โคโรนา : เศรษฐกิจไทยจะไปได้แค่ไหนในไตรมาส 1 หลังไวรัสโควิด-19 ทำท่องเที่ยวอ่วม

นักท่องเที่ยวบางตาที่ศาลท้าวมหาพรหม

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

นักท่องเที่ยวบางตาที่ศาลท้าวมหาพรหม

แม้ปัญหางบประมาณล่าช้าคลี่คลายลงไป แต่วิกฤตไวรัสโควิด-19 ยังถือเป็นปัจจัยหลักกระทบภาพรวมเศรษฐกิจทั้งท่องเที่ยวและส่งออก นักเศรษฐศาสตร์หลายธนาคาร คาดผลกระทบที่เลวร้ายสุดจากไวรัสโควิด-19 จะอยู่ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้

ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่า การหดตัวของการท่องเที่ยวและส่งออกอาจทำให้เศรษฐกิจปีนี้โตได้เพียง 1.3% จากที่เคยคาดว่าจะโตได้ถึง 2.8% ด้านกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาคาดประเทศจะสูญรายได้จากนักท่องเที่ยว 2.5 แสนล้านบาทในปีนี้

ด้านผู้ประกอบการรายย่อยต้องต่อสู้ด้วยตนเอง และหวังว่าน้ำใจของคนไทยที่ส่งไปให้จะสามารถช่วยให้ชาวจีนกลับมาท่องเที่ยวไทยอีกครั้ง เมื่อวิกฤตไวรัสโควิด-19 ผ่านพ้นไป

รายงานวิจัยประจำเดือน กุมภาพันธ์ ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา เรื่อง "Coronavirus Outbreak: Impact on Thai Economy" คาดว่า การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวจะถึงจุดสูงสุดในเดือนมีนาคม และจะสิ้นสุดในเดือนพฤษภาคม ปีนี้

ภาพประกอบนักท่องเที่ยว

ที่มาของภาพ, AFP

นักวิเคราะห์จากสำนักวิจัยกรุงศรียังระบุว่า แม้มีการแพร่กระจายเป็นวงกว้าง แต่อัตราเสียชีวิตถือว่าไม่รุนแรงหากเทียบกับโรคซาร์สหรือเมอร์ส ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมจากการเจ็บปวดและการตายคาดว่าจะเพิ่มขึ้น และส่งผลกระทบต่อทั้งเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย ทำให้จีดีพีไทยจะลดลง 0.44% จากประมาณการเดิม โดยจะผลกระทบรุนแรงมากสุดในไตรมาสแรก ในภาคการท่องเที่ยว ธุรกิจเคมี สันทนาการ และสิ่งทอ

ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า หากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยาวนานเกิน 3 เดือน (แต่ไม่เกิน 6 เดือน) เศรษฐกิจจีนอาจเติบโตต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ราว 1% และอาจจะย่อตัวลงไปที่อัตราการเติบโตที่ 4.7% ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอาเซียนคิดเป็นมูลค่าราว 2.4-3.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือคิดเป็น 0.07-0.11% ของจีดีพีของอาเซียนทั้งหมด ในส่วนของประเทศไทย ผลกระทบอาจอยู่ในระดับปานกลาง ความเสียหายอาจจะอยู่ในระดับ 500-700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.56 - 2.18 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.09-0.13% ของจีดีพี ทั้งปีของไทย

รัฐคาดนักท่องเที่ยวจีนหายไป 5 ล้านคนทั้งปี

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) แถลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยปี 2563 นี้อย่างมาก จากข้อมูลกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหายไป 5 ล้านคน และรายได้หายไปราว 2.5 แสนล้านบาท

กราฟฟิคนักท่องเที่ยวต่างชาติ

ธปท. ให้ตัวเลขว่า เศรษฐกิจไทย (จีดีพี) มีมูลค่าราว 16 ล้านล้านบาท หากรายได้จากการท่องเที่ยวหายไป 2.5 แสนล้านบาท คิดเป็นประมาณ 1.5% ของจีดีพี ซึ่งจะทำให้ตัวเลขจีดีพีที่ ธปท.มองไว้ในช่วงปลายปี 2562 ว่าจีดีพีปี 2563 จะโตได้ที่ 2.8% ก็จะลดลงเหลือโตเพียง 1.3% เท่านั้น

บรรยากาศที่วัดพระแก้ว

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดการณ์ว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติจะหายไป 5 ล้านคน และรายได้หายไปราว 2.5 แสนล้านบาท

ในวันจันทร์ที่ 17 ก.พ. สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์ฯ) มีกำหนดการแถลงผลภาพรวมเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมาพร้อมกับแนวโน้มในปีนี้อีกด้วย ซึ่งภาคการเงินกำลังจับตาว่าจะปรับลดอัตราการเติบโตของจีดีพีเป็นเท่าไร

จีนสำคัญอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย

นับตั้งแต่ปี 2553 เป็นต้นมา การหลั่งไหลของนักท่องเที่ยวจีนมาไทย ได้สร้างรายได้การท่องเที่ยวทะลุ 1 แสนล้านบาทเป็นครั้งแรก ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึง 10% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดจากต่างประเทศ

ท่าเรือส่งออก

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ,

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า ภาคการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบสูงสุดด้วยมูลค่าราว 300 - 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ต่อมานักท่องเที่ยวชาวจีนกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของไทย จนปีที่แล้ว จำนวนนักท่องเที่ยวจากจีนจบที่ตัวเลข 10.9 ล้านคน สร้างรายได้การท่องเที่ยวกว่า 5.43 แสนล้านบาท คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด ตามข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

กราฟฟิคประเทศคู่ค้าไทย

ชาติในอาเซียนพึ่งพาเศรษฐกิจจากจีนมากเพียงใด

ที่มา: CEI, World Bank, UNCTAD, UNWTO รวบรวมโดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย

อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้จัดลำดับของไทยให้อยู่ในกลุ่มที่มีสัดส่วนการพึ่งพาจากจีนอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อเทียบกับชาติอื่น ๆ ในประเทศอาเซียน แต่ภาคการส่งออกของไทยจะได้รับผลกระทบสูงสุดด้วยมูลค่าราว 300 - 400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

กราฟฟิคประเทศคู่ค้าไทย

ส่วนผลกระทบรองลงมาคือภาคการท่องเที่ยว ซึ่งมีรายได้เป็นสัดส่วน 30% ของรายได้ทั้งหมด แต่หากพิจารณาเป็นการพึ่งพารายได้ท่องเที่ยวจากจีนเป็นสัดส่วน 3.5% เมื่อเทียบกับจีดีพี ในขณะที่มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากจีนเมื่อเทียบกับจีดีพีมีสัดส่วนเพียง 0.2% ของจีดีพี และทำให้ภาพรวมจากจีนเทียบกับจีดีพีประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วน 9.6% ของจีดีพี คิดเป็นประเทศอันดับที่ 6 ในอาเซียนที่พึ่งพาเศรษฐกิจจากจีน

ต้องสู้เพื่อความอยู่รอด

ผลกระทบที่เกิดขึ้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมีทุกระดับตั้งแต่คนขายพวงมาลัย มัคคุเทศก์ ร้านอาหาร บริษัทนำเที่ยว ไปจนถึงโรงแรมหรู จากการสังเกตของบีบีซีไทยเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา จำนวนนักท่องเที่ยวที่ศาลท้าวมหาพรหมบางตาลงอย่างเห็นได้ชัด

อินเตอร์แอคทีฟ ศาลท้าวมหาพรหม

6 กุมภาพันธ์ 2563

ศาลท้าวมหาพรหม 6 กุมภาพันธ์ 2563

8 กุมภาพันธ์ 2559

ศาลท้าวมหาพรหม 8 กุมภาพันธ์ 2559

นางเปิ้ล สินสุนทรทรัพย์ อายุ 42 ปี ชาวกรุงเทพฯ ซึ่งขายพวงมาลัยและเครื่องไหว้อยู่ที่ศาลท้าวมหาพรหม มานานกว่า 10 ปี ถึงกับน้ำตาซึมด้วยความทุกข์เมื่อถูกถามถึงสถานการณ์การค้าขายและรายได้หลังเกิดการระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวจีนลดลง

เธอบอกว่าจริง ๆ แล้ว รายได้จากการขายของลดลงมาตั้งแต่มีนโยบายจัดระเบียบทางเท้าของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อปี 2557 แล้ว จากนั้นเศรษฐกิจก็แย่มาตลอด จนมาหนักสุดเมื่อไวรัสโควิด-19

"รายได้หายไปครึ่งหนึ่ง จากที่เคยขายได้วันละ 1,000 บาทขึ้นไป ช่วงนี้ขายทั้งวันตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึงศาลปิดตอน 4 ทุ่ม ได้แค่ 500 บาท" นางเปิ้ลบอกกับบีบีซีไทย

บรรยากาศศาลท้าวมหาพรหม

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

บรรยากาศศาลท้าวมหาพรหม

ตามความเชื่อ ผู้ที่มาไหว้ศาลท้าวมหาพรหมจะต้องใช้พวงมาลัยคนละ 4 พวงซึ่งมีหลายราคาตั้งแต่ 25-80 บาท

เปิ้ลบอกว่านักท่องเที่ยวสัญชาติอื่น ๆ รวมทั้งคนไทยไม่มีใคร "จ่ายหนัก" เหมือนนักท่องเที่ยวจีน

"คนไทยส่วนมากมาไหว้มือเปล่า บางคนซื้อพวงเดียว คนเวียดนามก็มาเที่ยวเยอะ แต่ไม่ซื้อของไหว้เยอะเหมือนคนจีน" เปิ้ลบอกก่อนจะรีบยกแผงเล็ก ๆ หลบเข้าไปหลังต้นไม้ทันทีเหลือบไปเห็นเจ้าหน้าที่เทศกิจของกรุงเทพมหานครปรากฏตัวขึ้นที่หัวมุมถนน

บรรยากาศภายในร้านอาหารของภัทร์ภัสสรที่ยังคงว่างหลังนักท่องเที่ยวชาวจีนไม่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทย

ที่มาของภาพ, Watchiranont Thongtep/BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

บรรยากาศภายในร้านอาหารของภัทร์ภัสสรที่ยังคงว่างหลังนักท่องเที่ยวชาวจีนไม่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทย

ส่วนที่ตลาดรถไฟรัชดา นางภัทร์ภัสสร ธัญญธนวงศ์ชัย เจ้าของร้านอาหารทะเลบอกบีบีซีไทยว่า เธอต้องลดจำนวนพนักงานลงหลังจากที่ยอดลูกค้าชาวจีนลดลงราว 60-70% ซึ่งเป็นผลมาจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ในจีน

"ตอนนี้ฉันต้องให้พนักงาน 2 คนหยุดทำงานไปก่อน เพื่อลดค่าใช้จ่ายในร้าน จากปกติที่มีพนักงานประจำร้าน 10 คน ตอนนี้ทางร้านก็ต้องปรับวิธีการทำงานคือลดการสั่งของลง ในขณะเดียวกันก็หาลูกค้าคนไทยเพิ่มขึ้นเพื่อมาเติมในส่วนที่ขาดหายไป" เธอกล่าว

นักท่องเที่ยวจีนแทบไม่มีแล้ว

นับตั้งแต่ทางการจีนประกาศสั่งห้ามประชาชนเดินทางระหว่างมณฑลและเดินทางออกนอกประเทศ เพื่อหยุดยั้งการระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 สมาชิกของสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีนซึ่งเป็นผู้ประกอบการนำเที่ยวราว 350 ราย รายงานว่าไม่มีกรุ๊ปทัวร์จากจีนเดินทางมายังแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมอย่าง กรุงเทพฯ พัทยา ภูเก็ต เชียงใหม่และเกาะสมุย

"นักท่องเที่ยวจีนถือว่าเป็นตลาดหลักของเรา ตอนนี้ไม่มีเหลือเลย" นายรณรงค์ ชีวีนสิริอำนวย นายกสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยวสัมพันธ์ไทย-จีนกับบีบีซีไทย

"เราไม่ทราบแน่ชัดว่าคำสั่งดังกล่าวของทางการจีนจะสิ้นสุดเมื่อไหร่ แต่สิ่งที่พวกเรารู้ก็คือ เรากำลังได้รับผลกระทบ และอาจจะทำให้บุคลากรจำนวนมากไม่มีงานทำ" เขากล่าว

ด้านนายองอาจ แซ่จัง ตัวแทนสภามัคคุเทศก์แห่งชาติ กล่าวว่ามัคคุเทศก์จำนวนกว่า 2.5 หมื่นคนเสี่ยงที่จะตกงาน

ยังไม่มีมาตรการจำกัดการท่องเที่ยวจากจีน

หลายประเทศที่พบจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวนมาก เลือกที่จะเข้มงวดมาตรการจำกัดการเดินทางของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศจีน ซึ่งถือเป็นจุดกำเนิดของเชื้อไวรัสโคโรนา ภายหลังจากที่องค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวเป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระดับโลก

บรรยากาศหาดป่าตอง จ. ภูเก็ต วันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา

ที่มาของภาพ, BBC Thai

คำบรรยายภาพ,

บรรยากาศหาดป่าตอง จ. ภูเก็ต วันที่ 2 ก.พ. ที่ผ่านมา

แต่ดูเหมือนประเด็นนี้ประเทศไทยยังไม่ให้ความสนใจ โดยเมื่อปลายเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา กระแสในสื่อโซเชียลกดดันกระทรวงสาธารณสุข ทำให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล ตัดสินใจเสนอแผนการยกเลิกการตรวจลงตราหน้าด่าน หรือ Visa on arrival แต่คณะรัฐมนตรีกลับไม่พิจารณาเรื่องดังกล่าว

ต่อมาในวันที่ 6 ก.พ. ที่ผ่านมา นายอนุทินแถลงว่า มาตรการจำกัดการท่องเที่ยวนักท่องเที่ยวจีนไม่ใช่การแก้ปัญหาในการจัดการระบาด เพราะมีบรรดาประเทศใช้มาตรการการจำกัดการเดินทางที่ต่างก็มียอดผู้ติดเชื้อไวรัสจำนวนมาก เน้นการคัดกรองและการรักษาผู้ป่วยเป็นหลัก

เพราะเราคือมิตรแท้

รัฐมนตรีว่าการว่าการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวในแถลงข่าวเมื่อต้นเดือนว่า ที่คนบอกจะต้องเลิกวีซ่าบางประเทศ ไม่ให้เขาเข้าประเทศ เลิกค่าธรรมเนียม เลิกอะไรต่าง ๆ ตัวเลขโชว์มาแล้ว ประเทศที่ใช้มาตรการนี้ ก็ไม่ได้มีตัวเลขของการติดเชื้อหรือการเสียชีวิตน้อยไปกว่าประเทศไทย แสดงให้เห็นอะไร แสดงให้เห็นประสิทธิภาพ เราไม่เอาเหตุอื่นมาเป็นข้ออ้างให้ประสิทธิภาพการควบคุมโรคของระบบสาธารณสุขในไทย โดยการสนับสนุนของรัฐบาลไทยลดระดับลงไป

อนุทิน ชาญวีรกุล

ที่มาของภาพ, พรรคภูมิใจไทย

คำบรรยายภาพ,

"ผมมั่นใจว่า..เมื่อคลี่คลายลงไปแล้ว ...รัฐบาลจีน เขาจะต้องส่งเสริมให้คนเหล่านั้น มาเยือนประเทศไทย มาเที่ยวประเทศไทย..." นายอนุทินกล่าว

"ในทางเศรษฐกิจ ท่านเห็นไหมครับว่า ประเทศจีน ขอบคุณประเทศไทยอย่างไร ในการที่เราดูแล รักษา เอาใจใส่ พี่น้องประชาชนของเขาที่มาเจ็บป่วยในเมืองไทย รักษาจนหายแล้วส่งกลับ สิ่งเหล่านี้จะต้องตอบแทนกลับมาอย่างแน่นอนครับ กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนที่มากที่สุดที่ประเทศไทยได้รับคือ นักท่องเที่ยวจากจีน" เขาบอก

"ผมมั่นใจว่าสถานการณ์แบบนี้ เมื่อคลี่คลายลงไปแล้ว นักท่องเที่ยวจีน รัฐบาลจีน เขาจะต้องส่งเสริมให้คนเหล่านั้น มาเยือนประเทศไทย มาเที่ยวประเทศไทย มาใช้จ่ายประเทศไทย ไม่สิ่งใดที่เราสูญเปล่า" นายอนุทินกล่าวเพิ่มเติม

ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 หน่วยงานรัฐของไทยหลายแห่งได้แสดงการสนับสนุนและให้กำลังใจแก่ชาวจีน โดยเฉพาะชาวอู่ฮั่น อาทิ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และ กรุงเทพมหานคร รวมทั้ง กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ ได้ออกคลิปวิดีโอเป็นภาษาจีนเพื่อให้กำลังใจโดยเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์

ข้าม YouTube โพสต์ , 1
ยินยอมรับเนื้อหาจาก Google YouTube

บทความนี้ประกอบด้วยเนื้อหาจาก Google YouTube เราขอความยินยอมจากคุณก่อนใช้คุกกี้ หรือเทคโนโลยีอื่น ๆ บันทึกอะไรลงไป คุณอาจต้องอ่านนโยบายคุกกี้ของ Google YouTube และนโยบายความเป็นส่วนตัวของ Google YouTube ก่อนให้ความยินยอม หากต้องการอ่านเนื้อหานี้ โปรดเลือก "ยินยอมและไปต่อ"

คำเตือน:เนื้อหาภายนอกอาจมีโฆษณา

สิ้นสุด YouTube โพสต์, 1

ขณะเดียวกันสถานทูตจีนประจำประเทศไทยก็ได้โพสต์แถลงการณ์เพื่อแสดงความขอบคุณรัฐบาลไทยและประชาชนไทย

ข้าม Facebook โพสต์ , 1

ไม่มีเนื้อหานี้

ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.

สิ้นสุด Facebook โพสต์, 1

ความปลอดภัยด้านสุขภาพต้องมาก่อน?

จากถ้อยแถลงข่าวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขข้างต้น ผศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กล่าวว่า ดูเหมือนว่าการตัดสินใจของรัฐบาลไทยจะเกรงใจว่าจะกระทบความสัมพันธ์กับจีน

"รัฐบาลดูเหมือนจะเข้าใจผิดในหลักการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ผมไม่คิดว่าจีนจะนำเรื่องการจำกัดการเดินทางนักท่องเที่ยวชาวจีนมาพิจารณาเพื่อลดระดับความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ แคนาดา นิวซีแลนด์ สิงคโปร์" ผศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

ผศ.ดร.ประจักษ์ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่มาของภาพ, TOSSAPOL CHAISAMRITPOL/BBC THAI

คำบรรยายภาพ,

ผศ.ดร.ประจักษ์ รองคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

นักวิชาการรายนี้เข้าใจว่ารัฐบาลจีนเข้าใจในสถานการณ์เป็นอย่างดี เพราะจีนเองก็เป็นชาติแรกที่สั่งห้ามประชาชนไม่ให้เดินทางระหว่างมณฑล และท่องเที่ยวในต่างประเทศ

"ความกังวลด้านสาธารณสุข กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเป็นคนละเรื่องกัน และหากว่าทางการไทยจะเสนอความช่วยเหลือก็มีอีกหลายวิธีที่สามารถทำได้ อย่างเช่น ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม" เขากล่าว

"นี่เป็นการนำสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศไปเสี่ยง เพื่อแลกกับ "ผลประโยชน์ระยะยาว" ที่ไม่รู้ว่าคืออะไร และจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ นี่สะท้อนว่ารัฐบาลขาดทั้งความรอบคอบในการควบคุมการระบาดของโรค และความสันทัดในเรื่องการเมือง"เขากล่าว

"ความปลอดภัยด้านสาธารณสุขต้องมาก่อน" เขาทิ้งท้าย