วัคซีนซิโนฟาร์มล็อตแรกถึงไทย 1 ล้านโดส

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ที่มาของภาพ, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

วัคซีนซิโนฟาร์มล็อตแรก จำนวน 1 ล้านโดส ที่จัดหาผ่านราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ให้องค์กรต่าง ๆ เป็นวัคซีนทางเลือก ถึงประเทศไทยแล้ว วันนี้ (20 มิ.ย.) เตรียมจัดสรรระยะที่ 1 ให้แก่องค์กรเอกชนที่แจ้งความประสงค์จัดสรรวัคซีนกว่า 5,000 องค์กร

เพจเฟซบุ๊กโรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เผยแพร่ภาพของวัคซีนซิโนฟาร์มในช่วงสาย โดยเป็นการขนส่งด้วยเที่ยวบินขนส่งสินค้า TG8669 และ TG675 จากเมืองปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน เที่ยวบินละ 5 แสนโดส ถึงไทยเมื่อเวลาประมาณ 06.00 น. และ 10.04 น.ตามลำดับ

การขนส่งวัคซีนซิโนฟาร์มจำนวน 1 ล้านโดสในล็อตแรกวันนี้ ถือได้ว่าเป็นวัคซีนทางเลือกยี่ห้อแรกที่ถูกนำเข้ามาในประเทศไทย

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ประกาศการจัดสรรวัคซีนตัวเลือก ซิโนฟาร์ม ระยะที่ 1 ครั้งที่ 1 ว่ามีทั้งสิ้น 5,199 องค์กร คิดเป็นจำนวนผู้รอรับวัคซีนในองค์กรเหล่านี้ 476,682 คน

องค์กรเหล่านี้ ยื่นความประสงค์เข้ามาระหว่างวันที่ 14-15 มิ.ย. โดยราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ในประกาศการจัดสรรว่าเป็นการจัดสรร "ตามประเภทธุรกิจ ความต่อเนื่องในการดำเนินธุรกิจที่มีผลต่อการขับเคลื่อนประเทศ และพื้นที่ความเสี่ยง"

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ที่มาของภาพ, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ภาคองค์กรธุรกิจที่ได้รับการจัดสรรวัคซีนตัวเลือกซิโนฟาร์มสูงสุด 4 อันดับแรกได้แก่ ภาคธุรกิจบริการด้านอุปโภคและบริโภค 17.42 % ภาคอุตสาหกรรมและการผลิต 14.80 % ภาคธุรกิจการเงิน 11.58 % กลุ่มองค์กรด้านการแพทย์และการสาธารณสุข 10.82%

สำหรับในระยะที่ 1 ครั้งที่ 1 ยังไม่มีหน่วยงานราชการและองค์กรส่วนท้องถิ่นได้รับการจัดสรร

ตามแผนการกระจายวัคซีน ในวันที่ 21-22 มิ.ย. กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะดำเนินการตรวจสอบคุณภาพของวัคซรน ก่อนส่งกระจายให้สถานพยาบาลที่ให้บริการฉีดทั่วประเทศ ในวันที่ 23-24 มิ.ย. และเริ่มฉีดวัคซีนทางเลือกพร้อมกันทั่วประเทศวันแรก 25 มิ.ย. นี้

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ประกาศจัดสรรและนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ทางเลือก ซิโนฟาร์ม จำนวน 1 ล้านโดส เข้ามาในเดือน มิ.ย. และล็อตหลังจากนี้ในเดือนถัด ๆ ไป การประกาศนี้ ทำให้ช่วงนั้นมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หลายสิบแห่งทั่วประเทศประกาศใช้งบประมาณตัวเองซื้อวัคซีนทางเลือกผ่านทางราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

สำหรับวัคซีนซิโนฟาร์มที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์นำเข้ามา เป็นวัคซีนทางเลือกยี่ห้อแรกที่จะฉีดให้คนไทย หลังจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนไปเมื่อวันที่ 28 พ.ค. ถือเป็นวัคซีนของเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเร็วที่สุดเพียง 15 วัน

ส่วนราคาของวัคซีนซิโนฟาร์ม ซึ่งเป็นวัคซีนทางเลือกที่มีค่าใช้จ่าย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ประกาศเมื่อวันที่ 9 มิ.ย. สำหรับการจัดสรรให้องค์กรและหน่วยงาน อยู่ที่ราคาเข็มละ 888 บาท อัตราดังกล่าวรวมค่าวัคซีน ค่าขนส่ง ค่าเก็บรักษา พร้อมประกันวัคซีน ทั้งนี้ ไม่รวมค่าบริการโรงพยาบาลและค่าบริการทางการแพทย์ที่ขึ้นอยู่กับแต่ละโรงพยาบาลที่ทางองค์กรและหน่วยงานประสานเพื่อให้บริการวัคซีน

โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ที่มาของภาพ, โรงพยาบาลจุฬาภรณ์ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์

ความต้องการการรับจัดสรรวัคซีนทางเลือกผ่านทางช่องทางของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ข้อมูลล่าสุด ณ วันที่ 18 มิ.ย. มีองค์กรยื่นความประสงค์แล้ว 17,070 องค์กร คิดเป็นจำนวนบุคคลที่ยื่นขอวัคซีนผ่านองค์กรกว่า 4,870,000 คน

สำหรับวัคซีนซิโนฟาร์ม คำแนะนำชั่วคราวเกี่ยวกับการใช้วัคซีนซิโนฟาร์ม คณะที่ปรึกษายุทธศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญด้านภูมิคุ้มกันขององค์การอนามัยโลก (Strategic Advisory Group of Experts: SAGE) ณ วันที่ 18 พ.ค. ระบุว่าควรเว้นระยะการฉีดระหว่างเข็ม 1 และ 2 อยู่ที่ 3-4 สัปดาห์ โดยหลังจากรับวัคซีนครบสองโดส ประสิทธิภาพการต้านการติดเชื้อแบบมีอาการอยู่ที่ 79%

หมอนิธิ ย้ำวัคซีนกลุ่มสภาอุตฯ "ไม่เทใคร" รอบประชาชนรออีก 2-3 สัปดาห์

ศ.นพ. นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โพสต์บนเฟซบุ๊กของเขาที่ชื่อว่า Nithi Mahanonda เช้านี้ว่า จำนวนองค์กรที่ได้วัคซีนตามประกาศเป็นส่วนที่ยื่นความประสงค์มาในเฉพาะ 2 วันแรกเท่านั้น (14-15 มิ.ย.) เมื่อพิจารณาทั้งหมด "คาดว่าจะได้หมดทุกบริษัท"

"ในกลุ่มรายชื่อที่สภาอุตสาหกรรมส่งรวมๆกันมาก็จะได้กันหมด เพียงแต่ว่าแต่ละนิติบุคคล(บริษัท)ต้องลงนามในข้อตกลงเอง และโอนเงินเอง เพื่อกำหนดโรงพยาบาลที่ฉีดให้เองด้วย รวมถึงกำหนดการบริจาคและกลุ่มที่ประสงค์จะบริจาคให้ และยังต้อง load ชื่อพนักงาน พร้อมเลขบัตรประชาชน เบอร์โทรศัพท์ติดต่อแต่ละคน ซึ่งสภาอุตสาหกรรมทำเองจะช้าพนักงานจะได้วัคซีนช้าตามไปด้วย..."

Thai News Pix

ที่มาของภาพ, Thai News Pix

คำบรรยายภาพ, วัคซีนซิโนฟาร์ม 1 ล้านโดส จัดเก็บในตู้ควบคุมอุณหภูมิถูกขนส่งไปจัดเก็บยังคลังวัคซีน บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบคุณภาพของวัคซีนโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

ศ.นพ. นิธิ ย้ำว่าทุกบริษัทต้องสัญญาว่าต้องไม่นำไปขายต่อหากำไร หากมีการกระทำดังกล่าวจะดำเนินการปรับเกือบ 20 เท่า นอกจากนี้ยังระบุด้วยว่า บริษํทที่ยื่นเอกสารครบถ้วนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายจะได้รับจัดสรรทุกบริษัท

"ไม่เทใคร แต่อาจเรียงลำดับตามความสำคัญเพราะวัคซีนมันทะยอยมา (แต่มาตามนัดรวมแล้วในสองเดือนเศษๆ ต่อไปไม่ต่ำกว่า 6 ล้านโดสหรือ 3 ล้านคน) ตามนโยบายที่ได้ประกาศไป"

ส่วนการจัดสรรให้กับประชาชนรายบุคคล เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ระบุว่า รออีกราว 2-3 สัปดาห์

Thai News Pix

ที่มาของภาพ, Thai News Pix