แก้รัฐธรรมนูญ: ศาลรัฐธรรมนูญชี้สภามีอำนาจร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องจัดให้ลงประชามติ

ร่าง กมธ.รธน.

ที่มาของภาพ, THAI NEWS PIX

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยรัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรกให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สองเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

เอกสารข่าวของศาลรัฐธรรมนูญได้เผยแพร่ผลการพิจารณาคำร้องที่รัฐสภาขอให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตามที่นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐและ นายสมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา เสนอญัตติ เมื่อเวลาประมาณ 15.35 น. วันนี้ (11 มี.ค.)

คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญมีขึ้นหลังจากที่ที่ประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 ก.พ. เห็นชอบกับญัตติด่วนของนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมชาย แสวงการ ส.ว. ที่ขอให้รัฐสภาพิจารณาส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 ของรัฐสภา เพื่อตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ ด้วยคะแนน 366 ต่อ 315 งดออกเสียง 15 เสียง

หลังจากนั้นศาลได้รับคำร้องไว้วินิจฉัยเมื่อวันที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา และได้มีคำสั่งให้ผู้เกี่ยวข้อง 4 คน อันได้แก่ อดีตคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ฉบับปี 2560 ซึ่งมีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ นายอุดม รัฐอมฤต ทำความเห็นเป็นหนังสือส่งมายังศาลรัฐธรรมนูญมติศาลรัฐธรรมนูญ สั่งจัดทำประชามติก่อนรัฐสภาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ไม่รับคำร้อง ณฐพร โตประยูร กรณีล้มล้างการปกครอง

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ยังมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของนายณฐพร โตประยูร ที่ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยว่า การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทร แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ..) พุทธศักราช .... ต่อประธานรัฐสภา 2 ฉบับ ได้แก่ ร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติมของพรรคร่วมฝ่ายค้านที่เสนอโดยนายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ และคณะ (ผู้ถูกร้องที่ 1) ซึ่งเป็นพรรคร่วมฝ่ายค้าน และร่างฯ แก้ไขเพิ่มเติมที่เสนอโดยนายวิรัช รัตนเศรษฐ และคณะ (ผู้ถูกร้องที่ 2) ซึ่งเป็นร่างฯ ของพรรคร่วมรัฐบาล เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 มาตรา 49 มาตรา 255 และมาตรา 256 ประกอบมาตรา 5

นายณฐพร ร้องว่าการเสนอร่างรัฐธรรมนูญทั้งสองฉบับเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

ณฐพร โตประยูร

ที่มาของภาพ, Wasawat Lukharang/BBC Thai

คำบรรยายภาพ, ณฐพร โตประยูร

ผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอและยังห่างไกลเกินเหตุที่จะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง จึงมีมติสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นย่อมตกไป

ศาลรัฐธรรมนูญยังมีมติเอกฉันท์ไม่รับคำร้องของนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ไว้พิจารณา กรณีที่นายเรืองไกร ยื่นคำร้องให้วินิจฉัยว่าสมาชิกรัฐสภาที่ลงมติรับหลักการร่างฯ แก้ไขรัฐธรรมนูญ สองญัตติ ได้แก่ ญัตติที่ 1 สมาชิกรัฐสภา 576 คน และญัตติที่ 2 สมาชิกรัฐสภา 647 คน ใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และขอให้มีคำสั่งให้ประธานรัฐสภาสั่งระงับให้มีการพิจารณาในวาระสองและวาระสาม

ผลการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญระบุว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้งสองยังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงที่ชัดเจนเพียงพอและยังห่างไกลเกินเหตุที่จะเป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง จึงมีมติสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัย เมื่อมีคำสั่งไม่รับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยแล้ว คำขออื่นย่อมตกไป

line

เส้นทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

6 เม.ย. 2560 ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มีเนื้อหา 16 หมวด 279 มาตรา

18 ธ.ค. 2562 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 จำนวน 49 คน ซึ่งนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ได้รับเลือกให้เป็นประธาน กมธ. ในการประชุมครั้งแรกเมื่อ 24 ธ.ค. 2562

13 มี.ค. 2563 กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เชิญนักศึกษาและคนรุ่นใหม่ที่จัด "แฟลชม็อบ" ในช่วงต้นปี 2563 เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ มาให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2560

31 ส.ค. 2563 กมธ. วิสามัญพิจารณาศึกษาหลักเกณฑ์และวิธีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ส่งมอบรายงานที่มีความหนา 145 หน้า ต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภา ซึ่งเป็นรายงานที่ตั้งข้อสังเกต สะท้อนปัญหาและขอเสนอแนะต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560

24 ก.ย. 2563 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติเสียงข้างมากให้ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญก่อนรับหลักการ

18 พ.ย. 2563 สมาชิกรัฐสภาพิจารณาญัตติร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 7 ฉบับที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล พรรคฝ่ายค้านและร่างฉบับภาคประชาชน ผลลงมติปรากฏว่าที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา มีมติรับหลักการร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้ตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ของพรรคร่วมรัฐบาล และพรรคฝ่ายค้าน 2 ร่าง ขณะที่ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญอีก 5 ฉบับ ของฝ่ายค้าน รวมทั้งร่างฉบับภาคประชาชนที่เสนอโดยกลุ่มไอลอว์ถูก "โหวตคว่ำ"

9 ก.พ. 2564 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาญัตติด่วน เรื่อง ขอเสนอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) เกี่ยวกับการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) มาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นญัตติที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ และ นายสมชาย แสวงการ ส.ว. เป็นผู้เสนอเนื่องจากเห็นว่าทำได้เพียงแก้ไขรายมาตราเท่านั้น ซึ่งสุดท้ายที่ประชุมสภามีมติเสียงข้างมากให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าสามารถตั้ง ส.ส.ร. มายกร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่

18 ก.พ. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งรับคำร้องที่รัฐสภาขอให้วินิจฉัยว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญตามมาตรา 256 เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

25 ก.พ. 2564 ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีเนื้อหา 5 มาตรา ผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาในวาระที่ 2 (พิจารณาเป็นรายมาตรา) ซึ่งมีสาระสำคัญคือการแก้ไขวิธีการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 เพื่อเปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง 200 คน ขึ้นมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

11 มี.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมาก วินิจฉัยรัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แต่ต้องจัดทำประชามติ 2 ครั้ง ครั้งแรกให้ประชาชนลงมติว่าต้องการให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และครั้งที่สองเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ต้องจัดให้มีการลงประชามติว่าจะรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่