อภิปรายไม่ไว้วางใจ : อนุพงษ์รอดซักฟอก หลังหมดเวลาอภิปราย รัฐบาลเสนอปิดประชุมทันที

สภาผู้แทนราษฎร

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, วันพรุ่งนี้ (28 ก.พ.) ประธานนัดสมาชิกมาลงมติไว้วางใจ/ไม่ไววางใจ ในเวลา 09.30 น.

การประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ยุติลงในเวลา 19.14 น. หลังสภามีมติเอกฉันท์ 251 ต่อ 0 งดออกเสียง 7 ไม่ลงคะแนน 2 ให้ปิดการประชุม

มตินี้เกิดขึ้นหลังรัฐบาลกับฝ่ายค้านไม่อาจตกลงร่วมกันได้ว่าจะดำเนินการอย่างไรกับผู้อภิปรายของฝ่ายค้านที่ยังเหลืออยู่ 4 คน แบ่งเป็น ส.ส. อดีตพรรคอนาคตใหม่ 3 คน และพรรคเพื่อไทย (พท.) 1 คน เนื่องจากหมดเวลาในการใช้สิทธิอภิปรายตามข้อตกลงระหว่างวิป 2 ฝ่ายแล้ว แต่ยังเหลือรัฐมนตรีอีกคนคือ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ที่ยังไม่ถูกอภิปรายเลย

นายสุทิน คลังแสง ประธานกรรมการประสานงานพรรคร่วมฝ่ายค้าน (วิปฝ่ายค้าน) ซึ่งต้องทำหน้าที่สรุปญัตติการอภิปรายไม่ไว้วางใจฯ กล่าวว่า การอภิปรายรัฐมนตรียังไม่ครบ จึงไม่อาจสรุปได้ และการลงคะแนนจะไม่เป็นธรรม ทว่าวิปรัฐบาล เสนอให้ปิดการอภิปรายและชี้ว่าเป็นเรื่องที่ผู้อภิปรายไม่ใช้สิทธิเอง ซึ่งเคยมีกรณีนี้ในสภามาแล้ว สภาก็นัดลงมติรุ่งขึ้น

ระหว่างนั้น นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พท. เสนอสวนขึ้นมาว่าฝ่ายค้านจะอภิปรายต่อและเตรียมเสนอชื่อผู้อภิปราย แต่นายวีระกร คำประกอบ ส.ส.นครสวรรค์ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เสนอปิดประชุมทันที ทำให้ ส.ส. พท. ระบุว่า "ขอให้บันทึกเอาไว้ว่าสภาใช้เสียงข้างมากปิดปากฝ่ายค้าน"

คำพูดดังกล่าวของฝ่ายค้านสร้างความไม่พอใจให้แก่นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภา ปฏิบัติหน้าที่ประธาน ที่กล่าวว่า "ปิดปากหรือครับ 4 วัน 4 คืนแล้วนี่ (เสียงโห่จากสมาชิกส่วนหนี่ง) แต่นายจุลพันธ์ยังพูดต่อไปว่า "ท่านขาดความเป็นกลางนะครับ ถ้าจะพูดมาแบบนี้ ลงมาปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเลยดีกว่า"

ที่สุดแล้วประธานได้สั่งตรวจสอบองค์ประชุม ก่อนขอมติว่าจะปิดประชุมหรือไม่ โดยที่ ส.ส. ฝ่ายค้านได้ทยอยเดินออกจากที่กดบัตรแสดงตนไปอยู่ข้างหลังห้องหรือวอล์กเอาต์ เหลือแต่ ส.ส. รัฐบาลที่ร่วมลงมติเอกฉันท์ให้ปิดการประชุม

วันพรุ่งนี้ (28 ก.พ.) ประธานนัดสมาชิกมาลงมติไว้วางใจ/ไม่ไววางใจ ในเวลา 09.30 น.

ศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พรรคเพื่อไทย

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ เป็นผู้ใช้เวลาอภิปรายไม่ไว้วางใจนานที่สุดกว่า 3 ชม.

เพื่อไทยถูกตอกกลับหลังซัด รบ ฮุบที่ดินโรงงานยาสูบเอื้อ "เจ้าสัว" แต่วิษณุแจงน้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินไปแล้ว

ก่อนหน้านี้ เวทีซักฟอกได้กลายสภาพเป็นเวทีที่รัฐบาลใช้ "อภิปรายกลับฝ่ายค้าน" หลังพรรคเพื่อไทย (พท.) ส่ง ส.ส. ที่ถูกเพื่อนร่วมพรรคขนานนามว่า "รถถังเบรกแตก" ขึ้นซักฟอกรัฐมนตรี 3 คนรวดในสารพัดประเด็นและให้เวลาไม่จำกัด ก่อนมาพลาดท่าเพราะเจอมือกฎหมายรัฐบาลงัดข้อมูลคนละชุดขึ้นมาตอกกลับ

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หนึ่งในรัฐมนตรีที่ถูกซักฟอก กล่าวว่า ผู้อภิปรายหลุดคำพูดไม่ดีบางคำ อาจไม่ตั้งใจ หรือไม่รู้ แต่ไม่สวยงามเลยที่บอกว่าที่ดินข้างสวนเอื้อประโยชน์ให้เป็นที่ดินเจ้าสัว

"ทั้งหมดกำหนดโดยสำนักพระราชวัง เชื่อว่าท่านอาจไม่ทราบ ไม่ได้ตั้งใจ และควรไม่มีใครไปถือสาหาความกับส่วนนี้" นายวิษณุกล่าว

การลุกขึ้นชี้แจงของนายวิษณุเกิดขึ้นหลังจากนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ พท. ตั้งข้อสังเกตเรื่องการแปรรูปโรงงานยาสูบของรัฐบาล แล้วให้เอกชนเข้ามาร่วมตั้งบริษัทเพื่อใช้ประโยชน์ในทรัพย์สินของยาสูบ รวมถึงการต่อสัญญาเช่าศูนย์ประชมแห่งชาติสิริกิติ์ 50 ปีว่า "ถือเป็นการเอื้อเจ้าสัว" และ "เป็นแผนฮุบที่ดินที่เอื้อกันสุด ๆ" เพราะเมื่อมีการต่อสัญญาแล้ว ก็มีการแก้ผังเมืองบริเวณดังกล่าวให้สามารถสร้างตึกสูงได้กว่าที่กำหนดไว้เดิม

"ทำไมรัฐบาลชุดนี้ถึงใจดีช่วยเจ้าสัวมากขนาดนี้ เปิดทางให้เจ้าสัวสามารถยึดที่โรงงานยาสูบได้" นายศรัณย์วุฒิตั้งคำถาม

วิษณุ เครืองาม

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, "ทั้งหมดกำหนดโดยสำนักพระราชวัง เชื่อว่าท่านอาจไม่ทราบ ไม่ได้ตั้งใจ และควรไม่มีใครไปถือสาหาความกับส่วนนี้" นายวิษณุกล่าว

เป็นผลให้นายวิษณุได้เปิดชี้แจงเป็นฉาก ๆ ว่า ที่ดินที่ถูกอภิปรายถึงมีจำนวน 580 ไร่ แบ่งเป็น 4 โซน ประกอบด้วย โซน A ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 53 ไร่, โซน B ข้างหลังศูนย์ประชุมและโรงพยาบาล 77 ไร่, โซน c สวนน้ำริมรัชดา 130 ไร่ และโซน D โรงงานหลังสวนน้ำ 320 ไร่ ต่อมารัฐบาลนายอานันท์ ปันยารชุน ได้น้อมเกล้าฯ ถวายที่ดินแปลง D และ C ให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง แต่ก็ไม่ได้บอกว่าถวายไปทำอะไร ก่อนได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานชื่อเป็นทางการว่าสวนเบญจกิติ

หลังจากนั้นรัฐบาลนายชวน หลีกภัย เกรงว่าหากถวายแล้วจะมีใครเล่นแร่แปรธาตุ จึงมีมติให้สร้างสวนน้ำในโซน C ใครจะยกให้เจ้าสัวแม้แต่เสี้ยวเดียวก็ไม่ได้ ส่วนโซน D รัฐบาลต่อมาก็ให้ทำเป็นสวนป่าคือปลูกต้นไม้ให้เต็มไปหมด จะไปยกให้ใครแม้แต่วาเดียวก็ไม่ได้ แต่โซน D มีโรงงานยาสูบตั้งอยู่หลายโรงงานจึงไม่สามารถทำสวนป่าได้ทันทีระหว่างรอหาที่ตั้งโรงงานยาสูบใหม่ ซึ่งทยอยย้ายไปนิคมโรจนะ จ.พระนครศรีอยุธยา ภายในเดือน พ.ค. 2563 เพื่อจะได้น้อมเกล้าฯ ถวายในเดือน ส.ค. 2564

ขณะที่วิษณุสวนกลับไม่เคยแทรกแซงองค์กรรัฐเอื้อฟิลลิป มอร์ริส

ส.ส.ในสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, สภาผู้แทนราษฎรต้องพักการประชุมชั่วคราวเป็นเวลา 20 นาทีนับจากเวลา 18.02 ที่ผ่านมา เพื่อให้รัฐบาลกับฝ่ายค้านตกลงกัน

อีกประเด็นที่นายศรัณย์วุฒิอภิปรายกล่าวหานายวิษณุคือ การก้าวก่ายแทรกแซงองค์กรของรัฐเพื่อช่วยเหลือบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ไทยแลนด์) ลิมิเต็ด หรือ PMTL ในคดีนำเข้าบุหรี่หลีกเลี่ยงภาษีศุลกากรและสำแดงเท็จ ด้วยการแก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ศุลกากร เพื่อลดค่าปรับ จาก 84,000 ล้านบาท เหลือเพียง 1,224 ล้านบาท รวมทั้งยัง "ตั้งใจล้มคดี" ด้วยการจ้าง "ทนายขอแรง" แค่ 5 ล้านบาทต่อสู้คดีในองค์การการค้าโลก (WTO) โดยรองนายกฯ ได้ชี้แจงไว้ ดังนี้

  • ไทยแพ้คดีใน WTO มาแล้ว 4 ครั้ง กำลังอุทธรณ์ไปที่องค์กรที่ 5 ซึ่งเป็นองค์กรขั้นสุดท้ายจบแล้วจบเลย แต่ขณะนี้องค์คณะยังไม่ครบ
  • รัฐบาลฟิลิปปินส์จะยื่นมาตรการตอบโต้ทางการค้าไทยต่อ WTO ในวันที่ 28 ก.พ. โดยสินค้าตัวแรกที่จะโดนก็คือรถยนต์ แสดงว่าเขาฟังการอภิปรายไม่ไว้วางใจเราด้วย
  • ศาลไทยสั่งปรับ PMTL 1,225 ล้านบาท ขณะนี้กำลังอุทธรณ์ ซึ่ง พ.ร.บ.ศุลกากรฉบับใหม่ระบุว่าคดีในศาลไทยมีสินบนนำจับจากค่าปรับ 30% หรือคิดเป็นเงิน 367.7 ล้านบาทที่ต้องจ่ายให้พลเมืองดีที่เป็นผู้ชี้ช่อง แต่ถ้าใช้กฎหมายเก่า ศาลต้องปรับ 84,000 ล้านบาท คิดเป็นสินบนของพลเมืองดี 24,000 ล้านบาท

"ผมไม่ได้ไปก้าวก่ายแทรกแซงจุ้นจ้าน ตามรัฐธรรมนูญบอกว่าเป็นการแทรกแซงก้าวก่ายโดยมิชอบ ถ้าท่านจะหาว่าผมแทรกแซงก้าวก่าย ก็แทรกแซงก้าวก่ายโดยชอบ" นายวิษณุกล่าวและว่า จำคดี "ถุงขนม" ได้ไหม ศาลฎีกาตัดสินว่าจำเลยมีความผิด ที่ไปวิ่งเต้นกับประธานศาลรัฐธรรมนูญสมัยหนึ่ง พอประธานศาลรัฐธรรมนูญไม่เล่นด้วย ก็ข่มขู่คุกคาม อย่างนั้นสิก้าวก่ายแทรกแซง

ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเอ่ยปากชมนายศรัณย์ว่า "อภิปรายสนุกดี แต่ให้เอาสาระมาด้วย"

เหน็บอภิปรายเชิงลึก จนต้องเอา "ก้านบัว" วัดระดับ

รองนายกฯ ระบุว่า การอภิปรายของนายศรัณย์วุฒิตื่นเต้น เร้าใจ สนุกสนาน สยดสยอง สนุกจริง ๆ เพราะข้อมูลลงลึกมาก แต่เสียดายว่าข้อมูลบางส่วนตัดตอน บางช่วงเอาท่อนล่างมา ไม่เอาท่อนบน แต่ก็ลึก

"ที่ลึกกว่าข้อมูลคือถ้อยคำศัพท์แสงที่ท่านใช้ ส่วนที่เกี่ยวพันกับผมต้องถือว่าลึกจริง ๆ แต่ไม่รู้เอาอะไรวัด โบราณว่าต้องเอาก้านบัว ในโคลงโลกนิติว่าไว้ว่า "ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร..." บาทต่อไป ไปหาอ่านเอาเอง" นายวิษณุกล่าว

สำหรับบาทต่อไปของโคลงบทนี้คือ "มารยาทส่อสันดาน ชาติเชื้อ"

ส่วนรัฐมนตรีอีก 2 คนที่ถูกอภิปรายแบบเหมารวมไปพร้อมกับนายวิษณุคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ซึ่งเอ่ยปากชมนายศรัณย์วุฒิว่า "อภิปรายสนุกดี แต่ให้เอาสาระมาด้วย" เช่นเดียวกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศ ที่ระบุว่า "แม้การนำเสนอจะขึงขังจริงจัง แต่ข้อมูลค่อนข้างเบา"

3 ส.ส. อภิปรายต่อนอกสภา

ก่อนการปิดประชุม มี ส.ส. ฝ่ายค้านส่วนหนึ่งวอร์กเอาต์ออกจากที่ประชุม ด้วยไม่เห็นด้วยที่มีการปิดการอภิปราย ทั้งที่มี ส.ส. ฝ่ายค้านอีก 3 คนยังไม่ได้อภิปราย จึงได้มีการอภิปรายนอกสภาด้านล่างของห้องประชุม โดยมุ่งเป้าไปที่การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.ว่าการกระทรวงมหาดไทย

กล้วย 2 ลูก วางอยู่บนโต๊ะในรัฐสภา

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

เริ่มต้นด้วยนายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่มุ่งไปที่ประเด็นการออกประกาศที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อย่างการยกเว้นการทำ EIA ในโรงไฟฟ้าขยะ ทั้งมีคำสั่งคสช.ฉบับที่ 4/2559 มีการยกเว้นผังเมืองรวม สำหรับโรงขยะไฟฟ้า โรงไฟฟ้าชีวมวล และโรงกำจัดขยะ นำมาซึ่งการจับจองใบอนุญาต และซื้อที่ดิน เพื่อจัดตั้งโรงงาน ส่งผลกระทบต่อประชาชน ซึ่งรมว.มหาดไทยไม่สามารถปฏิเสธความรับผิดชอบนี้ได้

นายปดิพัทธ์ ชี้ว่าประเด็นดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาขยะ แต่ "มหาดไทยกระโดดเข้าไปในขุมทรัพย์พลังงาน" นับตั้งแต่คสช.ยึดอำนาจปี 2557 มีการแต่งตั้งคนเข้าไปในนโยบายพลังงานแห่งชาติ ปลดกรรมการกองกำกับพลังงาน ทำให้คสช.สามารถควบคุมทิศทางของนโยบายพลังงานได้ทั้งหมด ในขณะที่มหาดไทย ออกคำสั่งให้อบท.คัดเลือกเอกชนโดยไม่ต้องประมูล และไม่เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน สร้างกำไรให้บรรดานักธุรกิจจากนโยบาย "ลด แลก แจก แถม" ที่มาลงทุนกับโรงไฟฟ้าขยะ

"ถ้าท่านรู้ แต่ยังเดินหน้าทำสิ่งเหล่านี้ต่อไป นี่คือความเลวร้าย นี่คือนโยบายที่ทุจริต นี่คือการกดหัวประชาน และผมอยากจะบอกประชาชนทุกท่านไว้นะครับว่า ทศวรรษนี้เป็นทศวรรษสุดท้ายที่เราจะกอบกู้สิ่งแวดล้อมเพื่อความอยู่รอดของเราทุกคน แต่แผนยุทธศาสตร์ชาติ และแผนแม่บทขยะไม่อนุญาตให้เราทำเรื่องพวกนี้ได้" นายปดิพัทธ์กล่าว

ต่อด้วยการอภิปรายของนายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส. ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ ที่ก่อนหน้าได้อภิปรายในสภากรณีการค้ามนุษย์ จึงมีการแสดงภาพความเชื่อมโยงของกลุ่มบุคคลที่อ้างว่าเกี่ยวข้องกับกระบวนการค้ามนุษย์ของชาวโรฮิงญาในเขาแก้ว ซึ่งมีการตัดสินนายทหารระดับสูง

นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. ของอดีตพรรคอนาคตใหม่

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นายปดิพัทธ์ ชี้ว่าประเด็นดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาขยะ แต่ "มหาดไทยกระโดดเข้าไปในขุมทรัพย์พลังงาน" นับตั้งแต่คสช.ยึดอำนาจปี 2557

ปิดการอภิปรายนอกสภาคนสุดท้ายด้วย นายรังสิมันต์ โรม อดีต ส.ส. พรรคอนาคตใหม่ ที่อภิปรายไม่ไว้วางใจพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ

"ตัวท่านได้กระทำความผิดต่อประเทศชาติ ต่อพี่น้องชาวไทย ด้วยการสร้างเครือข่ายที่เอื้อต่อผลประโยชน์ให้พวกพ้องตัวเอง ไม่ว่ากลุ่มบุคคลที่เอื้อนั้นจะเป็นกลุ่มบุคคลที่ถือครองอำนาจรัฐ หรือเป็นกลุ่มบุคคลที่ถืออำนาจทุน...ใช้ตำแหน่งทางการเมือง ใช้ระบบราชการ ใช้เครือข่ายของทุน ใช้ทรัพยากรของรัฐ ใช้เงินภาษีประชาชนในการสร้างเครือข่ายเหล่านี้ขึ้นมา ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามจริยธรรมอย่างร้ายแรง" นี่เป็นเหตุผลที่นายรังสิมันต์กล่าวว่า เป็นเหตุให้อภิปรายในครั้งนี้

นายรังสิมันต์ เริ่มต้นด้วยประเด็น "มูลนิธิป่ารอยต่อ" ที่ตั้งขึ้นมาเมื่อปี 2549 ก่อนการโค่นรัฐบาลทักษิณ ขณะนั้นมี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน และพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็นกรรมการมูลนิธิ ซึ่งตั้งมูลนิธิอยู่ในพื้นที่ทหาร ซึ่งพล.อ.ประวิตรอ้างว่าเป็นการเช่าพื้นที่มาแล้ว 15 ปีก่อนจะมีการจัดตั้งมูลนิธิเสียอีก มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในการอนุรักษ์ป่า และสัตว์ป่า ในป่ารอยต่อ 5 จังหวัด ภาคตะวันออก

"มูลนิธิป่ารอยต่อกลายเป็นที่ซ่องสุม มั่วสุมอำนาจ" นายรังสิมันต์กล่าวถึง กิจกรรมที่เกิดขึ้นในมูลนิธิมีหลายงานไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุประค์ที่ตั้งไว้ ซึ่งปัจจุบันในรายชื่อคณะกรรมการมูลนิธิมีข้าราชการชั้นผู้ใหญ่หลายคน และมีผู้บริจาครายใหญ่จากกลุ่มบริษัทเอกชนบางแห่งบริจาคต่อเนื่องทุกปี

โยง "มูลนิธิป่ารอยต่อ" เอื้อกลุ่มทุน

นายรังสิมันต์ ชี้ให้เห็นว่า มีการขยายสัญญาการเช่าพื้นที่ 50 ปี ให้กับกลุ่มบริษัทเอกชนกลุ่มหนึ่ง เช่าที่ "ศูนย์สิริกิติ์" ในราคาที่ต่ำมาก ซึ่งรัฐจะสูญเสียเม็ดเงิน 10,417.85 ล้านบาท "การบริจาคของท่านอาจจะสุจริตครับ แต่ดูเหมือนว่า การบริจาคเหล่านี้ได้ทำให้ท่านประวิตร รู้สึกซาบซึ้ง ตราตรึง ถึงกับตอบแทนเป็นผลประโยชน์ต่อกลุ่มทุนหรือไม่" นายรังสิมันต์ตั้งคำถาม

นายรังสิมันต์ ให้ข้อมูลอีกว่า กลุ่มบริษัทนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการของรัฐ และนำไปสู่การจัดตั้งบริษัททั้งในส่วนกลาง และ 76 จังหวัด ซึ่งเครือข่ายทำงานก็เป็นทายาทของกลุ่มบริษัทนี้ สุดท้ายทำให้เกิดความทับซ้อนของแหล่งทุนกับรัฐ จึงตั้งคำถามไปถึงเส้นแบ่งของเอกชนกับรัฐ

แกนนำอดีตพรรคอนาคตใหม่

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

นอกจากนี้ยังมีการยกตัวอย่างบริษัทอื่น ๆ ที่มีการบริจาคเงินเข้าสู่มูลนิธิดังกล่าว โดยนายรังสิมันต์อ้างว่า หลังการบริจาคมีการเลื่อนตำแหน่งให้เจ้าหน้าที่รัฐ จึงตั้งคำถามว่า สองประการนี้มีความเกี่ยวเนื่องกันหรือไม่ ใครจะมั่นใจได้ เพราะหลังจากมีการปลดนายตำรวจ หุ้นของบริษัทที่เคยบริจาคก็ตกตามไปด้วย

ประเด็นต่อมานายรังสิมันต์ กล่าวถึง พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ น้องชายของพล.อ.ประวิตร ที่เข้ามาเป็นประธานกรรมการของบริษัท Energy Absolute ก่อนรัฐประหาร 1 เดือน ขณะนั้นมูลค่าหุ้นอยู่ที่ 11 บาท แต่หลังรัฐประหารราคาหุ้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง

มีการพูดถึงบริษัททุนจีนต้าถังที่บริจาคเงินให้มูลนิธินี้เช่นกัน ซึ่งบริษัทนี้กำลังจะลงทุนในการสร้างเขื่อนที่ลาว และมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตถือหุ้นอยู่ในโครงการนั้นด้วย ซึ่งโครงการดังกล่าวส่งผลกระทบอย่างมากต่อชาวบ้านในพื้นที่

นายรังสิมันต์ ยังยกตัวอย่างอีกหลายบริษัทที่มีความเกี่ยวข้อง และมีผลประโยชน์พัวพันกับมูลนิธิป่ารอยต่อ จนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ระหว่างอำนาจรัฐกับอำนาจทุน อีกทั้งกรรมการมูลนิธิคนอื่น ๆ ยังมีความสัมพันธ์กับ พล.อ.ประวิตร อีกด้วย

ตอนท้ายของการอภิปราย นายรังสิมันต์กล่าวว่า "สำหรับผมและพรรคอนาคตใหม่ที่ถูกยุบไปแล้ว วันนี้อาจจะมีเพื่อน ส.ส. ที่บางคนอาจจะย้ายไปอยู่พรรคการเมืองอื่นก็ไม่เป็นไร ผมยังเชื่อมั่นว่า ผมและเพื่อน ๆ ที่เหลือ เรายังคงไปต่อกันได้ เรายังคงทำหน้าที่ในฐานะผู้แทนราษฎรที่ดีต่อไปได้ แต่ผมไม่เชื่อว่า พรรคการเมืองที่ท่านไปสังกัด ผมไม่เชื่อว่า คนที่ท่านรับใช้จะเป็นคนที่ดี และเป็นคนที่จะเป็นผู้นำของประเทศไทยต่อไป และผมเชื่อว่า วันหนึ่งข้างหน้าคนเหล่านี้ คนที่ท่านรับใช้จะไม่ได้ไปต่อ จบ สวัสดี"