โควิด-19 : “เราไม่ทิ้งกัน” เรื่องงดงามในน้ำใจ ชาวเขา ชาวเรา ชาวเล เมื่อรัฐไปไม่ถึง

ที่มาของภาพ, BBC Thai
ท่ามกลางข่าวร้ายหายนะทั่วโลกจากการระบาดใหญ่ของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ประเทศไทยและคนไทยได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า
ด้านหนึ่ง ความช่วยเหลือจากรัฐบาลผ่านโครงการ "เราไม่ทิ้งกัน" ดูเหมือนมุ่งเฉพาะกลุ่ม มากกว่าครอบคลุมคนทั้งประเทศ และถูกวิจารณ์ถึงความล่าช้า ซับซ้อน
อีกด้านหนึ่ง นักธุรกิจที่ไม่ลำบากมาก ดาราที่ยังพอประคองตัวได้ หรือ ชาวบ้านที่ขาดแคลนแต่ไม่แร้นแค้นน้ำใจ ต่างก็หาหนทางช่วยคนที่ลำบากกว่า ให้ฟันฝ่าภาวะโรคระบาดและขาดเงินจับจ่ายไปด้วยกัน
นักธุรกิจ 4.0 ช่วยเกษตรกร 2.0
ตฤณ รุจิรวณิช นักธุรกิจวัย 45 ปี ได้รับข้อความที่ถูกส่งต่อมาตามกลุ่มแชตต่าง ๆ เมื่อต้นเดือนนี้ ขอให้ช่วยเกษตรกรไทยในหลายพื้นที่ที่เดือดร้อนจากการส่งออกผลผลิตไม่ได้ในภาวะโรคระบาด หลายคนอาจอ่านแล้วผ่านเลยไป แต่ตฤณเกิดความคิดว่าต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยเหลือคนกลุ่มนี้

ที่มาของภาพ, Trin Rujiravanich
ตฤณบอกกับบีบีซีไทยว่า เริ่มแรกเขาก็ซื้อสินค้ามากินแล้วเห็นว่าเป็นของคุณภาพดีก็ช่วยแชร์ต่อบนโซเชียลมีเดีย แต่เกิดความคิดต่อว่าถ้าหากผู้ซื้อกับผู้ขายมีพื้นที่ในการติดต่อกันก็น่าจะเป็นประโยชน์กับคนทั้งสองฝ่าย ประกอบกับความคิดว่าไม่อยากให้พืชผลเหล่านี้ต้องกลายเป็นขยะอาหารซึ่งจะกลายสภาพเป็นก๊าซมีเทนทำลายชั้นบรรยากาศ กลุ่ม "กินช่วยเกษตรกร" บนเฟซบุ๊กจึงเปิดตัวขึ้นเมื่อวันที่ 9 เม.ย.
"เห็นมาตั้งแต่เด็กว่าทำไมต้องเอาพืชผลเกษตรไปเททิ้งหน้าทำเนียบรัฐบาล ตอนเด็ก ๆ ก็คิดว่าทำไมไม่เอาลำไยจากภาคเหนือไปให้คนที่ภาคใต้ ต่อมาได้มาทำธุรกิจรีสอร์ต สมัยก่อนที่ผลไม้ราคาตกก็ไปกว้านซื้อมาจากตลาด เอามาทำเป็นอาหารเช้าเสิร์ฟลูกค้า แนะนำให้ลูกค้ารู้จักผลไม้ใหม่ ๆ ราคาไม่แพงในไทยไปด้วย"

ที่มาของภาพ, Trin Rujiravanich
- โควิด-19 : สัตวแพทย์แนะอย่าปล่อยแมวออกนอกบ้าน สกัดไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ระบาดในสัตว์เลี้ยง
- โควิด-19 : ไม่ใช่แค่ปอด แต่เข้าถึงหัวใจ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทำลายอวัยวะอื่น ๆ ในบางกรณีได้อย่างไร
- โควิด-19 : กราฟิก เที่ยวบิน-จราจร-มลพิษ ในเมืองใหญ่หลังล็อกดาวน์ทั่วโลก
- โควิด-19 : เหตุใดการห้ามค้าเนื้อสัตว์ป่าของจีนอาจไม่ช่วยคุ้มครองชีวิตสัตว์ป่าได้จริง
เมื่อสถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันทำให้คนออกจากบ้านไม่ได้ ตฤณจึงใช้เทคโนโลยีเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงกลุ่มเกษตรกรกับลูกค้า เมื่อสร้างกลุ่มแล้วเขาก็สั่งซื้อมะม่วงมา 40-50 กก. นำไปแจกคนรู้จัก เขาเห็นมีเบอร์ติดต่อแนบมากับหีบห่อจึงโทรศัพท์ไปหาเพื่อถามไถ่ถึงสภาวะที่ประสบ
"ถามว่ามีของเยอะไหม เขาตอบว่ามีเยอะ มีอยู่ 4 ล้านโลเป็นมะม่วงเกรดส่งออก ได้ยินคำตอบแล้วก็น้ำตารื้นเลย ได้แต่บอกไปว่า ไม่เป็นไรนะ เดี๋ยวจะช่วย" ตฤณบอกว่ามะม่วงทั้งหมดนี้เป็นมะม่วงพันธุ์น้ำดอกไม้และพันธุ์มหาชนกค้างจำหน่ายของกลุ่มเกษตรกร จ.กาฬสินธุ์ เขานำข้อมูลมาแชร์ต่อในกลุ่มซึ่งขณะนั้นมีสมาชิกราว 200-300 คน และได้รับผลตอบรับดีเกินคาด
"เจ้าของสวนบอกว่า วันแรกมีเข้ามา 800 ออเดอร์ จนสุดท้ายขายหมด 4 ล้านโล ได้เห็นพลังของคนที่คิดจะช่วยเหลือกันจริง ๆ" ตฤณเล่าด้วยน้ำเสียงตื่นเต้น เขาบอกด้วยว่าที่ขายหมดไม่ใช่เพราะกลุ่มของเขากลุ่มเดียว แต่มีช่องทางอื่นที่ช่วยเหลือกันอีก หลังจากตฤณได้พูดคุยกับเจ้าของสวนอีกหลายแห่งก็พบว่าหลายคนยังมีพืชผลที่ขายไม่ออกกันมากถึง 40-50 ตัน

จากแรกเริ่มเพียงช่วยเจ้าของสวนขายมะม่วงที่ราคาตกจนเหลือเพียงกิโลกรัมละ 20-25 บาทให้ระบายสินค้าได้ หลังสร้างกลุ่มมาไม่ถึงหนึ่งสัปดาห์ก็มีเกษตรกรรายอื่นมาขายสินค้าหลายชนิด รวมทั้งอาหารแปรรูป และจำนวนสมาชิกกลุ่มก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีจะเป็นเหมือนเครื่องมือแก้ปัญหาที่ดี แต่มันก็เป็นตัวปัญหาด้วยเช่นกัน "ปัญหาแรกเลยคือเกษตรกรพูดตรง ๆ ก็คือไม่ไฮเทค" ตฤณบอกว่าบางคนใช้เวลาหลายวันกว่าจะหาวิธีโพสต์รูปขายของบนเฟซบุ๊กได้ บางคนไม่ค่อยรับโทรศัพท์ บางคนก็ไม่ค่อยตอบไลน์ ส่วนคนที่พอมีลูกหลานที่เข้าถึงเทคโนโลยีได้ก็สามารถช่วยตอบข้อความและขายของบนเฟซบุ๊กได้ บางคนก็ส่งข้อความมาขอบคุณเขาภายหลัง
นอกจากนี้ปัญหาหลักอีกอย่างก็คือการที่เกษตรกรต้องเปลี่ยนรูปแบบการทำธุรกิจแบบกะทันหัน จากเคยเป็นแบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ต้องเปลี่ยนมาเป็นแบบธุรกิจกับผู้ซื้อปลีก (B2C) ซึ่งเกษตรกรไม่มีประสบการณ์ "ลองคิดดูว่าเขาเคยส่งออกทีละหลายตัน เขาคุ้นเคยกับการมีนายหน้าไปรับสินค้าที่สวนทีละจำนวนมาก ๆ ไม่คุ้นกับการดีลกับลูกค้าจำนวนมากที่ซื้อทีละน้อย ๆ เขาไม่มีตาชั่ง ไม่มีหีบห่อวิธีขนส่ง ทุกอย่างเปลี่ยนเพราะสถานการณ์บังคับ" ตฤณบอกว่าประเด็นนี้ก็ทำให้เกษตรกรยังทำงานได้ไม่ราบรื่นนัก
จากชีวิตปกติที่ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทผู้ให้บริการติดตั้งฟิล์มอาคารอนุรักษ์พลังงาน ตฤณใช้เวลาว่างช่วงที่บริษัทปิดช่วงสงกรานต์มาดูแลกลุ่มและยังเปิดช่องทาง ไลน์ โอเพนแชท สำหรับผู้ที่ไม่คุ้นเคยกับการใช้เฟซบุ๊กได้ประกาศขายสินค้าอีกด้วย ซึ่งเขายอมรับว่ามันกินเวลาทั้งวันไม่ต่างจากการทำงานเต็มเวลา โดยตอนนี้มีผู้ช่วยอีก 2-3 มาช่วยดูแลด้วย และเขาจะต้องกลับไปทำงานในสัปดาห์นี้ ซึ่งต้องพยายามบริหารจัดการเวลาของตัวเองต่อไป
"ทั้งหมดนี้ทำแล้วไม่ได้อะไรเลย ได้เรียนรู้ เพราะส่วนตัวก็ไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน อยากช่วยคนประกอบกับมีเวลาว่าง ในอนาคตหากต้องเปลี่ยนธุรกิจก็มีความรู้ตรงนี้ไปใช้ในการทำงานได้" ตฤณกล่าวทิ้งท้าย
ชาวเขา ชาวเรา ชาวเล
ที่ความสูงเหนือระดับน้ำทะเลเฉลี่ย 1,000 เมตร ที่ดอยแม่วิน ต.แม่วิน อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ ชาวปกาเกอะญอที่นั่นกำลังรวบรวมเอาข้าวสารพันธุ์พื้นเมือง ผลผลิตของทั้งปีที่พวกเขาและพวกเธอปลูกบนนาขั้นบันได มารวมไว้ที่จุดรวมของหมู่บ้าน เพื่อเตรียมจัดส่งไปให้ผู้ที่เดือดร้อนในตัวเมืองเชียงใหม่
จุดเริ่มต้นของน้ำใจเล็ก ๆ นี้มาจากการที่ชาวปกาเกอะญอที่นั่น ได้รับบริจาคเครื่องอุปกรณ์ดับไฟป่าที่หลั่งไหลมายังหมู่บ้าน ถึงตอนนี้พวกเขาอยากส่งข้าวสารให้คนในเมืองที่ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติได้ในช่วงมีสถานการณ์ของโรคโควิด-19

ที่มาของภาพ, Noraeri Thungmueangthong
ศิวกร โอ่โดเชา ผู้ประสานงานเครือข่ายชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ซึ่งอยู่ที่บ้านหนองเต่า ต.แม่วิน บอกกับบีบีซีไทยทางโทรศัพท์ว่า ไฟป่าปีนี้ลากยาวมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. พวกเขาเผชิญไฟป่าหนักหนามาก แต่นับเป็นปีแรกที่ชาวบ้านได้รับอุปกรณ์การดับไฟป่า ซึ่งพวกเขาได้จากการรวมกลุ่มบริจาคของคนในเมือง
"ปีนี้เราได้รับรู้สึกพิเศษกว่าทุกครั้งมาจากภาคประชาสังคม อันนี้เป็นน้ำใจจากคนในเมือง เราอยากให้น้ำใจกับคนในเมืองบ้าง
เขาบอกอีกว่า การปันน้ำใจช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกันนี้ก็มาจากคติของชาวปกาเกอะญอเกี่ยวกับวัฒนธรรมข้าวที่ว่าเมื่อพบแม่ม่าย เด็กกำพร้า ชาวปกาเกอะญอถูกปลูกฝังว่าต้องช่วยเหลือ คนที่มีเพียงพอจะแบ่งปันช่วยกัน
"เรากระจายข่าวออกไป สื่อไปถึงจิตใจพี่น้องปกาเกอะญอที่เขาเข้าใจปรัชญานี้ ทำให้เกิดการแบ่งปันผัก แม้แต่พี่น้อง (ปกาเกอะญอ) อมก๋อยที่ถูบจับ เพราะทำไร่หมนุเวียน ก็รวบรวมมะเขือเทศมาแจกคนในเมือง" ศิวกร หรือแซวะ กล่าว

ที่มาของภาพ, Siwakorn Odochao
ข่าวสารการร่วมบริจาคถูกประกาศผ่านเสียงตามสายและผู้นำชุมชน พวกเขากำลังเตรียมรวบรวมขนส่งขึ้นรถกระบะจำนวน 2-3 คัน พร้อมด้วยหัวไชเท้าอีก 1 คันรถ ไปส่งให้กับกลุ่มจิตอาสา "สายใต้ออกรถ" ใน อ.หางดง ที่เคยขึ้นมาบริจาคอุปกรณ์ดับไฟเพื่อกระจายต่อให้ผู้เดือดร้อนในเมืองต่อไป
"ทำไมคนปกาเกอะญอถึงทำบุญเป็นข้าว เพราะคนปกาเกอะญอไม่มีเงิน ไม่มีเงินเก็บ ไม่มีเครื่องไม้เครื่องมืออะไร" ศิวกร เล่า "สิ่งที่อร่อยที่สุดคือข้าว สิ่งที่งดงามที่สุดคือน้ำใจคน"
ไม่ใช่แค่ชาวปกาเกอะญอที่ อ.แม่วาง ที่ทำเช่นนี้ บีบีซีไทย ยังพบภาพการบริจาคปันน้ำใจของชาวปกาเกอะญอในเชียงใหม่ และแม่ฮ่องสอน
เชียงใหม่-ราไวย์- ยโสธร
"พอทราบข่าวว่าพี่น้องชาวเลได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด จากการปิดเมือง ล็อคดาวน์ ผลิตปลาสดได้ แต่ไม่สามารถจะขายได้ พี่น้องไม่มีเงินไปซื้อข้าว พอเป็นแบบนี้ แนวคิดของคนปกาเกอะญอบอกไว้ว่า ถ้าน้องล้มพี่ช่วยฉุดขึ้น ถ้าพี่ล้มน้องช่วยพยุง" ผศ.ดร.สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์ ศิลปินชาวปกาเกอะญอ บอกกับบีบีซีไทยถึงจุดเริ่มต้นของโครงการข้าวแลกปลาชาวเลชาวดอย ส่งข้าวสารพื้นเมืองที่ชาวปกาเกอะญอปลูกได้ไปให้ชาวประมงพื้นบ้านใน จ.ภูเก็ต ซึ่งได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองเป็นจังหวัดแรก ๆ

ที่มาของภาพ, Facebook/Chi Suwichan
แม้ ระยะทางเกินกว่า 1,500 กิโลเมตร จากภูเขาอันสลับซับซ้อนในภาคเหนือที่ จ.เชียงใหม่ ไปจนถึงทะเลหาดราไวย์ของ จ.ภูเก็ต นักวิชาการศูนย์การจัดการภูมิวัฒนธรรม วิทยาลัยโพธิวิชชาลัย มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บอกว่า ชาวดอยและชาวเล ผูกพันกันด้วยความเป็นชนเผ่าพื้นเมืองในไทยเหมือนกันที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาและนโยบายรัฐ และต่างเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิกสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย 45 กลุ่ม
"พอเราคิดปุ๊ป พี่น้องชาวดอย เดือดร้อนเหมือนกันนะ ได้ปลาแห้งก็ดี เราปิดชุมชนเพราะโควิด เราปลูกผัก หาปลาได้ แต่ปัญหาตอนนี้คือเราหาไม่ทันเพราะเราต้องไปดับไฟป่า"
ผศ.ดร.สุวิชาน บอกว่า ชาวปกาเกอะญอที่ตั้งใจร่วมมอบข้าวมีมาจาก จ.ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ พวกเขาให้ตามกำลังที่มี "คนละหม้อสองหม้อ แลกเท่าที่แลกได้" โดยใช้เวลาราวสองอาทิตย์รวบรวมด้วยพื้นที่เป็นป่าเขาที่เดินทางถึงกันลำบาก คาดว่าสุดสัปดาห์นี้ ข้าวของพวกเขาราว 6,000 กิโลกรัม จะเริ่มส่งมอบให้ยังพี่น้องชาวประมงพื้นบ้านและกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยตามหมู่เกาะในแถบ จ.ภูเก็ต พังงา เช่นที่ หมู่เกาะสุรินทร์
"ในสภาวะวิกฤต ชาวบ้านไม่สามารถที่จะรอรัฐได้ รัฐอาจจะมีเรื่องที่ต้องคิดต้องทำมาก จนทำให้บางเรื่องโดยเฉพาะปัญหาของคนชายขอบ คนเล็กคนน้อย อาจไม่อยู่ในภารกิจแรก ๆ ของรัฐ เป็นหน้าที่ของเราในการลุกขึ้นมามองว่าในบ้านเมืองเรามีคนเดือดร้อนหรือเปล่า"

ที่มาของภาพ, Facebook/สุวรรณา บุญกล่ำ
ปลาแห้งกับข้าวดอย แลกอย่างไรให้เป็นธรรม
นักวิชาการชาวปกาเกอะญอ บอกว่า เป็นการแลกเปลี่ยนเชิง "เศรษฐวัฒนธรรม" ไม่ได้คำนวณเป็นตัวเงินในระบบตลาด แต่คิดบนฐานการอยู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่พวกเขาต่างพึ่งพิง ชาวปกาเกอะญอปลูกข้าวบนดอยอยู่ร่วมกับป่า ส่วนชาวเลจับปลาอยู่กับท้องทะเล
การแลกเปลี่ยนจึงออกมาเป็น ข้าวสาร 1 ถัง (16 กิโลกรัม) ซึ่งต้องผลิตจากข้าวเปลือก 3 ถัง แลกกับปลาแห้ง 2 กิโลกรัม ซึ่งปลาแห้งกิโลเดียวก็ต้องใช้ปลาสดมากถึง 10 กิโลกรัมแล้ว

ที่มาของภาพ, Facebook/สุวรรณา บุญกล่ำ
"ข้าว 1 ถัง เอาปลาแห้ง 2 กิโล เพื่อลดการขูดรีดธรรมชาติทางทะเลให้น้อยลง เพราะการผลิตทั้งสองอย่างเราขูดรีดธรรมชาติกันทั้งนั้น ถ้าคิดในเชิงปริมาณที่เท่ากัน เราได้ตัวปลาตัวข้าวที่เป็นธรรม แต่เราจะได้ระบบนิเวศที่ไม่เป็นธรรม"
จากจุดเริ่มต้นของข้าวแลกปลาจากภาคเหนือ ภาคประชาสังคมในพื้นที่ จ.ภูเก็ต จากความร่วมมือของหลาย ๆ องค์กร ขยายการแลกเปลี่ยนอาหารไปที่พื้นที่ภาคอีสาน

ที่มาของภาพ, Facebook/สุวรรณา บุญกล่ำ
20 เม.ย. ข้าวสาร 9 ตัน ของชาวนา จ.ยโสธร ถูกขนส่งผ่านเครื่องบิน ซี-130 ของกองทัพอากาศมาจากสนามบินอุบลราชธานี ถึงมือชาวเลที่ จ.ภูเก็ต ผ่านการประสานการสนับสนุนจากจังหวัด
ส่วนชาวเลส่งกลับปลาทะเลแห้ง 1.5 ตัน ไปยังชาวนาทางภาคอีสานในยโสธร อุบลราชธานี และอำนาจเจริญ ไปทางเครื่องบินเช่นกัน
จากดาราสู่ผู้ช่วยชุมชนแออัด
นอกจากภาคประชาสังคมที่ร่วมมือกันช่วยเหลือกันในสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว กลุ่มดาราที่เคยทำงานเพื่อสังคมอย่าง คู่แฝด บิณฑ์ และ เอกพันธ์ บรรลือฤทธิ์ ได้ลงพื้นที่ในย่านชุมชนแออัดของกรุงเทพมหานครในหลายพื้นที่ ชุมชนวัดสวัสดิ์วารีสีมาราม ชุมชนมักกะสัน ชุมชนแออัดย่านยมราช เป็นต้น โดยร่วมกันแจกเงินและอาหาร เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นจากวิกฤตดังกล่าว เนื่องจากพื้นที่เหล่านั้นยากจะเข้าถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ
บิณฑ์ กล่าวระหว่างเฟซบุ๊กไลฟ์ว่า การช่วยเหลือของเขาและทีมอาสาสมัครมูลนิธิร่วมกตัญญู ในแบบเคาะประตูบ้าน เริ่มตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา โดยตั้งเป้า 400- 500 ครัวเรือนต่อวัน
ไม่มีเนื้อหานี้
ดูเพิ่มเติมที่ Facebookบีบีซี. บีบีซีไม่มีส่วนรับผิดชอบต่อเนื้อหาของเว็บไซต์ภายนอก. นโยบายของเราเรื่องการเชื่อมต่อไปยังลิงก์ภายนอก.สิ้นสุด Facebook โพสต์
ส่วนที่มาของเงินช่วยเหลือ อดีตพระเอกรายนี้ได้ชี้แจงว่า เป็นเงินที่ได้จากการรับงานพรีเซนเตอร์จาก 5-6 งาน รวมหลายสิบล้านบาท ในช่วงที่ไปช่วยเหตุน้ำท่วมที่จ.อุบลราชธานี โดยมีการชำระภาษีแล้วทั้งหมด โดยเงินเหล่านี้ไม่เกี่ยวข้องกับมูลนิธิร่วมกตัญญู ในขณะที่เงินบางส่วนมาจากสินค้าผู้สนับสนุนที่สนใจมีส่วนร่วม
นอกจากนี้ยังมี ดาราที่มีชื่อเสียงหลายคนร่วมลงพื้นที่ด้วย หนึ่งในนั้นคือ ดร.ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ซึ่งเธอให้สัมภาษณ์รายงานไนน์ เอนเตอร์เทนท์ทางสถานีโทรทัศน์ 9 MCOT HD เกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชนแออัดที่เธอพบในวันที่ 17 เม.ย.ที่ผ่านมาว่า พวกเขาจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือจริง ๆ เพราะไม่มีงาน ไม่มีเงิน
"พอลงพื้นที่จริง ๆ เพิ่งไปได้เห็นว่า บางคนไม่มีทางที่จะได้เห็นเงินก้อนของรัฐบาลอย่างแน่นอน เพราะว่าบางคนไม่มีแม้กระทั่งมือถือ.. เขาไม่มีทางที่จะได้เงินตรงนี้ แต่เขาจะต้องมีข้าว พวกเขาต้องกิน จริงอยู่ใน ชุมชนนั้นไม่มีใครเป็นโควิด แต่เขากำลังจะอดตาย เพราะเขาไม่มีการจ้างงาน"