบฏที่หายไปด้วย

ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ พลังประชารัฐ: คดี 112 เป็นคดีอาญาไม่ใช่คดีการเมือง ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง เหตุที่ระบุว่าเป็นการเมือง เพราะมีบางพรรคนำเรื่องนี้ไปหาเสียง กระทรวงดีอีเอสที่ตนเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวง ไม่ได้ไปจับทุกคดี และมองว่าการเปลี่ยนประเทศอย่างที่บางพรรคคิด ไม่ใช่เรื่องดี

ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พรรคเพื่อไทย: กฎหมายมาตรานี้มีปัญหา ทั้งเนื้อหาสาระเรื่องหลักนิติธรรมและการบังคับใช้ ถูกใช้เป็นเครื่องมือกล่าวหาว่า ประชาชนบางกลุ่มคิดร้ายต่อสถาบันกษัตริย์ เช่น กรณีที่ถูกโยงในผังล้มเจ้า อย่างไรก็ตาม นายณัฐวุฒิ สรุปว่าทางพรรคเพื่อไทย ไม่ได้เสนอแก้ไข แต่ให้ปรับปรุงการบังคับใช้ไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง