ชุมนุม 19 กันยา: "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ยืนยัน 2 เงื่อนไข จัดชุมนุมใน มธ. และปราศรัยปฏิรูปสถาบันฯ

นักศึกษาวางพวงหรีด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล แกนนำกลุ่มธรรมศาสตร์และการชุมนุมวางพวงหรีดบริเวณหน้ารูปปั้น ปรีดี พนมยงค์ ภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เพื่อไว้อาลัยต่อการตัดสินใจของผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่ไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่มหาวิทยาลัยจัดการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย.

แกนนำนักศึกษาในนามกลุ่ม "แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม" ยืนยัน 2 เงื่อนไข ต้องปราศรัยเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ และใช้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ท่าพระจันทร์ จัดการชุมนุมในวันที่ 19 ก.ย. หลังผู้บริหารมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่เพราะ "หนังสือที่ขออนุญาตไม่เข้าเงื่อนไขให้จัดการชุมนุมได้"

น.ส. ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล นักศึกษาคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มธ. ในฐานะแกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ได้วางพวงหรีดแสดงความอาลัยต่อจิตวิญญาณของ มธ. บริเวณอนุสาวรีย์ ศ.ปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง ช่วงสายวันนี้ (11 ก.ย.)

เธอเปิดแถลงข่าวประณามการตัดสินใจของผู้บริหาร มธ. ภายใต้การนำของ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี ที่ "ผลักนักศึกษาออกไปชุมนุมภายนอกมหาวิทยาลัย และต้องเผชิญกับอันตราย ทั้งที่ มธ. บอกว่ามีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว และมีประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยอันยาวนาน" พร้อมเรียกหา "จิตวิญญาณธรรมศาสตร์" จากอาจารย์ที่มีตำแหน่งบริหาร มธ.

สำหรับนักศึกษาหญิงรายนี้ จิตวิญญาณธรรมศาสตร์หมายถึง "การต่อสู้เพื่อความถูกต้อง ความดีงาม และเพื่อประชาธิปไตย"

วานนี้ (10 ก.ย.) ฝ่ายประชาสัมพันธ์ มธ. ได้เผยแพร่เอกสารระบุว่าทางมหาวิทยาลัยไม่อนุญาตให้กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ใช้พื้นที่ มธ. ท่าพระจันทร์ จัดกิจกรรมจนกว่าจะได้มีการปฏิบัติตามประกาศโดยถูกต้อง

พวงหรีด

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมวางพวงหรีดไว้อาลัย "จิตวิญญาณธรรมศาสตร์"

อย่างไรก็ตามแกนนำกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามประกาศเรื่อง "แนวทางการอนุญาตจัดชุมนุมทางการเมืองของนักศึกษาในพื้นที่ของมหาวิทยาลัย" ลงวันที่ 3 ก.ย. 2563 ทุกประการ ดังนี้

1. มหาวิทยาลัยเป็นพื้นที่ให้นักศึกษาในการแสดงออก รวมถึงการชุมนุมทางการเมือง ทั้งนี้ในขอบเขตของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ

  • ยืนยันว่ามีเสรีภาพในการจัดการชุมนุม และ "จะพูดอะไรก็ได้" ภายในมหาวิทยาลัย

2. การจัดชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่มหาวิทยาลัย ต้องเป็นการจัดโดยกลุ่มกิจกรรมที่สังกัดมหาวิทยาลัยหรือคณะ หากเป็นกลุ่มอิสระ หรือกลุ่มเฉพาะกิจ จะต้องมีอาจารย์ที่ปรึกษาให้การรับรอง ทั้งนี้ในการใช้พื้นที่ต้องขออนุญาตและได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัย

  • มี รศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ อาจารย์คณะสังคมวิทยาฯ ลงนามรับรองหนังสือ

3. เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการจัดชุมนุมทางการเมืองให้เป็นไปโดยเรียบร้อยและปลอดภัย ให้มีการตกลงร่วมกันระหว่างนักศึกษา ผู้จัดชุมนุม เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือ เจ้าหน้าที่รัฐที่รับผิดชอบ และมหาวิทยาลัย ทั้งนี้ ควรจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร โดยมีข้อตกลงในเรื่องเนื้อหาและวิธีการแสดงออกให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมาย และมีมาตรการที่เหมาะสมในการดำเนินการให้เป็นไปตามข้อตกลง อีกทั้งมีมาตรการในการดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของนักศึกษาด้วย

  • มีการทำหนังสือถึงมหาวิทยาลัยแจ้งขอใช้สถานที่, แจ้งรายชื่อผู้ปราศรัย, แจ้งเนื้อหาการปราศรัย แต่ไม่เคยได้รับเชิญจากผู้บริหาร มธ. ให้ไปพูดคุยแม้แต่ครั้งเดียว

กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ นัดหมายชุมนุมภายใต้ชื่อว่า "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" ที่ มธ. ท่าพระจันทร์ และมีแผนปักหลักค้างคืน เคลื่อนพลไปชุมนุมที่ท้องสนามหลวงหากประชาชนล้นหลาม และเดินขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาลในวันที่ 20 ก.ย.

น.ส. ปนัสยาประกาศพร้อมเจรจากับผู้บริหาร มธ. แต่ถ้าไม่ได้รับการสนองตอบ วันที่ 19 ก.ย. ก็จะ "ตัดโซ่" และ "พังประตู" เพื่อบุกเข้าไปชุมนุมภายใน มธ. โดยไม่มีแผนสำรองจัดชุมนุมในสถานที่อื่น

การชุมนุมใหญ่สุดสัปดาห์หน้า ถือเป็นการจัดกิจกรรมครั้งที่ 2 หลังจากทางกลุ่มเคยจัดการชุมนุมที่ใช้ชื่อว่า "ธรรมศาสตร์จะไม่ทน" ที่ มธ. ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. ซึ่งมีการประกาศข้อเรียกร้อง 10 ประการเกี่ยวกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และในวันที่ 19 ก.ย. นี้ น.ส. ปนัสยายืนยันว่า "จะไม่ขอเจรจาประเด็นห้ามพูดถึงการปฏิรูปสถาบันฯ และจะไม่หยุดพูด เพียงเพราะใครมาห้ามไม่ให้พูด"

อย่างไรก็ตามแกนนำหญิงรายนี้เข้าใจว่ามีคนไม่เห็นด้วยเยอะ เพราะถือเป็นเรื่องใหม่ที่มีการพูดจากันในที่สาธารณะ แต่ก็อยากให้เปิดใจรับฟัง เพราะ 10 ข้อเรียกร้องที่นำเสนอไป ก็เพื่อให้สถาบันฯ อยู่ได้ในสังคมปัจจุบัน ไม่ใช่การโจมตี

"มันไม่มีเพดานแล้ว ตอนนี้เป็นการประคับประคองให้ 10 ข้อนั้นสำเร็จ ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาลและสถาบันฯ" น.ส. ปนัสยากล่าว

ก่อนหน้านี้ น.ส. ปนัสยา คาดการณ์ว่าจะมีผู้มาร่วมชุมนุมมาร่วมไม่ต่ำกว่า 50,000-100,000 คน โดยวันนี้เธอเน้นย้ำว่าได้จัดระบบการ์ดอาสาเป็นอย่างดีและผู้ชุมนุมจะไม่ตกอยู่ในอันตรายใด ๆ

ผบ.ตร. ระบุ "รู้ตัวละคร" เบื้องหลังชุมนุม 19 ก.ย.

พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) แถลงถึงการเตรียมรับมือการชุมนุมใหญ่ในวันที่ 19 ก.ย. ว่าได้รับทราบจากฝ่ายข่าวว่าจะมีการชุมนุมในพื้นที่ มธ. ท่าพระจันทร์ ใช้เวลาไม่เกิน 2 วัน แต่หากการเคลื่อนขบวนออกมานอกพื้นที่ เจ้าหน้าที่ก็จะคุยกับแกนนำผู้ชุมนุมหน้างาน

พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าวว่า ขณะนี้ผู้จัดการชุมนุมยังไม่ได้ยื่นขออนุญาตจัดการชุมนุมสาธารณะ ซึ่งตามกฎหมายต้องยื่นภายใน 24 ชั่วโมง

เขากล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว. กลาโหม กำชับให้เจ้าหน้าที่ใช้ความอดทนและอย่าใช้ความรุนแรง เพราะนายกฯ เป็นห่วงเรื่องการปะทะและการยื้อยุดฉุดกระชาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ตำรวจพยายามหลีกเลี่ยงอยู่แล้ว

นักศึกษาชูสามนิ้ว

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ,

ตัวแทนแนวร่วมผู้จัดการชุมนุม "19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร" แถลงข่าวบริเวณด้านหน้าตึกโดม มธ. ท่าพระจันทร์

"ตำรวจไม่สร้างเงื่อนไขแน่นอน รู้อยู่แล้วว่าผู้ชุมนุมเป็นอย่างไร เราระวังตัวอยู่แล้ว ทุกม็อบจะมีแกนนำ มีคนประสานกันอยู่แล้ว อะไรทำได้หรือไม่ได้ก็หารือกัน...ไม่ว่าม็อบอะไรเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ใช่คู่ขัดแย้ง" ผบ.ตร. กล่าว และบอกว่าในวันชุมนุมเขาจะเดินทางไปบัญชาการเหตุการณ์ในพื้นที่ด้วยตัวเอง

"ผมอยู่ในพื้นที่อยู่แล้ว ทุกครั้งที่มีการชุมนุม ไม่เคยไปไหน"

ผู้สื่อข่าวถามว่าการชุมนุมที่จะเกิดขึ้นนี้มีนักการเมืองอยู่เบื้องหลังหรือไม่ พล.ต.อ.จักรทิพย์กล่าว่า "เรื่องนี้ขอไม่เปิดเผยแต่เรารู้ตัวละครอยู่แล้วใครทำอะไรอย่างไรและแบ่งกันอย่างไร"

เขาฝากบอกผู้จัดการชุมนุมว่าขอให้อยู่ในกรอบของกฎหมายและ "ไม่อยากเห็นน้อง ๆ อยู่ในสถานการณ์แบบแกนนำในอดีตที่ต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เป็นความห่วงใยจากตำรวจผู้บังคับใช้กฎหมาย"