"ย้ายประเทศกันเถอะ" : คุยกับผู้ก่อตั้งกลุ่มคนอยากย้ายถิ่นที่มีคนร่วมเกือบ 6 แสนคนภายใน 3 วัน

  • ก้าวหน้า พงศ์พิพัฒน์
  • บีบีซีไทย
ย้ายประเทศกันเถอะ

ที่มาของภาพ, facebook/ย้ายประเทศกันเถอะ

การปฏิเสธไม่ให้แกนนำเคลื่อนไหวทางการเมืองได้รับการประกันตัว คำถามต่อกระบวนการยุติธรรมของศาล และประสิทธิภาพของรัฐในการจัดการเรื่องวัคซีน - เหล่านี้คือสิ่งที่ผู้ก่อตั้งกลุ่มเฟซบุ๊ก "ย้ายประเทศกันเถอะ" บอกกับบีบีซีไทยว่า "เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้คนรู้สึกว่าชีวิตที่นี่มันไม่โอเคแล้ว...อยากไปอยู่ในที่ที่ดีกว่านี้"

จากที่วางแผนจะ "ทำขำ ๆ ไม่ได้ซีเรียส" แค่ 3 วันผ่านไป กลุ่มเฟซบุ๊กกลุ่มนี้มีสมาชิกเข้าร่วมใกล้ 6 แสนคนเข้าไปทุกทีแล้ว โดย "แอดมิน" ผู้ขอสงวนชื่อจริงผู้นี้เปิดพื้นที่ให้คนมาแชร์ข้อมูล 4 ประเภทหลักผ่านแฮชแท็ก #รีวิวประเทศ, #แนะนำสายงาน #การเตรียมตัวและวีซ่า และ #วิธีฝึกภาษา โดยวันนี้ (3 พ.ค.) วันเดียวมีสมาชิกเข้าไปโพสต์เกือบ 5,000 โพสต์แล้ว

ส่วนหนึ่งของโพสต์โดยสมาชิกกลุ่มที่อาศัยอยู่ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐอเมริการะบุว่า "...อยู่ต่างประเทศมันไม่สบายหรอก แต่มันคุ้มค่าเหนื่อยและมันมองเห็นอนาคตที่สดใสกว่า" ขณะที่สมาชิกอีกคนเข้ามาตั้งคำถามไว้ว่า "งานสายกฎหมายพอจะมีลู่ทางไปทำงานหรือปักหลักต่างประเทศไหมคะ"

แกนนำประกาศให้ผู้ชุมนุมชู 3 นิ้วต้อนรับรุ้ง-ปนัสยา ที่ทำภารกิจยื่นข้อเรียกร้องในการปฏิรูปสถาบันฯ ได้สำเร็จ

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, นักวิชาการด้านสังคมวิทยาและมานุษยวิทยาเชื่อว่า ในจำนวนสมาชิกกว่า 5 แสนคน มีเกินกว่า 80% ที่ออกมาชุมนุมหรือสนับสนุนการชุมนุมของคณะราษฎร

แอดมินวัย 29 ปีผู้นี้เล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า รู้สึกตกใจที่มีคนเข้าร่วมกลุ่มล้นหลามขนาดนี้ ในฐานะเจ้าของธุรกิจร้านอาหารและบาร์ ในตอนแรก เขาเพียงต้องการตั้งกลุ่มเพื่อพูดคุยกับเพื่อนไม่กี่คนเรื่องผลกระทบจากมาตรการรับมือโควิด-19 โดยบอกว่าการจัดการที่ "ห่วย" ของรัฐบาลชุดนี้ ทำให้ตัวเองเริ่มคิดอยากไปลงทุนที่ประเทศอื่นเพื่อกระจายความเสี่ยง

จากสมาชิกไม่กี่คนกลายเป็นหลายแสน แม้จะตกใจ แต่เขาก็เข้าใจความรู้สึกของคนเหล่านี้ "มันสะท้อนให้เห็นว่าคนสิ้นหวังกับระบบการบริหารประเทศ...รู้สึกว่าสู้ต่อไปก็ไม่รู้ว่าในชีวิตนี้เขาจะได้ในสิ่งที่เขาต้องการหรือเปล่า สู้ไปตายเอาดาบหน้าหรือว่าหาโอกาสที่มันดีกว่านี้ดีกว่า"

ปรากฏการณ์นี้ทำให้หลายคนนึกถึงกลุ่มเฟซบุ๊ก "รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส" และ "รอยัลลิสต์มาร์เก็ตเพลส-ตลาดหลวง" ที่ ดร.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ เปิดให้พูดคุยเกี่ยวกับกับสถาบันกษัตริย์และมีสมาชิกทะลุล้านในช่วงเวลาไม่นาน แอดมินผู้นี้ก็ยอมรับว่ากลุ่มของเขาเกี่ยวกับการเมืองจริง แต่ก็พยายามไม่ให้มีการด่าทอและใช้ถ้อยคำเกลียดชังทางการเมือง

a banner reading "The Royalist Market Place"

ที่มาของภาพ, Reuters

แอดมินบอกว่าตัวเขาเองอยู่ฝั่งประชาธิปไตย "ด่ามาตลอด ด่ามาหลายปี ด่าทุกวัน ตลาดหลวงก็อยู่ ม็อบก็ไป" แต่เพราะบริบทของกลุ่มนี้คือสำหรับผู้ต้องการหาข้อมูลเพื่อย้ายประเทศ จึงอนุมัติแค่โพสต์ที่ตรงกับจุดประสงค์ของกลุ่มเท่านั้น

กลุ่ม "ย้ายประเทศกันเถอะ" ยังมีการจัดสัมมนาหัวข้อต่าง ๆ ผ่านแอปพลิเคชันซูมทุกวันโดยผู้มีประสบการณ์ตรง ไม่ว่าจะเป็นจาก #ทีมอังกฤษ "เรียนต่อ 1 ปี ได้ทำงานต่อ 2-3 ปี", #ทีมแคนาดา "เจาะลึกการขอวีซ่า" หรือ #ทีมไต้หวัน "เรียนต่อ ทำงานและแต่งงาน" เป็นต้น

นอกจากนี้ แอดมินยังบอกว่าจะมีการจัดการสอนภาษาอังกฤษให้คนที่วางแผนจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศแต่มีปัญหาเรื่องภาษา โดยตอนนี้มีอาสาสมัครจะมาช่วยสอนกว่าร้อยคนแล้ว

facebook/ย้ายประเทศกันเถอะ

ที่มาของภาพ, facebook/ย้ายประเทศกันเถอะ

"เราไม่ได้ทำเพื่อจะเอาความสะใจทางการเมือง ไม่ได้อยากให้เขารู้สึกว่า เป็นไง กูรวมได้ห้าแสนคน" แอดมินกล่าว "เราต้องการให้คนที่เขาหมดความหวังกับที่นี่แล้วได้มีความหวังอีกครั้งหนึ่ง"

เขาย้ำว่ากลุ่มที่ตั้งขึ้นมาไม่ได้มีช่องทางสำหรับหารายได้ แต่ถ้าคนได้รับแรงบันดาลใจจากข้อมูลหรือจากคำพูดของคนที่เชิญมาบรรยาย ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จแล้ว

ความไม่มั่นคงทางชีวิต

รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร รองคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชื่อว่า ในจำนวนสมาชิกกว่า 5 แสนคน มีเกินกว่า 80% แน่ ๆ ที่ออกมาชุมนุมหรือสนับสนุนการชุมนุมของคณะราษฎร

"มันเห็นได้ชัดว่าประเทศนี้มันดูสิ้นหวังเหลือเกินสำหรับคนรุ่นใหม่" รศ.ดร. ยุกติ กล่าว โดยบอกว่าเงื่อนไขสำคัญหนึ่งของปรากฏการณ์ในครั้งนี้คือการมีโซเชียลมีเดีย ทำให้รู้ว่าคนที่คิดเหมือนกันมีนับแสน ไม่ใช่แค่กับเพื่อน หรือญาติพี่น้องไม่กี่คนเท่านั้น

อาจารย์สังคมวิทยาและมานุษยวิทยาผู้นี้บอกว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญคือ หนึ่ง ความไม่มั่นคงของชีวิตอย่างเรื่องการเมืองและอนาคตที่ประชาชนไม่สามารถเลือกเองได้ และสอง ความล้มเหลวในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ และการรับมือกับโควิด-19 โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการจัดการเรื่องวัคซีน

"ตกต่ำไปเรื่อย ๆ เหมือนเป็นฟางเส้นสุดท้าย สุดท้าย สุดท้ายไปเรื่อย ๆ"

รศ.ดร.ยุกติ เล่าว่า ในอดีต แรงงานไทยที่อพยพไปทำงานต่างประเทศจะเป็นในภาคเกษตรกรรมหรือก่อสร้างในประเทศที่ร่ำรวยกว่า อาทิ ประเทศในตะวันออกกลาง หรือที่ไป "เสี่ยงโชค" หางานเก็บเงินในสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา ก็เริ่มกลับมาเพราะเศรษฐกิจในไทยเองก็เริ่มจะดีขึ้น

ยุกติเห็นว่าการที่คนรุ่นใหม่เติบโตมากับโซเชียลมีเดีย ทำให้เกิดการรวมตัวแนวนอน และเป็นลักษณะเครือข่ายที่ไม่สามารถควบคุมได้ มีข้อเสียคือยากจะตั้งองค์กร ส่วนข้อดีคือเหมาะแก่การเคลื่อนไหวในเรื่องที่สุ่มเสี่ยง

ที่มาของภาพ, Hataikarn Treesuwan/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร รองคณบดีคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แต่รูปแบบของการพยายามย้ายถิ่นในตอนนี้ทำให้ รศ.ดร.ยุกติ นึกถึงคนไต้หวันที่พยายามย้ายถิ่นเนื่องจากความไม่แน่นอนทางการเมืองเพราะจีน หรือคนเกาหลีจำนวนมากที่จะย้ายไปตั้งรกรากที่สหรัฐฯ ไม่ว่าจะด้วยการส่งลูกไปเรียนต่อ หรือไปมีลูกที่นั่น และในทางเดียวกัน รศ.ดร.ยุกติ บอกว่า ลักษณะของกลุ่มคนไทยที่คิดอยากจะย้ายไปต่างประเทศในตอนนี้ต่างจากในอดีตตรงที่เป็นกลุ่มคนที่มีทุนทั้งทางเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ซึ่งก็คือมีการศึกษา และตั้งใจจะย้ายไปโดยถาวร

ท้ายที่สุด รศ.ดร.ยุกติ มองว่า อาจมีคนจำนวนหนึ่งย้ายถิ่นออกจากไทยไปจริง ๆ แต่อีกแง่หนึ่ง ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็อาจจะเป็นอีกวิธีในการสื่อสารให้เห็นปัญหาของประเทศที่ "ไปอีกระดับ ที่ทำให้คนรู้สึกว่ามันทนไม่ได้มากขึ้น"

เสียงคนส่วนใหญ่ ?

จริงอยู่ที่จำนวนสมาชิก 5 แสนคนภายในไม่กี่วันเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ แต่บางฝ่ายก็ตั้งข้อสังเกตว่าเป็นแค่คนส่วนน้อย และและไม่ได้สะท้อนปัญหาหรือความรู้สึกของประชาชนส่วนใหญ่

ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า เคยไปอยู่ที่นครนิวยอร์กอยู่เกือบ 6 ปี และเคยคิดจะไม่กลับไทย แต่ก็พบว่าตนเป็นได้แค่ "พลเมืองชั้นสอง" และต้องเจอกับความอคติมากมาย

"ชาติบ้านเมืองของเรา อาจจะวุ่นวายไปบ้าง มีความแตกแยก มีคนเลว มีนักการเมืองเลว มีประชาชนเลวและเห็นแก่ตัว มีต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในประเทศ มีการกลั่นแกล้งรังแกกัน แต่ถ้าเรายึดมั่นในการทำความดีเพื่อชาติบ้านเมือง ผมเชื่อมั่นว่าแล้วความดีจะคุ้มครองเรา อยู่ที่ไหน ทำเพื่อใครก็ไม่เท่ากับทำให้แผ่นดินเกิด" ดร.อานนท์ ระบุ โดยอาจารย์นิด้าผู้นี้ปิดท้ายว่า "ฝากให้คนชังชาติที่คิดจะไปอยู่บ้านเมืองอื่น ชาติอื่น แล้วสักวันคุณจะเข้าใจ"

เมื่อถามว่าจำนวนสมาชิกสามารถสะท้อนภาพใหญ่ของประเทศไทยได้หรือไม่ แอดมินผู้นี้มองว่า หากมองว่าจำนวนคน 5 แสนคนเป็นประชากรของจังหวัดจังหวัดหนึ่ง และลองคิดต่อว่าแต่ละคนซื้อของวันแค่ละ 100 บาท โดยเสียภาษีมูลค่าเพิ่มคนละ 7 บาท "คูณไป วันนึงกี่ตังค์ เดือนนึงเท่าไหร่ สิบปีเท่าไหร่" เขาบอกว่า จึงเป็นเรื่องที่ "ผิดมาก" ถ้าจะบอกว่าจำนวนคนเหล่านี้ไม่ได้เป็นตัวแทนของประชากรจำนวนมากและจะไม่ได้ส่งผลต่อเศรษฐกิจและสังคม

เขาบอกว่าในจำนวนคน 5 แสนคนนี้ มีคนที่อายุตั้งแต่ 10 กว่าไปจนถึง 40 กว่า ๆ เป็นกลุ่มคนทำงาน เป็นความหวังของประเทศชาติ

"สมมติว่า[ถ้าคนห้าแสนคน]ไม่อยู่แล้วอะ ใครจะพัฒนาประเทศ แม้กระทั่งคนที่บอก[คนอื่น]ว่า 'ออกไปเลย' สุดท้ายถ้าไม่มีภาษีกลับมาตอนที่คุณแก่ คุณจะไปเอารัฐสวัสดิการที่ไหนที่กลับมารักษาพยาบาล"

หนุ่มวัย 29 ปีผู้นี้บอกว่าจริงอยู่ที่คนที่สามารถย้ายประเทศจริง ๆ จะน้อยกว่านั้นมาก "แต่มันน่าจะสะท้อนอะไรบางอย่าง ...คุณบริหารประเทศแบบเนี้ย ทำให้คน 5 แสนคนใน 3 วันอะ เขาหมดหวังกับประเทศนี้ได้เลย คนที่เคยมีไฟ อยากพัฒนาประเทศ คนที่รักพ่อรักแม่ รักอาหารไทย รักทุกอย่าง แต่รู้สึกว่าอยู่ไม่ได้แล้วอะ ...คุณต้องย้อนกลับมาดูตัวเองว่า คุณทำงานและบริหารอะคุ้มค้ากับภาษีที่ประชาชนจ่าย เขาถึงรู้สึกแย่ขนาดนี้"