โควิด-19 : ตรวจน้อยหรือคุมได้ดี อะไรทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ในไทยลดลง

วัดอุณหภูมิร่างกาย

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, การตั้งด่านตรวจคัดกรองผู้ป่วยโควิด-19 ที่สนามบินตั้งแต่ช่วงแรกของการระบาด เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ไทยควบคุมการระบาดได้ดี
  • Author, กุลธิดา สามะพุทธิ และ ชัยยศ ยงค์เจริญชัย
  • Role, ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย

จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศไทยที่ลดลงจากหลักร้อยเป็นหลักสิบจนเหลือเลขตัวเดียวในสัปดาห์นี้ เป็นทั้งเรื่องน่าดีใจของฝ่ายรัฐ แต่ก็สร้างความสงสัยในหมู่ผู้วิจารณ์

ทุกครั้งที่รายงานว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 (ศบค.) พูดเสมอว่า เป็นเรื่องน่าดีใจและน่าภูมิใจ แต่ยังไม่อาจวางใจได้อย่างเต็มที่

แต่สำหรับผู้ติดตามสถานการณ์บางคน เส้นกราฟผู้ป่วยใหม่ที่ดิ่งลงสวนกระแสประเทศอื่นกลับเป็นเรื่องน่าประหลาดใจและน่าสงสัย จนนำมาสู่คำถามที่ ศบค. กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และกรมควบคุมโรคต้องตอบอยู่บ่อยครั้งนั่นคือ "พบผู้ติดเชื้อน้อยเพราะตรวจหาเชื้อน้อยหรือเปล่า"

เมื่อเจอคำถามนี้บ่อย ๆ เข้า โฆษก ศบค. พูดเชิงตัดพ้อระหว่างการแถลงข่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า "ข้อหานี้ถูกถามประจำเลย ตัวเลขลดลงเป็นเพราะตรวจน้อยหรือเปล่า...ประเด็นเรื่องเราตรวจหาเชื้อน้อยถูกตั้งคำถามมาตั้งแต่เดือน มี.ค.แล้ว"

เขาบอกว่าในช่วงแรก ของการระบาดนั้น การตรวจหาเชื้อมีน้อยจริงเพราะศักยภาพมีจำกัด แต่ในช่วง 3 เดือนหลัง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งพัฒนาและเพิ่มจำนวนห้องปฏิบัติการให้สามารถตรวจเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้มากขึ้น

จิตแพทย์โฆษก อธิบายด้วยว่า จากการศึกษาและประเมินอย่างรอบด้าน ไทยเลือกไม่ใช้วิธีการตรวจหาเชื้อแบบ "ปูพรม" แต่เลือกเจาะตรวจกลุ่มที่มีความเสี่ยง เช่น ผู้ที่มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ประกอบอาชีพเสี่ยงหรืออยู่ในสถานที่ที่ต้องพบคนจำนวนมาก และผู้ป่วยที่มีอาการเข้าเกณฑ์ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญเห็นตรงกันว่ามีประสิทธิภาพในการพบผู้ติดเชื้อมากกว่า เหมาะกับสถานการณ์และศักยภาพของไทยมากกว่า ลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ได้ดีกว่า อีกทั้งยังใช้งบประมาณและทรัพยากรน้อยกว่าอีกด้วย

ไทยควรทบทวนมาตรการตรวจหาเชื้อ ?

นพ.วิลเลียม อัลดิส อดีตผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยเป็นคนหนึ่งที่แสดงความเห็นและมีข้อเสนอถึงแนวทางการตรวจหาเชื้อของไทย

สำนักข่าวบลูมเบิร์กอ้างคำให้สัมภาษณ์ ของนพ.อัลดิส ในข่าวที่เผยแพร่เมื่อ 20 เม.ย. ว่า แนวทางการตรวจหาเชื้อของไทยที่มุ่งเน้นการตรวจกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยที่มีอาการเข้าเกณฑ์นั้นเหมาะกับวัตถุประสงค์ทางการแพทย์และการรักษา แต่ไม่เหมาะกับการเฝ้าระวังการติดเชื้อในประชากร

คนใส่หน้ากากอนามัย

ที่มาของภาพ, Getty Images

นพ.อัลดิส ซึ่งปัจจุบันเป็นอาจารย์ประจำคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอให้ไทยเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับการตรวจหาเชื้อมาเป็นการเฝ้าระวังเฉพาะกลุ่มเฉพาะพื้นที่ (sentinel surveillance) ซึ่งทำได้ด้วยการเลือกประชากรกลุ่มตัวอย่างขึ้นมาในแต่ละจังหวัด และทำการตรวจหาเชื้อซ้ำ ๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อที่จะได้รู้แบบแผนการติดเชื้อในกลุ่มประชากรในพื้นที่นั้น ๆ

อดีตผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยเชื่อว่าวิธีการตรวจหาเชื้อแบบนี้จะช่วยให้ทางการไทยได้ข้อมูลที่หนักแน่น "ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยยังไม่มี" เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบาย

ตรวจมากแค่ไหนจึงถือว่ามากพอ

ในฐานะที่เป็น "คีย์แมน" ผู้อยู่เบื้องหลังการจัดทัพรับศึกโควิด-19 ของไทย นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค จึงเป็นหนึ่งในผู้ที่ตอบคำถามและอธิบายเรื่องแนวทางการตรวจหาเชื้อของไทยได้ดีที่สุด

นพ.ธนรักษ์ทำหน้าที่ชี้แจง "ข้อหา" เรื่องเจอผู้ติดเชื้อน้อยเพราะตรวจหาเชื้อน้อยมาหลายครั้งในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา ครั้งล่าสุดที่เขาพูดเรื่องนี้อย่างละเอียดคือในการให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษกับโจนาธาน เฮด รองประธานสโมสรผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย เมื่อ 17 เม.ย.ที่ผ่านมา

นพ.ธนรักษ์ไม่ได้ปฏิเสธว่าการตรวจหาเชื้อของไทยนั้นน้อยเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้หรือเยอรมนี แต่เขาบอกว่าสิ่งที่ไทยทำตั้งแต่วันแรก ๆ ที่พบผู้ป่วยคือพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการให้สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้

ห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อโรค

ที่มาของภาพ, Getty Images

คำบรรยายภาพ, เจ้าหน้าที่ศูนย์โรคติดต่ออุบัติใหม่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กำลังตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

"จากที่มีห้องแล็บไม่ถึง 10 แห่งที่ตรวจได้ในเดือน ม.ค. ขณะนี้ไทยมีห้องแล็บที่ตรวจหาไวรัสโคโรนาได้มากกว่า 80 แห่งแล้ว และภายในสิ้นเดือน เม.ย.นี้คาดว่าจะเพิ่มเป็นมากกว่า 100 แห่ง ขณะที่ความสามารถในการตรวจตัวอย่างก็เพิ่มขึ้นจากเพียงวันละ 100-200 ตัวอย่างช่วงต้นเดือน ม.ค. มาเป็นกว่า 20,000 ตัวอย่างต่อวันในปัจจุบัน" รองอธิบดีกรมควบคุมโรคระบุ

"การพัฒนาศักยภาพของเราในการตรวจหาเชื้ออาจไม่เร็วพออย่างที่หลายคนต้องการ แต่ผมบอกได้เลยว่าเราพัฒนาได้เร็วพอที่จะรับมือกับสถานการณ์การระบาดในประเทศ"

งบ 2 ล้าน ตรวจ 1,000 คน พบ 1 คน

เขาให้ข้อมูลว่าอัตราการตรวจพบผู้ติดเชื้อของไทยในประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่ที่ประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ กล่าวคือใน 100 ตัวอย่างจะตรวจพบเชื้อเพียง 2 ตัวอย่าง อย่างเช่นใน จ.ภูเก็ต ที่มีการตรวจหาเชื้อในประชาชนกว่า 1,000 คนเมื่อเร็ว ๆ นี้ พบว่ามีผู้ติดเชื้อเพียง 1 คน

"ผมไม่ได้บอกว่าเราจะไม่พยายามตรวจหาเชื้อให้มากขึ้น แต่ผมกำลังบอกว่าเราจะตรวจอย่างมียุทธศาสตร์ คือตรวจกลุ่มคนหรือพื้นที่ที่เราคาดว่าจะพบผู้ติดเชื้อ...เราต้องวางแผนว่าตรวจอย่างไรให้เจอ ไม่ใช่ว่าตรวจไปเรื่อย แต่ไม่เจอผู้ป่วยเลย"

นพ.ธนรักษ์ ผลิพัฒน์

ที่มาของภาพ, WASAWAT LUKHARANG/BBC THAI

คำบรรยายภาพ, นพ.ธนรักษ์ : "เราตรวจมากพอที่จะควบคุมการระบาดของโรคได้"

"ประเด็นหนึ่งที่ผมอยากให้เข้าใจตรงกันก็คือ เราไม่สามารถตรวจทุกคนได้ และถึงแม้ว่าจะตรวจหาเชื้อในประชากรทุกคน ก็ไม่สามารถรับประกันได้ว่าเขาหรือเธอจะไม่ติดเชื้อ ถ้าเราต้องการค้นหาทุกคนที่ติดเชื้อจริง ๆ เราจะต้องตรวจหาเชื้อในคน ๆ นั้นทุกวันเป็นเวลา 14 วัน ซึ่งผมไม่คิดว่ามีประเทศไหนที่ทำได้"

งบประมาณและต้นทุนการตรวจเป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ นพ.ธนรักษ์กล่าวถึง ปัจจุบันการตรวจเชื้อมีต้นทุนอยู่ที่ 2,000 บาทต่อ 1 ตัวอย่าง ยังไม่รวมค่าอุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่เก็บตัวอย่างและเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ

"การตรวจหาเชื้อชาวภูเก็ต 1,000 คน สธ.ใช้งบประมาณไป 2 ล้านบาท เพื่อที่จะพบผู้ติดเชื้อ 1ราย" นพ.ธนรักษ์กล่าว

"เราไม่ได้ตั้งเป้าไว้ว่าจะต้องตรวจให้ได้กี่คนในระยะเวลาเท่าไหร่ แต่เราจะเดินหน้าตรวจหาเชื้อในกลุ่มคนที่จำเป็นจะต้องได้รับการตรวจต่อไปให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้"

หากข้อสงสัยเรื่องจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่น้อยจนน่าแปลกใจ นำมาสู่ข้อสงสัยเรื่องจำนวนการตรวจหาเชื้อนั้นเป็นผลมาจากความไม่เชื่อมั่นในการรายงานตัวเลขผู้ติดเชื้อของไทย นพ.ธนรักษ์ก็ให้ความเห็นทิ้งท้ายในประเด็นนี้ไว้ว่า

"เราไม่สามารถปกปิดข้อมูลผู้ป่วยปอดบวมและผู้เสียชีวิตได้ ถ้ามีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนามากกว่าที่เรารายงานจริง จำนวนผู้ป่วยปอดบวมจะต้องเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดและจะต้องมีผู้เสียชีวิตมากกว่านี้ ถ้าไทยไม่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ ตอนนี้เราคงมีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล มีผู้ป่วยวิกฤตที่เข้าคิวรอใช้เครื่องช่วยหายใจแล้ว แต่จนถึงตอนนี้ สิ่งที่เราเห็นในยุโรป อิตาลีหรือสหรัฐอเมริกาไม่ได้เกิดขึ้นที่ประเทศไทย"

"เราอาจจะไม่สามารถตรวจทุกคนหรือพบผู้ติดเชื้อทุกรายได้ แต่เรายืนยันว่าเราตรวจมากพอที่จะควบคุมการระบาดของโรคได้" นพ.ธนรักษ์กล่าว

ข้อมูลจาก ศบค.

นพ.ทวีศิลป์ โฆษก ศบค.เปิดเผยข้อมูลการตรวจหาเชื้อของไทยว่าระหว่างเดือน ก.พ.-17 เม.ย. มีการตรวจหาเชื้อไปแล้ว 142,589 ตัวอย่าง จากห้องปฏิบัติการของรัฐและเอกชนทั้งหมด 91 แห่ง

การตรวจส่วนใหญ่ทำโดยห้องปฏิบัติการของเอกชน รองลงมาเป็นห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

เก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อไวรัส

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

หากดูข้อมูลในรอบ 1 สัปดาห์พบว่า ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย. มีการตรวจทั้งหมด 21,715 ตัวอย่างโดยระหว่างวันที่ 4-17 เม.ย. มีการตรวจวันละประมาณ 3,000 ตัวอย่างขึ้นไป ซึ่งพบผู้ติดเชื้อระหว่าง 1.41-3.82 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนตัวอย่างที่ตรวจทั้งหมด

สำหรับวิธีการตรวจนั้น นพ.ทวีศิลป์ระบุว่าการตรวจด้วยชุดตรวจหาพันธุกรรมของเชื้อไวรัสจากสารคัดหลั่ง ด้านหลังโพรงจมูกหรือ PCR เป็นวิธีที่แม่นยำและดีที่สุด ส่วนการตรวจด้วยชุดตรวจเร็วหรือ rapid test นั้นแม้ต้นทุนถูกกว่าแต่ผลยังไม่แม่นยำนัก

ผู้แทนองค์การอนามัยโลกมองไทย

นพ.แดเนียล เคอร์เทสซ์ ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย พูดถึงแนวทางการตรวจหาเชื้อของรัฐบาลไทยว่า แม้ไทยจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อน้อยกว่าหลายประเทศ แต่มีผู้ติดเชื้อในเกือบทุกจังหวัด ดังนั้นทางการไทยจึงควรเร่งเพิ่มจำนวนห้องปฏิบัติการที่สามารถตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาให้มีในทุกจังหวัด และหากเป็นไปได้ก็ควรรู้ผลการตรวจได้ภายใน 24 ชั่วโมง

นพ.เคอร์เทสซ์อธิบายว่าตามแนวทางขององค์การอนามัยโลก "ผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ" ซึ่งหมายถึงผู้ที่มีอาการเข้าเกณฑ์และมีประวัติการเสี่ยงสัมผัสเชื้อ ทุกคนควรได้รับการตรวจหาเชื้อ

นพ.เคอร์เทสซ์ระบุว่า การตรวจหาเชื้อเป็นวิธีที่สำคัญที่สุดในการค้นพบผู้ติดเชื้อ และนำเข้าสู่การกักกันโรคและการรักษา

"การค้นพบและแยกผู้ติดเชื้อได้อย่างรวดเร็วจะลดโอกาสที่พวกเขาจะแพร่เชื้อไปสู่คนอื่น ๆ และชะลอการแพร่ระบาดของโรคลง" ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทยกล่าวกับบีบีซีไทย

เก็บตัวอย่างตรวจหาเชื้อไวรัส

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, ทีมแพทย์และพยาบาลโรงพยาบาลมงกุฏวัฒนะ เก็บตัวอย่างจากกลุ่มสุ่มเสี่ยงโควิด-19 ในชุมชนย่านดอนเมืองเพื่อนำไปตรวจหาเชื้อ

อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกเห็นว่าแนวทางและยุทธศาสตร์การตรวจหาเชื้อย่อมแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับความรุนแรงของการระบาดและทรัพยากรที่มี แต่สิ่งที่สำคัญที่ทุกประเทศพึงตระหนักก็คือการตรวจหาเชื้อต้องทำควบคู่ไปกับมาตรการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกักกันโรค การพัฒนาแนวทางการรักษาผู้ป่วยและการค้นหาผู้สัมผัส ถึงจะควบคุมโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4 ปัจจัยความสำเร็จในการลดผู้ติดเชื้อรายใหม่

นพ.เคอร์เทสซ์ มองว่ามีปัจจัย 4 อย่างที่ทำให้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ลดลง คือ

1.สามารถพัฒนาศักยภาพของห้องปฏิบัติการได้อย่างรวดเร็ว ไทยมีห้องปฏิบัติการตรวจหาเชื้อที่มีศักยภาพสูงเห็นได้จากการที่ไทยตรวจพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รายแรกนอกประเทศจีน

2. เริ่มคัดกรองผู้โดยสารที่สนามบินนานาชาติอย่างรวดเร็ว แม้การตั้งด่านคัดกรองที่สนามบินไม่สามารถพบผู้ป่วยทุกราย แต่ก็ช่วยให้ผู้ป่วยหลายรายได้รับการตรวจหาเชื้อ เข้ารับการรักษาและเข้าสู่กระบวนการกักกันโรคตั้งแต่แรก เป็นการปิดโอกาสที่จะแพร่เชื้อไปยังผู้อื่น

3.บุคลากรทางการแพทย์ตอบสนองต่อเหตุการณ์อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาลได้รับการตรวจหาเชื้อและกักกันโรค

4.ระบบสาธารณสุขไทยมีศักยภาพสูงในการติดตามผู้สัมผัสโรค (contact tracing) มีทั้งทีมเคลื่อนที่เร็วของกรมควบคุมโรค 50 ทีมที่ออกติดตามค้นหาผู้สัมผัส เจ้าหน้าที่สาธารณสุขระดับอำเภอและตำบลนับพันคน รวมทั้งอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) อีกกว่า 1 ล้านคนที่ทำหน้าที่ค้นหาและติดตามผู้สัมผัสอย่างแข็งขัน