ไวรัสโคโรนา : คนไทยติดค้างในอิตาลีร้องกลับประเทศ ส่วนทูตไทยบอกผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ "อย่าวิตกจนเกินไป"

The Palazzo Marino building is seen iluminated with the colours of the Italian flag as the spread of coronavirus disease

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, ยอดผู้เสียชีวิตในอิตาลีเกิน 3,400 คนแล้ว

อิตาลีคือศูนย์กลางการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในยุโรป มียอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงต่อเนื่องรวม 3,405 คน ยอดผู้ติดเชื้อเกิน 41,000 คน ณ วันที่ 20 มี.ค.

ข่าวที่เผยแพร่ทางสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดีย แสดงถึงสภาพวิกฤต จากการที่ทรัพยากรด้านสาธารณสุขไม่เพียงพอรับมือกับโรคโควิด-19 ทำให้อิตาลีประกาศปิดประเทศ

มาตรการนี้ส่งผลกระทบต่อนักเดินทางรวมทั้งคนไทยที่ไม่ได้เป็นผู้พำนักถาวรในอิตาลีราว 65 คน ที่จนถึงขณะนี้ยังไม่สามารถเดินทางออกจากอิตาลีได้ แม้รัฐบาลจะมอบหมายให้การบินไทย นำเครื่องบินพาณิชย์ไปรับคนไทยเดินทางกลับในเที่ยวบินสุดท้ายเมื่อวันที่ 15 มีนาคมแล้วก็ตาม

ตัวแทนสมาคมคนไทยในอิตาลีรวบรวมรายชื่อคนไทยทั้ง 65 คน และส่งตัวแทนเข้าพบอธิบดีกรมการกงสุลเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่ได้รับแจ้งว่าให้ประสานงานกับสถานทูตไทยในอิตาลี ซึ่งจนถึงขณะนี้คนไทยกลุ่มดังกล่าวยังไม่ได้เดินทางกลับ

คนไทยในอิตาลีออกแถลงการณ์

ล่าสุดกลุ่มคนไทยในอิตาลี 7 กลุ่ม ออกแถลงการณ์ 2 ฉบับถึงเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงโรม ขอให้ประสานกับกองทัพอากาศจัดเครื่องบินไปรับคนไทยที่ตกค้างกลับประเทศ และขอให้ประสานงานกับสายการบินไทยที่ยังบินจากประเทศใกล้เคียง เช่น จากนครซูริค แวะรับคนกลุ่มนี้กลับประเทศ

ผู้แทนกลุ่มคนไทยในอิตาลีบอกบีบีซีไทยว่าสถานทูตไทยแจ้งว่าผู้ที่ต้องการเดินทางกลับจะต้องปฏิบัติตามประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยที่กำหนดให้ต้องมีใบรับรองแพทย์ว่ามีสุขภาพเหมาะสมต่อการเดินทางและมีใบรับรองจากสถานทูต ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ลำบากในสถานการณ์ปัจจุบันที่แพทย์ในอิตาลีมีไม่เพียงพอ

Thai soldiers take the temperatures of arriving passengers at Phuket International Airport

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, แม้ยอดผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 ในไทยจะเพิ่มมากขึ้น แต่ยังมีคนไทยในต่างประเทศจำนวนหนึ่งต้องการเดินทางกลับ

ทูตว่าอย่าวิตก

บีบีซีไทยพยายามติดต่อกับสถานทูตไทยในกรุงโรมทางเบอร์โทรศัพท์ที่เผยแพร่บนหน้าเว็บไซต์ของสถานทูต เพื่อสอบถามเรื่องนี้แต่ไม่สามารถติดต่อได้ อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 19 มี.ค. นายเชิดชู รักตะบุตร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงโรม ประเทศอิตาลี พูดผ่านเฟซบุ๊กไลฟ์ว่าผู้ที่ต้องการเดินทางกลับ ต้องทำตามประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนและอย่าวิตกกับการระบาดของโรคโควิด-19 มากจนเกินไป

"เชื้อโรคมันไม่ได้มีแขนขา จะกระโดดเกาะคอเราได้ง่าย ๆ ขอให้ทำตามคำแนะนำด้านสาธารณสุขของอิตาลีอย่างเคร่งครัด ผมเชื่อว่าทุกคนจะปลอดภัย อีกไม่นานหมดโรคภัยครั้งนี้แล้วอิตาลีก็จะกลับเป็นดินแดนที่มีความสุขอีกครั้งหนึ่ง"

ข้อความของเอกอัครราชทูตไทยยังเน้นสื่อถึงคนไทยที่มีครอบครัวอยู่ในอิตาลีโดยเรียกร้องให้คนไทยต่อสู้ไปพร้อมกับครอบครัวคนอิตาลีที่เคยผ่านพ้นทั้งสงครามและโรคระบาดมาแล้ว

"โรคระบาดคราวนี้อีกไม่นานก็หมดนะครับ เราดูในจีนกำลังจะหมดไป เกาหลี ญี่ปุ่นกำลังดีขึ้น อีกไม่นานทางนี้ก็เช่นเดียวกัน ผมขอเน้นว่าอย่าหวาดวิตก อย่าเสียกำลังใจ สำหรับทีมประเทศไทย ขอให้มั่นใจว่าเราไม่ทิ้งกัน เราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"

ทหารฉีดยาฆ่าเชื้อ

ที่มาของภาพ, AFP PHOTO / ROYAL THAI ARMY

คำบรรยายภาพ, กองทัพส่งทหารออกฉีดยาฆ่าเชื้อบนถนนในกรุงเทพฯ

ยอดผู้เสียชีวิตวันเดียว 627 คน

หลังการไลฟ์สดของเอกอัครราชทูตไทยประจำอิตาลีเพียงไม่ถึง 24 ชั่วโมง ทางการอิตาลีรายงานยอดผู้เสียชีวิตจากโรคโควิด-19 เฉพาะวันที่ 20 มี.ค. อยู่ที่ 627 คน

ขณะที่ผู้แทนกลุ่มคนไทยในอิตาลีบอกบีบีซีไทยว่ารู้สึกผิดหวังกับท่าทีของสถานทูตไทยที่ไม่เข้าใจปัญหาที่แท้จริง เพราะคนไทยที่ต้องการเดินทางกลับทั้ง 65 คน ส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทยที่มีครอบครัวหรือปักหลักใช้ชีวิตในอิตาลีซึ่งมีประมาณ 7,000 คน และไม่ได้ต้องการเดินทางกลับ

"คนที่อยากกลับคือนักท่องเที่ยว นักศึกษา หรือคนที่เดินทางมาเยี่ยมครอบครัว ในจำนวนนี้มีผู้ที่วีซ่ากำลังจะหมดอายุ บางคนเงินกำลังจะหมด ต้องไปแอบนอนในร้านนวดที่อยู่ในโซนแดง (โซนที่มีการระบาดของโรค) ในมิลาน ซึ่งผิดกฎหมาย เวลาจะพูดหรือคุยโทรศัพท์ต้องแอบคุยเบา ๆ ไม่อย่างนั้นคนด้านนอกจะได้ยิน"

A man wearing a face mask (R) stands by the coffin of his mother as a priest reads prayers during a funeral service

ที่มาของภาพ, AFP

คำบรรยายภาพ, พิธีศพในอิตาลี

"เราขอใช้สิทธิกลับประเทศไทยในยามวิกฤต เราอยู่ในเหตุการณ์โรคระบาดที่อนามัยโลกประกาศว่าเป็นการระบาดทั่วแล้ว แล้วคนไทยที่ตกค้างในต่างประเทศควรได้สิทธิ ที่ผ่านมามีการนำนักเรียนทุนเอเอฟเอส (มูลนิธิการศึกษาและวัฒนธรรมสัมพันธ์ไทย-นานาชาติ) 83 คนกลับไป และได้รับการต้อนรับอย่างเป็นระบบ เราอยากให้คนไทยกลุ่มนี้ได้รับการคุ้มครองแบบนี้เหมือนกัน"

ขัดรัฐธรรมนูญ ?

ประกาศของสำนักงานการบินพลเรือนที่กำหนดให้ต้องมีใบรับรองแพทย์ว่ามีสุขภาพเหมาะสมกับการเดินทางนั้นยังส่งผลต่อคนไทยในสหราชอาณาจักรจำนวนหนึ่งที่ต้องการเดินทางกลับประเทศเช่นกัน และล่าสุดมีผู้เรียกร้องให้ทบทวนมาตรการนี้

นายชีวิน มัลลิกะมาลย์ นักศึกษาปริญญาเอกด้านกฎหมาย อายุ 39 ปี จาก University of Strathclyde เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ตั้งข้อสังเกตว่าประกาศดังกล่าวอาจขัดรัฐธรรมนูญและอาจส่งผลให้มีผู้นำเรื่องไปฟ้องร้องศาลปกครอง

Tower of London

ที่มาของภาพ, Reuters

คำบรรยายภาพ, สถานที่ท่องเที่ยวในกรุงลอนดอน รวมทั้งทาวเวอร์ออฟลอนดอนปิดบริการ

"อาจจะมีคนไปฟ้องศาลปกครอง เพราะว่าประกาศนี้มันแปลก ๆ อยู่ว่าใช้อำนาจอะไรในการสั่งการ...รัฐธรรมนูญระบุว่า การห้ามคนไทยกลับประเทศจะทำไม่ได้ ดังนั้นเมื่อประกาศฉบับนี้กำหนดเงื่อนไขว่าจะต้องมีเอกสารเพื่อเข้าประเทศ จึงไปขัดต่อหลักการในรัฐธรรมนูญนั่นเอง"

นายชีวินเห็นว่าประกาศดังกล่าวออกมาโดยไม่เป็นธรรมเพราะผู้ที่ต้องการเดินทางไม่มีเวลาเตรียมตัวพอในสถานการณ์ที่แพทย์ของรัฐในสหราชอาณาจักรกำลังคร่ำเคร่งกับการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ส่วนการขอใบรับรองแพทย์จากเอกชนก็มีค่าใช้จ่ายราว 2,000 บาท

"แต่คำถาม คือ มันจำเป็นต้องทำแบบนั้นมั้ย เพราะ Fit to Fly แค่ตรวจร่างกายทั่วไป" [ไม่ใช่การตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา ซึ่งผู้ป่วยบางรายไม่แสดงอาการ]

นายชีวินเสนอทางออกให้กับรัฐบาลว่า "ไม่ต้องยกเลิกก็ได้แต่ผ่อนปรนไป 2 อาทิตย์ ให้คนมีเวลาหายใจ บอกสักอาทิตย์หนึ่งหรือ 2 อาทิตยก็ยังดี ไม่ใช่มาบอก 2 วันล่วงหน้าแบบนี้"

"ศูนย์กักดีกว่าใบรัรอง"

นักศึกษาแพทย์ไทยรายหนึ่งในลอนดอนซึ่งไม่ประสงค์ออกนาม กล่าวกับบีบีซีไทยว่า ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นที่หน้าสถานทูตไทยในกรุงลอนดอนเมื่อ 19 มี.ค. นั้นมาจากการทำงานที่ขาดการประสานงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จนภาระไปตกหนักอยู่ที่สถานทูตที่ต้องระดมอาสาสมัครแพทย์ไทยมาช่วยตรวจร่างกาย ขณะเดียวกันจำนวนผู้มารับบริการจำนวนมากก็ตกอยู่ในความเสี่ยงที่ต้องมารับเชื้อจากการยืนริมถนนใกล้ชิดกันมาก

"ประเด็นสำคัญคือ รัฐบาลต้องมีศูนย์กัก รับคนไทยขึ้นเครื่องมาด้วยกันทีเดียว แล้วกักตัวทีเดียว ไม่ใช่การมาตรวจร่างกาย แม้หมอบอกว่า Fit to Fly ผู้โดยสารคนนั้น ก็อาจมีโควิด-19 แต่ไม่แสดงอาการ แล้วเขาจะไปแพร่เชื้อให้ผู้โดยสารอื่นบนเครื่องได้"