รำลึกอดีตวิทยุบีบีซีไทย ออกอากาศครั้งแรกเมื่อ 27 เม.ย. 2484

ไมค์บีบีซี

ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2484 อันเป็นช่วงเวลาการถือกำเนิดของบีบีซีภาคภาษาไทย ขณะนั้นโลกกำลังตกอยู่ในภาวะสงครามขนาดใหญ่ที่สุดที่มีจุดเริ่มต้นจากใจกลางยุโรปแล้วลุกลามออกไปทั่วโลก

สถานีวิทยุบีบีซีของอังกฤษได้เริ่มออกอากาศภาษาต่างประเทศ จากภาษาอาหรับเป็นอันดับแรก แล้วขยายตัวออกไปอีกหลายภาษาโดยเฉพาะภาษาของประเทศในยุโรปที่รบพุ่งกัน

แต่ความวิตกว่าภูมิภาคของโลกทางซีกเอเชียตะวันออกคงหลีกไม่พ้นภาวะสงครามที่ขยายวง ทำให้บีบีซีเริ่มเปิดบริการภาคภาษาฮินดูสถาน (ซึ่งต่อมาเรียกว่าแผนกภาษาฮินดีและอูร์ดู) ขึ้นเป็นอันดับแรก จากนั้นก็เปิดแผนกภาษาพม่าและแผนกภาษาไทยเป็นอันดับสาม

ลุงอเล็คและสองเสนาะที่เคมบริดจ์

ทีมงานบีบีซีแผนกภาษาไทยในอดีต
คำบรรยายภาพ, ทีมงานบีบีซีแผนกภาษาไทยในอดีต

เช่นเดียวกันกับการกระจายเสียงภาษาต่างประเทศทั้งหลาย บีบีซีต้องหาบุคคลจากชาตินั้น ๆ มาเป็นผู้ประกาศ นายอเล็ค อดัมส์ เจ้าหน้าที่กระทรวงการต่างประเทศอังกฤษในยุคนั้น เล่าว่า ตนถูกขอตัวให้ไปช่วยราชการที่กระทรวงข่าวสารและได้รับมอบหมายให้เข้ามาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องนี้ เนื่องจากเคยทำหน้าที่ในแผนกกงสุลประจำอยู่ในประเทศไทย มีความคุ้นเคยกับคนไทยและมีความรู้ภาษาไทยบ้าง

หลังจากที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการหาผู้ประกาศชาวไทยมาทำงานให้แก่บีบีซี นาย อเล็ค อดัมส์ จึงไปขอคำปรึกษากับพระมนูเวทย์วิมลนาถ ทูตไทยประจำอังกฤษในขณะนั้นซึ่งได้รับความเห็นชอบแต่มีเงื่อนไขว่าเนื้อหาในการออกอากาศจะต้องรักษาความเป็นกลางอย่างเคร่งครัดและจะต้องไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง

นักเรียนไทยสองคนที่นายอเล็ค อดัมส์ไปติดต่อให้มาทำงานเป็นผู้ประกาศก็คือนายเสนาะ ตันบุญยืน ซึ่งกำลังศึกษาอยู่ที่วิทยาลัยตรีนิตี้ และนายเสนาะ นิลกำแหง ที่วิทยาลัยควีนส์ในมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ บุคคลทั้งสองได้ตอบรับมาทำงานให้แก่บีบีซี

ทีมงานบีบีซีแผนกภาษาไทย

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ทีมงานบีบีซีแผนกภาษาไทยในอดีต

หลังจากการเตรียมการและฝึกซ้อมจนถึงวันที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2484 จึงได้มีการออกอากาศภาษาไทยจากกรุงลอนดอนเป็นครั้งแรก โดยใช้ห้องส่งที่อยู่ชั้นใต้ดินของอาคาร Broadcasting House ซึ่งตั้งอยู่ที่ Langham Palace การออกอากาศครั้งแรกนี้มีนายอเล็ค อดัมส์เป็นผู้ดูแลและนายเสนาะ ตันบุญยืน เป็นผู้ออกอากาศคนแรก

รูปแบบของรายการแรก ๆ นั้นก็มีลักษณะคล้าย 'จดหมายจากอังกฤษ' การออกอากาศเริ่มตั้งแต่เวลา 13.30 น. ถึง 13.45 น. ตามเวลาในประเทศอังกฤษ ซึ่งตรงกับเวลาค่ำในประเทศไทย ในช่วงแรกนั้น ภาคภาษาไทยออกอากาศเพียงสัปดาห์ครั้งทุกวันอาทิตย์ โดยผลัดกันออกอากาศระหว่างเสนาะทั้งสอง

บีบีซีไทยในภาวะสงคราม

อาจารย์เสนาะ ตันบุญยืน เคยเล่าจากความทรงจำไว้ว่าในการออกอากาศครั้งแรกเมื่อ 60 ปีก่อนนั้น แตกต่างจากยุคสมัยนี้โดยสิ้นเชิงทั้งเนื้อหาและกระบวนการ กล่าวคือรายการที่จะออกอากาศนั้นมีข้อบังคับว่าจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง จึงต้องเขียนขึ้นมาก่อนเป็นภาษาไทย แล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษให้กระทรวงต่างประเทศตรวจสอบก่อนเนื่องจากประเทศอังกฤษกำลังอยู่ในภาวะสงคราม และมิใช่การออกอากาศสด จะต้องอัดเสียงกันล่วงหน้า ลงแผ่นเสียงที่ทำด้วยสารคล้ายขี้ผึ้งที่ห้องอัดเสียงใต้ดินตึก Broadcasting House ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่นาซีเยอรมันต้องการทิ้งระเบิด นักเรียนไทยสองคนจากเคมบริดจ์ต้องเสี่ยงอันตรายผลัดกันเดินทางเข้าลอนดอนในขณะที่นาซีเยอรมันโจมตีทางอากาศ

คำบรรยายวิดีโอ, สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จเยือนสำนักงานบีบีซีเวิลด์เซอร์วิส

เมื่อภาวะสงครามระเบิดขึ้นทางเอเชียบูรพาหลังจากที่ญี่ปุ่นยกกำลังเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 นายเสนาะ นิลกำแหง ได้ขอแยกตัวไปร่วมกับขบวนการเสรีไทย ขณะนั้นบีบีซีมีผู้ร่วมงานเพิ่มขึ้นอีกหลายคน และเนื่องจากรัฐบาลไทยภายใต้แกนนำของหลวงพิบูลสงครามได้ประกาศสงครามกับอังกฤษและอเมริกา (เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2485) ทำให้คนไทยมีสถานภาพตกเป็นชนชาติศัตรู

ทางวิทยุบีบีซีจึงมีจดหมายถึงกระทรวงต่างประเทศอังกฤษเมื่อวันที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2485 ขอยกเว้นผู้ประกาศของสถานีวิทยุบีบีซีแผนกภาษาไทย 4 คน มิให้ถูกจับกุมในฐานะชนชาติศัตรู นั่นคือหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ สวัสดิวัฒน์ หรือท่านชิ้น (พระเชษฐาของสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว) หม่อมราชวงศ์สมัครสมาน กฤดากร อดีตราชเลขาส่วนพระองค์ในรัชกาลที่ 7 นายเสนาะ ตันบุญยืน และ นายวิวรรธน์ ณ ป้อมเพชร นักศึกษาไทยในขณะนั้น

ในเวลานั้น บีบีซีแผนกภาษาไทยก็ขยายเวลาออกอากาศรับกับภาวะสงครามให้เป็นการกระจายเสียงทุกวัน

บีบีซีรายงานการเสด็จเยือนอังกฤษ

เจ้าหน้าที่บีบีซีแผนกภาษาไทยในอดีตเข้าเฝ้า ในหลวง ร.9
คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่บีบีซีแผนกภาษาไทยในอดีตเข้าเฝ้า ในหลวง ร.9

ตั้งแต่เปิดบริการการกระจายเสียงแผนกภาษาไทยเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2484 ตามลำดับมา บีบีซีก็มีการปรับปรุงพัฒนารายการกระจายเสียงทั้งขยายเวลาออกอากาศและมีการเปลี่ยนชื่อจากแผนกภาษาไทยเป็นแผนกภาษาสยามในช่วงระหว่างปี พ.ศ. 2489 จนถึงปี พ.ศ. 2492 จึงหวนกลับไปใช้ชื่อแผนกภาษาไทยอีกครั้งหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม การกระจายเสียงของแผนกภาษาไทยต้องยุติไปเมื่อวันที่ 5 มีนาคม พ.ศ. 2503 เนื่องจากเหตุผลทางด้านงบประมาณเพราะเกิดภาวะฝืดเคืองทางเศรษฐกิจในยุโรป กระทรวงต่างประเทศอังกฤษซึ่งพยายามประหยัด จึงยุติการกระจายเสียงของแผนกภาษาไทยตามข้อแนะนำของสถานทูตอังกฤษขณะนั้น

ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี
คำบรรยายภาพ, หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เคยร่วมจัดทำรายการกับบีบีซีไทยด้วย

แม้ว่าแผนกภาษาไทยได้หยุดรายการกระจายเสียงไปแล้ว แต่เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงมีหมายกำหนดการเสด็จเยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการในเดือนกรกฎาคมปีนั้น บีบีซีแผนกภาษาไทยก็เริ่มการออกอากาศเป็นกรณีพิเศษทุกวัน ๆ ละ 15 นาที เพื่อรายงานการเสด็จเยือนอังกฤษอย่างเป็นทางการระหว่างวันที่ 18 ถึง 23 กรกฎาคมในปีนั้น

ในการนี้ บีบีซีได้ว่าจ้างนักเรียนไทยในอังกฤษในขณะนั้น คือนายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ มาจัดทำรายการชั่วคราวร่วมกับนายเกรียงศักดิ์ ศิริมงคล โดยมีหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช มาร่วมด้วย

ส.ศิวรักษ์

ที่มาของภาพ, BBC THAI/WASAWAT LUKHARANG

หลังจากนั้นก็มีเสียงเรียกร้องจากหลายฝ่าย บีบีซีแผนกภาษาไทยจึงได้เริ่มออกกระจายเสียงเป็นประจำทุกวันอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2505 เป็นต้นมา เป็นรายการกระจายเสียงวันละครึ่งชั่วโมง กับมีการเปิดรายการกระจายเสียงภาคดึกตามมา เพื่อรายงานหัวข้อข่าวสำคัญรอบโลกและรายงานภาวะตลาดการค้า ตลาดหุ้น ให้สอดคล้องและสนองตอบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทย

การกระจายเสียงภาคดึกได้ยกเลิกไปหลังจากสงครามอ่าวเปอร์เซียสิ้นสุดแล้วหลายปีเพื่อนำงบประมาณไปให้แก่การกระจายเสียงภาคเช้าแทน

ปิดวิทยุบีบีซีไทยอีกครั้ง

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2005 บีบีซีภาคบริการโลกได้ประกาศปรับองค์กรครั้งใหญ่โดยยุบบริการวิทยุแผนกภาษาต่าง ๆ 10 ภาษา ส่วนใหญ่ในยุโรปตะวันออก 8 ภาษา ที่เหลืออีกสองภาษาคือ ภาษาคาซัคและภาษาไทย

สำหรับเหตุผลการปิดภาคภาษาไทยนั้น เป็นเพราะมีผู้ฟังจำนวนไม่มาก เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้เงินทุนในด้านอื่น จึงต้องยุบภาคภาษาไทย

เฟซบุ๊กบีบีซีไทย

อย่างไรก็ดี หลังเกิดเหตุรัฐประหารในเดือน พ.ค. 2557ซึ่งคณะรัฐประหารได้กำหนดการตรวจสอบสื่อในประเทศอย่างเข้มงวด บีบีซีไทยได้กลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งเมื่อวันที่ 10 ก.ค.2557 โดยนำเสนอผ่านเฟซบุ๊กของบีบีซีไทย มีเป้าหมายนำเสนอข่าวและข้อมูลที่เชื่อถือได้ไปยังประชาชนในประเทศไทย และต่างประเทศ

สองปีครึ่งหลังการก่อตั้ง เฟซบุ๊กของบีบีซีไทย มียอดไลค์ 1.65 ล้านคน (ณ พฤศจิกายน 2559) มีผู้อ่านแสดงความเห็นมากกว่า 1.3 ล้านครั้งต่อเดือน บีบีซีจึงเปิดตัวเว็บไซต์ใหม่ bbcthai.com เป็นอีกช่องทางในการนำเสนอเนื้อหาข่าวและรายงานต่าง ๆ จนถึงปัจจุบัน