โควิด-19 : ผู้ป่วยรายใหม่ลดลงต่อเนื่องเหลือ 13 ราย ผู้เสียชีวิตสะสม 50 ราย

ภาพประกอบ

ที่มาของภาพ, Getty Images

จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ในประเทศไทยยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงต่ำกว่า 20 รายติดกันเป็นวันที่สอง ล่าสุดวันนี้ (23 เม.ย.) ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานว่ามีผู้ป่วยรายใหม่เพียง 13 ราย มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่าไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 13 ราย ทำให้ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,839 ราย มีผู้รักษาหายกลับบ้านแล้วรวม 2,430 ราย ยังคงรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 359 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมยอดผู้เสียชีวิตสะสม 50 ราย

ผู้เสียชีวิตรายที่ 50 นั้น เป็นหญิงไทยอายุ 78 ปี มีโรคประจำตัวคือหลอดเลือดสมอง เข้ารับการรักษาในวันที่ 21 มี.ค. ด้วยอาการทางเดินปัสสาวะอักเสบ ก่อนที่จะมีอาการไข้ ปอดบวม ส่งตรวจเชื้อยืนยัน ก่อนที่อาการจะแย่ลงและเสียชีวิตด้วยการติดเชื้อในกระแสเลือด และภาวะการหายใจล้มเหลว

นพ. ทวีศิลป์ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่ลดลงนั้นก็มาจากความร่วมมือของประชาชน แต่อย่างไรก็ตามยังคงเป็นเพียงช่วงเริ่มต้นเท่านั้น ยังคงย้ำว่า"การ์ดอย่าตก" ด้วยการปฏิบัติตามค่าปกติใหม่ เรื่องการใส่หน้ากากอนามัยให้เป็นปกติ เพื่อไม่ให้ "น็อก" อย่างสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่มีการลดมาตรการ แล้วพบผู้ติดเชื้อพุ่งทะยาน

สถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19. ติดเชื้อ: 4,026 เสียชีวิต: 60 หายแล้ว: 3,822.  .

"เราทำหน้าที่ของเรากันได้อย่างดี เดือนนี้เข้าเดือนที่ 4 ถ้าบอกเป็นมวยมี 12 ยก ตามทฤษฎีหลายคนบอกต้องยาวนานกันเป็นปี นี่เข้ายกที่ 4 เองนะครับ ซึ่งเรายังต้องเก็บคะแนนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ" นพ.ทวีศิลป์กล่าว

ผู้ป่วยรายใหม่ 13 ราย มีรายละเอียดดังนี้

  • ผู้ที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วยหรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้า 5 ราย
  • คนไทยที่เดินทางกลับจากต่างประเทศ 1 ราย
  • ไปสถานที่ชุมนุมชน เช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 1 ราย
  • ประกอบอาชีพเสี่ยง 1 ราย
  • ตรวจก่อนทำหัตถการ 1 ราย ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีของการค้นหาเชิงรุก
  • การค้นหาเชิงรุก ที่ จ.ภูเก็ต 3 ราย โดยเจาะจงกลุ่มที่เข้ารับบริการที่ร้านขายยา และคลินิก

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า จำนวนผู้ป่วยรายใหม่นั้นยังคงเพิ่มขึ้นที่กรุงเทพฯ และภูเก็ต ที่พบเพิ่มแห่งละ 4 ราย รวมถึง ชลบุรี สงขลา ชุมพร ปทุมธานี และนครปฐมที่พบจังหวัดละ 1 ราย ซึ่งขณะนี้กรุงเทพฯ ก็ยังมีผู้ป่วยสะสมที่เข้าข่าย PUI มากที่สุด 10,942 ราย ซึ่งสอดคล้องกับจำนวนผู้ป่วยสะสม เช่นเดียวกับในยะลา นนทบุรี ชลบุรี ภูเก็ต และสมุทรปราการ ที่มีผู้เข้าข่ายมากกว่า 1,000 คน

คนใส่หน้ากากอนามัยบนรถเมล์

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, กรมควบคุมโรคระบุว่า ขนส่งมวลชนเป็นหนึ่งใน "พื้นที่เสี่ยง" ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่

เมื่อเจาะจงพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งมีจำนวนผู้ป่วยสะสมมากที่สุดนั้น โฆษก ศบค. อธิบายว่า ขณะนี้มีการขยายการค้นหาเชิงรุกในชุมชนนับตั้งแต่วันที่ 15 เม.ย. เริ่มต้นที่ชุมชนเขตบางเขน และคลองเตย จำนวน 1,876 ราย พบผู้ป่วยติดเชื้อ1 รายเท่านั้น

สถานการณ์ทั่วโลกวันนี้พบผู้ติดเชื้อกว่า 2,634,529 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 6,619 ราย ภายในวันเดียว รวมเสียชีวิตสะสม 184,021 ราย ซึ่งประเทศที่กำลังต้องจับตาใหม่ คือ รัสเซีย ซึ่งพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 5,236 รายภายในวันเดียว ในขณะที่ฝั่งเอเชียนั้น สิงคโปร์ยังคงต้องติดตามเฝ้าระวังด้วยผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลักพันในวันเดียว

สำหรับเที่ยวบินที่จะนำคนไทยที่ตกค้างเดินทางกลับนั้น วันนี้มีด้วยกัน 2 เที่ยวบิน จากตุรกี 55 คน ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวที่ตกค้าง นักเรียน และมาเลเซียอีก 144 คน ซึ่งเป็นกลุ่มแรงงาน ส่วนวันพรุ่งนี้ก็มีอีก 2 เที่ยวบินเช่นกันจากญี่ปุ่น 31 คน และอินเดีย 171 คน ซึ่งเป็นภิกษุ แม่ชี และผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งทั้งหมดจะเข้าสู่พื้นที่การดูแลของรัฐ

ผู้คนรอขึ้นเรือ

ที่มาของภาพ, Getty Images

กรณีเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองด่านสะเดา ของสงขลาที่พบการติดเชื้อนั้น นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ด่านดังกล่าวมีผู้คนเดินทางผ่านเข้าออกจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นต้องมีการกักกันผู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่า 49 คน และผู้มีความเสี่ยงต่ำอีก 93 คน รวม 142 คนที่ต้องเฝ้าระวัง ซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงสอบสวนโรคเพื่อหาต้นตอการติดเชื้อ

โดยด่านสะเดาจำเป็นต้องปิดด่านเป็นเวลา 7 วัน เนื่องจากมีเจ้าหน้าที่ต้องเข้าสู่ระบบการกักกันจำนวนมาก อีกทั้งต้องทำการทำความสะอาด ซึ่งจะใช้ด่านปาดังเบซาร์ในการเดินทางเข้าออกไปก่อน ซึ่งหากใครสามารถชะลอการเดินทางกลับจากมาเลเซียได้ก็ขอให้เลื่อนการเดินทางไปก่อน โดยเจ้าหน้าที่สถานทูตจะเข้าไปดูแลในการช่วยเหลือส่งของยังชีพให้

สำหรับขณะนี้นั้นเริ่มมีประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติกันมาขึ้น โฆษก ศบค. กล่าวว่า ยังคงน่าเป็นห่วง แต่ขอให้ทุกคนระลึกไว้เสมอว่าการออกจากบ้านนั้นเสี่ยงที่จะติดเชื้อทั้งสิ้น จึงต้องเน้นการปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด สังเกตอาการตนเองและคนในครอบครัวอย่างใกล้ชิด ย้ำหากใช้บริการรถสาธารณะ "ห้ามพูดคุยกันโดยเด็ดขาด" ด้วยมีโอกาสที่ละอองฝอยจากน้ำลายกระจายออกมาทั้งสิ้น

สมช. เผย ครม.เล็งเคาะต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สัปดาห์หน้า

พล.อ. สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ(สมช.) เปิดเผยผลการประชุมหารือวันนี้ (23 เม.ย.) เกี่ยวกับการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด -19 ว่าจะมีการต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปหรือไม่ว่า การประชุมในวันนี้เป็นเพียงการประชุมในระดับเจ้าหน้าที่ โดยคาดการณ์ว่าในวันจันทร์ที่ 27 เม.ย. นี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จะมีการเรียกประชุมร่วมกับ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. อีกครั้งหนึ่ง เพื่อจะสรุปว่ามีความจำเป็นต้องประกาศต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปหรือไม่ ซึ่งหากที่ประชุมเห็นสมควรว่าต่ออายุออกไปจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในวันอังคารที่ 28 เม.ย. นี้

นอกจากนี้ เขายังให้ความเห็นว่า ด้านหน่วยงานด้านความมั่นคงนั้นมองว่า สถานการณ์ยังไม่เรียบร้อยเท่าที่ควรจึงน่าจะต่อขยายออกไปอีก แต่จะเป็นระยะเวลาเท่าใดนั้นขึ้นอยู่กับฝ่ายการเมืองเป็นผู้ประเมิน ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับสภาพัฒน์เพื่อพิจารณาในส่วนความพร้อมเพื่อเตรียมผ่อนปรนมาตรการต่อไป

สธ.ประกาศ 5 ประเทศอาเซียนเป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย

วันนี้ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ซึ่งมีผลบังคับใช้วันนี้ (23 เม.ย.) เรื่อง ท้องที่นอกราชอาณาจักรที่เป็นเขตติดโรคติดต่ออันตราย กรณีโรคโควิด-19 ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2563 ซึ่งมีการประกาศเพิ่มเติม 5 ประเทศ คือ มาเลเซีย กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย และเมียนมาโดยก่อนหน้านี้มีการประกาศไปแล้ว 4 ประเทศ คือ เกาหลีใต้ จีน รวมถึงเขตบริหารพิเศษมาเก๊า และเขตบริหารพิเศษฮ่องกง อิตาลี อิหร่าน ก่อนหน้านี้ สธ.อธิบายว่า แม้จะมีเพียงบางประเทศที่ถูกประกาศเขตติดโรคติดต่ออันตราย แต่มาตรการของเจ้าหน้าที่เกี่ยวกับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศของไทยนั้น มีมาตราเคร่งครัดสูงสุดเหมือนกันในทุกประเทศ นั้นคือจะต้องมีหนังสือรับรองแพทย์ หนังสือรับรองจากสถานทูต รวมถึงมีการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ

สธ. ชี้แจงข้อกล่าวหาเรื่องตัดงบสู้โควิด-19

ช่วงเช้าของ 23 เม.ย. กลุ่มนักเคลื่อนไหวในนาม "กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ" ออกมาคัดค้านมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 21 เม.ย. โดยเฉพาะการตัดงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ งบบัตรทอง และงบประมาณกระทรวงสาธารณสุข ด้วยเหตุผล คือ

1. งบบัตรทอง จำนวน 2,400 ล้านบาท คือเงินในส่วนที่เรียกว่า ค่าบริการทางการแพทย์สำหรับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 49 ล้านคน ถือเป็นงบกองทุนรักษาพยาบาล เป็นลักษณะรายจ่ายประจำที่เป็นไปเพื่อการจัดสวัสดิการแห่งรัฐ หรือค่าใช้จ่ายรายหัวตามสิทธิพื้นฐานจากการบริการของรัฐที่มีผลบังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน อันเป็นหลักการสำคัญที่จะไม่นำงบประมาณรายจ่ายส่วนนี้ไปจัดทำร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่าย

ขณะที่งบประมาณกระทรวงสาธารณสุข 938.4 ล้านบาท งบลงทุนซ่อม-สร้างอาคาร ห้องพักผู้ป่วย ห้องพักเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลในต่างจังหวัด ไม่ใช่งบประมาณค่าใช้จ่ายในการสัมมนา การฝึกอบรม การประชาสัมพันธ์ การจ้างที่ปรึกษา ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการต่างประเทศ หรืองบบริหาร ซึ่งหากมีการดึงงบประมาณส่วนนี้ไป ย่อมส่งผลกระทบกับโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศและคุณภาพในการดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยโดยรวม

2. ภายใต้วิกฤติการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่นี้ อาจดูเหมือนว่า ประชาชนมารับการรักษาพยาบาลตามหน่วยบริการต่างๆ น้อยลง แต่นั่นเป็นเพราะประชาชนได้รับคำแนะนำให้ชะลอการเข้ารับการรักษาพยาบาล อีกทั้งโรงพยาบาลต้องดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อลดความแออัดของหน่วยบริการ เพื่อให้รองรับกับการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าให้ดีที่สุด แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า ภาระโรค หรือภาระค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลของประชาชนจะลดน้อยลงไป หากงบประมาณด้านรักษาพยาบาลถูกปรับลดลง จะสร้างภาระด้านการเงิน เพิ่มภาระการบริหารจัดการภายใน จะส่งผลต่อภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้นและประสิทธิภาพในการรักษาพยาบาลประชาชนในภาพรวมอย่างแน่นอน ดังนั้น แม้คณะรัฐมนตรีจะเตรียมงบประมาณสนับสนุนการรักษาพยาบาลโควิด-19 ก็ไม่พึงตัดลดงบประมาณกองทุนบัตรทองและค่ารักษาพยาบาลอื่นๆ

ในเวลาต่อมา นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า ตาม พ.ร.บ. หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาตรา 46 (2) ครอบคลุม ถึงค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการในส่วนเงินเดือนและค่าตอบแทนบุคลากร รัฐบาลได้นำงบค่าใช้จ่ายรายหัวส่วนนี้มาใช้เป็นเงินเดือนค่าตอบแทนของข้าราชการบรรจุใหม่ 45,684 ตำแหน่ง เพื่อรับมือสถานการณ์โรคโควิด 19 นั้น ช่วยสร้างขวัญกำลังใจให้บุคลากรสาธารณสุขที่ร่วมต่อสู้กับโรคโควิด 19 ในครั้งนี้

นายแพทย์สุขุมกล่าวว่า รัฐบาลได้สนับสนุนกระทรวงสาธารณสุข และสปสช. โดยได้จัดสรรงบกลางปี 2563 ครั้งที่ 1 จำนวน 1,233 ล้านบาท และรอบ 2 จำนวน 5,488 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นของ สปสช. 3,260 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังสนับสนุนงบกลางเพื่อจัดหาหน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 และชุดป้องกันส่วนบุคคล (PPE) จำนวน 1,551 ล้านบาท เพื่อใช้ในสถานการณ์โควิด 19 และรัฐบาลยังได้เตรียมไว้สนับสนุนอีกกว่า 45,000 ล้านบาท ขอยืนยันว่าการดำเนินการครั้งนี้ ทำให้บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขมีขวัญกำลังใจมากขึ้น สามารถลดภาระเงินบำรุงของหน่วยบริการอีกด้วย และมีการจัดนวัตกรรมในการดูแลรักษาผู้ป่วย เช่น การส่งยาให้ผู้ป่วยที่บ้านผ่าน อสม. การขยายบริการปฐมภูมิ เพื่อประชาชนจะได้ประโยชน์จากการได้รับบริการจากโรงพยาบาลมากขึ้น