โควิด-19 : ผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 34 คน โฆษก ศบค.โชว์ตัวเลขส่งตรวจเชื้อสัปดาห์เดียวกว่า 16,000 ตัวอย่าง

Covid-19

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทย วันนี้ (14 เม.ย.) มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 34 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย เป็นพนักงานขับรถโดยสารประจำทางของ ขสมก. สาย ปอ.140

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ระบุว่า ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลงเป็นผลจาก 7 วันก่อนหน้านี้ ซึ่งจะยังเห็นตัวเลขที่ขึ้นและลงสลับกัน แต่ยังแนะว่ายังคงต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำตามมาตรการก่อนหน้านี้

ยอดผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น 34 ราย เป็นผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้า 27 ราย ทำให้ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 2,613 ราย รักษาหายกลับบ้านแล้ว 1,405 ราย ส่วนยอดผู้เสียชีวิตสะสมมีทั้งหมด 41 ราย

"ผู้ป่วยหาย ทำให้เตียงว่างมากขึ้น ผู้ชายมากกว่าผู้หญิงเหมือนเดิม แต่กลุ่มก้อนที่ติดเชื้อมากสุดคือกลุ่มอายุ 30-39 ปี มีทั้งหมด 623 ราย" โฆษก ศบค.กล่าว และระบุข้อมูลว่าผู้ป่วยที่อายุน้อยที่สุด คือ เด็กวัย 1 เดือน

รายละเอียดผู้เสียชีวิต 1 ราย ซึ่งเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 41 ในไทย เป็นหญิงชาวไทย อายุ 52 ปี อาชีพพนักงานขับรถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.) สาย ปอ. 140 มีโรคประจำตัว คือความดันโลหิตสูง และหัวใจโต มีประวัติสังสรรค์กับเพื่อน ซึ่งหนึ่งในกลุ่มเพื่อนเป็นผู้ที่ติดเชื้อมาก่อน โดยในกลุ่มสังสรรค์ดังกล่าวพบผู้ติดเชื้อถึง 10 ราย

วันที่ 26 มี.ค. เริ่มมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ เข้ารับการตรวจที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ ก่อนกลับไปทำงาน ต่อมาวันที่ 3 เม.ย. อาการหนักขึ้นมีไข้ ถ่ายเหลว หอบเหนื่อย จึงเข้ารับการรักษา ยืนยันผลตรวจว่าติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หลังจากนั้นอาการแย่ลงจนเสียชีวิตเมื่อวันที่ 12 เม.ย.

สำหรับข้อมูลการติดตามช่วงการปฏิบัติงานของพนักงานคนดังกล่าว วานนี้ (13 เม.ย.) นายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) เปิดเผยว่า พนักงานขับรถหญิงได้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.-1 เม.ย. จำนวน 6 คัน ในเส้นทางอู่แสมดำ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อมีผลยืนยันว่าพนักงานติดเชื้อไวรัส ได้สั่งพักการใช้งานรถโดยสารปรับอากาศ สาย 140 คันที่พนักงานขับรถขึ้นปฏิบัติหน้าที่ เพื่อดำเนินการฉีดพ่น ผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรค และทำความสะอาดอุปกรณ์ต่าง ๆภายในรถโดยสารรวมทั้ง ฉีดพ่นผลิตภัณฑ์ฆ่าเชื้อโรคบริเวณท่าปล่อยรถ สำนักงาน โรงอาหาร ห้องสุขา ของเขตการเดินรถที่ 5

ขสมก. ยังแจ้งว่า หากประชาชนที่ใช้บริการรถโดยสารประจำทางสาย 140 หมายเลขที่ระบุไว้ หากมีอาการ ไอ จาม เป็นไข้ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก หรือสงสัยว่าตนเองจะได้รับเชื้อโควิด-19 ให้ติดต่อกรมควบคุมโรค

ผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยืนยันวันนี้มีทั้งหมด 34 ราย แบ่งเป็นกลุ่มดังนี้

  • ผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้า 27 ราย
  • ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4 ราย
  • คนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 2 ราย ได้แก่ จากอิตาลี และมาเลเซีย
  • กลุ่มที่ไปสถานที่ชุมนุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 1 ราย
  • กลุ่มอาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในที่แออัด ใกล้ชิดกับคนต่างชาติ 1 ราย
  • กลุ่มที่รอสอบสวนโรค 2 ราย
  • กลุ่มที่เดินทางมาจากต่างประเทศ (อินโดนีเซีย) และเข้าสู่การกักตัวในสถานที่ที่รัฐกำหนด 1 ราย ใน จ.สตูล

โชว์ตัวเลขสัปดาห์เดียวเก็บตัวอย่างส่งตรวจได้กว่า 16,000 ตัวอย่าง

Covid-19

ที่มาของภาพ, THAI NEWA PIX

สำหรับข้อสังเกตของตัวเลขผู้ติดเชื้อที่ลดลงที่มีการตั้งคำถามเป็นเพราะประเทศไทยตรวจน้อยหรือไม่ นพ.ทวีศิลป์ ชี้แจงว่า ตั้งแต่เดือน ก.พ. ถึงวันที่ 10 เม.ย. มีจำนวนตัวอย่างที่ได้รับการตรวจโควิด-19 สะสมรวม 100,498 ตัวอย่าง โดย 1 สัปดาห์ล่าสุด (4-10 เม.ย.) สามารถตรวจเพิ่มได้ 16,490 ตัวอย่าง จำนวนส่งตรวจมากที่สุดที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

โฆษก ศบค. ยอมรับว่าในช่วงแรกอาจสามารถส่งตรวจได้น้อย แต่ขอความเห็นใจว่าช่วงนั้นไทยไม่ได้ผลิตน้ำยาได้เอง อีกทั้งเครื่องที่ตรวจต้องสั่งซื้อเข้ามา แต่ขณะนี้กำลังปรับเพิ่มขึ้น โดยทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กำลังเร่งทำระบบเพื่อรายงานตัวเลขการตรวจรายวันต่อไป

องค์การอนามัยโลกชม อสม.ไทย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย (WHO) ชื่นชมระบบสุขภาพของประเทศไทย โดยเฉพาะ "อสม." หรืออาสาสมัครสาธารณสุขทั่วประเทศที่มีจำนวนกว่า 1,040,000 คน ทำหน้าที่ให้การดูแลสุขภาพประชาชนในท้องถิ่นเป็นไปได้อย่างครอบคลุมและลดการแพร่ระบาดในพื้นที่ โดย องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความชื่นชมผ่านบัญชีทวิตเตอร์ว่า ผู้ป่วยรายใหม่กว่าครึ่งหนึ่งของไทยรักษาหายแล้ว และกล่าวถึงอาสาสมัครสุขภาพในชุมชนที่ทำหน้าที่เยี่ยมเยียน ให้ข้อมูลทางสุขภาพและรายงานผล

"WHO ประจำประเทศไทยบอกชมเลยครับว่า ด้านหนึ่งที่ดีเพราะว่าเรามีระบบการดูแลสุขภาพถึงระดับครอบครัว คือมีอาสาสมัครสาธารณสุข...นี่คือความภาคภูมิใจของประเทศไทย"