LGBT: ไทยจะเลือกทางไหน ปล่อยหญิงข้ามเพศ คดี "หมิ่นอิสลาม" ไปออสเตรเลีย หรือส่งให้มาเลเซียตามขอ

ภาพ นูร ซาญัต จากเฟซบุ๊ก

ที่มาของภาพ, Facebook/Nur Sajat

คำบรรยายภาพ, มูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุว่า ประเทศมาเลเซียไม่สามารถขอตัว นูร ซาญัต ไปดำเนินคดีในประเทศมาเลเซียได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจประเทศไทยในการส่งให้ประเทศมาเลเซีย ด้วยกรณีนี้ไม่เข้าด้วยเงื่อนไขและองค์ประกอบสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

องค์กรด้านสิทธิของไทยเรียกร้องนายกฯ ให้คุ้มครอง นูร ซาญัต ผู้หญิงข้ามเพศที่ถูกคุมตัวในไทยเมื่อ 8 ก.ย. จนกว่าจะเดินทางไปประเทศที่ 3 แม้ตำรวจมาเลเซียขอให้ทางการไทยส่งเธอกลับไปดำเนินคดีในมาเลเซียในคดี "หมิ่นศาสนา"

ขณะนี้ นูร ซาญัต ได้สถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (United Nations High Commissioner for Refugees--UNHCR) แล้ว และกำลังรอเดินทางไปยังประเทศออสเตรเลีย

นูร ซาญัต คือใคร

สำนักข่าวเอเอฟพีระบุว่า นูร ซาญัต อายุ 36 ปี เป็นผู้ประกอบการธุรกิจเครื่องสำอางในมาเลเซีย และถูกศาลอิสลามนอกกรุงกัวลาลัมเปอร์ตั้งข้อหาในเดือน ม.ค. ปีนี้ว่า แต่งกายเป็นผู้หญิงที่งานเกี่ยวกับศาสนาแห่งหนึ่งในปี 2018 ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายอิสลาม ศาลได้ออกหมายจับเธอเมื่อ ก.พ. หลังจากเธอไม่ไปปรากฏตัวต่อศาลเพื่อรับการไต่สวน หากมีความผิดเธออาจถูกตัดสินจำคุกสูงสุด 3 ปี

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า นูร ซาญัต ถูกเจ้าหน้าที่รัฐไทยจับกุมจากที่พักในกรุงเทพฯ เนื่องจากกองบังคับการตรวจคนเข้าเมืองได้รับรายงานจากทางการมาเลเซีย ตั้งแต่ มี.ค. 2564 ว่า นูร ซาญัต เป็นบุคคลหลบหนีและเป็นบุคคลที่มาเลเซียต้องการตัว จากการกระทำความผิดแต่งกายข้ามเพศ และการแปลงเพศ ตามกฎหมายชารีอะห์ ของรัฐเซลังงอร์ ประเทศมาเลเซีย

ด้วยเหตุนี้ เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทยจึงออกติดตามสถานะและที่พำนักของ นูร ซาญัต ตั้งแต่ 4 มิ.ย. ที่ผ่านมา และบุกเข้าจับกุมครั้งแรก เมื่อ 8 ก.ย. ก่อนได้รับการประกันตัวเมื่อ 10 ก.ย. ในวงเงิน 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือประมาณ 66,800 บาท)

ภาพ นูร ซาญัต จากเฟซบุ๊ก

ที่มาของภาพ, Facebook/Nur Sajat

คำบรรยายภาพ, นูร ซาญัต ถูกศาลอิสลามนอกกรุงกัวลาลัมเปอร์ตั้งข้อหาในเดือน ม.ค. ปีนี้ว่า แต่งกายเป็นผู้หญิงที่งานเกี่ยวกับศาสนาแห่งหนึ่งในปี 2018 ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายอิสลาม ศาลได้ออกหมายจับเธอในเดือน ก.พ.

เอเอฟพีรายงานว่า ตำรวจมาเลเซีย ระบุว่า เจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองของไทย จับกุมตัวซาญัต เมื่อ 8 ก.ย. จากการถือหนังสือเดินทางที่ไม่ถูกต้อง และถูกตั้งข้อหากระทำความผิดด้านตรวจคนเข้าเมืองหลายอย่าง โดยซาญัตเป็นบุคคลที่ทางการมาเลเซียต้องการตัวจากการทำผิดหลายอย่าง รวมถึง การขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่

"กำลังมีการพยายามนำตัวผู้ต้องสงสัยกลับมา" อับดุล จาลิล ฮัสซัน เจ้าหน้าที่ตำรวจของมาเลเซีย กล่าวตามรายงานของเอเอฟพี โดยเขาระบุว่า ชื่อจริงของซาญัตคือ มูฮัมหมัด ซัจญัด คามารูซ ซามัน

จดหมายเปิดผนึกเรียกร้อง 5 ข้อ

มูลนิธิผสานวัฒนธรรมระบุว่า แม้ว่า ปัจจุบัน นูร ซาญัต ได้สถานะเป็นผู้ลี้ภัยจาก UNHCR และมีแผนจะเดินทางไปยังประเทศออสเตรเลีย แต่การที่ทางการมาเลเซียมีท่าทีต้องการเจรจาเพื่อให้รัฐบาลไทยส่งตัว นูร ซาญัต กลับไปดำเนินคดีต่อในศาลของรัฐเซลังงอร์ หลังจากเธอไม่ปรากฏตัวต่อศาลตามคำนัดพิจารณาคดี มาตั้งแต่เดือน ก.พ. 2564 ที่ผ่านมา ทำให้ นูร ซาญัต ตกอยู่ในความเสี่ยงว่า จะถูกส่งกลับไปประเทศมาเลเซียและถูกกระทำทรมาน หรือกระทำการโหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี เนื่องจากรัฐเซลังงอร์ ประเทศมาเลเซียกำหนดให้ การแต่งกายข้ามเพศ และการแปลงเพศเป็นความผิดทางอาญาตามกฎหมาย

แคปเฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/CrCF.Thailand/posts/4335189449861641

ที่มาของภาพ, FACEBOOK/Cross Cultural Foundation

มูลนิธิผสานวัฒนธรรม เป็นองค์กรที่ทำงานด้านการส่งเสริมสิทธิทางด้านวัฒนธรรมประเพณีของกลุ่มประชากรที่มีความหลากหลายได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกลงวันที่ 21 ก.ย. 2564 ถึง พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เรียกร้อง 5 ข้อ พร้อมเหตุผลประกอบดังนี้

1.นูร ซาญัต มีสถานะเป็นผู้ลี้ภัย กำลังอยู่ระหว่างเตรียมการเดินทางไปประเทศที่สาม จึงมีสิทธิอาศัยอยู่ชั่วคราวในประเทศไทย รัฐบาลต้องดูแลให้ความปลอดภัยจนกว่าจะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรไปประเทศที่สาม

2.ประเทศมาเลเซียไม่สามารถขอตัว นูร ซาญัต ไปดำเนินคดีในประเทศมาเลเซียได้ เนื่องจากไม่มีกฎหมายให้อำนาจประเทศไทยในการส่งให้ประเทศมาเลเซีย ด้วยกรณีนี้ไม่เข้าด้วยเงื่อนไขและองค์ประกอบสนธิสัญญาว่าด้วยการส่งผู้ร้ายข้ามแดน

3.การแต่งกายข้ามเพศ และการแปลงเพศ แม้จะเป็นความผิดตามกฎหมายมาเลเซีย แต่มิได้เป็นความผิดตามกฎหมายประเทศไทย และการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ไปปฏิบัติตามกฎหมายมาเลเซีย ในการจับกุม นูร ซาญัต และส่งตัวกลับไปประเทศมาเลเซีย จะทำให้ประเทศไทยเสียอธิปไตยทางศาล

4.รัฐบาลต้องไม่ส่ง นูร ซาญัต กลับไปยังประเทศมาเลเซีย ทั้งนี้เพราะจะทำให้ นูร ซาญัต ตกอยู่ภายใต้อันตรายของภัยประหัตประหาร การทรมาน เเละการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ย่ำยีศักดิ์ศรี

5.นายกรัฐมนตรีต้องกำกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้ และหากพบว่า มีการกระทำความผิดก็ขอให้ดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ทั้งทางวินัย ทางอาญา และทางปกครองด้วย

ภาพธงชาติมาเลเซียกับรถไฟ

ที่มาของภาพ, EPA

คำบรรยายภาพ, มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติใช้ระบบสองศาล โดยศาลชารีอะห์จะไต่สวนคดีบางส่วนของพลเมืองที่เป็นมุสลิม

ในจดหมายระบุด้วยว่า ประเทศไทย เป็นภาคีในอนุสัญญาต่อต้านการทรมานและการประติบัติหรือการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Convention against Torture and Other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment : CAT) ข้อ 3 (1) ว่า รัฐภาคีต้องไม่ขับไล่ ส่งกลับ (ผลักดันกลับออกไป) หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง เมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะตกอยู่ภายใต้อันตรายที่จะถูกทรมาน ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐภาคีจำต้องปฏิบัติ ตามหลักการ non refoulement

นอกจากนี้ยังระบุว่า ขณะนี้ รัฐสภาไทยได้มีมติรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. … เพื่อให้การกระทำทรมาน การกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรี และการบังคับบุคคลให้สูญหายเป็นความผิดทางอาญา โดยประธานสภาผู้แทนราษฎรได้บรรจุร่าง พรบ. ดังกล่าวเป็นวาระเร่งด่วนตามการร้องขอของนายกรัฐมนตรี ซึ่งในร่าง พ.ร.บ. ฉบับของรัฐบาล มาตรา 12 ได้ระบุห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐขับไล่ ส่งกลับ หรือส่งบุคคลเป็นผู้ร้ายข้ามแดนไปยังอีกรัฐหนึ่ง หากมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าบุคคลนั้นจะไปตกอยู่ในอันตรายที่จะถูกกระทำทรมานหรือจากการกระทำให้บุคคลสูญหาย

ทีลากา สุลาทีเรห์ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มจัสติซ ฟอร์ ซิสเตอร์ส (Justice for Sisters) ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวของคนข้ามเพศมาเลเซีย กล่าวกับเอเอฟพีว่า "การตามไล่ลา นูร ซาญัต อย่างต่อเนื่อง สะท้อนถึงบรรยากาศของการกดขี่ที่มีต่อคน LGBT ในมาเลเซีย"

"ตำรวจต้องเลิกสอบสวนและคุกคามซาญัตทุกอย่างทันที" เธอกล่าวกับเอเอฟพี

มาเลเซียซึ่งเป็นประเทศที่มีคนหลากหลายเชื้อชาติใช้ระบบสองศาล โดยศาลชารีอะห์จะไต่สวนคดีบางส่วนของพลเมืองที่เป็นมุสลิม

เอเอฟพีระบุว่า การดำเนินคดีที่เพิ่มมากขึ้นต่อกลุ่มคน LGBT ในมาเลเซีย ภายใต้กฎหมายอิสลามที่เข้มงวด ทำให้เกิดความกังวลขึ้น โดยคดีที่ผ่านมารวมถึง การเฆี่ยนผู้หญิง 2 คนในปี 2018 หลังจากพวกเธอถูกตัดสินว่ามีความผิดจากการมีเพศสัมพันธ์

ประชากรราว 60% ในมาเลเซียเป็นมุสลิม นอกจากนี้มาเลเซียยังมีพลเมืองเชื้อสายจีนและอินเดียจำนวนมากรวมอยู่ด้วย

ทางการไทยว่าอย่างไร

บีบีซีไทย สอบถามไปที่ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (สตม.) ในฐานะเป็นโฆษก สตม. เมื่อ 22 ก.ย. ได้รับคำตอบจากสารวัตรเวรหน้าห้องประจำวันว่า "นายให้นโยบายว่า ยังไม่ขอตอบกรณีนี้"

รอยเตอร์อ้างถ้อยแถลงของ พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ว่า ทางการไทยกำลังดำเนินกระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักระยะในการพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ด้านนายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของไทยกล่าวว่า รัฐบาลกำลังพิจารณาคำขอให้ส่งตัวให้มาเลเซีย "บนพื้นฐานของกฎหมายและหลักการด้านมนุษยธรรมของประเทศไทย"