น้ำท่วม : กทม.เตือน 7 เขต เตรียมขนย้ายสิ่งของ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อไม่ซ้ำรอยปี 2554

คนขึ้นเรือในน้ำท่วม

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน จ.ชัยภูมิ

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่าจะไม่เกิดเหตุน้ำท่วมใหญ่ในกรุงเทพมหานครเช่นเดียวกับในปี 2554 เนื่องจากเขื่อนขนาดใหญ่มีปริมาณน้ำไม่ถึงครึ่ง และอัตราการระบายน้ำยังอยู่ที่ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ต่างจาก 10 ปีก่อน ที่มีอัตราการระบายน้ำสูงสุดที่ 3,700-3,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ต้องระวังพายุ 2 ลูกที่คาดว่าจะพัดเข้ามาในช่วงเดือนหน้า

วันนี้ (30 ต.ค.) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เดินทางไปตรวจสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา โดยขึ้นเรือตรวจการณ์จากเทศบาลนครปากเกร็ด จ.นนทบุรี และจอดแวะที่ท่าเรือพิบูลย์สงคราม 4 เพื่อมอบถุงยังชีพให้ประชาชน หลังจากเมื่อวานนี้ได้ไปเยี่ยมผู้ประสบภัยน้ำท่วมใน จ.ชัยภูมิ โดยมีผู้สนับสนุนร้องขอโครงการ "คนละครึ่ง" นาน ๆ และบางส่วนตะโกนขับไล่

ประชาชนในหลายจังหวัดทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางเผชิญกับน้ำท่วม เนื่องจากพายุเตี้ยนหมู่ที่ทำให้เกิดฝนตกหนักมานานเกือบ 1 สัปดาห์แล้ว บางจังหวัดในภาคอีสาน เช่น ชัยภูมิมีรายงานว่า "น้ำท่วมครั้งนี้หนักที่สุดในรอบ 50 ปี" ทำให้ประชาชนในพื้นที่ที่เคยประสบอุทกภัยในปี 2554 กังวลว่าจะเกิดภัยพิบัติซ้ำรอยหรือไม่ สถานการณ์น้ำท่วมในปีนี้ต่างจากปี 2554 อย่างไรและเสี่ยงแค่ไหนที่กรุงเทพมหานครจะจมอยู่ใต้บาดาลอีกครั้ง

ล่าสุดวันนี้ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ออกมาเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อย และคลองมหาสวัสดิ์ให้เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอให้ประชาชนในพื้นที่ 7 เขต ได้แก่ ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และคลองสาน เตรียมขนย้ายสิ่งของให้อยู่ในที่สูงแล้ว

ลุ้นพายุ 2 ลูก

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ อาสาฬห์ สุวรรณฤทธิ์ คณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวกับเดอะ โมเมนตัม ถึงความกังวลต่อสถานการณ์น้ำของคนกรุงเทพมหานครว่า ตัวชี้วัดที่จะบอกว่า กทม. จะน้ำท่วมหรือไม่ มีอยู่ด้วยกัน 3 เรื่อง ได้แก่

1. ปริมาณน้ำฝนในพื้นที่

2. ปริมาณน้ำหลากจากภาคกลางตอนบน

3. น้ำทะเลหนุน

ทั้งนี้ ปัจจุบันปริมาณน้ำฝนยังอยู่ในเกณฑ์ใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ ปริมาณน้ำหลากยังไม่ได้มีมากเท่าปี 2554 และน้ำทะเลหนุนก็ยังไม่ใช่จังหวะที่จะสร้างผลกระทบรุนแรง

น้ำท่วมในจังหวัดชัยภูมิ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พื้นที่น้ำท่วมใน อ.เมือง จ. ชัยภูมิ

เว็บไซต์สนุกรายงานโดยอ้างคำให้สัมภาษณ์ของนายสมควร ต้นจาน ผอ.ส่วนพยากรณ์อากาศกลาง กองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ว่า สถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ กำลังจะคลี่คลายลงเรื่อย ๆ เพราะฝนซาลงแล้ว และจะมีฝนอีกครั้งประมาณวันที่ 4-5 ต.ค.2564 ช่วงนี้จึงมีเวลาบริหารจัดการน้ำได้ ขณะนี้พายุดีเปรสชัน "เตี้ยนหมู่" อ่อนกำลังลง กลายเป็นหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง หลังจากนี้จะมีฝนเพิ่ม แต่ไม่เยอะ ส่วนใหญ่จะเกิดผลกระทบกับภาคใต้ ตอนบนของประเทศจะไม่มีฝนแล้ว สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้ จึงไม่รุนแรงเท่าปี 2554

"ปีนี้พายุเข้ามาน้อยมาก เพิ่งเข้า 1 ลูก เป็นลูกที่เกินคาดการณ์ เพราะคาดว่าจะถูกอากาศเย็นเบียดและอ่อนกำลังไป แต่กลับมีความแรงขึ้นขณะเข้าใกล้ฝั่ง ก่อนเข้าฤดูฝนไม่มีฝนเลย เพิ่งจะเริ่มมีฝน เดือน ก.ค.ถึงปัจจุบัน แตกต่างจากปี 2554 ที่ปีนั้นมีฝนตกตั้งแต่ต้นปี และมีมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีพายุเข้ามาประมาณ 5 ลูก ซึ่งเกิดผลกระทบหนัก 2 ลูก ส่งผลให้มีน้ำปริมาณมากและกระทบหลายจังหวัด" เว็บไซต์สนุกรายงานคำพูดของผอ.ส่วนพยากรณ์อากาศกลาง

ด้าน รศ.ดร. เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ ม.รังสิต เปิดเผยกับ workpointTODAY ว่า คาดว่าพายุจะมาประมาณ 2 ลูก ในช่วงเดือน ซึ่งส่วนตัวเขาเชื่อเพียง 50% ว่าจะเกิดขึ้น แต่ในการบริหารความเสี่ยงนั้น ต้องประเมินสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด ดังนั้นถ้าพายุเข้ามา 2 ลูก จะทำให้อัตราการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นจากประมาณ 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีไปถึงระดับ 3,000-4,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีหรือไม่

"ถ้าเมื่อไหร่เขาแตะถึง 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที นั่นหมายความว่า เท่ากับปี 54 แล้ว" ดร. เสรี กล่าว

น้ำท่วมบริเวณหน้าสถานีตำรวจ จ.ชัยภูมิ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เฟซบุ๊กของมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ได้โพสต์ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญหลายคนรวมถึง ดร.ณัฐ มาแจ้ง แห่งภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งระบุว่า ขณะนี้น้ำที่ไหลลงมามีอัตราเกือบ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนใหญ่จะระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลงแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายน้ำ

"ทุกคนรู้ว่าคอขวดการไหลอยู่ที่อยุธยาซึ่งรับน้ำได้ประมาณ 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หลายคนจะบอกว่าน้ำลงมา 2,500 อยุธยารับได้ 1,200 อย่างนี้ท่วมแน่ ๆ แต่ไม่ได้เป็นเช่นนั้น แม่น้ำเจ้าพระยาท้ายเขื่อนชัยนาท จะมีคลองลพบุรีและคลองบางแก้วรับน้ำออกทางฝั่งซ้าย และมีคลองโผงเผงและคลองบางบาลรับน้ำออกทางฝั่งขวา รวมความสามารถ 818 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่ด้วยสภาพพื้นที่ลุ่มต่ำแถว ๆ บางบาล ทำให้มีน้ำท่วมขังเปรียบเสมือนแก้มลิงธรรมชาติก่อนที่จะไหลลงมาที่อยุธยา และน้ำจากคลองต่าง ๆ เหล่านี้รวมกับแม่น้ำป่าสักจะไหลลงมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณด้านใต้ของอยุธยา ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่บางไทรลงมา จะสามารถรับน้ำได้ถึง 3,500 ลบ.ม./วินาที"

เขื่อนใหญ่ยังรองรับน้ำไม่ถึงครึ่ง

ด้านกลุ่ม Care คิด เคลื่อน ไทย ได้พูดคุยกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ทางคลับเฮาส์เมื่อ 28 ก.ย. โดยเขาได้แสดงความห่วงใยถึงประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม และได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในปัจจุบันว่า เขื่อนขนาดใหญ่ยังรองรับน้ำได้ไม่ถึงครึ่ง ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมในกรุงเทพมหานครจึงแทบเป็นศูนย์

"ปี 54 เนี่ย ตอนที่มีพายุมาเนี่ย น้ำในเขื่อนภูมิพลเนี่ยอยู่ที่ 91% ในเขื่อนสิริกิติ์อยู่ที่ 99% คือน้ำเต็มเขื่อนว่างั้นเถอะ แต่ปัจจุบันน้ำในเขื่อนภูมิพลมีแค่ 45% ในเขื่อนสิริกิติ์มีอยู่ 43% แล้วความเร็วของน้ำขณะนี้ที่ไหลมาเนี่ยยัง 1,850 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที แต่สมัยที่นายกฯ ปูอยู่นั้น ปี 54 เนี่ย มันไหลอยู่ที่ 3,860 ลูกบากศก์เมตรต่อวินาที เพราะฉะนั้น โอกาสที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯ เนี่ย แทบจะศูนย์" นายทักษิณ กล่าวทางคลับเฮาส์

น้ำไหลออกจากท่อ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ขณะนี้น้ำที่ไหลลงมามีอัตราเกือบ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ส่วนใหญ่จะระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาลงแม่น้ำเจ้าพระยาด้านท้ายน้ำ

สอดคล้องกับความเห็นของดร.สุทัศ วีสกุล ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ หรือ สสน. ซึ่งมูลนิธิสภาเตือนภัยพิบัติแห่งชาติได้โพสต์ทางเฟซบุ๊กว่า "เห็นว่า ณ เวลานี้เมื่อ 54 เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ มีน้ำเต็มความจุ 22,000 ล้าน.ลบ.ม. แต่ขณะนี้มีปริมาณน้ำอยู่ประมาณครึ่งเดียว หากมีพายุเข้ามาทั้ง 2 เขื่อนยังดักน้ำได้อีกมาก แม่น้ำเจ้าพระยาก็ยังอยู่ในระดับต่ำ และมีการสร้างคันกั้นน้ำให้สูงขึ้น คิดว่าปีนี้ จะไม่เกิดน้ำท่วมกทม. เหมือนปี 54 แน่นอน"

เว็บไซต์สนุก อ้างคำกล่าวของ นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน ฝ่ายบำรุงรักษา ว่า สถานการณ์น้ำท่วมขณะนี้มีโอกาสน้อยมากที่จะเหมือนปี 2554 เพราะมีปัจจัยแตกต่างกัน ข้อมูลจากกรมอุตุฯ ก็ระบุว่ากลางเดือน ต.ค.2564 จะสิ้นสุดฤดูฝน ไม่มีฝนแล้ว

"ส่วนน้ำในเขื่อนหลัก จนถึงตอนนี้ยังมีพื้นที่รับน้ำได้อีก 10,000 ล้านลูกบาศก์เมตร ขณะที่การระบายน้ำเขื่อนเจ้าพระยา ล่าสุดระบายน้ำที่ 2,500 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งน้อยกว่าปี 2554 ที่ระบายมากสุด 3,700 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที มีโอกาสน้อยมากที่น้ำท่วมจะเหมือนปี 54 อยากให้ประชาชนสบายใจ"

เส้นทางมวลน้ำปัจจุบันไม่เข้า กทม.

ด้านสถานีโทรทัศน์ทีเอ็นเอ็นรายงาน โดยอ้างผู้เชี่ยวชาญว่า นอกจากเขื่อนขนาดใหญ่ที่ใช้รองรับน้ำแล้ว ยังมีทุ่งรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระอีก 12 แห่ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการรองรับน้ำ และปกติจะใช้รองรับน้ำในช่วงเดือน ต.ค. ซึ่งแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับน้ำสูงสุด

นอกจากนี้ ทีเอ็นเอ็น ได้รายงานเส้นทางของมวลน้ำที่ท่วมอยู่ใน 4 พื้นที่ขณะนี้ว่า น้ำที่ท่วมอยู่ใน จ.ชัยภูมิ จะไหลลงแม่น้ำชี ส่วนน้ำที่ท่วมใน จ.นครราชสีมา จะไหลลงสู่แม่น้ำมูล ซึ่งแม่น้ำสองสายนี้จะไปบรรจบกันที่ อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี ก่อนที่จะไหลลงสู่แม่น้ำโขง มวลน้ำส่วนนี้จะไม่ได้ไหลมายังพื้นที่ภาคกลาง

คนในพื้นที่น้ำท่วม

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ตัวเมืองจังหวัดชัยภูมิเช้าวันนี้ (29 ก.ย.) ระดับน้ำหลายจุดลดลงจนรถยนต์และรถจักรยานยนต์สามารถผ่านได้ ขณะที่บริเวณโดยรอบศาลาว่าการจังหวัดชัยภูมิยังคงมีน้ำท่วมขังสูงระดับหน้าอก

ส่วนน้ำท่วมที่ อ.ลำสนธิ จ.ลพบุรี ซึ่งรับน้ำมาจาก อ.เทพสถิต จ.ชัยภูมิ และจ.เพชรบูรณ์ จะไหลลงไปที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ซึ่ง ณ วันที่ 27 ก.ย. มีน้ำอยู่ที่ 73% ของความจุเขื่อน ทำให้สามารถรองรับน้ำได้อีก 255 ล้านลูกบาศก์เมตร

ส่วนมวลน้ำในพื้นที่ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี มีทุ่งลพบุรีคอยรับน้ำ และมวลน้ำที่ อ.ไพศาลี จ.นครสวรรค์ จะถูกระบายลงบึงบอระเพ็ด อ.เมือง จ.นครสวรรค์ ซึ่งเชื่อว่า จะรองรับน้ำได้ทั้งหมด

ขณะที่ปริมาณน้ำใน จ.สุโขทัย จะใช้ทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก ในการรองรับน้ำ ทีเอ็นเอ็นรายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญคาดว่า จะรองรับมวลน้ำก้อนนี้ได้ทั้งหมด เพราะไม่มีน้ำจากแม่น้ำยมลงมาเติมมากนัก

ด้าน ผศ. อาสาฬห์กล่าวกับ เดอะ โมเมนตัม ว่า ความเสี่ยงของปี 2564 ไม่ใช่ปัจจัยทางธรรมชาติเรื่องน้ำอย่างเดียว ยังมีปัจจัยเรื่องของการใช้ประโยชน์ที่ดิน การปรับเปลี่ยนผังเมืองควบคู่ไปกับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งถือเป็นตัวแปรสำคัญ เนื่องจาก 10 ปีที่ผ่านมา การพัฒนาเมืองขยายตัวเพิ่มขึ้น มีการพัฒนาแถบชานเมือง เห็นได้ชัดในโซนปทุมธานี กิ่งแก้ว บางใหญ่ ทำให้พื้นที่รองรับน้ำได้เองตามธรรมชาติ เช่น ทุ่งหญ้า หนองน้ำ เกษตรกรรม หายไป พื้นที่ชานเมืองที่มีการพัฒนาตัดถนน พื้นที่พัฒนาเมือง หมู่บ้านจัดสรร เสี่ยงน้ำท่วมขังง่ายขึ้น นานขึ้น เสี่ยงที่น้ำจะท่วมขังเพราะน้ำไม่มีทางไหลไปไหน

กระสอบทรายกั้นหน้าประตู

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ชาวบ้านชุมชนริมน้ำ ต.ศาลาแดงเหนือ อ.สามโคก จ.ปทุมธานี ใช้ชีวิตร่วมกับน้ำ หลังจากแม่น้ำเจ้าพระยามีระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นจนเอ่อล้นเข้าท่วมไปภายในบ้านพักอาศัย โดยชาวบ้านส่วนใหญ่ได้ย้ายข้าวของเครื่องใช้จากใต้ถุนบ้านไปในส่วนที่ปลอดภัยเรียบร้อย

นายกฯ เยี่ยมพื้นที่ประสบภัย จ.ชัยภูมิ

เมื่อวันที่ 29 ก.ย. พล.อ.ประยุทธ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจน้ำท่วมใน จ.ชัยภูมิ โดยกล่าวถึงปริมาณน้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยาว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นของการระบายน้ำ 2,600 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งหากมีพายุเข้ามาเพิ่มเติม ก็จะต้องระบายไปยังพื้นที่ด้านข้างก่อนที่จะปล่อยไปในเส้นทางอยุธยา

"วันนี้ทางกรมชลประทานทำไปเยอะทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าปัญหามันเกิดขึ้นทั้งโลก ในวันนี้พวกเราทราบดีไม่ใช่เฉพาะไทยโลกมีปัญหาแล้วเขาแจ้งเตือนแล้วใช่หรือไม่ ที่ใช้ทรัพยากรโลกสิ้นเปลืองเผาป่าไม้ ใช้พลังงานต่าง ๆ นี่คือโลกกำลังแจ้งเตือนเราโดยบอกว่ารังแกฉันต่อไปไม่ได้แล้วฉะนั้นรัฐบาลก็ต้องแก้ทุกปัญหา"

พล.อ.ประยุทธ์ มอบของให้ผู้ประสบภัย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยคณะรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมพื้นที่ประสบอุทกภัยและเยี่ยมผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ อ.เมืองชัยภูมิ จ.ชัยภูมิ โดยติดตามสถานการณ์น้ำในเขตเศรษฐกิจ อ.เมืองชัยภูมิ และเยี่ยมผู้ประสบภัยที่ตลาดคลองพุดซา เทศบาลนคร 4
พล.อ.ประยุทธ์ ยืนอยู่บนรถ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นรถบรรทุกขนาดใหญ่เพื่อไปเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์และมอบสิ่งของจำเป็นที่ โรงพยาบาลชัยภูมิ

ผู้สื่อข่าวถามว่าปริมาณน้ำจะมีปริมาณน้อยกว่าปี 2554 แน่นอนหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า "จะใช้คำว่าแน่นอนไม่แน่นอนเพราะผมก็ถามฟ้าไม่ได้ว่ามันแน่หรือเปล่าสถานการณ์ของโลกต้องดูตรงนั้น ว่าเป็นไปได้หรือไม่ได้เราควบคุมไม่ได้เราจะอยู่กับเขาได้อย่างไรเท่านั้นเราต้องปรับตัวต้องเปลี่ยนแปลงหรือเปล่าผมโทษใครไม่ได้นี่คือประเทศไทยก็ต้องแก้ปัญหาไปเรื่อย ๆ อะไรที่แก้ได้ก็แก้ "

ทั้งนี้ ระหว่างการลงพื้นที่ มีประชาชนที่ไม่พอใจการบริหารของนายกรัฐมนตรี ถือป้ายข้อความพร้อมตะโกนขับไล่นายกรัฐมนตรีให้ออกจากตำแหน่ง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจนอกเครื่องแบบกั้นพื้นที่ให้อยู่ฝั่งตรงข้ามจุดที่นายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ ส่วนคนอีกกลุ่มขอ "คนละครึ่ง" นาน ๆ

ข้าม Twitter โพสต์ , 1
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Twitter

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Twitter เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Twitter และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Twitter ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

สิ้นสุด Twitter โพสต์, 1

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยจากอิทธิพลพายุ "เตี้ยนหมู่" ระหว่าง 23 - 28 ก.ย. ว่า ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เกิดอุทกภัยใน 30 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร เลย ขอนแก่น ชัยภูมิ ยโสธร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ อุบลราชธานี ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี นครสวรรค์ อุทัยธานี ชัยนาท ลพบุรี สุพรรณบุรี สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา และนครปฐม ประชาชนได้รับผลกระทบ 197,795 ครัวเรือน มีผู้เสียชีวิต 7 ราย สูญหาย 1 ราย

นายกฯ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายกฯ โบกมือให้ประชาชนใน จ. นนทบุรี ขณะออกตรวจเยี่ยมความเสียหาย 30 ก.ย.

"ปีนี้ไม่ถึงหรอก"

เมื่อเวลา 14.15 น. วันที่ 30 ก.ย. ที่เทศบาลนครปากเกร็ด จ.นนทบุรี พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นเรือตรวจการณ์ เพื่อตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมรับฟังการบรรยายสรุปสถานการณ์น้ำและการก่อสร้างแนวกำแพงป้องกันน้ำท่วม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ยอมรับว่ามีความกังวลและห่วงสถานการณ์น้ำในขณะนี้ เพราะประเทศไทยอยู่ในฤดูมรสุมและมีพายุเตี้ยนหมู่เข้ามา ขณะเดียวกันต้องติดตามสถานการณ์โลกด้วยว่าจะเตรียมการรับความพร้อมตรงนี้อย่างไร ซึ่งธรรมชาติเป็นสิ่งที่เราห้ามไม่ได้ แต่สิ่งที่ย้ำเสมอว่าวันนี้โลกร้องเตือนมาแล้วให้เราดูแลถ้าไม่ดูแลก็จะเกิดวิกฤตการณ์ ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้งหรืออุทกภัย สิ่งสำคัญที่สุดคนไทยต้องเตรียมตัวเตรียมความพร้อมว่าจะอยู่กับธรรมชาติยุคนี้ได้อย่างไร ดังนั้นตัวเองต้องเตรียมการไว้ก่อน ขณะที่รัฐบาลก็พร้อมดูแล

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ตอนนี้เป็นห่วงพื้นที่ภาคกลางและโดยเฉพาะพื้นที่นอกคันกั้นน้ำ แต่ได้รับคำชี้แจงจากกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าได้มีการระบายน้ำตัดยอดน้ำที่มาจากภาคเหนือตอนล่างนำออกสู่ทะเลให้เร็วขึ้น แต่ช่วงนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย จึงขอให้ติดตามกรมอุตุนิยมวิทยา ทั้งนี้คิดว่าระบบที่เราเตรียมความพร้อมมาหลายปีที่ผ่านมามีความพร้อม แต่อาจยังไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ จึงต้องเร่งดำเนินการให้เร็วขึ้น สิ่งสำคัญที่สุดการทำโครงการต่างๆต้องผ่านประชามติและผ่านความเห็นชอบของประชาชน ถ้าไม่ผ่านทำไม่ได้ติดปัญหาที่ประชาชนยังไม่เห็นชอบร่วมกัน เพราะอาจมีคนเดือดร้อนหรือไม่เดือดร้อน ขอเพียงความร่วมมือ เพราะนายกฯ บังคับใครไม่ได้ ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย

นายกฯ กล่าวว่า ทั้งนี้ในหลวงรัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสั่งเสมอและในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงห่วง และรับสั่งกับตนเสมอเวลาเข้าเฝ้าฯ ว่าต้องดูแลประชาชนให้มีความสุขและให้ปลอดภัย ให้ประเทศชาติยั่งยืนและเดินไปข้างหน้าให้มีเสถียรภาพ ดังนั้นเราจำเป็นต้องนำเรื่องเหล่านี้มาปฏิบัติ ให้เกิดผลสัมฤทธิ์ขึ้นมาให้ได้

ระหว่างการเยี่ยมประชาชนใน จ. นนทบุรี นายกฯ กล่าวว่าขอส่ง "ความรักความห่วงใยนายกฯ ลอยไปกับอากาศให้คนทั้งประเทศ ใครจะว่าอย่างไรก็ช่าง" พร้อมเอามือตบที่หน้าอก จากนั้นมีชาวบ้านบอกว่า ปี 54 น้ำท่วมสูงถึงคอ นายกฯ จึงกล่าวว่า "ปีนี้ไม่ถึงหรอก เราพยายามทำเต็มที่และเราทำเพิ่มเติมมามากจากช่วงนั้น"