ไวรัสโคโรนา : ผู้ป่วยโควิด-19 เสียชีวิตรวม 10 ราย ผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 1,600 ราย

หมอ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

ผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยเสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย เป็นชายไทยอายุ 48 ปี ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตสะสมเพิ่มเป็น 10 ราย ขณะที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มอีก 127 ราย ในจำนวนนี้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ 3 รายที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยโควิด-19

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 วันนี้ (31 มี.ค.) ว่าผู้เสียชีวิตรายที่ 10 เป็นชายไทย อายุ 48 ปี ภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดภาคอีสาน แต่ประกอบอาชีพนักดนตรีในกรุงเทพฯ มีประวัติเป็นเบาหวาน และมะเร็ง หลังจากเริ่มป่วยเป็นไข้เมื่อวันที่ 20 มี.ค. เขาได้เดินทางกลับไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลที่บ้านเกิด แต่อาการทรุดลงจากปอดอักเสบและอาการรุนแรงขึ้นจนติดเชื้อในกระแสเลือด ระบบหายใจล้มเหลว จนเสียชีวิตในที่สุด

สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวน 127 ราย ทำให้มีผู้ป่วป่วยสะสม 1,651 ราย

นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่าในจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่มีบุคลากรทางการแพทย์อยู่ 3 ราย ทั้งหมดมีประวัติดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ซึ่ง สธ.จะหามาตรการป้องกันอย่างเต็มที่เพื่อให้บุคลากรที่อยู่ด่านหน้าปลอดภัย

"สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ที่ติดเชื้อ ท่านอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ให้เจาะลงลึกว่าเกี่ยวโยงกับการปฏิบัติหน้าที่กับผู้ป่วยหรือไม่ ถ้าติดมาจากเรื่องส่วนตัวต้องแยกออกไป" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

สำหรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ 127 ราย แบ่งเป็นกลุ่ม ดังนี้

กลุ่ม 1 ผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้า 62 ราย

  • สนามมวย 4 ราย
  • สถานบันเทิงในกรุงเทพฯ 11 ราย
  • สัมผัสผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันก่อนหน้านี้ 47 ราย

กลุ่ม 2 ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 49 ราย

  • ผู้ที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 23 ราย เป็นคนไทย 17 ราย และชาวต่างชาติ 6 ราย
  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านชุมชนที่มีคนหนาแน่นหรือทำงานใกล้ชิดชาวต่างชาติ 9 ราย
  • บุคลากรทางการแพทย์ 3 (รวมติดเชื้อสะสม 24 ราย)
  • เดินทางไปสถานที่ที่มีผู้คนจำนวนมาก เช่น ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ราชการ 6 ราย
  • อื่น ๆ 8 ราย

กลุ่ม 3 ยืนยันการพบเชื้อแล้ว แต่รอสอบสวนโรค 16 ราย

โฆษก ศบค.กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมควบคุมโรคได้วิเคราะห์ข้อมูลผู้ติดเชื้อสะสมในประเทศไทยและพบประเด็นที่สำคัญดังนี้

  • ผู้ติดเชื้อเป็นชาวไทย 1,407 คน และอื่น ๆ 244 คน
  • ผู้ชาย 41.3% หญิง 58.7%
  • ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่พบในกรุงเทพฯ 869 คน รองลงมาอยู่ในภาคใต้ 206 คน และภาคกลาง 172 คน
  • อายุเฉลี่ยของผู้ติดเชื้อคือ 39 ปี อายุต่ำสุด 6 เดือน สูงสุด 84 ปี

นพ.ทวีศิลป์ยังได้ขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการที่ยังไม่มีนโยบายให้พนักงานทำงานที่บ้าน ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นต้องเข้ามาทำงานที่สำนักงานว่า หากมีพนักงานติดเชื้อ หน่วยงานจะมีความเสียหายมากกว่านี้

"(การให้พนักงานทำงานที่บ้าน) ยังเป็นมาตรการขอความร่วมมือ ดังนั้นขอให้นายจ้าง ผู้ประกอบการ และผู้ที่ดำเนินกิจการทั้งหลายพิจารณาอย่างดีว่า ท่านได้ประโยชน์อย่างไรในการที่จะดึงเอาบุคลากรของท่านมาอยู่ร่วมกันในห้องทำงาน ถ้าเขาทำงานอยู่ที่บ้านทดแทนการทำงานของท่านได้หรือไม่ ถ้าเปรียบเทียบกับการให้พนักงานที่มีความเสี่ยงติดเชื้อมาอยู่รวมกัน และอยู่ใกล้ชิดกับท่านด้วย อาจจะนำความเสี่ยงนั้นมาติดท่านด้วย ติดบุคลากรของท่านด้วย อาจจะต้องหยุดงานหรือเข้าโรงพยาบาล ยิ่งจะมีความเสียหายมากกว่าเดิมอีก"