คอร์รัปชัน : อันดับความโปร่งใสไทยปี 2562 ร่วงทั้งระดับโลกและอาเซียน

วันต่อต้านคอรัปชันสากลไทย

ที่มาของภาพ, สำนักโฆษก สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี

องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (Transparency International - TI) เผยแพร่ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในภาครัฐทั่วโลก (Corruption Perception Index - CPI) ประจำปี 2019/2562 นับเป็นครั้งที่ 25 ผลปรากฏว่าประเทศไทยได้ 36 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงจากปี 2561 แต่ในส่วนของเป็นอันดับที่ปรับตัวลดลงเป็นลำดับที่ 101 จากอันดับ 99 เมื่อปีที่แล้ว หลังจากลำดับลดลงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559

TI ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ระบุว่า ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันที่เผยแพร่ออกมาล่าสุดนี้ โดยภาพรวมในปี 2562 มีหลายประเทศมีพัฒนาการในด้านการต่อต้านการคอร์รัปชันเพียงเล็กน้อยและบางประเทศถือว่าไม่มีพัฒนาการเลย

นอกจากนี้ในรายงานฉบับนี้ยังระบุอีกว่า เมื่อปีที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวต่อต้านการคอร์รัปชันทั่วโลกและมีคนหลายล้านคนออกมาพูดถึงการต่อต้านคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในรัฐบาลของพวกเขา

ในขณะที่คอร์รัปชันที่เกิดขึ้นในบุคคลระดับสูงในรัฐบาลรวมไปจนถึงการติดสินบนเล็กน้อย ที่เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงบริการสาธารณะพื้นฐาน เช่น การรักษาสุขภาพและการศึกษา ทำให้ประชาชนจำต้องทนอยู่กับผู้นำหรือองค์กรคอร์รัปชัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดความสิ้นหวังในสังคมต่อความเชื่อมั่นในรัฐบาลและเป็นตัวการกร่อนทำลายความเชื่อมั่นของสังคมต่อผู้นำทางการเมือง เจ้าหน้าที่ที่ได้รับการเลือกตั้ง รวมถึงระบอบประชาธิปไตย

อันดับคะแนนและลำดับของไทยในปี 2562

ที่มาของภาพ, Transparancy International

ดัชนีภาพลักษณ์การคอร์รัปชันในภาครัฐทั่วโลกในปีที่แล้วชี้ว่า 2 ใน 3 ของประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ทำคะแนนได้ไม่ถึง 50 คะแนน ซึ่งไทยก็เป็นหนึ่งในนั้นโดยทำคะแนนได้ 36 คะแนน เท่ากับปีก่อนหน้า ขณะที่คะแนนเฉลี่ยอยู่ที่ 43

เวียดนามแซงไทย

เมื่อพิจารณาคะแนนและอันดับในกลุ่มประเทศในอาเซียนพบว่า แม้ว่าคะแนนของไทยจะเท่าเดิม แต่อันดับของไทยกลับลดลง เนื่องจากเวียดนามสามารถทำคะแนนได้ดีกว่าที่ 37 คะแนน จาก 100 ทำให้ไต่มาที่อันดับที่ 98 ของโลก และอันดับที่ 5 ในอาเซียน แทนตำแหน่งไทยเมื่อปี 2561

ต่อต้านการก่อการร้าย

ที่มาของภาพ, Getty Images

ประเทศที่อยู่ในอันดับต้น ๆ ของ CPI ได้แก่ เดนมาร์ก นิวซีแลนด์ โดยทำคะแนนได้ 87 ตามมาด้วย ฟินแลนด์ ที่มีคะแนน 86 สิงคโปร์ สวีเดน และ สวิตเซอร์แลนด์ ทำคะแนนได้ประเทศละ 85

ส่วนประเทศรั้งท้ายได้แก่ เวเนซูเอลา เยเมน ซีเรีย เซาท์ซูดาน และโซมาเลีย ทำคะแนนได้ 16, 15, 13, 12 และ 9 ตามลำดับ

ภาคประชาชน-ธุรกิจตื่นตัว แต่สถานการณ์ยังย่ำแย่

ดร.มานะ นิมิตรมงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) โพสต์บนเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงเมื่อวานนี้ (23 ม.ค.) ว่า สถานการณ์คอร์รัปชันไทยในแง่ความตื่นตัวของภาคเอกชนและภาคธุรกิจและมาตราการต่าง ๆ มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่ว่าคอร์รัปชันยังเป็นปัญหาวิกฤติ โดยเขาได้อธิบายเหตุผลในเรื่องนี้ว่า

"คอร์รัปชันจะลดลงเมื่อข้าราชการทำตามกติกาและไม่ยอมให้ใครทำผิด ขณะที่ภาคประชาชนต้องสามารถติดตาม ตรวจสอบ แสดงความเห็นได้โดยไม่ต้องกลัวใคร เพราะได้รับการปกป้องตามรัฐธรรมนูญ"

แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่ามีหลายเรื่องที่ทำให้ประชาชนผิดหวัง เช่น บ่อยครั้งที่กลไกภาครัฐไม่โปร่งใสตรงไปตรงมา มีการใช้อำนาจและกฎหมายแบบสองมาตรฐาน มีการแทรกแซงการบริหารราชการและองค์กรอิสระแบบทีใครทีมัน การตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายตุลาการและองค์กรอิสระยังไม่ปรากฏ อภิสิทธิ์ชนและพวกพ้องตกเป็นข่าวมัวหมองครั้งแล้วครั้งเล่า

เขายังอ้างอีกว่า คนมีอำนาจชอบพูดคำว่าโปร่งใส แต่ไม่ชอบเปิดเผยข้อมูล อ้างแต่ว่าเป็นเรื่องความลับของทางราชการหรือสิทธิส่วนบุคคล แม้แต่เอกชนที่มาประมูลงานหรือขอสัมปทานยังไปช่วยปกปิดให้เขาโดยอ้างว่าเป็นความลับทางการค้า

การที่มีนโยบายมีมาตรการ แต่กลไกรัฐไม่เดิน เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทำไม่รู้ไม่ชี้หรือเฉไฉไป คนมีอำนาจสั่งการก็ไม่กำกับดูแลให้งานเดิน เมื่อไม่มีการปฏิบัติจริงจังก็ไม่มีอะไรสกัดกั้นคนโกงหรือทำให้ลดลงได้ และยัง ส่งผลให้คะแนนอันดับคอร์รัปชันโลก (CPI) ของไทยไม่กระเตื้องขึ้นเลย